ท้าทายคำครหา ทดสอบกล้อง Canon EOS M3 ในการใช้งานจริง
Our score
8.2

Canon EOS M3

จุดเด่น

  1. รองรับเลนส์ Canon EF, EF-S ผ่านอแดปเตอร์
  2. ให้คุณภาพภาพดี สีสันดี คุณภาพไฟล์ RAW ดี
  3. มีจอสัมผัสที่พลิกได้ถ่าย Selfie / ภาพมุมสูง ได้
  4. ควบคุมกล้องสะดวกด้วยปุ่มมากมาย ตามแบบฉบับของกล้อง DSLR มีวงแหวนควบคุม 2 วง ควบคุม EV อีก 1 วง
  5. ระบบส่งภาพด้วย Wifi และ NFC ทำได้ดี

จุดสังเกต

  1. แบตเตอรี่ไม่ทนนัก เมื่อเทียบกับกล้อง DSLR
  2. ตัวเลือกเลนส์กลุ่ม EF-M ยังมีไม่มาก
  3. ถ้าใช้จอสัมผัสเลือกจุดโฟกัสภาพบริเวณด้านข้างของภาพ จะโฟกัสช้าลง
  • คุณภาพภาพ

    8.0

  • การจับถือ

    7.5

  • ความคล่องตัวในการใช้งาน

    8.5

  • ตัวเลือกเลนส์

    9.0

  • ความคุ้มค่า

    8.0

ในวงการถ่ายภาพเราได้ยินชื่อชั้นของ Canon มานานมากนะครับ โดยเฉพาะกล้อง SLR ในตระกูล EOS ที่ออกรุ่นแรกกันตั้งแต่ยุคฟิล์มปี 1987 แต่เมื่อวงการถ่ายภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก เกิดกระแสความนิยมของกล้อง Mirrorless ที่ตัดเอากระจกสำหรับช่องมองภาพออกไป ทำให้ได้กล้องขนาดเล็กลง เบาลง แต่คุณภาพเทียบเท่า DSLR ก็ทำให้ชื่อของ Canon ดูจืดจางลงไปเพราะส่งกล้อง Mirrorless อย่าง EOS M เข้าตลาดช้ากว่าคู่แข่ง

วันนี้เว็บแบไต๋จึงขอทดสอบ Canon EOS M3 กับการใช้งานจริง เพื่อท้าทายคำครหาต่างๆ ที่นักเล่นกล้องเคยเปรียบเปรยไว้กับ Canon ว่ามันแย่อย่างที่ชาวเน็ตเขาพูดกันจริงๆ หรือ

23516060929_72fa8287ce_k

คำครหาแรก Canon กั๊กสเปกกล้อง EOS M สู้กล้องที่ออกมาพร้อมๆ กันไม่ได้

เพื่อพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ เราไปดูสเปกของกล้อง EOS M3 ที่เปิดตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2015 เปรียบเทียบกับ Canon EOS 750D ที่เปิดตัวมาพร้อมกัน มีระดับราคาใกล้เคียงกัน จะแตกต่างในจุดไหนบ้าง

EOS M3

EOS 750D

ความละเอียด24 ล้านพิกเซล24 ล้านพิกเซล
ขนาดเซนเซอร์APS-C (22.3 x 14.9 mm)APS-C (22.3 x 14.9 mm)
หน่วยประมวลผลDIGIC 6DIGIC 6
จำนวนจุดโฟกัส

49

19
Lens MountCanon EF-M (สามารถใช้ EF mount adapter เพื่อใช้งานร่วมกับเลนส์ EF/EF-S)Canon EF/EF-S
ความละเอียดภาพยนตร์1080p 30 fps1080p 30 fps
หน้าจอ3 นิ้วความละเอียด 1 ล้านพิกเซล ทัชสกรีน หมุนได้ 3 นิ้วความละเอียด 1 ล้านพิกเซล ทัชสกรีน หมุนได้
ถ่ายภาพต่อเนื่อง4.2 fps

5 fps

ระยะแฟลชหัวกล้อง5 เมตร (ที่ ISO 100)

12 เมตร (ที่ ISO 100)

อายุแบตเตอรี่250 ภาพ

440 ภาพ

น้ำหนัก

366 กรัม

555 กรัม
ราคาพร้อมเลนส์ 18-55 f/3.5-5.6

22,900 บาท

28,900 บาท

จากตารางเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าสเปกของ EOS M3 กับ EOS 750D นั้นแทบจะเหมือนกันเลย เซนเซอร์ความละเอียดเท่ากัน หน่วยประมวลผลตัวเดียวกัน คุณภาพภาพและวิดีโอจึงสูสีกันมาก แต่ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปนิดหน่อยคือ EOS M3 นั้นจะมีขนาดเล็กกว่า เบากว่า ราคาถูกกว่า

ส่วนจุดเด่นหลักๆ EOS 750D คือมีช่องมองภาพแบบออพติคอล ตามแบบฉบับของกล้อง DSLR ซึ่งมีข้อได้เปรียบคือความรวดเร็วในการโฟกัสภาพ และประหยัดแบตเตอรี่ รวมถึงความสามารถในการใช้เลนส์ในตระกูล EF ดั้่งเดิมที่ออกมาตั้งแต่ปี 1987 รวมถึงเลนส์ EF-S ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้ตัวแปลงเลนส์เหมือนตระกูล EOS M ครับ

เพราะฉะนั้นจะว่า Canon กั้กสเปกกล้อง Mirrorless ก็ไม่ถูกนะครับ ก็จัดมาไม่น้อยหน้ารุ่นพี่ในตระกูล EOS เหมือนกัน

กล้องตระกูล EOS M โฟกัสช้าและไม่แม่นยำ

Play video

ประเด็นนี้ทีมงานเว็บแบไต๋ขอสาธิตเป็นวิดีโอให้ดูกันเลยนะครับ โดยแบ่งการทดสอบเป็น 4 ครั้งคือ

  1. โฟกัสด้วย Touch Screen แสงปกติ
  2. โฟกัสด้วยปุ่มซัตเตอร์ แสงปกติ
  3. โฟกัสด้วย Touch Screen แสงน้อย
  4. โฟกัสด้วยปุ่มซัตเตอร์ แสงน้อย

จากการสาธิตจะเห็นว่า Canon EOS M3 นั้นโฟกัสเร็วและแม่นยำมากถ้าใช้วิธีดั่งเดิมคือแพนกล้องไปในจุดที่ต้องการแล้วกดซัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเพื่อหาโฟกัสอัตโนมัติ ซึ่งทำได้รวดเร็วทั้งพื้นที่แสงปกติและในฉากที่มีแสงน้อย ส่วนการโฟกัสด้วย Touch Screen นั้นจะทำงานได้ช้าลงหน่อย จะมีช่วงรอให้กล้องประมวลผลอึดใจหนึ่ง และในพื้นที่แสงน้อยก็จะทำงานช้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังรวดเร็วพอสำหรับใช้การงานทั่วๆ ไปครับ

เรื่องนี้เว็บแบไต๋จะไม่ฟันธงว่า EOS M3 โฟกัสช้าหรือเร็ว ให้ทุกท่านดูวิดีโอสาธิตและตัดสินด้วยตัวเองเลยครับ

EOS M นั้นมีเลนส์ให้เลือกน้อย

ประเด็นนี้ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าเนื่องจาก EOS M นั้นเป็นกล้องที่ Canon คิดใหม่ทำใหม่โดยให้ความสำคัญกับขนาดและน้ำหนักของตัวกล้องและเลนส์มาก ทำให้เลนส์ในระบบ EF และ EF-S แบบเดิมที่มีระยะห่างระหว่างท้ายเลนส์ถึงเซนเซอร์ (flange focal distance) มากถึง 44 มม. ไม่เหมาะสำหรับการออกแบบกล้องที่เน้นความบางเบา Canon จึงต้องออกแบบเลนส์ตระกูลใหม่ขึ้นมาสำหรับ EOS M โดยเฉพาะเรียกว่า EF-M ที่มีระยะ flange focal distance แค่ 18 มม. หรือสั้นกว่าเกือบ 2.5 เท่า นั้นเอง

เลนส์ EF-S ด้านทางซ้าย และ EF-M ทางด้านขวา

เลนส์ EF-S ด้านทางซ้าย และ EF-M ทางด้านขวา

จุดเด่นของเลนส์ในตระกูล EF-M คือมีขนาดเล็กกว่าเลนส์ในช่วงเดียวกันของระบบ EF หรือ EF-S เช่นเลนส์ 18-55 mm f/3.5-5.6 stm ในตระกูล EF-M จะมีขนาด 60.9 x 61 มม. ในขณะที่ 18-55 mm f/3.5-5.6 stm EF-S จะมีขนาด 69.0 x 75.2 ซึ่งก็เป็นขนาดที่แตกต่างกันชัดเจน

หลังจาก EOS M เปิดตัวเมื่อปี 2012 มาถึงปัจจุบันก็มีเลนส์ในระบบ EF-M 5 รุ่นคือ

  1. 11 – 22 mm f/4-5.6
  2. 15 – 45 mm f/3.5-6.3
  3. 18 – 55 mm f/3.5-5.6
  4. 22 mm f/2 pancake
  5. 55 – 200 mm f/4.5-6.3

EF-M_Lense

ก็จะเห็นได้ว่าเลนส์ในระบบ EF-M ที่มีตอนนี้เป็นเลนส์เกรดทั่วไป จะมีเพียงเลนส์ 22 mm f/2 เท่านั้นที่มีรูรับแสงกว้างหน่อย แต่ Canon ก็แก้ปัญหานี้โดยออกอแดปเตอร์สำหรับแปลงเลนส์ในระบบ EF และ EF-S ทุกรุ่นให้ใช้กับกล้อง EOS M โดยคุณภาพจากเลนส์ที่แปลงก็ไม่ดรอปลง และสามารถใช้งานทุกฟังก์ชั่นของเลนส์ทั้งโฟกัสอัตโนมัติหรือระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้เหมือนกับกล้อง EOS รุ่นอื่นๆ

อแดปเตอร์แปลงเลนส์ EF เดิมให้ใช้กับกล้อง EOS M ได้

อแดปเตอร์แปลงเลนส์ EF เดิมให้ใช้กับกล้อง EOS M ได้

เมื่อ EOS M นั้นสามารถแปลงเลนส์ Canon EF กลับมาใช้ได้ทั้งหมด EOS M จึงเป็นระบบกล้อง Mirrorless ที่มีเลนส์ยุคใหม่ให้เลือกใช้มากที่สุดแล้วในปัจจุบัน (เลนส์ยุคใหม่หมายถึงเลนส์ที่รองรับโฟกัสอัตโนมัติ มีมอเตอร์ขับเคลื่อนเลนส์แบบ Ultrasonic มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว)

EOS M ให้ไฟล์ภาพไม่สวย

จากสเปกที่เราเคยเปรียบเทียบกับ Canon EOS 750D ไปข้างต้นจะเห็นว่าตัวเซนเซอร์และชิปประมวลผลนั้นเป็นตัวเดียวกันเลย แต่เรื่องความสวยงามนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เราจึงขอนำภาพถ่ายจาก Canon EOS M3 และเลนส์คิท 18-55 f/3.5-5.6 ที่ไม่ผ่านการตกแต่ง ย่อขนาดแล้วอัปโหลดขึ้นเว็บอย่างเดียวมาให้ดูครับ

จากภาพเราจะเห็นจุดเด่นของ EOS M3 ที่มีเซนเซอร์ขนาด APS-C เทียบเท่ากล้อง DSLR ว่าสามารถให้โทนสีภาพได้ละเอียด สีผิวเนียนสดใส และมีระยะชัดตื้นที่มากกว่ากล้องที่เซนเซอร์เล็กกว่า นอกจากนี้โหมดอัตโนมัติของ EOS M3 ที่เรียกเต็มๆ ว่า Scene Intelligent Auto ยังช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นมาก เพราะกล้องจะวิเคราะห์ลักษณะภาพให้เองว่านี่คือการถ่ายภาพบุคคล ถ่ายภาพ macro ถ่ายภาพวิว ถ่ายภาพย้อนแสง ฯลฯ และปรับภาพให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ภาพบุคคลที่ได้จึงมีสีผิวที่นุ่มนวล ฉากหลังละลายเพราะกล้องจะเปิดหน้าเลนส์กว้างที่สุด ภาพถ่ายอาหารก็มีสีสันสดใส หรือภาพวิวก็มีรายละเอียดภาพที่ชัดเจนครับ

ในส่วนของการถ่ายวิดีโอ เราก็มีคลิปตัวอย่างมาให้ลองชมกันว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไร

Play video

นอกจากนี้ Canon EOS M3 ยังสามารถถ่ายภาพเป็น Raw file หรือไฟล์ดิบเพื่อนำไปตกแต่งต่อได้อีกมาก ซึ่งเราขอนำภาพวิวที่ปรับค่าการรับแสง 3 ระดับคือ Under 1 stop, Normal และ Over 2 stop ผ่านโปรแกรม Canon Digital Photo Professional (DPP) มาให้ดูกันว่าไฟล์ RAW ของ M3 นั้นจะสามารถเก็บรายละเอียดได้มากแค่ไหน

และแน่นอนว่า Adobe Lightroom ก็รองรับไฟล์จาก EOS M3 เช่นกันครับ โดยเริ่มต้นรองรับตั้งแต่ Lightroom 6 เป็นต้นไป

ความสามารถสนับสนุนการใช้งานของ EOS M3

Canon EOS M3 ยังมีจุดเด่นอีกหลายอย่างที่ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นครับ ตั้งแต่หน้าจอสัมผัสที่ช่วยให้เลือกจุดโฟกัสในภาพได้โดยตรงโดยไม่ต้องเคลื่อนกล้อง และสามารถแตะที่จอเพื่อปรับการตั้งค่าของกล้องเช่น White balance โหมดโฟกัส โหมดสี ฯลฯ ได้รวดเร็วกว่าการไล่กดตามเมนู แล้วจอสัมผัสนี้สามารถพลิกขึ้นเพื่อก้มถ่ายกับพื้นหรือพลิกลงเพื่อถ่ายเหนือหัว และพลิกมาข้างหน้าเพื่อถ่าย Selfie ได้อีกด้วย

23775663722_8f53c1dbf4_k

 

แต่ถึง EOS M3 จะมีจอสัมผัสแล้ว ก็ยังมีปุ่มปรับตั้งค่าที่ตัวกล้องอีกมากมาย มาให้สำหรับผู้ใช้งานที่คุ้นชินกับการปรับตั้งค่ากล้องด้วยการกดปุ่มตามสไตล์ DSLR เริ่มตั้งแต่วงแหวนที่อยู่บริเวณปุ่มซัตเตอร์ สำหรับปรับรูรับแสงหรือความเร็วซัตเตอร์ มีวงแหวนด้านบนสำหรับปรับชดเชยแสงหรือ EV ได้โดยตรง และด้านหลังกล้องก็ยังมีวงแหวนอีกชุดหนึ่งสำหรับควบคุมกล้องในโหมด M และเลื่อนดูภาพอย่างไว ในส่วนปุ่มที่อยู่หลังกล้องก็มีทั้งปุ่มล็อกค่าแสง, ปรับ ISO, เลือกโหมดโฟกัส หรือปุ่มเข้าเมนู Q เพื่อปรับตั้งค่าการถ่ายภาพ ให้สั่งงานกันได้รวดเร็ว

23801488291_b01ec02d43_k

กล้องตัวนี้ยังมีโหมดถ่ายภาพที่น่าสนใจหลายโหมดที่แตกต่างจากกล้องทั่วไปนะครับ อย่าง Hybrid Auto ที่จะถ่ายวิดีโอสั้นๆ ก่อนเรากดซัตเตอร์ ทำให้ได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเบื้องต้นก่อนเหตุการณ์ในขณะนั้น (ซึ่ง Live Photo ของ iPhone 6s ก็ลอกความคิดแบบนี้มา) รวมถึงโหมด Creative Assist ที่ให้ผู้ใช้ได้ออกแบบโทนสีสันที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง จะให้ภาพโทนอุ่น สีสด ฉากหลังเบลอก็สั่งกล้องได้ทั้งนั้น เมื่อปรับจนถูกใจก็เซฟเก็บไว้ นอกจากนี้ ยังสามารถโทนสีที่ออกแบบนี้ไปให้กับผู้ใช้งานกล้อง EOS M3 หรือ EOS M10 ได้อีกด้วย

Play video

แน่นอนว่า Canon EOS M3 เป็นกล้องยุคอินเทอร์เน็ต ตัวกล้องจึงรองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่าน NFC และ Wifi เพื่อโอนภาพเข้าสู่ Smartphone ครับ ซึ่งจากการทดลองใช้ถือว่าทำประสบการณ์การโอนภาพออกมาได้เยี่ยม ผู้ใช้สามารถเลือกภาพที่ต้องการจากแอปในสมาร์ทโฟนได้เลย ไม่ต้องไปเลือกในจอเล็กๆ ของกล้องก่อนที่จะโอนเข้ามือถือเหมือนกล้องหลายๆ รุ่น ซึ่งการเชื่อมต่อและโอนภาพก็รวดเร็วดี ถ้าใช้มือถือ Android ยิ่งง่ายใหญ่เพราะแตะ nfc ได้เลย

EOS M3 ตัวแทนกล้อง Mirrorless จาก Canon

M3-shot

ท่ามกลางตลาดกล้องไร้กระจกที่แข่งกันอย่างดุเดือดในตอนนี้ EOS M3 เป็นตัวแทน Mirrorless ระดับสูงสุดจาก Canon ที่ต้องสู้กับคู่แข่งรอบด้าน ซึ่งถ้านับในตลาดระดับราคาเดียวกับ EOS M3 ก็ถือว่าสู้ได้ไม่น้อยหน้าใคร ทั้งคุณภาพไฟล์ที่ดี น้ำหนักเบาพกพาง่าย และยังสามารถใช้เลนส์ของ Canon ตระกูล EF, EF-S ได้ทั้งหมดผ่านอแดปเตอร์ ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่สาวก Canon ทุกคนต้องการ