เรื่องนี้เป็นผลการวิจัยของสถาบันการบำบัดด้วยเสียงแห่งประเทศอังกฤษ (The British Academy of Sound Therapy)ที่พยายามมาอย่างนานนับปีที่จะหาข้อพิสูจน์ว่า การฟังเพลงมีผลดีในการบำบัดเยียวยาจิตใจ

การค้นคว้าล่าสุดของสถาบัน ในโพรเจกต์ “ดนตรีเยียวยา” นั้น ทีมนักวิจัยพยายามหาข้อพิสูจน์ที่สามารถเจาะจงได้ว่า เพลงประเภทใดที่จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทในทางบวก และต้องฟังนานแค่ไหนถึงจะมีผลตอบรับ

นักประสาทวิทยาที่สถาบันฯ อธิบายถึงจุดประสงค์ในการวิจัยนี้ว่

“คนเราส่วนใหญ่น่ะฟังเพลงกันอยู่แทบทุกวันอยู่แล้ว แล้วแต่ละคนก็จะเปลี่ยนเซ็ตของเพลงที่ฟังไปตามอารมณ์ในขณะนั้น นักจิตวิทยาทางด้านดนตรีก็พยายามหาข้อยืนยันเกี่ยวกับสมมติฐานที่ว่า เพลงนั้นมีผลต่อสุขภาพของคนเรา ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีใช่ไหม ถ้าเราสามารถรู้ได้แน่ชัดว่าเพลงหรือดนตรีประเภทไหนจะมีผลกับสภาพอารมณ์ของเราในแต่ละขณะ”

ในการวิจัยนี้ มีการทดสอบรอบแรกแล้วกับอาสาสมัครจำนวน 7,581 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ 89% ของอาสาสมัครบอกว่า เพลงมีผลอย่างมากต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของพวกเขา

เพลงเพื่อความผ่อนคลาย

ได้ข้อสรุปที่ระบุชัดมาแล้วว่า การฟังเพลงเพื่อจุดประสงค์ในการผ่อนคลายจิตใจ จะต้องใช้เวลาในการฟังที่ 13 นาที และเพลงนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ จังหวะช้า ๆ, ดนตรีเรียบง่ายและไม่มีเสียงร้อง ทางสถาบันยังยกตัวอย่างเพลงให้ด้วยตามลิงก์ด้านล่างนี้

Play video

เพลง Weightless โดยวงดนตรี Marconi Union เป็นวงที่มีสมาชิก 3 คนจากเมืองแมนเชสเตอร์ นั้น จากการทดลองกับผู้ฟังอาสาสมัครแล้วพบว่า สามารถลดอาการตึงเครียดได้ชะงัดถึง 65%
“การทดสอบของเราได้ผลรับในทางที่ดี ผู้ฟังจะลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ กระบวนการความคิดเชิงลบหายไป รู้สึกสงบและหลับสบาย”

เพลงเพื่อความสุข

ในการทดสอบสมมติฐานนี้ เราได้ลองทดสอบกับเพลงที่มีจังหวะเร่งเร้าขึ้นบ้าง แต่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสุข หลังจากให้อาสาสมัครฟังต่อเนื่องเป็นเวลา 9 นาที พบว่า 89% ของผู้ฟังรู้สึกมีความกระปรี้กระเปร่า อีก 65% ฟังแล้วมีความสุข หัวเราะ อีก 82% บอกว่าตอนนี้จะให้เขาทำอะไรก็ได้ เขารู้สึกว่ามีพลังอำนาจที่จะควบคุมชีวิตตัวเองได้

เพลงเพื่อปลดปล่อยความซึมเศร้า

ความเศร้านี่เป็นช่วงเวลา อารมณ์ที่เป็นส่วนตัวเฉพาะคนมาก ๆ เวลาใครที่อยู่ในอารมณ์นี้มักจะอยากฟังเพลงที่มีเนื้อหาสอดคล้องตรงใจกับเรื่องราวของตัวเอง ผลการทดสอบระบุว่า จะต้องฟังเพลงเหล่านั้นประมาณ 13 นาที ถึงจะมีผลตอบรับในทางบวก

“การฟังเพลงในช่วงที่รู้สึกโศกเศร้านั้น ผู้ฟังจะรู้สึกผ่อนคลาย ความรู้สึกท้อแท้น้อยลง อารมณ์จะเสถียรมากขึ้น เรื่องราวที่เป็นสาเหตุของความเศร้านั้นก็มีอิทธิพลต่อจิตใจน้อยลง”

แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนอาสาสมัครที่มาทดสอบได้ดังนี้ 87% รู้สึกอารมณ์มั่นคงมากขึ้น, 84% บอกว่าความรู้สึกท้อแท้ลดน้อยลง, 91% บอกว่ารู้สึกได้ปลดปล่อย ผ่อนคลาย และ 84% บอกว่าพวกเขาได้ก้าวออกจากสภาวะโศกเศร้านั้นแล้ว

ที่จริงมนุษย์เราก็เลือกใช้เพลงมาช่วยกระตุ้น เสริม ผ่อนคลายอารมณ์ของเราในแต่ละความรู้สึกอยู่แล้ว ผลการวิจัยนี้ก็ช่วยยืนยันชี้ชัดว่าเรามาถูกทางแล้ว ที่เลือกใช้ดนตรีและบทเพลงมาเยียวยาจิตใจของเรา

 

 

อ้างอิง