‘หนุ่ย พงศ์สุข’ พบ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ และ ‘กบ อภิพันธ์’ หัวหอกแอป #SCBEasy กับมาดการจ่ายง่ายแบบ #แม่มณี

***บทความนี้พงศ์สุขเขียนจากการถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนแบบใกล้ชิดบนโต๊ะอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ และหยิบเนื้อหามาสรุปมวลความรู้ให้เข้าใจง่ายตามสไตล์ #ไม่ใช่การหยิบยกคำพูดจากผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งหมดที่ท่านกำลังจะได้อ่านเป็นสำนวนจากลีลาพงศ์สุขเอง

เล่าถึง Status ของการพัฒนาแอป SCB Easy และระบบ QR Code Pay

SCB ออกจาก Sandbox (กะบะทดลอง) ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า (ที่เปิดๆตัวกันมาก่อนหน้านี้คืออยู่ใน Sandbox เท่านั้น) ขณะนี้จึงสามารถรองรับการรับ-จ่าย #QRCodePay โดยสมบรูณ์แบบ อ่าน QR Code ข้ามได้ทุกธนาคาร และขณะนี้ก็มี 5 ธนาคารใหญ่ที่พร้อมแล้วแบบนี้เช่นเดียวกัน

…วิธีนี้ผูกกับภาพของระบบ #PromptPay นโยบายด้านการเงินใหญ่ของประเทศ (ที่คนไทยเสือกกลัว) ทำให้ประชาชนหมดภาระเรื่องค่าธรรมเนียม การโอนต่างธนาคารที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตกาล (รัฐบาลสั่งทุบโต๊ะให้ทุกธนาคารพัฒนาระบบหลังบ้านใหม่ร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการโอน) ธนาคารขาดรายได้ด้านค่าธรรมเนียมก็จริง แต่ทุกธนาคารเห็นดีด้วยที่จะทำเพื่อที่มันจะกระตุ้นให้คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ได้ ซื้อง่ายขายคล่องขึ้น เพราะแต่เดิมการจัดการเก็บรักษาธนบัตรก็เป็นคอร์สบริหารจัดการที่มหาศาลของธนาคารเหมือนกัน *ทั่วโลกมีแนวทางเดียกันในด้านนี้ และประสบความสำเร็จมากแล้วในจีน

… วิธีนี้ดีมากๆ และคงโง่มากหากใครจะมัวหลงเชื่อข้อความหลอกลวงทาง LINE ที่กล่าวว่าจะโดนแฮกง่ายหากเปลี่ยนเบอร์มือถือ (แม่งไม่ได้เกี่ยวเล๊ย~! เพราะเบอร์โทรเราเอาไว้ “รับเงิน” ไม่ใช่เอาไว้ Log In เข้าระบบ ซึ่งนั่นก็ต้องใช้รหัสลับอันยาวเหยียดที่เรากำหนดเองอยู่ดี (หรือสแกนนิ้วหากมือถือคุณรองรับ)

การสมัคร QR Code Pay ง่าย ๆ เพียง 3-4 จิ้ม

.. การสมัคร QR Code Pay ทำได้เพียงกด 3-4 จิ้ม บนแอป มันสัมพันธ์กับการเปิด PromptPay เลือกผูกบัญชีกับเบอร์โทรศัพท์ หรือ เลขบัตรประชาชน (เอาที่สบายใจ) จบเลย! รอ ‘รับการจ่าย’ ง่าย คนจ่ายไม่มีค่าธรรมเนียม คนขายไม่ถูกตัดเปอร์เซ็นต์ใดๆ ได้เงินเต็มๆ เพราะมันคือการ “โอนไว” ไม่ใช่บริการบัตรเครดิตนี่นะ

คุณโจ้ ธนายอมรับว่าการทำแอปใช้งานง่ายประเภทนี้ทำให้ธนาคารขาดรายได้จาก SMS Alert ไปเป็นหลักพันล้านบาท/ปี แต่ต้องทำ ไม่งั้นธนาคารอาจสูญพันธ์เหมือน Kodak® และ Nokia® ถ้าไม่ปรับตัวเดี๋ยวนี้

SCB สร้าง Users จากมหาวิทยาลัยก่อนเพราะเด็ก Gen Z เขาไวต่อการรับเทคโนโลยี พอเด็กใช้กันมาก แม่ค้าแม่ขายก็จะยอมเปิดบัญชีรับจ่ายด้วย QR Code นี้เอง (หลักการเดียวกับ AliPay®ในไทย คือพอนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้ามามาก ใครๆก็อยากได้เงินจากนักท่องเที่ยวจีน ก็ยอมเปิดบัญชี AliPay® ใช่ไหมล่ะ!)

โมเดล Cashless Society ของจีนแข็งแรงมาก มากซะจน SCB มั่นใจว่าจะเกิดในไทยด้วย แม้จังหวะเวลานี้อาจไม่สวยนักเนื่องจากคนยังติดใจกังวล(ไปเอง) ในสมองด้วยข้อความสับขาหลอกทางไลน์เกี่ยวกับพร้อมเพย์ ทำให้เกิดความกังวลใจและไม่กล้าใช้ แต่ยังไงก็แล้วแต่

ถ้าธนาคารไทยไม่ทำ มันก็จะเป็นการปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาทุ่มตลาดทำ

สุดท้ายเราก็จะสูญเสียตลาดนี้ให้กับต่างชาติเหมือนกับที่สูญเสียตลาดเพลงให้แอปจีน ตลาดหนังให้กับแอปอเมริกา/มาเลย์ฯ หรือตลาดรายการทีวี-บันเทิงให้เฟซบุ๊ก ยูทูป ฯลฯ จะเอางั้นกับเรื่องการเงินด้วยหรือ??? มันคือเรื่องเสถียรภาพของประเทศเลยนะจ้ะ

การที่ SCB เข้ามาเชียงใหม่และโหมโรงโปรโมตแรงกับระบบที่พัฒนามาอย่างดีครั้งนี้จึงถือเป็นการเดิมพันอนาคตของธนาคารไทยที่จะต้องไม่สูญเสียตลาดการเงินให้กับ FIN Tech ข้ามชาติ .. ซึ่งจำเป็นมาก และเราคงไม่อยากเห็นวันที่เราสูญสิ้นธุรกิจในประเทศไทยให้กับเทคโนโลยีต่างชาติไปซะทั้งหมด (มีบ้างได้ครับ เป็นสีสัน แต่ไม่ใช่จะไม่มีที่ยืนให้แอปไทยที่แข็งแกร่งเลย)

ขณะนี้ SCB ใช้เงินลงทุนกับการกระตุ้นตลาดตรงนี้เกิน 100 ล้านบาทแล้ว

…เปิดใช้กันเยอะๆนะครับ #SCBEasy

—— ข้อฉุกคิด ——-

ปัจจุบันธนาคารน่าจะได้เปรียบคนทำแอป eWallet ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพราะว่าธนาคารเองมีบัญชีออมทรัพย์ของลูกค้าอยู่แล้ว แค่ Convert มันมาเป็น eWallet ได้เลยด้วยหน้าตาใช้งานที่เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องให้ผู้คนไปโอนใส่ หรือไปเติมเงิน

แต่ธนาคารเองก็ต้องทำโปรโมชั่นหรือจับใส่บริการจอง-จ่าย-จบ ง่ายๆไว้ในแอป เช่น ซื้อตั๋วหนัง จองร้านอาหาร ซื้อของเล็กๆน้อยๆ ผมเสนอไอเดียซื้อล็อตเตอรี่ออนไลน์ ถ้าทำได้น่าจะกระฉูดนะ แต่กฎหมายต้องปรับตัวไวกว่านี้ ไม่ต้องไปกลัวคนมอมเมา เพราะทุกวันนี้เป็นฉลาก ก็ลุ้นกันเยี่ยวเหนียวเยี่ยวแตกกันอยู่แล้ว สถานีข่าวไหนไลฟ์ถ่ายทอดการออกรางวัลนี่วิวท่วม! แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านแอป มันตรวจให้เลยไง เสียเวลาชีวิตน้อยลงด้วยต่อการไปลุ้น …ดูแอปธนาคารออมสินเป็นตัวอย่าง GSB MyMo™ ซื้อสลากดิจิทัลออมสิน เวิร์คมากอย่างผิดหูผิดฟอร์มรัฐ

พี่โจ้ ธนา และพี่กบ อภิพันธ์ ฟันธงว่าปีหน้า 2018 จะเป็น ‘ปีแห่งแบงค์’ การตลาดจะทุ่มอีกมาก ฟาดฟันกันอีกบาน ด้วยงบการตลาดมหาศาล เหมือนยุคเรียกลูกค้าเข้าค่ายของบริษัทโทรคมนาคมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งพอมาถึงวันนี้ คนเคยสร้าง dtac ให้เติบโตมากับมืออย่างพี่โจ้ ก็สลับหน้าที่มาเหนื่อยด้วยอีกครั้ง!

องค์กร SCB เองปีหน้าก็น่าเร้าใจมาก เพราะได้ “วิลาสินี พุทธิการันต์” หรือพี่แอ๊ว มือสร้าง AIS Serenade Call Center ที่เกษียนอายุแล้วแต่ยังไฟเธอยังแรง (ทำงานหนักมาตลอดชีวิต จะให้หยุดคงเหงา) มาช่วยสร้างวัฒนธรรมความเนี๊ยบแห่งการให้บริการภายใต้แบงก์ใบโพธิ์ม่วงนี้ด้วย

เอาใจช่วยครับ …มีอะไรก็ให้บอก เพราะผมชอบบอกต่อผู้คน 🙂 ขอบคุณทีมงานทุกฝ่ายที่ชวนไป

หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ : ผู้บันทึก