ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร

[สัมภาษณ์] ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร ชีวิตที่ขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยความหาทำ

ฟังคุณเล่าเรื่องความกดดันในการเรียนหมอมาแล้ว สำหรับคุณ อะไรคือความกดดันอย่างที่สุดที่คนเรียนหมอจะต้องเจอ

ที่สุดเลยเหรอคะ จริง ๆ ฟรังว่าโดยตัวมันเองมันก็เครียดประมาณหนึ่งอยู่แล้วล่ะ การที่คนจะเรียนหมอได้ ฟรังว่าต้องเป็นคนที่ปล่อยวางได้พอสมควรน่ะ เพราะทั้งวิชามันก็ยาก เครียด เพื่อน ๆ ก็มีแต่คนเก่ง สามคือ อาจารย์ที่สอน ณ ตอนนั้นเขาอาจจะไม่เข้าใจ หรือนึกไม่ถึงในสิ่งที่นิสิตแพทย์เจอ สุดท้ายสิ่งที่พอจะจัดการได้ก็คือความคิดของตัวเราเอง ต้องรู้จักปลดปล่อย รู้จักช่างมันเถอะไปบ้าง ต้องเป็นคนที่จัดการกับความเครียดได้ในระดับหนึ่ง

ซึ่งเพื่อน ๆ หลายคนก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มีนะคะ เพราะปกตินิสิตแพทย์ที่เรียนก็เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพราะไม่ได้เข้ามาเรียนด้วยความชอบของตัวเอง แต่อาจจะเข้ามาเรียนเพราะโดนคุณพ่อคุณแม่อยากให้เข้า พอเข้ามาเรียนแล้วไม่ชอบ ก็เลยทำให้กดดันและกลายเป็นโรคซึมเศร้า

จริง ๆ ถ้าจะเครียด มันก็มีเรื่องให้เครียดตลอดแหละ (หัวเราะ) เพราะอย่างที่ฟรังบอกว่ามันมีความยาก แล้วถ้าเราไปกดดันตัวเองเยอะ เปรียบเทียบกับคนรอบข้าง เพราะว่าสังคมนี้มันเป็นสังคมที่มีแต่คนเก่ง ๆ มันก็จะทำให้เราเครียด มันจะทำให้เราคิดว่า เราพยายามแล้วแต่ทำไมถึงทำได้แค่นี้ จริง ๆ ฟรังก็เคยมีโมเมนต์แบบนี้นะ คือตอนประถม มัธยม เราโตมาอย่างที่ไม่เคยรู้สึกกดดันอะไรเลย เพราะเราคิดแค่ว่า ถ้าเราพยายามเราก็จะทำได้ ถ้าพยายามหน่อยมันก็สำเร็จเองแหละ

แต่พอเข้าเรียนตอนปี 2 – ปี 3 มันจะมีอะไรบางอย่างทำให้เรารู้สึกว่า ฉันพยายามเต็มที่แล้ว แต่ทำไมมันได้แค่นี้ ทำไมเราดีไม่พอสักที มีความคิดนี้วนอยู่ในหัวตลอดเวลา เหมือนมันยากเกินความพยายามไปแล้ว สำหรับฟรัง คนที่เรียนหมอ นอกจากจะต้องใจรักแล้วก็ต้องปล่อยวางให้ได้ด้วย

น่าสนใจที่คุณบอกว่า การเรียนแพทย์ทำให้คุณปล่อยวาง

ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร

ใช่ ฟรังไม่รู้นะว่าคนอื่นคิดแบบนี้ไหม แต่ด้วยความที่ฟรังเองก็ไม่ได้เก่งมากขนาดนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาฟรังมักจะรู้สึกว่า ถ้าจะทำอะไรก็จะต้องใช้ความพยายามประมาณหนึ่ง แล้วพอเข้าคณะนี้ที่มีแต่คนเก่งเต็มไปหมดเลย มันก็เลยเป็นสิ่งที่สอนฟรังให้ปล่อยวาง ต้องมีความรู้สึกที่ว่าคนเราไม่มีทางที่จะเก่งเท่า ๆ กันได้หรอก ต้องปรับมุมมอง ปรับอารมณ์ ให้กำลังใจตัวเองเยอะ ๆ และแน่นอนว่ามันไม่มีอะไรที่เราจะควบคุมได้ทั้งหมดหรอก บางอย่างมันก็เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุม ฟรังก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนที่เรียนเก่งมาก ๆ เขาจะคิดแบบนี้ไหม เขาอาจจะไม่คิดมากเพราะเขาเก่งอยู่แล้วหรือเปล่า

อีกอย่าง คุณเองเรียนหมอก็น่าจะยุ่งพอตัว ทำไมคุณถึงทำช่องยูทูบอีก

จริง ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงประมาณปี 3 ขึ้นปี 4 ซึ่งตอนนั้นมีจังหวะปิดเทอมว่างช่วงสั้น ๆ แล้วตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ดาราหันมาทำช่องยูทูบกันพอดี ก่อนหน้าเราก็มีพี่ฝน (ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล) ที่เพิ่งจะทำยูทูบ (ช่อง Sananthachat) คนก็เลยแนะนำว่าลองทำดูสิ แต่ว่าตอนนั้นฟรังเองคิดว่า ชีวิตเรานอกจากเรียนไปวัน ๆ แล้วก็ไม่ค่อยจะมีอะไร ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอะไร

แล้วพอมีจังหวะว่าง แล้วเพื่อนฟรังที่เรียนด้วยกันก็ทำช่องยูทูบเหมือนกัน ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการเรียนหมอ ก็เลยรู้สึกว่า ชีวิตของเราที่ดูไม่ค่อยมีอะไร คนอื่นเขาอาจะอยากรู้ก็ได้นะ มันอาจจะมีประโยชน์สำหรับคนอื่น ๆ ก็ได้ ก็เลยลองถ่ายคลิปแรกเลย พอคลิปแรกฟีดแบ็กดี เราก็โอเค มีกำลังใจทำต่อแล้ว ก็เลยทำออกมาอีกเรื่อย ๆ จนสุดท้ายพอทำไปนาน ๆ ฟรังคิดว่าชอบกว่าที่คิดตอนแรกด้วยซ้ำ ทำไปทำมาก็สนุกดี

เห็นทำอะไรเยอะแยะขนาดนี้ คุณเองจะจำกัดความตัวเองตอนนี้อีกครั้งว่ายังไงดี

ฟรังว่าฟรังเป็นคนที่หาทำน่ะ (หัวเราะ) ฟรังเป็นคนที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นคนที่หาทำ ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าชอบหาทำ ชอบความท้าทาย ชอบหาอะไรใหม่ ๆ ชอบความสนุก อยากใช้ชีวิตให้คุ้ม อยากหาทำเยอะ ๆ ชอบอะไรก็อยากทำ อะไรแบบนี้ เป็นคนที่ชอบหาทำมากเลย (หัวเราะ)

ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร

อีกอย่างที่หลายคนคงอยากรู้คือ ถ้าคุณเป็นหมอแล้ว คุณยังจะสนใจทำงานในวงการบันเทิงไหม ถ้าในอนาคตคุณเป็นหมอเต็มตัวแล้ว

ตอนนี้ก็เป็นหมอแล้วนะ (หัวเราะ) จริง ๆ ฟรังก็ไม่ได้มีแผนจะเฟดตัวออกจากวงการอะไรขนาดนั้น เพราะมันก็เป็นอีกอย่างที่ทำแล้วสนุก แต่ว่าด้วยความที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่สอบเข้าเรียนแล้วว่าอยากเป็นหมอ ในขณะที่จริง ๆ ตอนนี้ ฟรังว่าก็ยังอยากทำไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นอะไรที่สามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้ ซึ่งก็คงต้องจัดความสำคัญ แต่ก็ยังอยากทำอยู่แบบเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นงานอีเวนต์ พิธีกร โน่นนี่บ้าง เพราะมันก็เหมือนกับเป็นการพักผ่อน ได้มีโอกาสเจอคน ได้ทำงานที่ไม่ซ้ำซากจำเจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟรังเองก็ยังสนุกกับตรงนี้ ใช้สมองคนละด้านกับตอนที่เราทำงาน ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเหมือนทำงาน

ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ความหาทำของฟรัง ตอบโจทย์ความเป็นเราอยู่เหมือนกัน แล้วฟรังก็รู้สึกว่ามันก็เป็นอะไรที่เสริมกันได้ เพราะฟรังเองก็ยังอยากทำอะไรที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่เป็นหมอจริง ๆ มีความรู้ ความเชื่อถือมากขึ้น ก็น่าจะเอามาต่อยอดกันได้ เช่นอาจจะใช้โซเชียลมีเดียในการให้ความรู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะฟรังว่าปัจจุบันนี้การมีตัวตนในโซเชียลมันก็เป็นสิ่งจำเป็นในทุกอาชีพเลย แม้ว่าหมอหลาย ๆ คนจะไม่ได้ออกมาตรงนี้มากมาย แต่ฟรังว่าก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่เหมือนกัน

แล้วคุณก็เข้ามาเป็นทาเลนต์ของ beartai อีก

คือจริง ๆ ฟรังมีเพื่อนที่เป็นทาเลนต์อยู่นะคะ ก็คือออม (สุชญา พุฒิวิญญู) คือเรากับออมก็เป็นเพื่อน รู้จักกันมาก่อน แล้วก็เห็นมันมาทำกับที่นี่ใช่ไหมคะ เราก็เห็นแล้วก็ได้ดูอยู่เรื่อย ๆ แล้วตัวฟรังเองก็รู้จักและเคยดู beartai อยู่แล้วด้วย อาจจะไม่ได้ดูเยอะ แต่ว่าก็เคยดูอยู่แล้ววันหนึ่งฟรังเองได้ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยกับออม แล้วออมบอกว่าจะไปเรียนต่างประเทศ เราก็เลยพูดเล่น ๆ ว่า “เดี๋ยวถ้าไปเรียนต่างประเทศ เดี๋ยวไปทำ beartai แทนให้เอามั้ย” (หัวเราะ) เป็นการพูดแซวเล่น ๆ ไม่ได้คิดอะไร

จนวันหนึ่ง ออมก็โทรมาถามว่าสนใจไหม เขากำลังหาทาเลนต์เพิ่ม เราก็ หา! แล้วช่วงนั้นประกอบกับว่าฟรังกำลังจะหมดสัญญากับต้นสังกัดเดิม เพราะว่าบริษัทกำลังจะปิดพอดี แล้วฟรังเองทำช่องยูทูบ ก็ทำคนเดียว ไม่ได้รู้เรื่องระบบอะไรเท่าไหร่ ทำแบบตามมีตามเกิดมาตลอด หาคนตัดเอง อยากรู้อะไรก็หาเอาใน Google ก็เลยเหมือนว่าอยากมีเพื่อนมาทำด้วยกัน

แล้ว beartai เองก็น่าจะมี Know-How เรื่องระบบต่าง ๆ ในการจะทำคลิปวิดีโออยู่แล้วแหละ ฟรังก็เลยอยากรู้ว่าเขาทำกันยังไง คือก่อนหน้านี้ฟรังเคยคิดว่า ถ้า beartai ไม่ได้มาติดต่อ ฟรังเองก็อยากจะหาบริษัทที่ทำโปรดักชันที่ทำคลิปยูทูบที่ทำออกมาเยอะ ๆ แล้วมีคุณภาพ อยากจะเข้าไปลองศึกษาเบื้องหลังว่าเขาทำกันยังไง ทำไมถึงทำคลิปออกมาได้เยอะแต่ว่าก็มีคุณภาพดีด้วย

พอ beartai ติดต่อมาก็เลยลองไปคุยค่ะ ตอนนั้นก็มีทีมงานมาคุย แล้วก็มีออมด้วย พอไปคุย ฟรังเองรู้สึกว่าเป็นทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีพลังงานมากเลย ก็เลยตกลงอยากทำงานโดยที่ไม่ได้คิดอะไรเยอะ เพราะฟรังเองก็ไม่ได้ต้องการเก่งมาตั้งแต่แรก แต่ชอบความรู้สึกของการทำงานกับคนรุ่นใหม่แล้วก็เติบโตไปด้วยกันมากกว่า ตอนที่คุยวันนั้นมันอาจจะยังไม่ได้เข้ารูปเข้ารอยอะไรเท่าไหร่ แต่ฟรังรู้สึกได้ถึงพลังอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ก็เลยเอาเลย ไม่ได้คิดมาก

ฟรัง นรีกุล เกตุประภากร

คุณได้ดูงานทาเลนต์ของออมใน beartai บ่อยไหม

ก็ได้ดูบ้างค่ะ เวลาออมมันแชร์ใน Story ก็คลิกเข้าไปดูอยู่ ซึ่งออมมันเก่งอยู่แล้วแหละ เป็นคนพูดเก่งตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว

คำถามสุดท้าย ถ้าคุณได้เข้ามาเป็นทาเลนต์แล้ว และมีโอกาสได้ทำคลิปวิดีโอสักตัวที่คุณคิดเนื้อหาเป็นของตัวเอง และเป็นทาเลนต์ของคลิปนั้นด้วยตัวเอง คุณจะทำคลิปเนื้อหาอะไร

แน่นอนว่า beartai มันก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเยอะใช่ไหมคะ ซึ่งฟรังเองจริง ๆ สนใจเรื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์ค่ะ เพราะว่าเราเองก็อยู่ในสายนี้ แล้วเราก็พยายามอัปเดตตัวเองในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ก็เลยมีความสนใจอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา โดยเฉพาะเทคโนโลยีในอนาคตเช่น AI หรือ Telemedicine (เทคโนโลยีที่ช่วยให้แพทย์สามารถซักประวัติ วินิจฉัย ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยในระยะไกลได้แบบ Real-time)

ฟรังก็เลยคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าได้ทำคอนเทนต์พวกนี้ มันก็เหมือนเราได้อัปเดตข้อมูลที่เราสนใจอยู่แล้วไปด้วย แล้วฟรังเองในอนาคตวางแผนว่าอยากจะทำธุรกิจอยู่แล้ว ถ้ามีความรู้เรื่องพวกนี้ในอนาคต ก็อาจจะมีไอเดียต่อยอดทำธุรกิจในด้านนี้ต่อไปก็เป็นได้

ส่วนช่องของฟรังที่เข้ามาร่วมกับทาง beartai ก็จะมีเนื้อหาออกไปทางพัฒนาตัวเองอยู่ในระดับหนึ่ง ก็เลยอยากจะทำเนื้อหาที่เป็น Chalenge ตัวเองในเชิงสร้างสรรค์ แล้วก็อาจจะมีการทำ TikTok ที่แชร์ความรู้ด้านการแพทย์แบบสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ เพราะว่าเราก็เป็นคนที่หาทำ อยากพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส