มาแล้ว!! ฤดูชมดาวที่รอคอยยยยย

หนาวนี้จะหนาวจริงรึหลอกก็ยังไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ มีดวงดาวสุกสกาวให้เราชมแน่นอน เพราะสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชวนชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคมนี้ แถมโชว์ภาพดาวหาง 46/P Wirtanen ที่กำลังเดินทางมาประชิดโลกค่ำวันที่ 16 ธันวาคมนี้ เอาใจสายดูดาวให้ตามติดกันอย่างต่อเนื่องเลยทีเดียว

สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. อธิบายว่า เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 120 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตฝนดาวตกได้ชัดเจนตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม 2561 เนื่องจากมีแสงจันทร์รบกวนช่วงหัวค่ำ ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 

จุดเด่นของฝนดาวตกเจมินิดส์คือ มีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประกอบกับมีอัตราตกค่อนข้างมากจึงสังเกตได้ง่าย สามารถมองเห็นได้รอบทิศ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ถือเป็นโอกาสดีในการสังเกตการณ์  ทั้งนี้ ควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน 

ภาพแสดงตำแหน่งฝนดาวตกเจมินิดส์บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ คืน 14 – 15 ธันวาคม 2561 เวลา 01.30 น.

พิเศษ!! ปีนี้  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ต่อเนื่องด้วยการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ค่ำวันที่ 14 ธันวาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ณ

  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (โทร. 084-088 -2264)
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา (โทร.086-429-1489)

ใครสนใจหรืออยู่ใกล้เคียงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ฟรี!!! ไม่มีค่าใช้จ่าย ไปตำกันได้เลยยย

แล้ว ดาวหาง 46/P Wirtanen ล่ะ พิเศษยังไง?

นายศุภฤกษ์กล่าวว่า ดาวหาง 46P/Wirtanen เป็นดาวหางคาบสั้นขนาดเล็ก มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณแถบไคเปอร์ ถัดจากวงโคจรของดาวเนปจูน ค้นพบโดย คาร์ล เอ. เวอร์ทาเนน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน  มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 กิโลเมตร จะโคจรมาใกล้โลกประมาณทุก 5 ปี แต่สำหรับปีนี้ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างมากที่สุด และมีโอกาสสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นดาวหางที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ภาพดาวหาง 46/P Wirtanen ปรากฏบริเวณกลุ่มดาวแม่น้ำ บันทึกในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เวลา 23.16 น.
ณ ยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่

ขณะนี้ดาวหาง 46P/Wirtanen มีความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด 10 สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตาแล้ว และนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 11.5 ล้านกิโลเมตร  และจะมีค่าความสว่างสูงสุดประมาณแมกนิจูด 3 อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ค่าความสว่างที่ตาคนเราสามารถสังเกตเห็นได้อยู่ที่แมกนิจูด 6 ยิ่งค่าน้อยยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าที่ต้องมืดสนิทปราศจากแสงและเมฆรบกวน สำหรับประเทศไทยสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มถึงตีสี่ บริเวณกลุ่มดาววัว ใครสนใจรีบหากล้องสองตาหรือโทรทรรศน์ตามส่องได้ตั้งแต่วันนี้ และหากต้องการถ่ายภาพ ควรเลือกสถานที่มืดสนิทและช่วงเวลาที่ดาวหางอยู่ในตำแหน่งสูงจากขอบฟ้ามากที่สุด เพื่อหลีกหนีมวลอากาศที่บริเวณขอบฟ้า

ภาพจำลองทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง 46P/Wirtanen ในช่วงเดือนธันวาคม 2561

และใครยังรักพี่เสียดายน้อง เราแนะนำว่าลาหยุดยาวไปนอนดูทั้งสองดาวส่งท้ายปีไปเลยยยยยย