ช่วงนี้มีข่าวเกรียวกราวในแวววง Social Network ของไทย เมื่อดีเจในสังกัดค่ายเกมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของไทยล่อลวงเด็กสาววัยไม่ถึง 18 ขึ้นคอนโดของตน จนกลายเป็นประเด็นใหญ่โตต้นสังกัตจึงไล่ดีเจคนนี้ออก และหลายฝ่ายเตรียมตั้งข้อหาพรากผู้เยาว์เรียบร้อย

วันนี้แบไต๋จึงขอเปิดประเด็นคุยหาเหตุผลว่าทำไมเด็กวัยรุ่นถึงเต็มใจออกมาพบคนแปลกหน้ากันได้ง่ายๆ

ปัญหานี้ไม่ได้เจอเฉพาะในประเทศไทยนะครับ ในต่างประเทศก็เป็น อย่างคลิปนี้ของ Coby Persin ที่ทดลองทางสังคมกับเด็กสาว 3 คนวัยราวๆ 13-14 ปี โดยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีคนหนึ่ง เพื่อแซตกับสาวๆ ทั้งสามและขอให้พวกเธอออกมาพบเขา

Play video

แน่นอนว่าเมื่อผู้ปกครองเผลอ เด็กสาวทั้ง 3 ก็ออกมาพบเด็กหนุ่ม (ตัวปลอม) ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แทนที่จะพบกับหนุ่มน้อยที่ตั้งใจ แต่กลับพบกับผู้ปกครองที่ Coby Persin ติดต่อเพื่อขออนุญาตและให้ร่วมการถ่ายทำเพื่อดูพฤติกรรมลูกสาวแทน ซึ่งตอนแรกพ่อ-แม่ก็ไม่เชื่อว่าลูกตัวเองจะออกมาพบกับคนแปลกหน้าแบบนี้ แต่เมื่อผิดคาดก็จึงต้องสั่งสอนกันไป

แล้วทำไมเด็กๆ ถึงวิ่งเข้าหาอันตรายแบบนี้?

เหตุผลในเรื่องนี้อาจจะต้องมองย้อนถึงจิตวิทยาของคนทั่วไปที่ธรรมชาติมักสร้างให้มนุษย์เป็นคนที่ “มองโลกในแง่ดี” เป็นพื้นฐานกันตั้งแต่เกิด คิดถ้าใครที่ไม่เจอเหตุการณ์ร้ายแรง เคยถูกคนอื่นหลอก ทุกคนก็มักจะมองโลกในแง่ดีกว่าความเป็นจริง คิดว่าคนอื่นๆ ที่เข้าหาก็น่าจะทำดีกับเราด้วยทั้งนั้น ซึ่งธรรมชาติก็มีเหตุผลในการสร้างแนวคิดนี้ให้มนุษย์ เพราะถ้ามนุษย์มองโลกในแง่ร้ายตั้งแต่ต้น มนุษย์คนนั้นก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ขึ้นมาได้ หรือไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกที่โหดร้ายนี้ได้

คนมองโลกในแง่ดีจะคิดว่า ในอนาคตชีวิตจะต้องดีขึ้น จึงพยายามใช้ชีวิตต่อไป แต่คนที่มองโลกในแง่ร้ายจะคิดว่าโลกนี้มีแต่เลวลง

เด็กวัยรุ่นที่ยังอ่อนต่อโลก เป็นวัยที่ธรรมชาติสร้างมาให้ลองทำหลายอย่างเพื่อค้นหาตัวเอง พร้อมจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ เจอเพื่อนใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่มีปัญหานี้มากขนาดนี้ เพราะการเจอเพื่อนใหม่ในยุคก่อนคือการเจอหน้าค่าตา ฟังน้ำเสียง เห็นแววตากันจริง การพบบุคคลใหม่ๆ ของเด็กจึงถูกจำกัดไว้ในขอบเขตที่เหมาะสม เจอเพื่อนวัยเดียวกัน รู้จักคนที่ผู้ปกครองรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันด้วยการสื่อสารทันสมัยหลายอย่างไม่จำกัดเฉพาะเฟซบุ๊ก ทำให้เด็กสามารถหาเพื่อนได้ไกลขึ้น รู้จักกันโดยไม่เคยเห็นตัวจริงด้วยซ้ำ

ความเพ้อฝันของเด็กก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ

ถ้าเรากลับไปทบทวนความคิดของเด็กวัยรุ่น (หรือเราสมัยวัยรุ่นก็ได้) เราจะพบความจริงอย่างหนึ่งคือ

วัยรุ่นเป็นวัยที่ไม่มีตัวตนของตัวเองเด่นชัด เพราะยังไม่รู้จักตัวเองชัดเจน

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมวัยรุ่นจึงมีไอดอล มีคนที่คลั่งไคล้ มีคนต้นแบบเพื่อลองดำเนินชีวิตตามแบบที่คิดว่าดี คิดว่าเท่ ซึ่งสุดท้ายสิ่งต่างๆ ในชีวิตหลายอย่างก็จะผสมกันจนเป็นตัวตนของตัวเอง เป็นความถนัด เป็นแนวทางชีวิตในอนาคตของวัยผู้ใหญ่

ความเพ้อฝันของเด็กวัยนี้ที่อยากเป็น อยากได้ หรืออยากเจอคนที่เป็นไอดอล จึงกลายเป็นเรื่องอันตรายถ้าหากไอดอลของพวกเขาไม่ใช่คนดี

ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวช่วยรับมือกับความว้าวุ้นได้

แม้ว่าวัยรุ่นจะดูเหมือนสิ่งมีชีวิตคนละสปีชีส์กับวัยผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ทุกคนก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือ “ฟังและสนใจ” สิ่งที่พวกเขาเล่าให้ฟัง แล้วให้คำแนะนำแต่พยายามไม่บงการมากเกินไป เพราะสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งของเด็กและวัยรุ่นคือทำผิดยังมีโอกาสแก้ตัวเสมอ ถ้ารับรู้แล้วไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ก็ให้เด็กๆ ได้รับรู้ความเจ็บปวด และเรียนรู้วิธีการแก้ไขด้วยตัวเองบ้าง และประสบการณ์ความผิดพลาดเหล่านี้จะช่วยป้องกันเรื่องวุ่นวายในอนาคตเอง

การดุด่าว่ากล่าวมากเกินไป ทำให้ไม่มีใครอยากเล่าอะไรให้ฟัง และเราก็จะไม่รู้อะไรเลย

ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกยุค ทุกสมัย เพียงแต่ว่าจะปรับไปในรูปแบบไหนก็แค่นั้นเอง ใครคิดเห็นอย่างไรกับปัญหานี้ แชร์ความคิดเห็นกันได้นะครับ