โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) นักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียง ผลงานของเขายังส่งผลกระทบในวงกว้างมาจนถึงปัจจุบัน ช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1847-1931 เอดิสันได้จดสิทธิบัตรไอเดียไปมากกว่า 1,093 ชิ้น แน่นอนว่าในนั้นก็มีตั้งแต่ไอเดียของหลอดไฟในยุคแรก ๆ (เขาไม่ได้เป็นคนประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาคนแรก แต่เป็นคนที่ทดลองจนสามารถหาวัสดุที่สามารถเอามาใช้เป็นไส้หลอดไฟเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ได้) แบตเตอรี่อัลคาไลน์ กล้องบันทึกวิดีโอ และเครื่องเล่นแผ่นเสียง

เบื้องหลังความสำเร็จตรงนั้นนอกจากเรื่องความสามารถและความเฉลียวฉลาดแล้ว ยังมีทีมที่ช่วยทำงานอยู่เบื้องหลังด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเขามีกระบวนการคัดเลือกพนักงานเก่ง ๆ ที่ดูแปลกประหลาดสักหน่อย นั่นก็คือการให้คนที่มาสมัครงานกินซุปชามหนึ่งต่อหน้าเอดิสัน ก่อนที่พวกเขาจะได้รับการพิจารณาให้เข้ามาร่วมงานกับเขาที่ห้องทดลอง

กระบวนการคัดเลือกของโทมัส เอดิสัน

ในบทความของเว็บไซต์ inc.com เปิดเผยว่าเอดิสันนั้นมักจะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกพนักงานที่เขามาเป็นผู้ช่วยของเขาเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีตำแหน่งนักวิจัยเปิดว่างในห้องแล็บของเขา เขาก็จะอยู่ที่นั่นเพื่อทำการคัดเลือกด้วยตัวเอง โดยเทคนิคที่เขาใช้ค่อนข้างจะแปลกสักนิดหนึ่งด้วยการให้คนที่มาสมัครงานกินซุปถ้วยหนึ่งต่อหน้าเขาระหว่างสัมภาษณ์

เอดิสันจะพาคนที่เข้ามาสมัครงานไปทานข้าวด้วยกัน หลังจากนั้นก็สั่งซุปมาถ้วยหนึ่ง

“โดยเหตุผลก็เพราะเขาอยากจะรู้ว่าคนที่สมัครนั้นจะเติมพริกไทยกับเกลือก่อนที่จะชิมซุปนั้นหรือว่าชิมก่อนแล้วค่อยปรุงทีหลัง” หลังจากสังเกตเสร็จปุ๊บ “เอดิสันจะปฏิเสธคนสมัครที่เติมพริกไทยกับเกลือก่อนชิมเลยทันที โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่อยากได้พนักงานที่พึ่งพาการคาดการณ์ ในมุมมองของเขาแล้ว คนที่พึ่งพาความคิดที่อุปทานไปเองไม่เหมาะกับการมาทำงานกับเขา เพราะการขาดความอยากรู้อยากเห็นและไม่พร้อมที่จะตั้งคำถามคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนวัตกรรม”

เอดิสันยังสติดีอยู่หรือเปล่า?

เทคนิคนี้คงไม่มีทางใช้ได้จริงในโลกธุรกิจปัจจุบันอย่างแน่นอน การเอาผู้สมัครทุกคนไปทานข้าวแล้วใช้ซุปเพื่อกรองผู้สมัครเข้าทำงานนอกจากจะไม่สามารถทำได้ในระดับบริษัทใหญ่ ๆ แล้ว สำหรับโลกปัจจุบันยังมีความซับซ้อนเรื่องอาการแพ้อาหารบางอย่างหรืออาจจะเลือกทานอาหารตามความเชื่อของตัวเองหรือศาสนาอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามไอเดียนี้ก็ดูบ้าบอเกินไปรึเปล่า? เทคนิคนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยารองรับไหม? หรือว่ามันเป็นเพียงวิธีการแสนพิลึกพิลั่นของเอดิสันเพียงเท่านั้น?

สิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันคือการใช้เพียงแค่การกินซุปเพื่อคัดเลือกคนที่เข้าทำงานนั้นน่าจะเป็นไอเดียที่ไม่ดีค่อยได้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่มีรายงานหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าวิธีการคัดเลือกหรือสัมภาษณ์พนักงานในปัจจุบันนั้นก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่ การถามคำถามคนที่เข้ามาสมัครงาน (แม้จะเป็นคำถามที่ได้รับการรองรับจากนักจิตวิทยาหรือนักพฤติกรรมศาสตร์) ส่วนใหญ่คนที่พูดเก่งหรือมีสกิลในการเอาตัวรอดก็จะได้เปรียบซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนที่สัมภาษณ์เองก็อาจจะมีความเอนเอียงหรือเข้าข้างคนที่ตัวเองอาจจะรู้จักหรือมีภาพการรับรู้ที่ดีกว่าคนอื่น ๆ  (Halo Effect) 

วิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงแนะนำว่าแทนที่จะสัมภาษณ์คนที่เข้ามาทำงาน ก็ควรทดสอบความสามารถในงานที่เขาจะทำไปเลย อาจจะเป็นงานทดสอบ โปรเจ็คต์ต่าง ๆ หรือการทดสอบที่เฉพาะเจาะจงในสายงานที่ไม่ใช่เพียงแค่การพูดคุยเกี่ยวกับงานที่ผ่านมา ตัวตน บุคลิก ความเชื่อ หรือเป้าหมายในชีวิตเท่านั้น

ลงมือทำ แทนที่จะพูด

เพราะฉะนั้นความจริงแล้ว การทดสอบที่แสนพิลึกของเอดิสันอาจจะไม่ได้แปลกมากเมื่อมองจากมุมที่ว่าคนที่มาสมัครควรถูกทดสอบด้วยการลงมือทำไม่ใช่แค่พูด เมื่อคนโรยเกลือและพริกไทยลงในซุปของตัวเองโดยยังไม่ทันได้ชิม มันก็แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและนิสัยของตัวเอง เพราะถ้าเพียงแค่ถามคำถามผู้สมัครก็อาจจะตอบได้ถูก แต่เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงอาจจะเป็นคนละเรื่องกันเลย

แน่นอนว่าเอดิสันไม่เพียงใช้ซุปเพื่อคัดเลือกคนที่มาทำงานให้กับเขาเท่านั้น ระหว่างการสัมภาษณ์เอดิสันมักจะถามคำถามแปลก ๆ โดยเป็นความรู้ทั่วไปอย่างเช่น ลูกพรุนมาจากไหน? หรือคนที่คิดค้นเกี่ยวกับเรื่องการพิมพ์คือใคร? เพื่อทดสอบความรู้รอบตัวของผู้สมัครด้วย

บทเรียนจากเรื่องนี้ไม่ใช่การที่คุณจะพาคนที่มาสมัครงานไปทานซุปหรอกนะครับ (ยกเว้นแต่ว่าหิวกันทั้งคู่) แต่ประเด็นที่สำคัญคือว่าโดยพื้นฐานแล้วการทดสอบผู้เข้าสมัครงานของเอดิสันคือการหาความจริง สิ่งที่ตัวคนสมัครเป็นจริง ๆ จากการกระทำและพฤติกรรมของเขา ไม่ใช่แค่คำพูด สิ่งที่เราควรทำถ้ามีโอกาสได้สัมภาษณ์พนักงานก็คือการออกแบบวิธีการทดสอบที่คนสมัครจะได้ลงมือแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เพื่อให้รู้ว่าคนที่เข้ามานั้นทำได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่พูดเท่านั้น

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4