ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการประชุมระดับโลกที่รวมรวมเหล่าผู้นำจากหลากหลายประเทศมาไว้ด้วยกัน นั่นก็คือการประชุมว่าด้วยเรื่องของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) หรือที่เรียกกันแบบเข้าใจง่ายว่า “ประชุมโลกร้อน” ซึ่งในประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและผู้ติดตามก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

ไฮไลต์ของการประชุมในครั้งนี้ที่ถูกพูดถึงเป็นจำนวนมาก คือ การขึ้นกล่าวถึงปัญหาสภาพแวดล้อมในปัจจุบันโดย “เกรตา ธันเบิร์ก” (Greta Thunberg) สาวน้อยวัย 16 ปีจากสวีเดน ผู้ที่ลุกขึ้นมารณรงค์ในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการขึ้นกล่าวบนเวทีครั้งนี้ของเธอ ถือได้ว่าดุเดือดพอสมควร จากน้ำเสียงและท่าทีที่เธอใช้ในการสื่อสารครั้งนี้

Play video

ฉันไม่ควรมาอยู่ ณ ที่ตรงนี้ ฉันควรจะไปอยู่ในห้องเรียน ในอีกซีกหนึ่งของมหาสมุทร พวกคุณโยนทุกสิ่งอย่าง และมาฝากความหวังกับพวกเราที่เป็นหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ คุณกล้าดียังไง!เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg)

ถึงแม้ว่าคำพูดของเธอที่กล่าวภายในที่ประชุมจะแข็งกร้าว แต่ก็สามารถแสดงถึงความแน่วแน่ของเธอได้อย่างชัดเจน และแน่นอนว่าการออกมาพูดของเธอในครั้งนี้ย่อมไปกระทบผู้นำบางประเทศ โดยเธอบอกว่าผู้นำบางประเทศสนใจแต่เรื่องของเงินตรา และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนมองข้ามเรื่องของสิ่งแวดล้อม พูดมาขนาดนี้ผู้นำหลายท่านก็คงจะรู้สึกหน้าชาไปตาม ๆ กัน ขณะที่คนอีกจำนวนมากกลับชื่นชอบการพูดของเธอ และปรบมือให้เธอเสียงก้องดังสนั่นห้องประชุม

อย่างไรก็ตาม เมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีคน (ผู้ใหญ่) บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทางและน้ำเสียงที่ส่อไปในทาง “ก้าวร้าว” ของเธอสักเท่าไร

เกรตาคือใคร?

เกรตาเป็นเด็กสาวชาวสวีเดน อายุ 16 ปี เธอเป็นนักรณรงค์และออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การออกมาเคลื่อนไหวของเธอเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2018 (ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุแค่เพียง 15 ปี) เป็นที่สนใจในวงกว้าง ถึงขั้นที่ว่าได้รับการเชื้อเชิญ ให้ร่วมประชุมและขึ้นกล่าวบนเวทีหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเวที Ted ที่เมืองสตอกโฮล์มในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 หรือแม้แต่เวที World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2019

แม้ว่าเกรตาจะมีทั้งความสามารถและความตั้งใจที่แน่วแน่ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่เธอกลับมีจุดอ่อนที่หลายฝ่ายหยิบยกมาโจมตี

เกรตาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ถึงความผิดปกติของเธอ โดยเธอกล่าวว่า ตนเองมีอาการป่วยเป็นสมาธิสัน และมีอาการแอสเพอร์เกอร์ผสมด้วย

สมาธิสั้น ใคร ๆ ก็เข้าใจและรู้จักเป็นอย่างดี แต่แอสเพอร์เกอร์ คืออาการอะไรกันแน่…???

เกรตากับอาการแอสเพอร์เกอร์

แอสเพอร์เกอร์ คือชื่อของอาการที่อยู่ในกลุ่มออทิสติก มีอาการคล้าย ๆ กัน แต่ในรายละเอียดมีความแตกต่างอยู่พอสมควร โดยอาการแอสเพอร์เกอร์ หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Asperger’s Syndrome มีการพูดถึงครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1934 อาการของผู้ที่ป่วยนั้น จะมีลักษณะของการเข้าร่วมสังคมลำบาก มีความหมกมุ่นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ หรือประหลาด ๆ หรือในบางราย อาจไม่เข้าใจถึงการเปรียบเปรย หรือมุกตลกขบขัน อาจถึงขั้นไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อันไหนคือตลก อันไหนที่จริงจัง (บางครั้งจะมองเรื่องที่ตลกขบขันกลายเป็นเรื่องจริงจังไปเสียหมด…) แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นคนที่พูดมาก และดูฉลาดมากเสียด้วย ประหนึ่งว่าได้อย่างแต่เสียอย่างก็คงไม่ผิดอะไรหากจะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพกัน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์ จะมีปัญหาในด้านพัฒนาการทางภาษาและทางความคิด ที่จะพัฒนาการไปอย่างล่าช้า เหมือนกับผู้ที่ป่วยหรือมีอาการออทิสติก อย่างที่ทุกคนเคยเห็นกัน

ถึงแม้จะเป็นอาการที่ดูแปลกในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับเกรตาแล้ว เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ “พิเศษ” สำหรับเธอ เป็นสิ่งที่สวรรค์มอบมาให้ เธอบอกว่ามันทำให้เธอได้เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็น

การโจมตีจากผู้ใหญ่ (บางคน)

จากความผิดปกติดังกล่าว บางส่วนก็เข้าใจและชื่นชมที่เกรตายังกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องให้คนสนใจเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งนี้สำหรับบางคนกลับมองเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ใหญ่บางคนหยิบเอาอาการแอสเพอร์เกอร์มาโจมตีการออกมาเรียกร้องของเธอ บ้างก็โจมตีว่าเรื่องแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่เด็กควรออกมาพูด ออกมารณรงค์ ควรเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าที่ต้องออกมาพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกับที่นักเคลื่อนไหวบางท่านกล่าวหาว่าเธอเป็นฝ่ายซ้ายจัด บางรายถึงขึ้นเปรียบเทียบว่าเป็นเด็กที่รับใช้ฝ่ายนาซี และเกรตาไม่ควรจะต้องแสดงออกรุนแรงขนาดนั้น ไม่ควรที่จะใช้ความเกลียดชังมาขับเคลื่อนสังคม

ขณะที่บางคนมองว่าการโจมตีเกรตาด้วยอาการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งก็แน่นอนครับว่าเราไม่ควรหยิบปมด้อยของใครมาโจมตี

สถานีโทรทัศน์ Fox News ในสหรัฐอเมริกา ได้สัมภาษณ์สดกับนักวิชาการนามว่า Michael Knowles ถึงเรื่องราวของเกรตาและการแสดงออกของเธอที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็น ซึ่งนาย Knowles ได้ให้สัมภาษณ์อย่างดุเดือด และโจมตีเธอ โดยกล่าวว่า “เรื่องทั้งหมดนี้ ควรเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์” และมีการหยิบอาการป่วยมาเป็นข้อถกเถียง พร้อมทั้งพูดว่า “Mentally ill Swedish Child” ซึ่งหมายถึง “เด็กสาวชาวสวีเดนผู้ป่วยโรคจิต” อยู่หลายต่อหลายครั้ง

Play video

ถึงแม้ว่า Chris Hann หนึ่งในผู้ร่วมให้สัมภาษณ์จะร้องขอให้เลิกพูดคำพูดดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล และยังย้ำคำนี้อยู่ตลอด ภายหลังจากที่จบการสัมภาษณ์ลง โฆษกของสถานีได้ออกมาขอโทษกับการสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นไปเมื่อครู่นี้ พร้อมทั้งประกาศว่า ทางสถานีจะไม่มีวันติดต่อ Michael Knowles เพื่อขอสัมภาษณ์อีกในอนาคต เหตุเพราะการให้สัมภาษณ์สดของ Knowles เปรียบเสมือนผู้ใหญ่ที่กำลังรังแกเด็ก และเป็นการรังแกแบบออกสื่ออีกด้วย ดังที่ Chris Hann ได้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า…

“You’re a grown man and you’re attacking a child. Shame on you.” (คุณโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และคุณกำลังรังแกเด็กอยู่ คุณควรละอายใจกันบ้าง!)

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ คือ การหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยด้วยเหตุและผล ไม่ควรใช้อารมณ์ในการสนทนา และไม่ควรหยิบจุดด้อย หรือปมของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นเครื่องมือ

ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวของเกรตา เด็กสาววัย 16 ปีคนนี้จะค่อนข้างรุนแรงในสายตาหลาย ๆ คน แต่โปรดอย่ามองข้ามสาระสำคัญที่เธอต้องการจะบอกคนทั้งโลก นั่นคือ “ปัญหาสภาวะเรือนกระจก” ที่นับวันยิ่งทวีคูณความรุนแรง และส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชีวิตสรรพสิ่งที่เริ่มล้มหายตายจากมากขึ้น บางชีวิตถึงขั้นสูญพันธุ์ ซึ่งถ้าไม่เริ่มลงมือป้องกันและช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง พร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่วันนี้ เมื่อถึงครานั้น ก็สายเสียแล้ว…

นี่แหละ… คือสิ่งที่เกรตา ธันเบิร์ก ต้องการนำเสนอจริง ๆ