หลังจากการแพร่ระบาดทั้งสื่อ ข่าว บทความ และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ พากันนำเสนอข้อมูลที่ ‘คาดว่า’ จะเป็นความจริง และมีประโยชน์ต่อประชาชน แต่น่าเสียดายการกระหน่ำแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าข้อมูลใดเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือได้ และในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสข่าวลือและข้อมูลที่ผิดอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าที่เราคิด

วันนี้แบไต๋ขอแนะนำ 10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ Covid-19 มานำเสนอให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจโดยใช้คำตอบจากวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวตอบคำถามกันค่ะ

Q : หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันไวรัสได้

A : หน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไป ไม่สามารถป้องกันคุณจากไวรัสได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไวรัส แต่มันสามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากคนติดเชื้อได้ ด้วยการป้องกันไม่ให้ไวรัสที่อยู่ในสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เวลาไอหรือจามกระจายออกมาสู่คนอื่น

ส่วนในสถานพยาบาลจะมีเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า ‘N95 respirators’ ซึ่งเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ได้ดีกว่า แต่คนที่จะใช้เจ้าอุปกรณ์นี้ได้ต้องได้รับการอบรมมาก่อนค่ะ

mask

Q : Covid-19 ติดต่อกันยากกว่าไข้หวัดใหญ่

A : คำตอบคือไม่ใช่ จากการทดลองการประเมินความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ด้วย ‘basic reproduction number’ หรือ R0 (อ่านว่า R-nought) เจ้า R0 นี้คืออัตราการแพร่กระจายเชื้อของผู้ติดเชื้อ 1 คนที่จะแพร่กระจายไปยังคนอื่น ซึ่ง Covid-19 มีค่า R0 = 2.2 หมายความว่าโดยเฉลี่ยผู้ติดเชื้อ Covid-19,1 คนสามารถส่งต่อเชื้อไปยังผู้อื่นได้อีก 2.2 คน ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่มีค่า R0 = 1.3 เท่านั้น

Q : Covid-19 เป็นเพียงการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่

A : ตอบเลยว่าไม่ใช่ Covid-19 เป็นชื่ออย่างเป็นทางการในการเรียกชื่อเชื้อโคโรนาไวรัส 2019, โคโรนาไวรัส เป็นเชื้อตระกูลใหญ่ที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย โดย SARS-CoV-2 มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับโคโรนาไวรัสอีก 4 ตัวที่ก่อให้เกิดอาการหวัดในมนุษย์แต่ที่ต่างคือ เชื้อ 4 ตัวนั้นมีโฮสต์หลักเป็นมนุษย์ ในขณะที่ 90% ของโครงสร้างทางพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 คล้ายคลึงกับโคโรนาไวรัสที่พบในค้างคาวมากกว่า เราจึงได้คาดการณ์กันว่าเชื้อตัวนี้เดิมทีอยู่ในค้างคาวแล้วหลังจากนั้นจึงส่งต่อมายังมนุษย์ ซึ่งคล้ายกับ SARS และ MERS

Q : หรือจริง ๆ แล้วไวรัสเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาในห้องทดลอง!

A : ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีหลักฐานว่ามีการสร้างเชื้อไวรัสดังกล่าวขึ้นมาจากห้องปฎิบัติการ

Q : ติดเชื้อ Covid-19 = ตาย?

A : ไม่จริง! จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีนผู้ติดเชื้อ 81% ได้รับเชื้อแบบไม่รุนแรง 13.8% ของผู้ป่วยมีอาการรุนแรง (หายใจหอบเหนื่อย ต้องใช้ออกซิเจนในการช่วยหายใจ) 4.7% มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว และ 2.3% เสียชีวิต ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ คนแก่ และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น

Q : สัตว์เลี้ยงสามารถติด และแพร่เชื้อได้

A : จากข่าวล่าสุดที่มีรายงานการตรวจพบเชื้ออ่อน ๆ ในสุนัขที่เจ้าของติดเชื้อ Covid-19 ที่ประเทศจีน อาจบอกได้ว่าสัตว์เหล่านี้อาจติดเชื้อจากคนได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสัตว์สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้

Q : เด็ก ๆ ไม่ติดเชื้อ Covid-19 

A : ไม่จริง! จากสถิติบอกว่าเด็ก มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาติดเชื้อไม่ได้ เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอิตาลีรายงานผู้ติดเชื้อ Covid-19, 400 คน เป็นเด็ก 5 คน ที่มีอายุระหว่าง 4 – 19 ปี และจากการศึกษาในจีนมณฑลหูเป่ยพบว่าผู้ติดเชื้อ 2.2% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลขเด็กที่ติดเชื้อ อาจจะได้รับการประเมินต่ำเกินความเป็นจริง และเด็กมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อและแสดงอาการที่ไม่รุนแรง จึงมีความเป็นไปได้ที่เชื้อจากเด็กจะถูกส่งต่อโดยที่เด็กยังไม่แสดงอาการของโรค

Q : คุณจะรู้ตัวถ้าคุณติดเชื้อ Covid-19 

A : ไม่จริง Covid-19 มีอาการแสดงที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะแสดงออกที่ระบบทางเดินหายใจคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดอย่างที่เรารู้กัน อาการที่พบบ่อยของ COVID-19 ได้แก่ มีไข้ไอและหายใจลำบาก อาการที่หายาก ได้แก่ อาการวิงเวียนศีรษะคลื่นไส้อาเจียนและมีน้ำมูกไหล (Covid-19 มักไม่ทำให้มีน้ำมูก) ในกรณีที่รุนแรงมีอาการคล้ายกับโรคปอดบวมรุนแรง แต่ในระยะแรกผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้ การตรวจวัดไข้จึงเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าชะล่าใจ หรือประมาทเด็ดขาด หากมีอาการผิดปกติ หรือเพิ่งเดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงควรจะปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของรัฐนะคะ

Q : Covid-19 มีอัตราการตายน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่

A : อาจจะยังเร็วไปที่จะสรุปเรื่องนี้ เพราะการระบาดของเชื้อยังคงขยายวงกว้าง และตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จากข้อมูลของ CDC โดยปกติแล้วในอเมริกา มีอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ 0.1% ต่อปี จนถึงขณะนี้มีอัตราการตาย 0.05% ในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลการตายล่าสุดของ Covid-19 พบว่า COVID-19 มีอัตราการตายสูงกว่า 20 เท่าหรือประมาณ 2.3% ตามงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์โดยกรมควบคุมโรคของจีน

Q : สั่งของจากจีนอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสได้ 

A : ไม่จริง! จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากการรับพัสดุ หรือสิ่งของจากจีน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ถึงแม้ว่าเชื้อจะสามารถอยู่บนพื้นผิวภายนอกได้นานถึง 9 วันก็ตาม แต่ด้วยสภาพแวดล้อม และปัจจัยเอื้อต่าง ๆ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่ำที่เชื้อจะแพร่กระจายจากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่จัดส่ง หากใครอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านจากบทความที่แบไต๋เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ได้นะคะ

อย่างไรก็ตามถึงแม้ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในไทย จะยังไม่เพิ่มขึ้นสูง แต่เราทุกคนควรช่วยกันป้องกัน และหยุดการแพร่เชื้อดังกล่าวก่อนที่สถาณการณ์การแพร่ระบาดจะร้ายแรงมากไปกว่านี้ ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อสังคมที่น่าอยู่ของเรากันนะคะ

อ้างอิง Livescience

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส