นอกจากการเตรียมเสบียงและกายใจให้พร้อม อาสาสมัครทุกคนยังได้รับการติดตั้งเซนเซอร์จำนวนมากเพื่อส่งมอบข้อมูลให้กับนักวิจัยที่อยู่ภายนอกถ้ำ ค็อตและทีมงานของเขากระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นว่าจิตใจของมนุษย์จะตอบสนองต่อการสูญเสียการรับรู้ของเวลาอย่างไร
“การสูญเสียการรับรู้เรื่องของเวลาเป็นความสับสนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด … จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่าระบบความรู้ความเข้าใจของมนุษย์เรา จะจัดการกับความต่อเนื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่สิ้นสุดนี้ได้อย่างไร …” ค็อตกล่าว
ถ้ำลอมบริฟส์ สนามทดลองและภารกิจในนั้น
แม้ค็อตจะเคยผจญภัยในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายมาก่อน แต่กับสภาพภายในถ้ำลอมบริฟส์นั้นไม่เหมือนกัน เข้าที่จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว นักวิจัยได้ศึกษาจนมั่นใจว่า อุณหภูมิที่อาสาสมัครใช้เวลาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ 54 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 12 องศาเซลเซียส) โดยมีความชื้นอยู่ที่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ แม้อากาศจะค่อนไปทางเย็นและมีความชื้นสูง แต่ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกาย อาสาสมัครสามารถแต่งกายตามความสะดวกสบายของตนเอง และจำต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศนี้
ค็อตอธิบายว่า พื้นที่อยู่อาศัยที่แยกจากกันได้ถูกจัดเตรียมไว้สามพื้นที่ พื้นที่แรกใช้สำหรับนอนหลับ พื้นที่ที่ 2 เป็นสำหรับอยู่อาศัย และพื้นที่สุดท้ายเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาภูมิประเทศในถ้ำ โดยเฉพาะพืชและสัตว์
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องให้ข้อมูลตามวาระที่กำหนดอย่างเข้มงวด เพื่อประเมินว่าสมองและร่างกายของพวกเขาจัดการและสร้างการปรับจูนให้เข้ากับเวลา พื้นที่ และสภาพแวดล้อมแบบใหม่ได้อย่างไร
เป้าหมายใหญ่ของทีมวิจัยคือ ได้เรียนรู้ว่าระบบการรับรู้ของผู้คนจะปรับเปลี่ยนแตกต่างกันอย่างไร เมื่อสมองไม่สามารถรับรู้เวลาได้ ค็อตกล่าวว่า เขาหวังจะได้เห็นว่าอาสาสมัครได้รับผลกระทบทางอารมณ์อย่างไร และได้รู้ว่าผลกระทบจะส่งผลต่อไปในระยะยาวหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็หวังว่า อาสาสมัครจะสามารถรับมือกับความมืดและความโดดเดี่ยวได้เช่นกัน
สิ่งที่ได้จากความโดดเดี่ยว
นอกจากความรู้เข้าใจในเรื่องการปรับตัวและรับมือของมนุษย์ การกำจัดแสงจากดวงอาทิตย์ และบังคับให้อาสาสมัครอาศัยอยู่ใต้ดิน อาจให้ข้อมูลที่มีค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับภารกิจของเรือดำน้ำ การสำรวจเหมืองใต้ดิน และการเดินทางในอวกาศระยะยาวด้วย
ทีมวิจัยโครงการ Deep Time กล่าวในเว็บไซต์ของตนเองว่า “การพิชิตอวกาศเป็นจุดเปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษนี้ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น และการเดินทางที่เปลี่ยนจากดวงจันทร์ไปไกลขึ้นถึงดาวอังคารนี่เอง ที่จะทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับการรับรู้เวลาที่ต่างไป”

Credit : NASA
ปัจจุบันเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน การทดลองนี้ก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ กลุ่มอาสาสมัครนี้จะออกมาจากถ้ำในวันที่ 22 เมษายนนี้ และไม่แน่ว่าพวกเขาจะออกมาพร้อมกับองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจสำรวจต่าง ๆ และการพลิกความเข้าใจของเราที่มีต่อการรับรู้ในเรื่องเวลาก็เป็นได้
อ้างอิง
allthatsinteresting.com และ ancient-origins.net จาก pantip
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส