ในงาน Thailand Game Show BIG Festival 2017 ทีมงานเว็บแบไต๋ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเรย์มอนด์ เปา รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ VR ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท HTC ที่บินมาร่วมจัดแสดง HTC Vive อย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน TGSBIG 2017 ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจในการพูดคุยครั้งนี้ครับ โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่าทำไม Vive ถึงขายในไทยช้าจัง

(ขวา) เรย์มอนด์ เปา รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ VR ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท HTC และคุณโทมา ผู้จัดการในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

คุณเรย์มอนด์แนะนำตัวเองว่ามาจากไทเป สำนักงานใหญ่ของ HTC หน้าที่คือดูแลธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย HTC นั้นก่อตั้งมานานกว่า 20 ปีแล้วจากการเป็นบริษัทรับผลิต PDA ก่อน จนผลิตมือถือในแบรนด์ตัวเอง แล้วเมื่อปลายปี 2014 เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี VR จน HTC Vive เริ่มวางขายได้ในปี 2016

คุณเรย์มอนด์อธิบายให้ฟังว่าธุรกิจ VR ของ HTC นั้นมี 4 เสาหลักที่ดูแลคือ

  1. Hardware – Vive Technology ตอนนี้ HTC เคลมว่าเป็นอันดับหนึ่งในโลก VR ตอนนี้ แล้วเพิ่งเปิดตัว HTC Vive ในไทยเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา โดยขายผ่าน vibe.com , JIB ในราคา 35,990 บาท แล้วจะมีโปรร่วมกับ Acer, Alienware เพื่อขายในราคาพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีแผนออกอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่นอุปกรณ์ควบคุมแบบใหม่ หรือ Headset แบบใหม่
  2. Viveport แหล่งรวมซอฟต์แวร์ ทำงานร่วมกับ Valve ผู้สร้าง Steam อันโด่งดัง เพื่อแนะนำเนื้อหาสำหรับ Vive ตอนนี้มีระบบสมาชิกราคา $7 ต่อเดือน เลือกเนื้อหาได้ 5 ชิ้นต่อเดือน
  3. Vive Studio สตูดิโอผลิตเนื้อหาสำหรับ Vive ซึ่ง HTC ก็ผลิตเองส่วนหนึ่ง เช่นเกม Front defense ที่นำมาโชว์ในงาน TGSBIG นอกจากนี้ยังร่วมงานกับสตูดิโออื่นๆ เพื่อสร้างเนื้อหาลง Vive ก็หวังว่าจะร่วมงานกับนักพัฒนาไทยเพื่อร่วมงานกัน
  4. Vive X หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ รับสมาชิกใหม่ทุก 6 เดือน มีการ pitch ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ เซิ้นเจิน, ไทเป, ปักกิ่ง, ซานฟรานฯ เพื่อช่วย Startup ปัจจุบันเพื่อเปิดรุ่นที่ 3 ไป แต่ละรุ่นมี Startup ประมาณ 35 ทีม นอกจากช่วยเรื่องการเงินแล้ว ยังช่วยเรื่องเครือข่ายธุรกิจ โดยคุณเรย์มอนด์ก็อยากให้บริษัทไทยเข้าร่วม Vive X ด้วย (เพราะประทับใจการเล่าเรื่องของคนไทย ซึ่งผู้ชนะด้านภาพยนตร์ VR ในการประกวดล่าสุดมาจากไทย) ตัวอย่างทีมที่ประสบความสำเร็จในรุ่นที่ 2 อย่าง VR Chat ที่ HTC ลงเงินอีก 4 ล้านเพื่อสร้าง

Viveport

ทำไม HTC Vive ถึงใช้เวลาตั้งปีครึ่ง กว่าจะเริ่มขายในไทย

เกม Front defense ที่นำมาจัดให้เล่นในงาน TGSBIG 2017

HTC Vive นั้นเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2016 แต่เพิ่งเริ่มขายในไทยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง คุณเรย์มอนด์ตอบในประเด็นนี้ว่า เพราะทรัพยากรในบริษัทจำกัด มีเรื่องสิทธิบัตรและกฎหมายต่างๆ ที่ต้องเคลียร์ก่อนที่จำหน่ายได้ และต้องใช้เวลาหาพาร์ทเนอร์ขายในไทยด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ใช้ Synnex ในการกระจายสินค้า (เท่ากับว่าส่วนธุรกิจ Smartphone กับ VR ของ HTC ในไทยนั้นไม่เกี่ยวข้องกันเท่าใดนัก)

แต่ก็ถือว่าไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถัดจากสิงคโปร์ที่เปิดตัว HTC Vive เมื่อปลายปีที่แล้ว (เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้จัดจำหน่ายได้เร็วกว่า) ซึ่งคุณเรย์มอนด์ก็มองว่าไทยมีศักยภาพมากในเรื่อง VR นี้ มีผู้ผลิตเนื้อหาที่มีความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้เราเข้าสู่ตลาดนี้

เร็วๆ นี้เราจะมีโปรโมชั่นกับ Acer และ Alienware จัดชุด Bundle คอมพิวเตอร์พร้อม HTC Vive

HTC Vive จะออกรุ่นใหม่เมื่อไหร่

จอยปิงปองและจอยแรกเก็ตของ HTC Vive ที่สามารถถอดเซนเซอร์ออกมาใช้งานได้หลากหลาย

คุณเรย์มอนด์บอกได้เพียงตอนนี้กำลังพัฒนาอยู่ แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ตอนนี้ แต่เมื่อถามถึงเทคโนโลยี VR แบบ Stand Alone ที่แว่นสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลให้ คุณเรย์มอนด์ให้ความเห็นว่าตอนนี้ยังทำได้ยากเพราะต้องใช้ CPU แบบ ARM แบบเดียวกับที่ใช้ในสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ต้องสร้างซอฟต์แวร์ของ Vive ใหม่ทั้งหมด และไม่สามารถติดตั้งตัวตรวจจับตำแหน่งได้ แว่นต้องระบุตำแหน่งด้วยตัวเองทั้งหมด ทำให้รูปแบบการใช้งานก็ต้องต่างไป

เราสร้าง HTC Vive ก่อน เพื่อสร้างมาตรฐาน VR ที่ดีให้คนรู้จัก แล้วจึงค่อยพัฒนารุ่นประหยัดต่อไป

คิดว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับ VR ในไทย ควรจะเป็นเท่าไหร่

บรรยากาศในห้องสัมภาษณ์

iPhone X ขายได้ดี แม้จะแพงมาก เพราะคนเข้าใจว่ามันทำอะไรได้บ้าง
คุณเรย์มอนด์ตอบเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ เพราะเราบอกไม่ได้ว่าราคาของ VR ที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ยกตัวอย่าง iPhone X ขายได้ดี แม้จะแพงมาก เพราะคนเข้าใจว่ามันทำอะไรได้บ้าง ไม่ต้องอธิบายเยอะก็เข้าใจว่าจะซื้อมาทำอะไร แต่สำหรับ VR ก็ต้องให้ความรู้ว่าคนจะเอามาใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ยังไง แล้วเรื่องราคาจะตามมา ถ้าคนเห็นว่ามันจำเป็น แม้มีราคาสูงแต่คนก็จะยอมจ่ายเพื่อให้ได้คุณภาพดี

ส่วนคนไทยจะเริ่มตอบรับกับ VR เมื่อไหร่ ก็บอกได้ยาก ขึ้นอยู่กับเนื้อหาล้วนๆ เลยว่าคนไทยตอบรับกับเนื้อหาแค่ไหน ซึ่งเนื้อหาที่น่าจะโดนใจจริงๆ น่าจะเป็นฝั่งเกมหรือความบันเทิง อย่างเกมล่าสุด Fallout 4 VR ที่ทำออกมาได้น่าสนใจ หรือค่าย Warner ที่ทำหนัง VR ออกมาบ้างแล้ว ซึ่งหลังๆ จะเห็นการใช้ VR ในแวดวงธุรกิจมากขึ้น เช่นโชว์รูมรถ กีฬา

คาดหวังยอดขายของ HTC Vive ในไทยเท่าไหร่

ส่วนหนึ่งของ Viveland กับการเล่นเกมล่าไดโนเสาร์ 4 คน พร้อมจอยปืนที่สามารถสั่นตามการยิงได้ ทำให้ได้ประสบการณ์การเล่นที่ดีมาก มาทดลองเล่นฟรีได้ที่งาน TGSBIG 2017

ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งความคาดหวัง เพราะอยู่ในช่วงทดลองตลาดอยู่ แล้วเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็เป็นช่วงหยุดพักการตลาด เราจึงทำอะไรมากไม่ได้ ตอนนี้กำลังอยู่ในการให้ความรู้ผู้สร้าง ผู้เล่น ให้เข้าใจ VR ซึ่งจุดแรกที่จะบุกคือร้านเกม ตามร้านค้าปลีกก็จะส่งสินค้าตัวอย่างไปให้คนได้ทดลองมากขึ้น โดยโฟกัสฝั่งเกมอยู่มากกว่า 60% เพราะเป็นตลาดที่เติบโตได้เร็ว ส่วนตลาดธุรกิจก็ต้องใช้เวลาสร้างความรู้ สร้างตัวอย่างเชิงธุรกิจให้เห็นต่อไป

ในต่างประเทศเรามี VIVELAND เป็นเหมือนร้านเกมรวมประสบการณ์ VR ของ HTC เช่นเกมที่เล่นพร้อมกันได้ 4 คน ซึ่งเราก็นำส่วนหนึ่งมาให้ทดลองเล่นในงาน TGSBIG 2017 ด้วย (ยิงไดโนเสาร์กัน 4 คน มันส์มาก แอดไปเล่นมาแล้ว) ซึ่งเราก็อยากให้มีร้านแบบนี้ในไทย

สำหรับเนื้อหาไทย ก็ไม่ได้มีนโยบายอย่างเป็นทางการ แต่เนื้อหาไทยส่วนหนึ่งก็มีอยู่ใน Steam store แล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาว่าจะทำให้ได้หรือไม่ อย่างเกม front defense ของเราก็มีภาษาไทย

HTC มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ AR หรือไม่

AR (Augmented Reality ความจริงเสริม หรือการแสดงภาพคอมพิวเตอร์ไปผสมกับโลกจริง) กับ VR (Virtual Reality ความจริงเสมือน แสดงภาพคอมพิวเตอร์ครอบทั้งหมด ไม่เห็นโลกจริง) ใช้เทคโนโลยีรากฐานเดียวกันกว่า 80% ก็ทำให้ HTC เข้าสู่ตลาดนี้ไม่ยากนัก ซึ่ง AR สามารถใช้สมาร์ทโฟนทำได้ในปัจจุบัน เราจึงคิดว่าแว่น VR มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนกว่า แต่ AR กับ VR นั้นจะโตไปด้วยกัน ซึ่ง HTC ก็มองตลาดนี้อยู่โดยการลงทุนเพิ่มในบริษัท AR ด้วย

HTC มอง PlayStation VR หรือ Oculus เป็นคู่แข่งหรือไม่

เราสามารถใช้เซนเซอร์ติดกับกล้องเพื่อแทรกภาพใน VR ออกมาเป็นภาพจริงได้ เมื่อเคลื่อนกล้อง ภาพทุกอย่างจากคอมพิวเตอร์ก็จะเคลื่อนตาม

คุณเรย์มอนด์บอกว่า HTC Vive ไม่ได้มองค่ายอื่นๆ เป็นคู่แข่ง เพราะอยู่ในช่วงพัฒนาตลาดไปด้วยกัน สร้างตลาด VR ให้โตไปด้วยกัน อย่าง Oculus ก็มีตลาดเฉพาะ เน้นโซเซียล มีแผนบุกโมบาย ส่วน PlayStation VR ก็อยู่ในตลาดเฉพาะที่ไม่มาบุก PC และเราก็ไม่สามารถทำอุปกรณ์ให้ใช้กับ PlayStation ได้ ซึ่ง HTC ก็พยายามคุยกับ Sony เผื่อมีช่องทางสนับสนุนระหว่างกัน

และตอนนี้ Google ก็ซื้อทีม Vive กับทีมที่สร้าง pixel ไปแล้วด้วยมูลค่า 1,100 ล้านเหรียญ ทำให้เรามีเงินลงทุนมากขึ้น (แต่ส่วนที่ผลิต HTC Phone ก็ยังอยู่นะ)