วันที่ 24 มกราคม 2565 นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อการชำระเงิน (MOP : Means of Payment) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และความเสียหายแก่สาธารณชน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลายประเทศ

สำหรับแนวทางของต่างประเทศในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อการชำระเงิน สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  1. ประเทศที่ยอมรับและอนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อการชำระเงิน เช่น เอลซาวาดอร์
  2. ประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณานโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแล เช่น
    • สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และเสนอกฎเกณฑ์การกำกับดูแล
    • สิงคโปร์ กำกับเหรียญที่เข้าข่าย e-money, ห้ามโฆษณาการเทรดคริปโทฯ ในพื้นที่สาธารณะ ส่วนจุดที่โฆษณาได้จะต้องแจ้งความเสี่ยงไว้ และห้ามจ้างอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโฆษณา
    • ฮ่องกง อยู่ระหว่างพิจารณานโยบาย และติดตามท่าทีของต่างประเทศ
    • มาเลเซีย มองว่าคริปโทเคอร์เรนซี ไม่มีคุณสมบัติที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเงิน (General Payment Instrument)
    • อินเดีย อยู่ระหว่างเสนอกฎหมายเพื่อห้ามการใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสื่อการชำระเงิน (MOP)
  3. ประเทศที่ไม่ยอมรับและไม่อนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อการชำระเงิน เช่น จีนและอินโดนีเซีย โดยจีนมองว่า ทุกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในขณะที่สภาศาสนาอิสลามของอินโดนีเซียมองว่า ห้ามใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงิน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

“มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ เพียงแต่เกณฑ์ของแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน ประเทศที่ตอนนี้ยังไม่ออกกฎเกณฑ์ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ออก การออกกฎเกณฑ์มีหลายดีกรี แต่เราคงไม่ปิดทุกทาง เรื่องที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเราสนับสนุนและให้ความสำคัญ” นายณพงศ์ธวัชกล่าว

ทั้งนี้ ธปท. ไม่ได้ปิดกั้นสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด แต่กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถนำใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินประเทศ เช่น สเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) ที่มีสินทรัพย์เป็นตัวหนุนหลัง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส