นี่คือ ‘Big leap for China’ ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของจีน
ทันทีที่ยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนผู้ดูแลภารกิจนี้ต่างโห่ร้องแสดงความใจ


ขณะเดียวกัน ในอีกซีกโลก โทมัส ซูร์บูเชน (Thomas Zurbuchen) รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ (Science Mission Directorate) องค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จในภารกิจลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ของจีนผ่านทวิตเตอร์ด้วย
จากภาพซูร์บูเชนโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ใจความว่า “ขอแสดงความยินดีกับทีม #เทียนเวิ่น1 ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน กับความสำเร็จในภารกิจลงจอดของ #จู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน ผมและชุมชนวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างตั้งตารอผลการดำเนินงานที่สำคัญของภารกิจนี้ที่จะช่วยเหลือมนุษยชาติในการทำความเข้าใจดาวเคราะห์สีแดง (ดาวอังคาร)”
ไม่เพียงแต่บุคลากรจากหน่วยงานนาซา โรแบร์โต โอโรซี (Roberto Orosei) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันกัมมันตภาพรังสีโบโลญญา (Institute of Radioastronomy of Bologna) ในอิตาลี ยังกล่าวว่า ภารกิจนี้ ‘ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่สำหรับจีน’ เพราะพวกเขาทำสิ่งที่นาซาใช้เวลาหลายสิบปีทำ และประสบความสำเร็จด้วยการทำเพียงครั้งเดียวและความสำเร็จนี้ยังส่งผลให้จีนเป็นชาติที่ 3 ถัดจากรัสเซียและสหรัฐอเมริกาที่นำยานลงจอดบนดาวเคราะห์ดังกล่าวได้
เพียงแค่การลงจอดได้สำเร็จนั้น นั่นยังไม่นับเป็นก้าวทั้งหมดที่ว่ายิ่งใหญ่ หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในภารกิจต่อไปต่างหาก ซึ่งนั่นก็คือ การที่ยานพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนจะได้โลดแล่นสร้างตำนาน เก็บข้อมูลต่าง ๆ ตามเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง
สำหรับยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีนนั้น ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้ให้ประชาชนร่วมเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกชื่อที่เหมาะสม จนเหลือ 3 รายชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันอวกาศ (Space Day) ของจีนพอดี (จีนกำหนดให้วันที่ 24 เม.ย. เป็นวันอวกาศของจีน ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรำลึกถึงการส่ง ‘ตงฟางหง-1’ (Dongfanghong-1) ดาวเทียมดวงแรกของประเทศขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 1970) จีนก็ได้ประกาศว่ายานสำรวจนี้มีชื่อว่า ‘จู้หรง’ (Zhurong)
เทพแห่งไฟกับภารกิจการสำรวจดาวเคราะห์แห่งไฟ
‘จู้หรง’ (Zhurong) คือชื่อเทพแห่งไฟในตำนานจีนโบราณ ซึ่งพ้องกับ ‘หั่วซิง’ (Huoxing) ชื่อดาวอังคารในภาษาจีนที่แปลว่า ‘ดาวเคราะห์แห่งไฟ’ พอดี ด้วยชื่อนี้จึงฟังดูเหมาะสมจนประชาชนพากันร่วมโหวตให้เป็นชื่อของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของประเทศ
อู๋เหยี่ยนหัว รองผู้อำนวยการองค์การฯ ระบุว่า ไฟนำพาความอบอุ่นและความสว่างมาสู่บรรพบุรุษของมนุษยชาติ และไฟเป็นสิ่งที่จุดประกายอารยธรรมมนุษย์ ดังนั้น การตั้งชื่อยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนตามเทพเจ้าแห่งไฟ จึงหมายถึงการจุดไฟแห่งการสำรวจดาวเคราะห์ของจีน
ทั้งนี้ ‘จู้’ แปลว่าความปรารถนาในภาษาจีน หมายถึงความปรารถนาดีต่อการสำรวจจักรวาลของมวลมนุษยชาติ ส่วน ‘หรง’ ซึ่งแปลว่าการบูรณาการและความร่วมมือในภาษาจีน สะท้อนวิสัยทัศน์ของจีนในการใช้อวกาศอย่างสันติและการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน


‘ยานสำรวจจู้หรง’ ติดตั้งเรดาร์เจาะพื้น เลเซอร์ รวมถึงเซนเซอร์ตรวจวัดบรรยากาศและสนามแม่เหล็ก พร้อมอุปกรณ์อีกหลายอย่าง เพื่อเก็บข้อมูลจากดาวเคราะห์สีแดง โดย หลี่ชุนไหล รองหัวหน้าผู้ออกแบบภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน กล่าวว่า ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งตรวจสอบว่ามีหรือเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ แต่ยังเปิดเผยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการและกระแสการพัฒนาของโลกในอนาคต ตลอดจนตรวจสอบความเป็นไปได้ในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ด้วย
ขณะนี้ ยานสำรวจจู้หรงเข้าร่วมภารกิจกับยานสำรวจอื่น ๆ บนดาวอังคาร ทั้งยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) และ คิวริออซิตี (Curiosity) ของนาซา ยานโคจรโฮป (Hope) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “และนั่นทำให้ทำให้ตอนนี้ดาวอังคารเต็มยิ่งไปด้วยความเริงร่าครับ” เดวิด แฟลนเนอรี (David Flannery) นักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (Queensland University of Technology) ในบริสเบน ประเทศออสเตรเลียกล่าว
(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)