กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการเพลง เมื่อนักร้องดังอย่าง Taylor Swift ดึงเพลงทั้งหมดของเธอออกจาก Spotify บริการสตรีมเพลงออนไลน์ชื่อดังของอเมริกา และไม่ได้ส่งอัลบั้มล่าสุด “1989” ขึ้นบริการออนไลน์อื่นๆ

Taylor เริ่มแสดงความคิดต่อต้านบริการฟังเพลงแบบสตรีมออนไลน์ในบทความของ Wall Street Journal เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา โดยเธอบอกว่า

“Music is art, and art is important and rare. Important, rare things are valuable. Valuable things should be paid for. It’s my opinion that music should not be free”

“ดนตรีคือศิลปะ และศิลปะคือสิ่งที่สำคัญและหาได้ยาก ซึ่งสิ่งที่สำคัญและหาได้ยากมันจะต้องมีค่า แล้วสิ่งที่มีค่าก็ควรจะจ่ายเงินเพื่อมัน ฉันจึงเห็นว่าดนตรีไม่ควรจะแจกฟรี”

Spotify-Taylor

สาเหตุที่บริการ Music Streaming เติบโตมากในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยหลายอย่างทั้งอินเทอร์เน็ต (ทั้งแบบมีสายและไร้สาย) ที่ดีขึ้น ผู้คนใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น จนเกื้อหนุนให้คนมีโอกาสใช้บริการสตรีมเพลงแบบเหมาๆ มากขึ้น ซึ่งจากโมเดลธุรกิจที่ให้ลูกค้าฟังเพลงแบบเหมาจ่าย ฟังกี่เพลงก็ได้ แล้วจ่ายแค่ไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือน ก็ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ถ้าเพลงไหนคนกดฟัง Stream มาก ศิลปินกับค่ายเพลงก็จะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น ในขณะที่ยอดขายเพลง CD และยอดดาวน์โหลดเพลง เช่นจาก iTunes Store ลดลง

ในส่วนของค่ายเพลง ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ก็ไม่อยากให้บริการแบบ Streaming มากนัก เพราะทำให้รายได้ลดลง คนต้องกดฟังเป็นล้านครั้ง ถึงจะได้รายได้สมน้ำสมเนื้อ แต่ในเมื่อยุคนี้กระแสมาทางนี้ ก็เอาเพลงไปสตรีมให้ได้รายได้ ดีกว่าวางเพลงอยู่เฉยๆ บนหิ้ง Spotify เองก็เคยรายงานว่าในช่วงกลางปี 2012 ถึงกลางปี 2013 ได้จ่ายค่าสิทธิ์เพลงให้อัลบั้มฮิตระดับโลกรายหนึ่งราว $425,000 หรือราว 14 ล้านบาท ในขณะที่ Swift ได้รายได้จากการทัวร์คอนเสิร์ต 40 ล้านเหรียญในปีที่แล้วหรือราว 1300 ล้านบาท

taylor-cover

ตอนนี้ Swift จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่ต่อสู้เพื่อกอบกู้วงการเพลง ซึ่งคนที่ทำได้ก็ต้องมีบารมีมากพอ (พูดง่ายๆ คือถ้าไม่ดังจริง คนไม่รักจริง เพลงไม่ดีจริง ก็ทำไม่ได้) ถึงขนาดได้ขึ้นปกนิตยสาร time ในเรื่องนี้ แต่การลุกขึ้นสู้ของ Swift ไม่ได้จะทำให้วงการเพลงเปลี่ยนไปมากนัก เพราะตลาดถูกสปอยมาทางเหมาจ่ายแล้ว ก็คงทำแบบนี้ได้แค่บางศิลปินเท่านั้น

ที่มา – Arstechnica