เมื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลง คุณว่าคำ ๆ นี้สามารถเป็นได้ทั้งความหมายที่ดีและไม่ดีไปได้พร้อม ๆ กัน เพราะการย่ำอยู่กับที่ทำอะไรแบบเดิมกับสิ่งที่เราประสบความสำเร็จ มันก็ดูเป็นสิ่งที่ดีและมั่นคง เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นต้องได้รับการตอบรับที่ดีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่มันก็อาจจะดูน่าเบื่อและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงมันคือการเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่มันก็เสี่ยงมาก ๆ กับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเปลี่ยนแล้วดีก็ดีไป แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วมันแย่แบบนั้นก็คงจะเสียเวลาเสียอะไรหลาย ๆ อย่างกับสิ่งนั้น และเมื่อเราย้อนกลับมาดูในวงการเกม เราก็จะเห็นเกมหลายเกมที่ภาคแรกทำออกมาประสบความสำเร็จ  แต่ทางทีมพัฒนาก็พยายามเปลี่ยนแนวทางระบบการเล่น ให้ต่างไปจากเดิมเพื่อความแปลกใหม่ ซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ เรามาดูกันว่ามีเกมอะไรบ้างที่เปลี่ยนไปจากภาคแรกจนกลายเป็นคนละเกม

Final Fantasy 7

Final Fantasy 7

เริ่มต้นเกมแรกกับเกม RPG ระดับตำนานอย่าง Final Fantasy 7 ที่ชาวเกมเมอร์ทั้งเก่าและใหม่ ต่างยกย่องชื่นชมให้เกมนี้เป็นเกมระดับขึ้นหิ้งในวงการเกม ทั้งกราฟิกที่สวยงามที่สุดในยุคนั้น ระบบการเล่นที่เข้าใจง่ายแต่มีความหลากหลายในแต่ละตัวละคร รวมถึงเนื้อเรื่องที่มีความซับซ้อนที่สามารถเอามาสร้างเป็นภาคแยกได้มากมาย ซึ่งในฉบับเก่าเมื่อปี 1997 นั้นตัวเกม Final Fantasy 7 ยังคงใช้รูปแบบการเล่น รวมถึงระบบที่อ้างอิงและพัฒนามาจาก Final Fantasy ภาคเก่า ๆ ทั้งระบบการติดตั้งลูกแก้วเวทมนตร์ การยืนเรียงหน้ากระดานผลัดกันโจมตี ซึ่งในยุคนั้นระบบการเล่นแบบนี้ยังไม่เก่าหรือล้าสมัยเมื่อเทียบกับตอนนี้ ซึ่งเกมในซีรีส์ Final Fantasy ได้ใช้ระบบการยืนเรียงหน้ากระดานพลัดกันโจมตีนี้เรื่อยมาจนถึงภาค 13 เลยทีเดียว ก่อนที่ตัวเกมจะเปลี่ยนมาใช้ระบบ Action RPG ในภาค 15

Final Fantasy 15

จนเมื่อเวลาผ่านไปทาง Square Enix ได้ประกาศจะนำเกม Final Fantasy 7 มาทำการรีเมกใหม่ตามเสียงเรียกร้องของแฟน ๆ แต่การกลับมาใช้ระบบการเล่นอย่างการยืนหน้ากระดานแบบในต้นฉบับ จึงดูเป็นอะไรที่ล้าสมัยเมื่อเทียบกับตัวเกมยุคนี้ ทางทีมพัฒนาของ Square Enix จึงเปลี่ยนตัวเกม Final Fantasy 7 Remake ให้มีระบบต่อสู้แบบเกม Action RPG อย่างใน Final Fantasy 15 แต่ยังคงเอกลักษณ์และกลิ่นอายความเป็น Final Fantasy 7 ของเก่าอยู่ ทั้งการติดตั้งลูกแก้วเวทมนตร์ Material อย่างในต้นฉบับ กับเนื้อเรื่องในเกมที่ยังคงใช้การเล่าเรื่องแบบเดิม แต่ได้เสริมเติมบางส่วนลงไปเพื่อความสมบูรณ์จนแทบจะกลายเป็นอีกเกมไปเลยทีเดียว ซึ่งเราได้แต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะดีอย่างที่เราหวังกันเอาไว้

Final Fantasy

Fallout

Fallout

Fallout จัดเป็นอีกหนึ่งเกมที่เดินทางมาไกลกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากภาคแรกมาจนถึงภาคล่าสุดใน Fallout 76 ที่เรียกว่าจำของเก่าไม่ได้เลยทีเดียว โดยเกม  Fallout ภาคแรกสุดนั้นวางจำหน่ายเมื่อปี 1997 บนเครื่อง PC ที่พัฒนาโดย Black Isle Studios กับตัวเกมที่เป็นแนว Tactical role-playing Games ที่ใช้ฉากหลังเป็นโลกในยุคอนาคตหลังสงครามนิวเคลียร์ กับบทบาทผู้รอดชีวิตจากหลุมหลบภัย ซึ่งเกมจะเป็นมุมมองด้านบนกับระบบต่อสู้ที่เป็นแนว RPG กับการเอาตัวรอดและช่วยเหลือผู้คนตามเนื้อเรื่องในแบบเกม

Fallout

และด้วยเนื้อเรื่องกับระบบการเล่นที่น่าสนใจ จึงทำให้เกม Fallout สร้างออกมาอีกหลายภาคในรูปแบบ Tactical role-playing Games จนมาถึงภาคที่ 3 ของซีรีส์ ตัวเกมได้เปลี่ยนมือจาก Black Isle Studios มาเป็นของ Bethesda Softworks ตัวเกมก็เปลี่ยนไปจนแทบจะกลายเป็นคนละเกม กับรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไปทั้งมุมกล้องจากมุมมองด้านบนมาเป็นมุมมองด้านหลังอย่างมุมมองบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นที่นิยมในเกมยุคนั้น และจะเปลี่ยนมาเป็นมุมมองบุคคลที่ 1 เมื่อถึงตอนต่อสู้ที่เป็นแบบ Turn-Based ที่พัฒนามาจากภาคเก่าได้เป็นอย่างดี จนได้รับเสียงชื่นชมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนั้น Fallout ภาคต่อ ๆ มาก็ยังคงอ้างอิงระบบการเล่นแบบนี้เรื่อยมา จนถึงภาคล่าสุดอย่าง Fallout 76 ที่เป็นระบบ Online Role-Playing ที่หลายคนได้เล่น เรียกว่าพัฒนาเปลี่ยนแปลงแล้วดีขึ้น และยังคงกลิ่นอายความเป็น Fallout ฉบับเก่าได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยนอีกด้วย

Fallout

Clock Tower

Clock Tower

คราวนี้เปลี่ยนมาดูเกมที่เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วโดนด่ากันบ้าง กับเกมแนวสยองขวัญเอาตัวรอดของสาวน้อยไร้ทางสู้ กับฆาตกรโรคจิตที่พกกรรไกรยักษ์ในเกม Clock Tower ที่ตัวเกมนั้นวางจำหน่ายในปี 1995 บนเครื่อง Super Famicom ซึ่งตัวเกมจะเป็นมุมมองด้านข้าง 2D กับการควบคุมแบบ Point Click เหมือนเกมบน PC แต่ใช้จอยควบคุม ที่เป็นแนว Horror Adventure ที่เราจะได้รับบทเป็น Jennifer Simpson สาวน้อยวัยใสที่อยู่ผิดที่ผิดเวลา ที่ต้องหนีการตามล่าของ Scissorman ฆาตกรที่ถือกรรไกรตัดหญ้าขนาดใหญ่ ตัวเกมแม้จะเป็นแนว 2D แต่ก็สร้างความน่ากลัวกดดันให้กับผู้เล่นเป็นอย่างมาก ซึ่ง Clock Tower สอบผ่านทั้งระบบการเล่นที่เป็นแบบ Point Click แทนการควบคุมแบบเกมทั่วไป และการแอบซ่อนหาทางแก้ไขปริศนาก็เป็นจุดเด่นของเกมนี้ ที่เรียกว่าเป็นต้นแบบเกมแนว Horror Adventure ไร้ทางสู้ได้เลยทีเดียว

Clock Tower

และอีกหนึ่งความสนุกของเกม Clock Tower คือการเชื่องโยงกันของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ Jennifer ที่เกี่ยวข้องกับ Scissorman จนมาถึงภาคที่ 3 ของซีรีส์ ในชื่อ Clock Tower Ghost Head ที่ตัวเกมได้เปลี่ยนตัวเองจากกราฟิกแบบ 2D มาเป็น 3D ในปี 1998 บนเครื่อง PS1 กับตัวละครใหม่เนื้อเรื่องใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวกับภาคก่อน ที่ยังคงใช้การแอบซ่อนและหนีเหมือนเก่า แต่เปลี่ยนจากฆาตกรโรคจิตมาเป็นเหล่าภูตผี กับตัวละครที่มีความสามารถในการสลับจิตใจเป็นอีกคนเพื่อแก้ไขปริศนา จนมาถึงภาคที่ 4 ของซีรีส์ที่เปลี่ยนมือมาเป็นของ  Capcom ที่ได้ Capcom Production Studio 3 และ Sunsoft ช่วยกันพัฒนาในชื่อ Clock Tower 3 บนเครื่อง PS2 โดยใช้เรื่องราวในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ กับการหนีการตามล่าของฆาตกรโรคจิตแบบเกมต้นฉบับ แต่ที่ทำให้เกม Clock Tower 3 ภาคนี้ไม่เป็นที่ถูกใจของแฟน ๆ ก็ตรงระบบการเล่นช่วงหลังที่ตัวเอกสามารถต่อกรกับฆาตกรได้ แถมยังมีเหล่าภูตผีมาอีก จนเรื่องราวออกทะเลไม่มีกลิ่นอายความเป็น Clock Tower เดิมเลย ซึ่งจนถึงตอนนี้ Clock Tower ก็ยังคงถูก Capcom ดองยาวยังไม่มีทีท่าปลุกผีขึ้นมาเลย เรียกว่าเปลี่ยนแปลงแล้วแย่ก็ว่าได้

Clock Tower

Parasite Eve

Parasite Eve

มาที่เกมเก่าที่น่าสนใจที่อยู่ในยุค PS1 กับเกมแนว RPG Turn-based ผสม Sci-Fi ที่มีเนื้อเรื่องในยุคปัจจุบัน(ตอนนั้น) กับเรื่องราวที่เป็นแฟนตาซีผสมวิทยาศาสตร์ที่สร้างและอ้างอิงจากนิยายชื่อดังอย่าง Parasite Eve สำหรับคนที่ไม่รู้จักเกมนี้ จะเป็นการเล่าเรื่องราวของ Aya Brea เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปอยู่ถูกที่ถูกเวลาในโรงละครโอเปร่า ขณะที่กำลังชมการแสดงอยู่นั้น จู่ ๆ ผู้คนในโรงละครต่างก็ถูกไฟลุกไหม้อย่างไม่ทราบสาเหตุ มีเพียง Aya คนเดียวที่ไม่เป็นอะไร เธอจึงพยายามสืบหาความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจาก Eve หญิงสาวที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตให้เธอสัตว์ประหลาด ตัวเกมในภาคแรกนั้นถูกสร้างออกมาในแนวเกม RPG ที่มีการกดคำสั่งสวมใส่ชุดเกราะอาวุธใช้เวทมนตร์ แต่ทุกอย่างถูกอ้างอิงตามวิทยาศาสตร์

Parasite Eve 1

พอมาในภาคที่ 2 เกม Parasite Eve ก็เปลี่ยนรูปแบบแนวทางการเล่นใหม่อีกครั้ง ให้เป็นแนว Action Role-Playing ผสม Survival Horror ในปี 1999 ที่ถ้าใครคิดไม่ออกให้นึกถึงเกม Resident Evil กับเรื่องราวที่สานต่อจากภาคแรก กับสิ่งที่ส่งผลกระทบจากภาคที่แล้ว ซึ่งใครที่ได้เล่นเกมภาคนี้ต่างก็คิดว่ามันช่างมีกลิ่นอายความเป็น Resident Evil อยู่มาก นั่นก็เพราะชื่อของคนเขียนบทและกำกับเกมนี้คือ Kenichi Iwao ผู้เขียน Resident Evil ภาคแรกนั่นเอง จนมาถึงภาคที่ 3 ที่ใช้ชื่อภาคว่า The 3rd Birthday ที่วางจำหน่ายห่างจากภาค 2 ถึง 10 ปีบนเครื่อง PSP กับการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตต่างมิติที่ชื่อว่า Twisted กับรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยตัวเกมจะเป็นแนวแอ็กชันมากขึ้นกว่าภาคก่อน ตัวเกมเล่นสนุกกราฟิกสวยและเนื้อเรื่องก็ยังคงสานต่อจากสองภาคที่แล้ว เรียกว่า 3 ภาคของเกมซีรีส์นี้ได้เปลี่ยนไปเรื่อยเพื่อหาจุดที่ลงตัว ซึ่งเมื่อดูจากยอดขายแล้วคิดว่าเกมซีรีส์ Parasite Eve คงถูกดองอีกยาวย่างแน่นอน

Parasite Eve

Resident Evil

Resident Evil

เมื่อพูดถึง Resident Evil เชื่อว่าแฟน ๆ ที่ติดตามซีรีส์นี้มาตลอดมาตั้งแต่ภาค 1 มาจนถึงภาคล่าสุดอย่าง Resident Evil 2 Remake คงจะได้เห็นการเดินทางของเกมนี้มาอย่างยาวนาน กับการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเกมแนว Survival Horror ในภาคแรก ๆ ที่เกมเมอร์หลายคนในยุคนั้นต่างพากันพูดถึงความสนุกหลอนสยองขวัญ กับการเอาตัวรอดของเราในคฤหาสน์มรณะที่เต็มไปด้วยซอมบี้ และสัตว์ประหลาดจากการทดลอง มาเป็นแนว Action Horror ในภาคที่ 4 ที่เปลี่ยนแนวเกมจากความสยองขวัญอย่างเดียวมาเป็นเกมแนว Action แต่ยังคงความสยองขวัญและกลิ่นอายความอึดอัดไม่น่าไว้วางใจแบบในภาคเก่าอยู่ครบถ้วน

Resident Evil 1

ก่อนที่ตัวเกม Resident Evil จะหลงทิศหลงทาง เพราะผู้ให้กำเนิดอย่าง Shinji Mikami ลาออกไปจาก Capcom ทิ้งทีมพัฒนาที่ต้องเดินตามความสำเร็จของ Action Horror ก่อนที่จะล้มเหลวไม่เป็นท่าในแง่ของเสียงวิจารณ์จากแฟน ๆ ในภาค 5 และ 6 ที่แม้จะขายดีในแง่ของรายได้ แต่แฟน ๆ กลับไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งทาง Capcom ที่รับฟังเสียงของแฟน ๆ ก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเกมกลับไปหาความหลอนสยองขวัญแบบต้นฉบับอีกครั้ง กับการเอาตัวรอดในสถานที่ปิดไม่ยิ่งใหญ่แบบภาคก่อน ๆ แถมด้วยการเปลี่ยนมุมกล้องให้เป็นแบบมุมมองบุคคลที่ 1 เพื่อความสนุกและสยองขวัญ ซึ่งเสียงตอบรับในช่วงแรกนั้นแม้จะเป็นไปในทางติติงจากแฟน ๆ แต่เมื่อได้เล่นเสียงวิจารณ์เหล่านั้นก็ค่อย ๆ หายไปบวกกับยอดขายที่แม้จะไม่ขายดีแบบในภาค 5-6 ที่เป็นแนว Action Horror แต่ Capcom ก็ได้สร้างแนวทางใหม่กลับมาเดินถูกที่ถูกทางให้กับซีรีส์ได้อย่างน่าชื่นชม และคิดว่าใน Resident Evil 8 ก็ยังคงจะใช้มุมกล้องระบบแบบในภาคที่ 7 อย่างแน่นอน

Resident Evil

God of War

God of War

เมื่อพูดถึงเกม God of War เชื่อว่าคนที่ได้เล่นเกมนี้มาตั้งแต่ภาคแรก ๆ มาจนถึงภาคล่าสุดที่ลงบนเครื่อง PS4 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน นั่นคงจะเป็นคำถามที่คนซึ่งยังไม่ได้เล่นเกมภาคล่าสุดตั้งคำถาม เพราะถ้าเราได้ดูตัวเกม God of War ภาคล่าสุดกับภาคก่อน ๆ นั้นตัวเกมก็ยังคงเป็นเกมแอ็กชันเดินหน้าฆ่าแหลกเหมือนเดิม จะเพิ่มเติมตรงที่ตัวเกมได้เปลี่ยนมุมกล้องจากมุมมองด้านบนไกล ๆ มาเป็นมุมมองด้านหลัง แต่ระบบการเล่นและการควบคุมยังเหมือนเดิม ถ้าคุณคิดแบบนั้นคุณกำลังคิดผิด

God of War 3

เพราะถ้าคุณได้เล่นเกม God of War มาทุกภาคหรืออาจจะแค่บางภาคก็ตาม แล้วมาเล่น God of War ภาคล่าสุด คุณจะเห็นเลยว่าตัวเกมเปลี่ยนไปมากจนแทบจะกลายเป็นอีกเกมไปเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากมุมกล้องที่เปลี่ยนไปแล้ว ตัวเกมยังมีระบบการการสวมใส่ชุดเกราะการติดตั้งท่าในการต่อสู้ ไปจนถึงจังหวะในการเล่นที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ภาคก่อน ๆ จะเน้นการกดรัว ๆ ตามจังหวะเพื่อฆ่าศัตรูให้เร็วที่สุด แต่ใน God of War ภาคล่าสุดนั้นจะเป็นการกะจังหวะทั้งการโจมตีการหลบการใช้โล่ตั้งรับ เรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปจากภาคก่อน ๆ มาก นี่ยังไม่นับระบบคู่หูที่ทำออกมาดีและน่าชื่นชม กับเนื้อเรื่องที่สานต่อจากภาคก่อนได้อย่างลงตัว แถมยังปูทางไปสู่เรื่องราวใหม่ที่จะดำเนินไปได้อีกหลายภาคอีกด้วย เพราะแบบนี้เกม God of War จึงถูกจัดอันดับอยู่ในบทความนี้

God of War

Metal Gear

Metal Gear

ย้อนเวลากลับไปใน Metal Gear ภาคแรกสุดบนเครื่อง MSX 2 เมื่อราว ๆ 32 ปีที่แล้วเกม Metal Gear ได้สร้างมาตรฐานและความแตกต่างกับเกมทั่วไปในยุคนั้น ที่จะเน้นไปที่เกมแอ็กชันเดินหน้าฆ่าแหลกมุมมองด้านข้าง ไม่ก็เกมแนว RPG ที่มีเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน แต่ Metal Gear ของ Hideo Kojima กลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะตัวเกม Metal Gear จะเน้นที่การแอบซ่อนตัวเพื่อหาทางไปต่อข้างหน้า การเดินหน้าฆ่าแหลกไม่ใช่ทางที่เกมนี้แนะนำแก่ผู้เล่น รวมถึงการหาทางแก้ไขปริศนาต่าง ๆ ในเกมเพื่อเปิดประตู รวมถึงการทำภารกิจในเกม ที่มีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนจริงจังของตัวละครต่าง ๆ ที่มีมิติมีที่มาที่ไปและมีเหตุผลในการกระทำต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนเกมในยุคนั้น จึงทำให้เกม Metal Gear โดดเด่นและแตกต่างจนมีภาคต่อเรื่อยมา จนมาถึง Metal Gear Solid บนเครื่อง PS1 ที่เป็นการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักเกมนี้

Metal Gear Solid

ซึ่งถ้าใครที่ได้เล่นเกมนี้มาตลอดอาจจะตั้งแต่ภาคแรกสุดบนเครื่อง MSX 2 หรือบนเครื่อง PS1 ก็น่าจะทราบดีว่าเกมนี้แทบไม่เคยเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของตนเองเลย โดยตัวเกมจะเป็นเรื่องราวเดียวกันตั้งแต่ภาคแรก และมีการสร้างภาคย้อนหลังบ้างขณะที่บางภาคก็ไปข้างหน้าสลับไปสลับมา ซึ่งคนที่ไม่ได้ติดตามมาตลอดก็อาจจะงงในเนื้อเรื่อง แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือระบบเกมที่ยังเหมือนเดิม แต่มาในภาคล่าสุดอย่างภาค Metal Gear Survive ตัวเกมกลับเปลี่ยนไปเป็นอีกเกม ทั้งที่ผู้สร้างก็พยายามแถว่ามันคือเรื่องราวเดียวกันกับเนื้อเรื่องหลัก ที่เป็นเหตุการณ์หลังจากภาค Ground Zeroes ที่ตัวเกมยังคงใช้ฉากจาก The Phantom Pain มาดัดแปลง และเปลี่ยนจากเกมแนวสายลับที่น่าสนุกมาเป็นแนว Survive ที่ต้องเอาชีวิตรอดจากโลกที่เต็มไปด้วยซอมบี้ ทั้งการหาอาหารสร้างที่พักพัฒนากลไกเพื่อความอยู่รอด นี่ยังไม่นับระบบการต่อสู้ที่จากเดิมจะเป็นการยิงปืนกับการกดท่าต่อสู้ที่เรียกว่า CQC มาเป็นการต่อสู้โดยใช้อาวุธเช่นหอกธนู เรียกว่าหลุดโลกหลุดแนวไปไกลจนแฟน ๆ  Metal Gear สาปส่ง ซึ่งถ้าเกมนี้ไม่แปะชื่อ Metal Gear และเป็นเกมใหม่ไปเลย เกมนี้จะไม่โดนด่าแบบนี้อย่างแน่นอน

Metal Gear

Dino Crisis

Dino Crisis

ปิดท้ายด้วยเกมเก่าอีกหนึ่งเกมที่ตอนนี้แฟน ๆ ต่างหวังว่าทาง Capcom จะไฟเขียวเอามาทำภาคต่อหรือ Remake เสียที ซึ่งจะเป็นเกมไหนไปไม่ได้นอกจากเกมหนีตายจากฝูงไดโนเสาร์อย่าง  Dino Crisis ที่ในภาคแรกนั้นตัวเกมวางจำหน่ายบนเครื่อง PS1 ซึ่งใครที่เคยเล่นมาแล้วจะทราบดีว่าตัวเกม Dino Crisis นั้นให้บรรยากาศฉากการควบคุมตัวละครและอะไรหลาย ๆ อย่างที่เหมือน Resident Evil สามภาคแรกมาก ๆ เพราะทีมพัฒนาที่สร้าง Dino Crisis นั้นคือเทียบเดียวกันนั่นเอง ซึ่งตัวเกมเปลี่ยนจากเหล่าซอมบี้กับสัตว์ประหลาดมาเป็นไดโนเสาร์ ที่ให้อารมณ์หนีตายแบบในหนัง Jurassic Park ที่เราจะมีกระสุนปืนจำกัดกับฝูงไดโนเสาร์ที่รวดเร็วและน่ากลัวจนแฟน ๆ ที่ได้เล่นต่างชอบใจ

Dino Crisis 1

แต่มาใน Dino Crisis 2 ตัวเกมเกมยังคงตัวละครและเรื่องราวที่สานต่อมาจากภาคแรก แต่ครั้งนี้ตัวเกมเปลี่ยนจากเกมแนว Survive มาเป็นแนว Action เดินหน้าฆ่าแหลกแจกกระสุนเหล่าไดโนเสาร์แบบไม่มีหมด ที่แตกต่างกับภาคแรกจนกลายเป็นคนละเกมเลยทีเดียว  แถมตัวเกมยังเพิ่มตัวละครชายเข้ามาและยังแบ่งเนื้อเรื่องที่ไปคนละเส้นทางที่ต่างกัน นั่นจึงพอที่จะทำให้แฟน ๆ พอรับได้แม้จะไม่ชอบใจก็ตาม จนมาถึงภาคที่ 3 ของซีรีส์ที่ถูกสร้างออกมาบนเครื่อง Xbox ในปี 2003 ที่ตัวเกมเปลี่ยนฉากจากในสถานีวิจัยกับป่าในภาคแรก ๆ มาเป็นบนอวกาศกับการกลายพันธุ์ของ DNA ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ที่หลุดออกมา กับเนื้อเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับภาคก่อน ๆ ที่ทิ้งปมเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจแต่กลับไม่ได้เอามาสานต่อ ตัวเกมดูจากภายนอกแล้วดูน่าสนุกกับการต่อสู้กับไดโนเสาร์ที่หน้าตาเปลี่ยนไป แต่พอเกมออกมาจริง ๆ กลับได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากผู้เล่น ชนิดที่เรียกว่าเลวร้ายได้เลยทีเดียว บวกกับยอดขายที่ดิ่งลงเหวกับการเปลี่ยนแนวเกมเป็น Action แล้วโดนด่ายับจนตอนนี้ก็ยังไร้วี่แววภาคต่อ

Dino Crisis

เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวของเกมที่เปลี่ยนแปลงระบบการเล่นของตัวเอง จนแทบจะกลายเป็นเกมใหม่ที่มีทั้งดีและไม่ดีที่เราเอามานำเสนอ ซึ่งเราจะไม่อ้างอิงที่กราฟิกของเกมที่ต้องพัฒนาขึ้นตามช่วงเวลาในเกมแต่ละภาค แต่จะอ้างอิงถึงระบบการเล่นที่เปลี่ยนไปเพื่อหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งมันมีทั้งแบบเปลี่ยนแล้วดีกับเปลี่ยนแล้วแย่ลง ซึ่งบางส่วนนั้นก็มาจากการเปลี่ยนทีมพัฒนาที่ไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิดเกมนั้น จึงอาจจะต้องการเปลี่ยนแนวให้ดีขึ้นไม่ก็อยากลองของใหม่ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งส่วนมากจะออกมาแย่ กับอีกแบบที่เป็นทีมพัฒนาเดิมกับที่สร้างภาคแรกมา แต่อยากลองเปลี่ยนแนวเกม ซึ่งตรงนี้มักจะได้รับการชื่นชมมากกว่าที่จะโดนด่า(โดนด่าก็มี) เอาเป็นว่าถ้าขาดตกเกมไหนไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส