การลงจอดที่เต็มไปด้วยความระทึก
เมื่อไปถึงจุดที่กำหนด ยานเพอร์เซเวียแรนส์ต้องลดระดับความเร็วจาก 12,000 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ให้เหลือประมาณ 2 ไมล์ต่อชั่วโมง (3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ด้วยการใช้ร่มชูชีพและระบบลดความเร็วที่จะทำให้ความเร็วช้าลงเหลือประมาณ 2 ไมล์ต่อชั่วโมง (3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ต่อจากนั้น ยานจะไม่ได้ร่อนลงสู่พื้นโดยตรง แต่จะใช้สายเคเบิลสามเส้นนำรถสำรวจลงจอดอย่างนุ่มนวล ณ บริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) โดยขั้นตอนดังกล่าว เป็นช่วงที่เรียกว่า ‘Sky crane maneuver’
แม้ฟังดูเหมือนไม่ยาก แต่ทีมผู้ดูแลภารกิจคอนเฟิร์มเลยว่า การลงจอดนั้นยากและลุ้นระทึกมาก ๆ แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson) ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ วิศวกรระบบที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) อธิบายว่า “แม้หลุมอุกกาบาตเจเซโร มีความกว้างแค่ 28 ไมล์ (ประมาณ 45 กิโลเมตร) แต่ภายในพื้นที่นี้มีอันตรายหลายอย่างที่รถสำรวจอาจพบเจอ ได้แก่ เนินเขา เนินทราย ทุ่งหิน ผนังของปล่องหลุมเอง ดังนั้น หากร่อนลงจอดในพื้นที่ดังกล่าว อันตรายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจเป็นหายนะต่อภารกิจทั้งหมดได้”

เพื่อเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาระบบ Lander vision system (LVS) และเทคโนโลยี Terrain-Relative Navigation (TRN) ที่เป็นหัวใจของระบบ ซึ่งจะช่วยถ่ายภาพภูมิประเทศของดาวอังคารแบบเรียลไทม์และเปรียบเทียบกับแผนที่ที่มีอยู่ในยานโดยอัตโนมัติ และจะสั่งให้รถสำรวจหันไปรอบ ๆ เพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ตามความจำเป็น
เพื่อสร้างความมั่นใจว่า LVS จะทำงานนำยานเพอร์เซเวียแรนส์ลงจอดได้อย่างปลอดภัย ระบบดังกล่าวจึงต้องผ่ายการทดสอบอย่างละเอียดทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคสนามในทะเลทรายโมฮาวี (Mojave Desert) แคลิฟอร์เนีย รวมถึงสนามที่มีพื้นที่แตกต่างกันอีกหลายสนามเป็นเวลาถึงหกปี ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่ารถสำรวจสามารถกำหนดตำแหน่งเทียบกับพื้นดินได้ด้วยความแม่นยำประมาณ 200 ฟุต (ประมาณ 60 เมตร) หรือน้อยกว่าได้
และแม้ระบบจะสามารถนำทางได้ในภูมิประเทศที่หลากหลาย แต่ก็ไม่มีที่แห่งใดเหมือนกับสถานที่ที่ยานเพอร์เซเวียแรนส์จะไปลงจอดบนดาวอังคาร ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพื่อให้ทีมผู้ดูแลภารกิจมั่นใจได้ว่า การลงจอดจะเป็นไปอย่างปลอดภัย
สวาติ โมฮัน (Swati Mohan) ผู้นำทางและหัวหน้าควบคุมการดำเนินภารกิจ Mars 2020 กล่าวว่า
“ในชีวิตจริงมักโยนลูกโค้งให้คุณได้เสมอ (เปรียบเปรยทำนองว่า ชีวิตมักมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ) ดังนั้น เราจะตรวจสอบทุกอย่างในระหว่างขั้นตอนลงจอด เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดไว้ และเมื่อเราได้รับสัญญาณนั้นจากรถสำรวจที่บอกว่า ‘ลงจอดแล้วและอยู่บนพื้นดินอย่างมั่นคงแล้ว’ นั่นแหละเราถึงจะฉลองกันได้”
พูดมาขนาดนี้คงการันตีได้บ้างแล้วสินะว่า การลงจอดครั้งนี้น่าตื่นเต้นขนาดไหน ลุ้นขนาดนี้ไม่ตามดูคงจะไม่ได้แล้ววว
Perseverance จัดเต็มความมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะความท้าทาย
ด้วยเป้าหมายที่มากกว่าและเหนือชั้นกว่าภารกิจอื่น ย่อมส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีและการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ ก้าวไปไกลกว่าที่ผ่านมา
ทีมที่รับผิดชอบในการพัฒนายาน ได้ติดตั้งทั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน ช่วยทั้งในแง่การสำรวจ และการปูทางสำหรับภารกิจมนุษย์เดินทางไปยังดาวอังคารในอนาคต

Credit: NASA/JPL-Caltech
สำหรับการสำรวจ ระบบนำทางภูมิประเทศแบบสัมพัทธ์จะช่วยให้ยานสำรวจหลีกเลี่ยงอันตรายในระหว่างการลงจอด ระบบขับขี่ด้วยตนเอง เพื่อการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพบนดาวอังคาร อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้า
(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)