จากข้อมูลประกาศเปิดรับสมัครทีมงานเพื่อร่วมเข้าทำงานกับ LINE เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีหลายตำแหน่งหลายด้านเช่น Design, PR, Sales ฯลฯ แต่มีตำแหน่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Music Service Editor ในส่วนของ Music Service ที่อาจจะเป็นไปได้ว่าเร็วๆ นี้ LINE อาจจะมีบริการเกี่ยวกับ Music Streaming ก็เป็นได้

เพราะหน้าที่ของงานตำแหน่งนี้คือ

  • จัดหาและประสานงานในการหาเพลง
  • จัดหมวดหมู่เพลงตาม mood & tone เลือก intro เพลง ฯลฯ อัพโหลดเพลงเข้าระบบรวมถึงจัด tag ข้อมูลต่างๆตามความเหมาะสม
  • จัดหาและอัพเดต music playlist/chart ประมาณ 200-300 playlist แยกตามประเภท เพลงใหม่ เพลงฮิต เพลงน่าฟัง ฯลฯ
  • จัดการหน้า theme ตามเทรนดนตรีหรือกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสม เช่น งานดนตรีหรือคอนเสิร์ตต่างๆ
  • ประสานงานกับค่ายเพลงต่างๆ
  • ดูแลเรื่องค่าลิขสิทธิ์กับค่ายเพลง

10625141_923354737680883_8738717337175029644_n

ดูจากตัวงานทั้งหมดแล้ว มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับบริการด้านของการฟังเพลง เพราะมีทั้งการทำ Playlist, จัดหาเพลง, จัดหมวดหมู่, ประสานงาน รวมถึงการดูแลค่าลิขสิทธิ์ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ LINE กำลังจะลงมาเล่นในตลาด Music Streaming ในอนาคตอันใกล้นี้

LINE ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเป็นแอพสนทนาผ่านสมาร์ทโฟน ที่ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้มากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และยังมีบริการเสริมต่างๆ มากมาย เปิดเป็นตลาดใหม่โดยอาศัยฐานลูกค้าในแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการขายสติกเกอร์สำหรับใช้ในการโฆษณา, เกมที่มีการซื้อไอเท็มภายในเกม, Creator Sticker ที่ให้ผู้ใช้ออกแบบสติกเกอร์ขึ้นมาขายในระบบ, LINE Shop ที่เป็น Marketplace ให้ผู้ใช้ LINE ทำ Ecommerce ขายของกันได้ ฯลฯ

ตลาดของ Music Streaming ถือเป็นอีกรูปแบบที่กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกมุมโลก มีแพลตฟอร์มที่กำลังขยายตลาดฐานลูกค้ามากมาย อาทิเช่น Beats Music, iTunes Radio, Pandora, Nokia MixRadio หรือแม้แต่ในไทยเองก็มีหลายเจ้าเข้ามาทำตลาดเช่น Deezer, KKBox

ลองคิดเล่นๆ ว่า LINE จะโดดมาเล่นตลาดนี้ด้วยก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากฐานผู้ใช้จำนวนมหาศาล เป็นที่นิยมในหลายภูมิภาค หากจัดทำบริการเกี่ยวกับการฟังเพลงออนไลน์ผ่านทางฐานผู้ใช้ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

และต้องยอมรับอีกอย่างว่า LINE มีความใส่ใจในเรื่องของการทำ Local Content เป็นอย่างมาก ในทุกประเทศที่ LINE ได้รับความนิยมทั้ง ญี่ปุ่น, ไทย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างมีการทำเนื้อหาและบริการต่างๆ โดยปรับใช้ให้เหมาะสมกับในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างลงตัว

วันนี้ถ้าเกิด LINE จะเดินไปหาค่ายเพลงต่างๆ ในประเทศไทย เชื่อได้ว่าไม่มีค่ายไหนจะกล้าปฎิเสธฐานผู้ใช้จำนวนมากกว่า 20 ล้านคนของ LINE ได้ แม้ว่าปัจจุบันค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในบ้านเราก็พยายามจะผลักดันบริการ Music Streaming อยู่ก็ตาม

ลองคิดกันเล่นๆ ถ้าสมมติว่า LINE มีบริการฟังเพลงออนไลน์แล้วจ่ายเป็นรายเดือน พร้อมคลังเพลงจำนวนมากขึ้นมาจริงๆ คุณจะเลือกจ่ายเพื่อใช้บริการมั้ย?

ที่มา : line.me/career