รีวิว OPPO R9s สมาร์ทโฟนเน้นกล้องราคาหมื่นครึ่ง จากการใช้งานจริงเต็มเดือน
Our score
7.9

OPPO R9s

จุดเด่น

  1. ประสิทธิภาพเครื่องดีพอที่จะใช้งานในชีวิตประจำวันได้ลื่นๆ
  2. กล้องใช้ง่าย ถ่ายสวย เคลียร์ โดยไม่ต้องคิดเยอะ ถ่ายวิดีโอได้สวยประทับใจ
  3. สแกนนิ้วมือได้รวดเร็ว ทำงานได้แม้ไม่เปิดจอ
  4. แบตเตอรี่ทน ใช้งานข้ามวันสบายๆ
  5. เครื่องบาง จับถือสะดวก

จุดสังเกต

  1. ดีไซน์คล้าย iPhone เกินไป
  2. เวลาคุยโทรศัพท์ เมื่อโนติเข้า ทำให้เครื่องสั่นทั้งๆ ที่เครื่องแนบหูอยู่
  3. เท่าที่ทดสอบ ยังไม่รองรับ VoLTE ในไทย
  4. ยังใช้ MicroUSB ไม่ใช่ USB-C
  5. ยังเป็น Android 6.0 อยู่
  • ดีไซน์ตัวเครื่อง

    6.0

  • คุณภาพวัสดุ

    8.0

  • คุณภาพกล้อง

    9.0

  • ประสิทธิภาพเครื่อง

    8.0

  • ความคุ้มค่า

    8.5

ชื่อชั้นของ OPPO นั้นหลายคนอาจจะรับรู้ว่าเป็นมือถือเน้นกล้องในราคาสมเหตุสมผลนะครับ ซึ่ง OPPO R9s ก็ยังคงคอนเซปต์นี้อยู่ และปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมให้ดีขึ้นตามยุคสมัยครับ

OPPO ส่ง R9s มาให้แอดรีวิวตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมครับ ก็เลยใช้สมาร์ทโฟนเครื่องนี้เป็นมือถือเครื่องหลักอยู่เดือนหนึ่ง (พูดง่ายๆ กว่าดองนั้นแหละ แหะๆ) จึงขอรีวิวประสบการณ์การใช้จริงให้อ่านกันครับ

สเปกของ OPPO R9s

  • หน่วยประมวลผล Snapdragon 625 8-core
  • กราฟิก Adreno 506
  • RAM: 4 GB
  • ROM: 64 GB สามารถใส่ MicroSD ได้สูงสุด 128 GB
  • หน้าจอ AMOLED 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD
  • กล้องหลัง 16 ล้านพิกเซล f/1.7 เซนเซอร์ Sony IMX398 พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวด้วยซอฟต์แวร์
  • กล้องหน้า 16 ล้านพิกเซล f/2.0
  • มาพร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
  • แบตเตอรี่ 3010 mAh
  • น้ำหนัก 145 กรัม
  • ราคา 14,990 บาท

ใส่ Nano-sim ได้ 2 ซิม แต่ซิมสองต้องเลือกว่าจะใส่ซิมหรือ MicroSD

ประสิทธิภาพของ OPPO R9s

  • ใช้งานจริงลื่นไหลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเปิดเว็บ ใช้เฟซบุ๊ก ใช้ไลน์
  • เล่นเกมกราฟิกพอประมาณอย่าง Sky Force ได้ลื่นไหลดี
  • ได้คะแนนทดสอบประสิทธิภาพต่ำไปนิดสำหรับราคานี้

ทดสอบประสิทธิภาพ 3Dmark ทดสอบ Sling Shot Extreme ได้ 459 คะแนน เทียบกับ iPhone 7 ที่ได้ 2,025 คะแนน, Huawei P9 ได้ 726 คะแนน, Samsung Galaxy S8 ได้ 3,294 คะแนน

ส่วน Antutu 6.2 เทสได้ 64,853 คะแนน เทียบกับ iPhone 7 ที่ได้ 173,642 คะแนน และ Huawei P9 ได้คะแนนไป 97,725 คะแนน

ผลการทดสอบด้วย Geekbench 4.1 ได้คะแนน Single-core 879 คะแนน และ Multi-Core ที่ 3108 คะแนน ส่วนการทดสอบ Compute เพื่อวัดประสิทธิภาพ GPU ได้ 3,188 คะแนน

คลิกดูคะแนน Geekbench สมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ
  • iPhone 7 ได้ Multi-Core ราว 5,500 คะแนน
  • Huawei P9 ได้ Multi-Core ราว 4,858 คะแนน
  • โดยรวมเทียบเท่ากับ Samsung Galaxy A5-2016, Galaxy Note 4 หรือ Nexus 6P

เล่นวิดีโอลื่นไหล สีสันสวยงามดีมาก

ก็ถือว่า OPPO R9s ได้คะแนนประสิทธิภาพน้อยไปนิดเมื่อเที่ยบสมาร์ทโฟนระดับราคานี้ครับ แต่ประสบการณ์การใช้งานจริงนั้นลื่นไหลดีทุกอย่างครับ จะ facebook, LINE, Youtube รวมถึงเล่นเกมอย่าง Sky Force ก็หลบกระสุนยานศัตรูอย่างลื่นไหลจริง ซึ่งก็เป็นข้อดีของระบบปฏิบัติการที่ OPPO ปรับแต่งมาได้แบบไม่กินสเปกเครื่องเยอะครับ

ดีไซน์ตัวเครื่อง คล้าย iPhone มาก

  • ตัวเครื่องบาง เบา จับถือง่าย
  • ปุ่มสลับแอป ปุ่ม Back อยู่นอกจอข้างปุ่มโฮม สลับตำแหน่งไม่ได้
  • ดีไซน์คล้าย iPhone มาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าดีไซน์ของ OPPO R9s นั้นไปคล้ายกับ iPhone 6 เอามากๆ ตำแหน่งเสาสัญญาณ ตำแหน่งกล้องและแฟลชอยู่จุดเดียวกันเลย จะแตกต่างตรงโลโก้ Apple กับ OPPO เท่านั้นเอง นอกจากนี้การออกแบบหน้าตาของซอฟต์แวร์ภายในก็ได้กลิ่น iOS มาเยอะครับ โดยเฉพาะแอปกล้องที่ใช้การเลือกโหมดด้วยการปัดซ้าย-ปัดขวา เหมือนกล้องของ iPhone เลย

กล้องยังนูนออกมาแบบ iPhone เลย

ส่วนด้านหน้าก็คล้ายกับ Android ทั่วไป คือด้านล่างจะมีปุ่มโฮมที่สามารถอ่านลายนิ้วมือได้อยู่ตรงกลาง ซึ่งก็สามารถสแกนนิ้วได้รวดเร็วดีมากครับ ส่วนข้างๆ ปุ่มโฮมก็เป็นปุ่มสัมผัสที่มีแสงเรืองออกมาเวลาใช้งาน ด้านซ้ายจะเป็นปุ่มสลับแอป และด้านขวาเป็นปุ่ม Back ซึ่งสลับตำแหน่งของ 2 ปุ่มนี้ไม่ได้นะครับ ซึ่งพอปุ่ม Back อยู่ทางขวาก็ใช้งานสะดวกดีสำหรับคนถนัดขวาครับ

ตัวสแกนนิ้วมือทำงานรวดเร็ว ปลดล็อกได้แม้ไม่เปิดจอ ใช้ล็อกแอปได้

ถ้าตัดประเด็นความคล้ายกับ iPhone ออกไปก็ถือว่า OPPO R9s เป็นมือถือที่ออกแบบการจับถือได้ดี ใช้งานคล่องมือดี ตัวเครื่องบางแบบรู้สึกได้ (6.58 มม.) เบาด้วย ใช้งานเรื่อยๆ ได้ไม่ติดขัดครับ แล้วถ้ารู้สึกว่าจอขนาด 5.5 นิ้วมันใหญ่ไปสำหรับการใช้งานมือเดียวก็สามารถลากนิ้วจากมุมจอด้านล่างขึ้นมาตรงกลางเพื่อย่อจอมาให้ใช้มือเดียวได้ง่ายๆ ครับ

ปุ่มด้านหน้าเครื่อง R9s ที่เรืองแสงได้

คุณภาพภาพถ่ายและวิดีโอ

  • กล้องหลังดีมาก ถ่ายภาพออกมาได้สดใส ชัดเจน
  • ถ่ายวิดีโอได้ระดับ 4K
  • ไม่สามารถถ่ายภาพแบบ RAW ได้

กล้องเป็นเรื่องที่ OPPO เน้นกับรุ่น R9s มากนะครับ สโลแกนก็บอกว่า Now It’s Clear ซึ่งก็จริงตามนั้นครับ ภาพ 16 ล้านพิกเซลที่ได้จาก R9s นั้นค่อนข้างสดใสและสวยเคลียร์มาก โหมดถ่ายภาพมีไม่เยอะ เน้นให้ใช้งานง่ายแบบ iPhone แต่ก็มีโหมดจำเป็นๆ มาให้ครบ

  1. Expert Mode ก็สามารถปรับ White balance, ISO, ความเร็วซัตเตอร์, ความสว่าง รวมถึงตำแหน่งโฟกัสได้
  2. โหมด Panorama สำหรับถ่ายภาพตามยาว
  3. โหมด Beauty สำหรับถ่ายหน้าให้สวยทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง
  4. โหมด Time lapse สำหรับถ่ายวิดีโอเร่งเวลา
  5. โหมด Ultra HD เร่งความละเอียดภาพจาก 16 ล้านพิกเซลเป็น 64 ล้านพิกเซล (ซึ่งปกติจะไม่ใช้กันหรอก)
  6. โหมด Double Exposure สำหรับการถ่ายภาพซ้อนกัน 2 ภาพ (นี่ก็ไม่ค่อยได้ใช้)
  7. Various Filters ที่สามารถใส่ได้ทั้งกราฟิกซ้อนลงไปในภาพและใส่ฟิลเตอร์ให้ภาพได้
  8. โหมด GIF สำหรับสร้างไฟล์ GIF

ภาพจากกล้องหลังในที่แสงเยอะ

ภาพจากกล้องหลังตอนกลางวันนั้นเคลียร์มากครับ สีสันสดใสแต่ไม่ได้สดเด้งจนดูเกินจริงไป กล้องสามารถตรวจสอบ White-balance ได้อย่างแม่นยำ ทำให้ภาพสวยเลยโดยไม่ต้องไปแต่งอะไรเยอะ และภาพมีคุณภาพพอที่จะเอาไปแต่งต่อในแอปต่างๆ ได้ดี

ภาพจากกล้องหลังตอนกลางคืน

OPPO R9s มีกล้องที่มีรูรับแสงกว้างถึง f/1.7 ทำให้การเก็บภาพยามค่ำคืนไม่ใช่เรื่องยากครับ ภาพในที่แสงน้อยก็ยังสวยคมอยู่ดี

ภาพจากกล้องหน้า

OPPO นั้นเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องกล้องหน้าสวยนะครับ มาถึง OPPO R9s ก็ไม่ทิ้งจุดเด่นนี้ ซอฟต์แวร์หน้าสวยของมือถือก็ยังทำงานได้ดี ค่ามาตรฐานก็สวยแบบเนียนๆ ไม่ได้เด้งจนหลอกตามากไปนัก สีสันโทนผิวก็ทำได้ดีครับ

ถ่ายวิดีโอ

เรื่องวิดีโอนี้เป็นไม้ตายของของ R9s มากๆ เลยแหละครับ สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K ด้วยโทนภาพที่สวยมาก ลองดูจากคลิปแรกที่ถ่าย 4K ตอนกลางวันมาให้ดูนะครับ สีดี สวยคมมาก ส่วนอีกคลิปเป็นการถ่ายยามค่ำคืนด้วยความละเอียด 1080p ครับ ซึ่งความละเอียดนี้ระบบป้องกันภาพสั่นไหวด้วยซอฟต์แวร์จะทำงาน ซึ่งทำให้กล้องสั่นน้อยลง

ประสบการณ์การใช้งานจริง

  • จอ AMOLED สีสันสดใสมาก จนคิดว่ามันสดไป
  • ระบบ GPS ทำงานดี ใช้นำทางไม่พลาด
  • แบตเตอรี่ทนมาก ใช้งานหนักๆ ไม่ต้องห่วงว่าจะอยู่ไม่ถึงวัน

ความโดดเด้งของจอ AMOLED ดูสีแดงนั้นสิ

จุดเด่นแรกที่สัมผัสจากเครื่องนี้คือจอ AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD นี่แหละครับ มันสดใสกว่าจอ IPS ที่ใช้ในสมาร์ทโฟนทั่วไปจริงๆ ดูวิดีโอนี่ภาพสดใสทำให้ความน่าดูเพิ่มขึ้นเยอะ แต่ก็มีปัญหากับการใช้งานแอปทั่วไปครับ ที่สีมันสดเกินไปแบบรู้สึกได้ สีเขียวของ LINE กลายเป็นเขียวอี๋ สีแดงของ Youtube กลายเป็นแดงแจ๋ ทำให้มีความรู้สึกว่าจอนี้ไม่ได้ให้สีที่เที่ยงตรงกับมาตรฐานสีเท่าใดนัก

ระบบ GPS ของ OPPO R9s ทำงานได้ดี ใช้ร่วมกับ Google Maps นำทางหลายทริป วิ่งใต้ทางด่วนที่จะบังสัญญาณมาก็หลายรอบ ก็ยังนำทางได้แม่นยำในระดับที่พอใจ คือก็มีหลุดตำแหน่ง หรือขึ้นค้นหาสัญญาณ GPS บ้างแหละ แต่ก็แก้กลับมาได้เร็วพอที่จะไม่มีปัญหากับการขับรถ

หัวชาร์จ VOOC

แบตเตอรี่ความจุ 3010 mAh ใช้งานได้ทนทานมาก เมื่อเทียบกับความบางของเครื่องนี่เรียกว่าทึ่งเลยที่แบตทนขนาดนี้ เทสคร่าวๆ ถอดปลั้กชาร์จตอน 8.00 น. ใช้งาน ฟังเพลง เล่นเฟซบุ๊ก คุยโทรศัพท์ เปิด Bluetooth, Wifi ทั้งวัน จนถึง 23.38 น. แบตยังเหลืออยู่ 42% แล้วยังมาพร้อมระบบชาร์จ VOOC ที่จ่ายกระแสมากกว่าปกติ ชาร์จ 30 นาทีก็ได้แบตประมาณ 75% แล้ว

ลำโพงเดียวใต้เครื่อง

คุณภาพเสียง ลำโพงของ OPPO R9s นั้นมีตัวเดียวอยู่ด้านล่างของเครื่องนะครับ ไม่ได้ใช้ลำโพงแนบหูเป็นลำโพงอีกตัว ทำให้เสียงเป็น Mono ไม่ใช่เสียงสเตอริโอแบบสมาร์ทโฟนบางรุ่น ก็ให้เสียงได้ดังใช้ได้ เบสมีจางๆ แบบลำโพงสมาร์ทโฟนทั่วไป มีระบบปรับแต่งเสียง Dirac อยู่ใน Settings ของเครื่อง ซึ่งทำให้เสียงผ่านหูฟังดีขึ้นแบบรู้สึกได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเปิด Dirac กับลำโพงเครื่อง หรือหูฟัง Bluetooth ได้ ต้องเสียบผ่านช่อง 3.5 mm อย่างเดียว

เสาอากาศแบบ six-string มี 3 เส้นด้านบน และ 3 เส้นด้านล่าง ช่วยให้รับสัญญาณได้ดี

การเชื่อมต่อไร้สาย OPPO R9s ทำงานได้ดีครับ ดีไซน์เสาอากาศแบบ six-string ที่เคลมว่าช่วยให้รับสัญญาณได้ดีก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ อยู่บนคอนโดสูงยังสามารถรับโทรศัพท์ได้ชัดเจนดี ในขณะที่พื้นที่เดียวกัน iPhone จะมีปัญหากับการโทรพอสมควร นอกจากนี้ยังรองรับ Wifi แบบ 5 GHz ด้วย แต่เสียอย่างเดียวที่หาตัวเลือกปล่อย Personal Hotspot แบบ 5 GHz ไม่เจอครับ ซึ่งฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์มาเวลาที่ต้องแชร์ไวไฟในพื้นที่ที่มีสัญญาณแน่นๆ อย่างตามห้าง ที่ Wifi 5 GHz จะถูกรบกวนน้อยกว่า ทำให้อุปกรณ์อื่นที่รับไวไฟไป เล่นเน็ตได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็นครับ

ฟังก์ชั่นสนับสนุนการใช้งาน ฟังก์ชั่นที่ใช้บ่อยๆ ก็มีครบ ทั้งความสามารถในการบันทึกเสียงสนทนา สามารถบันทึกหน้าจอแบบยาวได้ด้วย (กดปุ่มเพิ่มเสียง พร้อมกับปุ่มล็อกจอ) มีโหมดตัดแสงสีฟ้าที่ทำงานดีมาก เปิดโหมดนี้ใช้ตอนกลางคืนสบายตามาก ส่วนฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่แอดไม่ค่อยได้ใช้อย่างวาด O ตอนจอดับเพื่อเปิดกล้อง หรือเคาะจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดจอก็มีให้ใช้ครับ

จุดสังเกตที่เจอระหว่างใช้งาน

OPPO R9s ยังไม่รองรับ VoLTE ในไทยครับ คือสเปกบอกว่ามี VoLTE แต่ลองใช้จริงกับซิม dtac ก็ไม่ขึ้นนะครับ เสียงคุยสายไม่ได้ระดับ HD (ค่ายอื่นไม่แน่ใจว่าขึ้นไหม) ส่วน VoWifi นั้นไม่ได้รองรับในตัวเครื่องครับ ก็ต้องอาศัยแอป VoWifi จากผู้ให้บริการเอา

อีกเรื่องหนึ่งที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ใช้จริงมันรำคาญมากคือระหว่างที่เราคุยโทรศัพท์แนบหู ถ้ามีโนติเข้ามา โทรศัพท์จะสั่นเพื่อเตือนทั้งๆ ที่เครื่องแนบหูอยู่นั้นแหละ -_- พยายามค้นแล้วก็ไม่มีตัวเลือกปิดการแจ้งเตือนตอนคุยนะครับ มีแต่ปิดการสั่นเตือนทั้งหมดไปเลย

ตัวเครื่องมีแรม 4 GB แต่ระบบค่อนข้างปิดแอปที่อยู่เบื้องหลังรวดเร็ว แอปไหนที่กินแรมหนักๆ เช่นเกมก็มีแนวโน้มที่จะโดนปิดไปเร็วกว่ามือถือแรม 4 GB รุ่นอื่นๆ มองในแง่ดีคือทำให้ประหยัดแบตมากขึ้น แต่มองอีกแง่คือแทนที่แอปจะอยู่ให้ใช้นานๆ กลับต้องเสียเวลาโหลดใหม่อีก เหมือนใช้แรม 4 GB ไม่ค่อยคุ้ม

นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องที่ OPPO R9s ยังใช้พอร์ต MicroUSB แทนที่จะเป็น USB-C ครับ ก็ทำให้ใช้กับอุปกรณ์เสริมรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ แล้วเวลาเสียบชาร์จไฟ ก็ต้องเล็งพอร์ตให้ถูกด้านเหมือนเดิม

และ OPPO R9s ยังใช้ Android 6 Marshmallow ยังไม่ใช่ Android 7 Nougat ที่ประหยัดแบตมากกว่า มีระบบจัดการ Notification ดีกว่า และแบ่งครึ่งจอได้ง่ายกว่าด้วย ก็น่าเสียดายตรงนี้ครับ

สรุป OPPO R9s แอนดรอยเรียบๆ ใช้แฮปปี้

อุปกรณ์ที่ให้ภายในกล่อง และกล่องค่อนข้างใหญ่เลย

แอดถือว่า OPPO R9s เป็นสมาร์ทโฟนเรียบๆ รุ่นหนึ่งนะครับ ไม่ได้มีจุดเด่นที่หวือหวาในตลาด ไม่ได้เครื่องสวยมีเอกลักษณ์เหมือน Galaxy S8, ภาพลักษณ์กล้องไม่ได้เด่นแบบ Huawei P10 แต่เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้แล้วไม่มีปัญหาจุกจิก ใช้ไปได้เรื่อยๆ แอดใช้มาเดือนกว่า เครื่องก็เร็วเสมอต้นเสมอปลายดี กล้องใช้ง่าย ถ่ายแบบไม่ต้องคิด ภาพก็โอเค ถ่ายวิดีโอก็ดี ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องยุ่งกับความวุ่นวายของสมาร์ทโฟนนัก แฮปปี้ดีครับ (เว้นเรื่องเดียวคือเครื่องสั่นเวลาแนบหูนี่แหละ)