Psyche 16 คือดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการตั้งชื่อตามนางไม้ไซคี (Psyche) ผู้แต่งงานกับคิวปิด และถูกเทพวีนัสประหารชีวิต แต่ภายหลังเป็นอมตะเพราะคิวปิดร้องขอต่อเทพจูปิเตอร์ ส่วนสาเหตุที่มีตัวเลข 16 เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบเป็นลำดับที่ 16 นอกจากชื่อที่มีความหมายสื่อถึงความสวยงามและความลุ่มหลงแล้ว เจ้าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ยังดึงดูดความสนใจชาวโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ร่ำลือกันว่า เต็มไปด้วย ‘โลหะมูลค่ามหาศาล’ ด้วย 

Psyche 16 ทรัพย์สมบัติแห่งห้วงอวกาศ!?

เช่นเดียวกับทองคำวัตถุลึกลับนั้นเต็มไปด้วยทองคำขาว เหล็กและนิเกิลมากมาย โดยรวมแล้วคาดกันว่าโลหะต่าง ๆ ของ Psyche มีมูลค่ามหาศาลถึง 8,000 ล้านล้านปอนด์

Thesun.co.uk

นาซามุ่งหน้าสู่ดาวเคราะห์น้อยทองคำขนาดยักษ์ที่สามารถทำให้ทุกคนบนโลกเป็นมหาเศรษฐีได้

Foxnews.com

นาซาขอให้ Elon Musk เจ้าของบริษัท SpaceX ช่วยทำภารกิจใหม่ นั่นคือการหาทองคำในอวกาศ

Bbc.co.uk

นี่คือตัวอย่างข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ที่แพร่สะพัดตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเองก็มีสำนักข่าวหลายแห่งหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงกันอย่างมากมาย โดยส่วนใหญ่แล้วพากันเรียกขาน Psyche 16 ว่าเป็นดาวทองคำตามแหล่งข่าวจากต่างประเทศเช่นกัน แต่น่าแปลกที่นาซากลับไม่เคยออกข่าวกล่าวถึงภารกิจสำรวจ ‘Psyche ‘ ว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย ‘ทองคำ’ แล้วแบบนี้ ดาวทองคำที่ว่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และเพราะอะไรจึงเกิดคำเรียกที่แสดงให้เห็นถึงมูลค่ามหาศาลของดาวขึ้น ด้วยความสงสัยเราจึงขอตามสืบกันสักหน่อย

Psyche 16 คืออะไร ประกอบไปด้วยโลหะมูลค่าสูงอย่างที่ลือกันจริงหรือไม่

Psyche 16 คือดาวเคราะห์น้อยโลหะขนาดยักษ์ (A giant metal asteroid) มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 378 ล้านถึง 497 ล้านกิโลเมตร หรือ 2.5 ถึง 3.3 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) (1 AU คือระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) หรือพูดง่าย ๆ คือ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกประมาณสามเท่า โคจรรอบดวงอาทิตย์ในบริเวณระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกกันว่าบริเวณ ‘แถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (Main asteroid belt)’ โดยใช้เวลาประมาณ 5 ปี (ของโลก) โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ และใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงหมุนรอบตัวเอง 

วงในคือ แถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid belt) บริเวณในระบบสุริยะที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี 
ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์น้อย (asteroid หรือ minor planet) จำนวนมาก บางครั้งก็เรียกแถบดาวเคราะห์น้อยว่า “แถบหลัก”
เพื่อแยกแยะมันออกจากดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระบบสุริยะ เช่น แถบไคเปอร์
ส่วนวงนอกในภาพคือแถบดาวเคราะห์น้อย Trojan

นักดาราศาสตร์บนโลกศึกษา Psyche 16 ในช่วงความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ อินฟราเรด และเรดาร์ ซึ่งช่วยชี้ให้เห็นว่า Psyche มีรูปร่างคล้ายมันฝรั่ง  มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 226 กิโลเมตร (140 ไมล์) หรือประมาณระยะทางระหว่างลอสแองเจลิสและซานดิเอโก หรือถ้าในไทยก็ประมาณระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปอุทัยธานี

ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหินหรือน้ำแข็ง แต่ไม่ใช่กับ Psyche 16 ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท M (Metallic – โลหะ) นักวิทยาศาสตร์คาดว่า มันประกอบไปด้วยเหล็กและนิกเกิลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคล้ายกับแกนกลางของโลกที่อนุมานไว้ จึงสงสัยกันว่า Psyche 16 อาจเป็นแกน หรือใจกลางของดาวเคราะห์ในยุคต้น ๆ ซึ่งเดิมอาจเคยมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับดาวอังคาร แต่สูญเสียชั้นหินด้านนอกไป เนื่องจากการชนกันอย่างรุนแรงเมื่อหลายพันล้านปีก่อน 

ลินดี เอลคินส์-แทนทัน (Lindy Elkins-Tanton) นักวิจัยหลักในโครงการศึกษา Psyche 16 จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) กล่าวว่า “Psyche 16 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เป็นโลหะ ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเดียวที่เรารู้ว่ามันเป็นเช่นนี้ในระบบสุริยะ นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้สำรวจโลกใบใหม่อีกประเภท ซึ่งการสำรวจดาวเคราะห์น้อยนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจโลกของเราเองด้วย”

เป้าหมายของภารกิจ Psyche คือ การพิจารณาว่ามันเป็นแกนกลางของดาวเคราะห์จริงหรือไม่ และที่แท้แล้วมันมีอายุเท่าไหร่กันแน่ นับเป็นภารกิจแรกของโลกที่นักวิทยาศาสตร์จะไดมีโอกาสตรวจสอบดาวเคราะห์น้อยที่เป็นโลหะ แทนที่จะเป็นหินและน้ำแข็งอย่างเช่นที่เคยพบกันมา และเพราะเราไม่สามารถเข้าไปใต้เปลือกโลกหรือใต้ล่างของชั้นหินของโลกได้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นหรือศึกษาแกนกลางของโลกที่เชื่อว่าเป็นโลหะได้โดยตรง การศึกษา Psyche จึงเป็นการเปิดหน้าต่างบานใหม่ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของการก่อตัวของดาวเคราะห์เช่นโลก และการชนกันที่รุนแรงในอดีตได้

ไม่มีคำว่า ‘ทองคำ’ สักนิด ความสนใจก็คนละเรื่อง แล้วเหตุใดหลายสื่อจึงเรียกมันว่า ดาวที่มูลค่ามหาศาลเช่นนั้นกัน ?

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

องค์ประกอบของ Psyche 16 เหตุแห่งสมญา ‘ดาวทองคำ’

มาทบทวนข้อมูลดาวเคราะห์น้อย Psyche 16 กันอีกสักนิด เบื้องต้น นาซาได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับแร่โลหะของดาวเคราะห์น้อยว่า ‘ประกอบไปด้วยเหล็กและนิกเกิลเป็นส่วนใหญ่’  โดยคำอธิบายนี้ก็มีที่มาจากการใช้อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นทั้งหลายในงานวิจัยต่าง ๆ นั่นเอง  

การตรวจหาองค์ประกอบของ Psyche เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผ่านการสังเกตการณ์ของเรดาร์ งานวิจัย Ostro 1985 และ Magri et al. 1999 ได้ระบุว่า มันเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท M ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีโลหะมากที่สุด โดยน่าจะมีนิกเกิลและเหล็กเป็นองค์ประกอบมากที่สุด แต่เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อุดมด้วยโลหะ ในรายงานของ Ostro 1985 จึงคาดว่าจะมีโลหะ ‘มีค่า’ ชนิดอื่น ๆ อยู่ภายในด้วย

และเพราะเรายังไม่ได้ศึกษาโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์น้อยอย่างละเอียด (ซึ่งแน่นอนว่า นั่นคือเป้าหมายของการสำรวจครั้งนี้ไงล่ะ) ผู้ศึกษาจึงหันไปหาข้อมูลของวัตถุจำพวกอุกกาบาต (Meteorite) เพื่ออนุมานองค์ประกอบของ Psyche 16 แทน  โดยปริมาณทองคำในอุกกาบาตที่เคยตรวจพบนั้น มีค่าที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ 0.0003 ส่วนต่อล้าน ถึง 8.74 ส่วนต่อล้าน ตามรายงานของ Jones 1974

ถ้าหากดาวเคราะห์น้อย Psyche 16 ดันแจ็กพอต มีปริมาณทองคำอยู่ในขอบข่ายไปในทางมากที่สุดของอัตราส่วนนี้ มูลค่าของทองคำจะทะยานไปหลายล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อ่านไม่ผิดล้าน 3 ครั้ง เลขศูนย์ 18 ตัว) และนี่ก็เป็นเพียงการคำนวณเฉพาะค่าของทองคำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะ หากนำมาคิดว่ามีแพลทินัมหรือทองคำขาวอยู่ด้วย มูลค่าก็จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก และเมื่อบวกกับนิกเกิลและเหล็ก มูลค่าของมันอาจพุ่งสูงถึง 140 ล้านล้านล้านดอลลาร์ (140 quintillion) เลยทีเดียว

แต่ช้าก่อน! กลับมาสู่จุดเริ่มต้นทั้งหมดทั้งมวล มูลค่านี้เกิดมาจากการ ‘คาดการณ์’ ล้วน ๆ แถมยังเป็นการคาดการณ์ที่สุดโต่งอีกต่างหาก หากอ้างอิงจากงานวิจัยและทั้งนาซาเองก็จะเห็นว่า โลหะที่น่าจะมีอยู่จริงจนถึงขั้นที่พูดอธิบายออกมาได้นั้น มีเพียงแค่ ‘นิกเกิลและเหล็ก’ เท่านั้นเอง  

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าดาวเคราะห์น้อย Psyche 16 เป็นดาวเคราะห์น้อยทองคำ ดาวเคราะห์น้อยขุมทรัพย์ ฯลฯ นั้น จึงเกิดจากการคาดเดาล้วน ๆ เรายังไม่สามารถระบุได้ชัดว่า Psyche 16 จะมีโลหะที่มีมูลค่าเช่นนั้นจริงหรือไม่ และเมื่อเราค้นดูช่วงเวลาที่สื่อส่วนใหญ่โหมกระพือข่าวนี้กัน ก็พบอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ถึงมูลค่าของมันแบบสุดกู่นี้ขึ้นมา นั่นก็คือการเลื่อนกำหนดการดำเนินภารกิจสำรวจของนาซาเอง

ความเร่งรีบของนาซา ช่วยให้เกิดการ ‘จับแพะชนแกะ’ ขึ้น

เดิม ภารกิจสำรวจ Psyche มีกำหนดการส่งยานสำรวจขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม 2023 และจะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยในปี 2030 แต่จู่ ๆ เมื่อกลางปีที่แล้วนาซาก็เปลี่ยนแผน ทำให้กำหนดการใหม่เลื่อนมาเร็วขึ้น 1 ปี เป็นออกเดินทางในเดือนสิงหาคมปี 2022 และจะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยในต้นปี 2026 ซึ่งเร็วกว่าไทม์ไลน์เดิมถึง 4 ปี นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สื่อต่างหลายต่างจับตาว่า ทำไมจึงเลื่อนมาให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดมากมายถึงเพียงนี้ ทั้งที่ปกติ มีแต่เลื่อนออกไปช้ากว่าเดิม หรือเพราะนาซาอยากจะรีบไป ‘ขุดทอง’ ที่ว่านั่นจริง ๆ

เพื่อให้เข้าใจว่าเหตุใดถึงเลื่อนเราจึงไปไล่เรียงหาข้อมูลและพบว่า นาซาได้ชี้แจงถึงกำหนดการที่เปลี่ยนไปเป็นเพราะแรกเริ่มเดิมที นาซาอยากจะมอบ ‘ความท้าทาย’ ให้กับทีมผู้รับผิดชอบภารกิจเกิดความ ‘ตื่นตัว’ แต่กลายเป็นว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งแทน

จิม กรีน (Jim Green) ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (Director of the Planetary Science Division) ที่สำนักงานใหญ่ของนาซาในวอชิงตันกล่าวว่า “เราให้ทีมออกแบบภารกิจสำรวจลองตรวจสอบดูว่า หากใช้กำหนดการที่เร็วขึ้นกว่าเดิมจะช่วยให้การเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย Psyche 16 มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้หรือไม่ และพวกเขาก็ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ กำหนดการที่เร็วขึ้นจะช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ได้เร็วขึ้นแถมยังมีต้นทุนที่ลดลงด้วย”

โครงการดิสคัฟเวอรี (Discovery program) ของนาซาได้ประกาศให้โอกาสทีมต่าง ๆ เสนอภารกิจเพื่อออกเดินทางสำรวจในปี 2021 หรือ 2023 โดยภารกิจ Lucy (Lucy mission) ที่สำรวจดาวเคราะห์น้อย Trojan เพื่อศึกษาซากส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อตัวของดาวเคราะห์วงนอก (Outer planets) ของระบบสุริยะ ได้รับเลือกให้ออกเดินทางในปี 2021 และภารกิจ Psyche ได้รับเลือกให้ตามรอยภารกิจนี้ในปี 2023 

ภาพจำลองภารกิจ Lucy ภารกิจแรกที่จะไปเยือนดาวเคราะห์น้อย Trojan ของดาวพฤหัสบดี
Credits: NASA

เอลคินส์อธิบายว่า การได้รับเลือกให้เลื่อนกำหนดการเร็วขึ้นในครั้งนี้ เป็นเพราะข้อได้เปรียบที่เด่นชัดอย่าง ‘เส้นทางการเดินทาง’ ที่ทำให้ยานไปที่หมายได้เร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณสองเท่า และเมื่อคำนวณถึงงบประมาณที่ต้องใช้ มันก็คุ้มค่ากว่าการเดินทางตามกำหนดการเดิมด้วย “เราทุกคนตื่นเต้นมากที่ยานจะได้ไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย และโลกจะได้เห็นดาวแห่งโลหะที่น่าทึ่งนี้เร็วขึ้น”

เส้นทางใหม่ที่ได้รับการออกแบบใหม่นี้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเข้าช่วย ทำให้ลดระยะเวลาในการเดินทางลง นอกจากนี้ วิถีใหม่ยังอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าเดิม จึงช่วยลดสิ่งป้องกันความร้อนสำหรับยานอวกาศลง ทำให้ยานมีน้ำหนักเบาลง และเส้นทางหรือวิถีนี้ยังรวมไปถึงการใช้แรงโน้มถ่วงของดาวอังคารมาช่วยใช้เป็นแรงส่งให้ยานเดินทางต่อไปในปี 2023 ด้วย

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

สถานะปัจจุบันของภารกิจ และความน่าตื่นเต้นในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าของภารกิจ สำนักงานใหญ่ของนาซาในวอชิงตัน ได้อนุมัติการดำเนินการในขั้นตอนออกแบบขั้นสุดท้ายและขั้นตอนการผลิต หรือที่เรียกว่า ‘Phase C’ ในช่วงกลางปีที่แล้ว ในขั้นตอนนี้ ทีมได้สรุปการออกแบบระบบ พัฒนาแผน และลำดับขั้นตอนสำหรับภารกิจอย่างละเอียด รวมไปถึงการทดสอบทั้งยานอวกาศและระบบทั้งหมดของยาน แถมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นาซายังได้ขอความร่วมมือไปยังอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัท SpaceX เพื่อช่วยให้ยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศและดำเนินภารกิจไปอย่างลุล่วงด้วย (ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนคิดกันไปว่าดาวดวงนี้ต้องมีมูลค่ามหาศาลแน่ ๆ )

ถัดจาก Phase C ยังมีอีกสามขั้นตอนในภารกิจ โดย ‘Phase D’ จะเริ่มในช่วงต้นปี 2021 รวมถึงการประกอบและการทดสอบยานอวกาศขั้นสุดท้าย ควบคู่ไปกับการเดินทางทางขึ้นสู่อวกาศในเดือนสิงหาคม 2022 ส่วน ‘Phase E’ จะเริ่มหลังจากนั้น ครอบคลุมการปฏิบัติการในห้วงอวกาศและการรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจ และในที่สุด ‘Phase F’ เกิดขึ้นหลังจากภารกิจเสร็จสิ้นการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการปลดยานอวกาศออกจากภารกิจ และการจัดเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาพจำลองยานอวกาศของภารกิจ Psyche ขณะเข้าใกล้กับเป้าหมายหรือดาวเคราะห์น้อย Psyche
แสดงให้เห็นแผงโซลาร์เซลล์ 5 แผงที่วางแผนไว้ว่าจะติดตั้งเข้ากับยานอวกาศ
Credit: SSL/ASU/P. Rubin/NASA/JPL-Caltech

31 มกราคม 2026 คือวันในกำหนดการที่ยานอวกาศจะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อย เมื่อไปถึงยานจะโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเป็นเวลา 21 เดือน และใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่าง เครื่องถ่ายภาพในหลายช่วงคลื่น (Multispectral imager) ที่มีความละเอียดสูง โดยใช้ฟิลเตอร์เพื่อแยกแยะระหว่างองค์ประกอบที่เป็นโลหะและซิลิเกตของดาวเคราะห์น้อย นอกจากนี้ยังมี เครื่องสเปกโตรมิเตอร์ตรวจจับรังสีแกมมาและนิวตรอน เครื่องวัดสนามแม่เหล็ก และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับช่วงคลื่นวิทยุ เพื่อทำแผนที่และศึกษาคุณสมบัติของดาวเคราะห์น้อย Psyche 16 แถมภารกิจนี้ ยังเป็นการทดสอบเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ถอดด้ามที่ซับซ้อนที่เรียกว่า ‘Deep Space Optical Communications’ ด้วย

จะเห็นว่ามูลค่าของดาวเคราะห์น้อยอาจไม่ใช่การตีค่าเป็นตัวเงินอย่างที่ร่ำลือกันหนาหู แต่องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นจากการสำรวจครั้งนี้ก็นับว่า มหาศาลประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว

และถ้าสมมติว่ามีแร่ธาตุเช่นนั้นอยู่จริง ก็ใช่ว่าเราจะสามารถนำมันกลับมาให้อยู่ในภายใต้กลไกตลาดโลกได้ (หากนำกลับมาได้จริง โลหะเหล่านี้ก็จะไม่สูงค่าอีกต่อไป เพราะปริมาณที่มากล้นเกินความต้องการของตลาดอยู่ดี) นาซาเองก็ยืนกรานว่า ภารกิจนี้เป็นไปเพื่อการสำรวจเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าเราจะพบอะไรในดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เบื้องต้นก็คงจะทำให้เราทึ่ง ส่วนที่ว่ามันจะนำไปสู่อะไรนอกเหนือจากองค์ความรู้นั้น เราก็คงต้องรอลุ้นรอติดตามภารกิจสำรวจกันต่อไป

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส