Black Monday หรือ จันทร์ทมิฬ คือวันที่ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ความมั่งคั่งของชาวอเมริกันหายไปกว่า 500,000 ล้านเหรียญภายในวันเดียว! แล้วอะไร? คือสาเหตุของความพังพินาศนี้ เราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

Black Monday 1987

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม ปี 1987 คือวันที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลดลงมากที่สุดในประวัติศาตร์ โดยลดลงมากถึง 507.99 จุด หรือคิดเป็น – 22.61%

สำหรับสาเหตุของการตกลงนั้น แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์จะทยอยปรับตัวลดลงราว 2 – 4% ก่อนหน้า Black Monday ประมาณ 3 – 4 วันทำการ แต่เหตุผลที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อมั่นว่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิด Black Monday คือ Algorithm Trading หรือการใช้โปรแกรมเทรดนั่นเอง

ยุคเริ่มต้นของการใช้โปรแกรมเทรด

Algorithm Trading คือ ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการเสนอซื้อขายอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ณ ช่วงเวลานั้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการใช้โบรกเกอร์ ซึ่งเป็น “คนเป็น ๆ” รวมถึงการที่ “คอมพิวเตอร์ไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง” ผิดกับโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ และอาจเกิดความรู้สึกเสียดาย เมื่อจำเป็นต้องขายหุ้นที่ “จุดตัดขาดทุน” ซึ่งการตัดสินใจที่ล่าช้าจากความเสียดาย หรือความลังเล อาจทำให้แผนการลงทุนผิดพลาด ดังนั้น หากใช้คอมพิวเตอร์ในการเทรดก็จะไม่มีปัญหานี้ เพราะมันพร้อมจะเทขายหุ้นทุกเมื่อ หากถึงเวลา หรือปัจจัยที่ตั้งโปรแกรมไว้

ด้วยเหตุนี้เอง กองทุนต่าง ๆ จึงนิยมใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น เพื่อช่วยควบคุมความเสี่ยง โดยจะกำหนด “จุดตัดขาดทุน” ไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดการขาดทุนหนัก ๆ ยกตัวอย่าง เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไป คอมพิวเตอร์ก็จะขายหุ้นบางส่วนในกองทุนออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้กองทุนเกิดการขาดทุนหนัก เนื่องจากมีหุ้นในพอร์ตมากเกินไป

ความผิดพลาดจากความไว้ใจ

แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะไม่เหนื่อย ไม่มีอารมณ์ และไม่มีความรู้สึก ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีข้อผิดพลาด โดยช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม ปี 1987 Algorithm Trading ตัวหนึ่งเกิดทำงานผิดพลาด และตัดสินใจเทขายหุ้นออกมาจำนวนมาก และเมื่อ Algorithm Trading อีกตัวต่อ ๆ ไปเริ่มเห็น ก็ส่งคำสั่งขายเหมือน ๆ กัน นับเป็น “แรงเทขายระลอกแรก” ที่เริ่มส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง

และเมื่อตลาดปรับตัวลดลงจนถึง “จุดตัดขาดทุน” ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ Algorithm Trading ตัวอื่น ๆ ที่เหลือ ก็เริ่มเทขายตาม กลายเป็น “แรงเทขายระลอกที่ 2” และยิ่งทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมากขึ้นไปอีก

และเมื่อตลาดปรับตัวลงต่ำจน “คอมยังขาย” มีหรือที่ “ใจคน” จะทนไหว คำสั่งขายหุ้นจากนักลงทุนจำนวนมากก็เข้ามาที่ตลาด กลายเป็น “แรงเทขายระลอกที่ 3” ที่เรียกว่า “Panic Sell” หรือการเทขายครั้งมโหฬารจากความตื่นตระหนก ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ ณ สิ้นวันทำการ ดำดิ่งลงไป 507.99 จุด และปิดตลาดที่ 1,738.74 จุด คิดเป็นการเปลี่ยน – 22.61% ซึ่งถือว่าติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของดัชนีดาวโจนส์ และแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมา 35 ปีแล้ว สถิตินี้ก็ยังไม่ถูกทำลายลง

มรดกจาก Black Monday

หลังจากเหตุการณ์ Black Monday ทำให้มีการคิดค้นและประกาศใช้ “Circuit Breakers” หรือ “การหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว” ขึ้น ในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาได้ตั้งสติ ลดความตื่นตระหนก และคิดทบทวนแผนการลงทุนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ Black Monday นักวิเคราะห์หลายคนก็เชื่อว่า ในเวลาไม่นาน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็จะปรับตัวลดลงมากอยู่ดี เนื่องจาก ณ ช่วงเวลานั้น ตลาดกำลังเกิดภาวะฟองสบู่จากเงินเฟ้อ และกำลังจะฟองสบู่แตกอยู่แล้ว ดังนั้น การทำงานที่ผิดพลาดของคอมพิวเตอร์ จนเกิด Black Monday เป็นแค่ตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้ฟองสบู่แตกเท่านั้น

แล้วถ้าถามว่า เราเรียนรู้อะไรบ้างจาก Black Monday ? ก็คงหนีไม่พ้นสัจธรรมที่ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน” แม้ว่าระบบคอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนามาอย่างดี ถูกทดสอบมาหลายครั้ง แต่ “ความผิดพลาด” ก็เป็นสิ่งที่การันตีไม่ได้ ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ยิ่งในฐานะของนักลงทุนแล้ว เราจึงควรพิจารณาปัจจัยการลงทุนอย่างรอบคอบ และมีสติอยู่เสมอ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส