นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทย อายุประมาณ 15 ปี ยังถือว่ามีขีดความสามารถที่ต่ำมากในการรับมือกับข่าวปลอม หรือ Fake News และข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด

ผลการศึกษาล่าสุดจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) เปิดเผยถึงความสามารถในการรับมือกับข่าวปลอมของเยาวชนอายุ 15 ปีจากทั่วโลก พบว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพต่ำมากในเรื่องนี้ โดยอยู่ในอันดับเกือบจะท้ายสุดของ 77 ประเทศทั่วโลกที่ OECD ทำการประเมิน ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 76 สูงกว่าอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับที่ 77 เพียงประเทศเดียว ส่วนเด็กนักเรียนจากอังกฤษ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเดนมาร์ก มาเป็นอันดับ 1 – 5 เรียงกันมา ขณะที่สิงคโปร์เป็นสมาชิกอาเชียนที่ติดอันดับ 8 เพียงประเทศเดียว

ผลการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผล PISA 2018 ทางด้านความสามารถเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลของผู้เข้าร่วมการทดสอบ มีการสอบถามผู้เข้าร่วมการทดสอบว่าได้มีการเรียนรู้ถึง 7 หัวข้อนี้ ในห้องเรียนหรือไม่ 

  1. การใช้ keyword ในการค้นหาข้อมูลผ่าน Search Engine
  2. การตัดสินใจในความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ค้นหามาได้
  3. การเปรียบเทียบศึกษาข้อมูลจากเว็บต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลเหมาะสมที่สุดมาตอบคำถามวิชาที่เรียน
  4. ความเข้าใจถึงผลกระทบจากการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์
  5. การใช้ข้อมูลสั้น ๆ ด้านใต้ลิงก์ที่ได้จาก Search Engine 
  6. การแยกแยะข้อมูลว่าเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่มีอคติหรือเป็นข้อเท็จจริง 
  7. การวิเคราะห์ว่าอีเมลที่ได้รับมาเป็น SPAM หรืออีเมลหลอกลวงหรือไม่

ปรากฏว่าผลการทดสอบพบว่านักเรียนไทยได้รับรู้เรียนรู้ประเด็นเหล่านี้ในห้องเรียนน้อยมาก มีผลต่อทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ต่ำของเด็กไทยในปัจจุบัน

รัฐบาลไทยต้องให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะมีนโยบายยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่เน้นถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาธุรกรรมและการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ภายใต้นโยบาย 4.0 ปฎิวัติอุตสาหกรรม (4.0 Industrial Revolution) แต่ ณ ตอนนี้ความรู้ความเข้าใจด้านข้อมูลดิจิทัลของเยาวชนไทยยังเป็นอย่างที่เห็น

อ่านรายละเอียดงานวิจัยเรื่องนี้ได้ที่:
https://bit.ly/2SL3fjM

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส