เช้าไหนตื่นมาเจอแสงแดดอุ่น ๆ ยามเช้า ก็ทำให้เรารู้สึกสดชื่อกะปรี้กะเปร่า แต่ถ้าวันไหนตื่นมาเจอฝนโปรยปรายอากาศเย็น ๆ ก็ทำให้เราขี้เกียจ อยากจะโทรไปลางาน วันไหนฟ้าครึ้มมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เลย ก็ทำให้เรารู้สึกหดหู่ตามไปด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้าผู้อ่านสงสัยว่า สภาพบรรยากาศในแต่ละวันนั้นมีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกเราด้วยหรือไม่ คำตอบคือใช่ครับ แต่ละบรรยากาศนั้น จะมีผลต่ออารมณ์แต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน และเคยมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน หลายหน่วยงานเคยทำการค้นคว้าเรื่องนี้กันมาแล้วด้วย มีผลการค้นคว้าฉบับหนึ่งในปี 2011 ยืนยันว่า สภาพอารมณ์ความรู้สึกต่อบรรยากาศนั้น มีผลมาจากพันธุกรรมทางแม่ หลังจากทำการทดสอบกับวัยรุ่นจำนวน 497 คน พบว่าอารมณ์ความรู้สึกต่อสภาพบรรยากาศนั้น จะแบ่งได้ 4 กลุ่มใหญ่

  • รักฤดูร้อน : อารมณ์จะดีในวันที่อากาศอบอุ่น และแสงแดดสดใส
  • เกลียดฤดูร้อน : จะอารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย ในวันที่อากาศอบุ่นและแสงแดดสดใส
  • เกลียดฤดูฝน : อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่ายในวันที่ฝนตก
  • ไม่ชอบและไม่เกลียดฤดูใด ๆ เป็นพิเศษ : สภาพบรรยากาศจะไม่มีผลต่อสภาพอารมณ์ของคนกลุ่มนี้

เรา ๆ อาจจะรู้สึกเพียงแค่ว่า สภาพบรรยากาศรอบตัวเราในขณะนั้นมีผลต่อสภาพอารมณ์ของเรา แต่นักวิทยาศาสตร์นั้น ก็ศึกษาลงลึกไปอีกว่า สภาวะบรรยากาศนั้นมีผลต่อสุขภาพจิตของเราแยกย่อยไปในแต่ละด้านดังนนี้

อารมณ์

สภาวะบรรยากาศที่แตกต่างกันก็มีผลให้คนเราอารมณ์ดี หรืออารมณ์เสียได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้

อารมณ์เสีย เมื่อ : อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หรือ สูงกว่า 21 องศาเซลเซียส ความชื่นสูง มีฝนหรือหิมะตก
อารมณ์ดี เมื่อ : อุณหภูมิอยู่ในภาวะพอเหมาะ ระหว่าง 10 – 21 องศาเซลเซียส มีความกดอากาศสูง ท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีแสงแดดสดใส

ความกระตือรือร้น

อันนี้เป็นกลไกลตามธรรมชาติของร่างกายคนเราด้วย เมื่ออากาศเย็น ร่างกายจะปรับสภาพให้อยู่ในภาวะเสมือน “การจำศีล” ลดการทำงานของร่างกายให้น้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่ออากาศอุ่นขึ้น ร่างกายเราก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าตามไปด้วย อารมณ์ก็จะสดชื่นแจ่มใส แต่กรณีนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ด้วยว่า ต่อเมื่ออากาศสูงกว่า 21 องศาเซลเซียสนะ เพราะถ้าสูงกว่านั้น เราจะรู้สึกร้อนแล้ว ร่างกายก็จะเหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก

แสงอาทิตย์มีผลต่อพลังงานในตัวเราโดยตรง : มนุษย์เราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า นาฬิกาชีวิต (circadian clock) อยู่ในตัว และแสงอาทิตย์ก็มีผลต่อนาฬิกาชีวิตของคนเรา เมื่อเราอยู่ในพื้นที่รับแสงสว่าง สมองเราก็จะตื่นตัวโดยอัตโนมัติ ตรงกันข้าม เมื่ออยู่ในที่มืด สมองก็จะบอกเราว่าถึงเวลาพักผ่อนได้แล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าวันไหนมีแสงแดดยาวนาน สว่างจ้า เราก็จะตื่นตัวแทบทั้งวัน แต่ถ้าวันไหนเมฆครึ้ม กลางวันสั้น แสงอาทิตย์ขมุกขมัว วันนั้นทั้งวันเราก็จะง่วงเหงาหาวนอนเป็นพิเศษ

ความตึงเครียด

ถ้าวันไหนท้องฟ้ามืดครึ้ม ลมพัดแรง เหมือนพายุกำลังจะมา ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ บางคนอาจจะรู้สึกเบื่อ ไม่สบายใจขึ้นมา นั่นเพราะร่างกายของเราสัมผัสได้ถึงความกดอากาศรอบข้างที่ลดต่ำลง เคยมีการศึกษาถึงประสาทสัมผัสนี้ในปี 2019 แล้วพบว่า ความกดอากาศสามารถไปกระตุ้นการทำงานของ ‘ระบบการทรงตัวส่วนบน’ (superior vestibular nucleus) หรือ SVN ซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งในสมองที่ควบคุมการทรงตัว และการรับรู้ ถึงแม้การทดสอบนี้จะทำกับหนูทดลอง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ในมนุษย์เราก็มี SVN ด้วยเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมื่อความกดอากาศลดต่ำลง ในช่วงที่พายุกำลังก่อตัวนั้น บรรยากาศเช่นนี้จะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทของเรารู้สึกตึงเครียด วิตกกังวล ฮอร์โมนความเครียดก็จะไหลเวียนไปทั่วร่างกายและไปกระตุ้นปลายระบบประสาทอีกด้วย นั่นเป็นสาเหตุให้บางคนรู้สึกเจ็บแปล๊บขึ้นมาทันทีเมื่อความกดอากาศลดต่ำลง

ความเครียดของเราอาจจะมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วย เคยมีการวิจัยพบว่าคนเรามักจะหงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว ในฤดูร้อน ผลการวิจัยเมื่อปี 2018 ยืนยันว่า อากาศที่ร้อนขึ้นจะทำให้ผู้คนรู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่สบายใจ

ที่จริงเรื่องอากาศร้อนแล้วหงุดหงิดนี่คนไทยเรารู้กันมาเป็นศตวรรษแล้วนะ

ประสิทธิภาพในการแยกแยะและตัดสินใจ


อากาศอบอุ่น, แสงแดดสดใส มีผลต่อการทำงานของสมอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความทรงจำ ทำให้สมองเราสดชื่น เปิดการรับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะในสภาวะบรรยากาศเช่นนี้ สมองเราจะขาดความระแวดระวัง ผลการศึกษาได้เพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ในสภาวะอากาศที่อบอุ่นนั้น ผู้คนมักจะกล้าได้กล้าเสียในการลงทุนมากขึ้น ถ้าลองมองย้อนไปว่าในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมานั้น คุณลงทุนกับอะไรไปบ้าง ซื้ออะไรแพง ๆ ไปแล้วบ้าง ก็ให้โทษไปที่สภาพบรรยากาศได้เลย

ขอเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ไว้หน่อยว่า การที่อ้างว่าเป็นเพราะสภาวะอากาศที่อบอุ่นนั้น หมายถึงเราต้องอยู่ในสภาวะอากาศที่อบอุ่นนั้นจริง ๆ ไม่ใช่นั่งในห้องแอร์เย็น ๆ แล้วมองออกนอกหน้าต่างไป มองเห็นแสงแดดภายนอกนั้น ไม่มีผลต่อการทำงานของสมองแต่อย่างใด

คิดฆ่าตัวตาย

เคยมีการบันทึกสถิติไว้ว่า ช่วงเวลาที่คนฆ่าตัวตายมากสุดคือช่วงฤดูใบ้ไม้ผลิ หรือช่วงต้นฤดูร้อน นักวิจัยบอกว่ายังไม่เจอเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมถึงต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่พอจะมีทฤษฎีที่คาดเดาได้ดังนี้ :
แสงอาทิตย์และรังสียูวีอาจจะไปเพิ่มปริมาณของสารส่งผ่านประสาท (neurotransmitter), อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้อารมณ์แปรปรวนได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาการไบโพลาร์อยู่แล้ว, ละอองเรณูเกสรดอกไม้ในอากาศ อาจจะไปส่งผลให้เกิดการอับเสบในสมอง และมีผลต่อสภาพจิตให้แย่ลง จิตแพทย์ยังยืนยันว่า อย่าไปโทษสภาพบรรยากาศเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีผลให้คนคิดฆ่าตัวตายได้ขนาดนั้น แต่สำหรับคนที่คิดจะฆ่าตัวตายอยู่แล้ว บรรยากาศอาจมีส่วนช่วยกระตุ้น

การวิจัยเหล่านี้ เป็นการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างในประเทศแถบตะวันตก ข้อมูลบางส่วนอาจจะไม่ตรงกับภูมิประเทศแถบร้อนอย่างบ้านเรานัก

ที่มา