ยูวาล ฮาราริ (Yuval Harari) ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์โลก ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยรูซาเล็ม เขามีชื่อเสียงในฐานะผู้เขียนตำราขายดีหลายเล่ม

  • เล่มแรกคือ ‘Sapiens’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 มีฉบับภาษาไทยชื่อ ‘เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ’
  • เล่มสองคือ ‘Homo Deus’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2016 มีฉบับภาษาไทยชื่อ ‘โฮโมดีอุส ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้’
  • เล่มที่สามคือ ’21 Lessons for the 21st Century’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 มีฉบับภาษาไทย ’21 บทเรียน สำหรับศตวรรษที่ 21′
    ท้้งสามเล่มทำยอดขายรวมกันมากกว่า 35 ล้านเล่ม ถูกแปลไปแล้ว 65 ภาษา
หนังสือ 3 เล่มของ ยูวาล ฮารารี

ด้วยเหตุนี้ฮารารีจึงเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือในเรื่องวิสัยทัศน์ที่มีต่ออนาคตของมนุษยชาติ ล่าสุด 60 Minutes รายการทีวีชื่อดังที่แพร่ภาพทางสถานี CBS มาตั้งแต่ปี 1968 ได้เชิญ ยูวาล ฮารารี ไปร่วมพูดคุยในรายการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2021 มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ว่า ฮารารี แสดงความกังวลว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ วิทยาการ AI จะเจริญรุดหน้าไปมากจากการเรียนรู้อัลกอริทึมต่าง ๆ ทำให้มันสามารถกำหนดอนาคตแนวทางของมนุษยชาติได้

(AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence คือ ปัญญาประดิษฐ์ โปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ จากการประมวลผลของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และยังสามารถดัดแปลงการประมวลผล ประยุกต์ ให้เป็นไปตามสถานการณ์ต่างๆ)

แต่ละวันที่ผ่านไป ข้อมูลเกี่ยวกับประชากรทั่วโลกจะถูกรวบรวมจากช่องทางต่าง ๆ เป็นจำนวนข้อมูลมหาศาล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกป้อนให้กับ AI ทำให้ AI ยิ่งทรงพลังมากขึ้น แล้วขั้นต่อไปมันอาจจะสามารถ “แฮกมนุษย์โลก” ได้ รูปแบบนี้เปรียบได้กับสูตรสำเร็จที่พาโลกเราไปสู่ยุค Dystopia หรือ โลกที่ไม่น่าพึงปรารถนา

ในการนี้ ฮารารีจึงได้เตือนให้แต่ละชาติทั่วโลกควรร่วมมือกันรับมือกับสถานการณ์นี้เสียแต่เนิ่น ๆ ด้วยการวางมาตรการควบคุม AI ที่กำลังรวบรวมข้อมูลประชากรทุกประเทศทั่วโลกอยู่ขณะนี้ และถ้าประเทศไหนที่สามารถรวบรวมข้อมูลประชากรโลกได้มากที่สุด ประเทศนั้นก็มีศักยภาพที่จะครองได้

“ข้อมูลประชากรทั่วโลกกำลังจะกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ถูกแบ่งส่วนกันไป มันเป็นยุคแห่งการแข่งกันเก็บเกี่ยวข้อมูล ถ้าเปรียบว่าในยุคสงครามเย็นนั้น เราต้องสร้างม่านเหล็กขึ้นมาปิดกั้นข้อมูล ถึงตอนนี้เราก็ควรมี ม่านซิลิกอน มาใช้ป้องกันกันแล้วละ พอจะเห็นเค้าลางแล้วว่า โลกกำลังถูกจัดสรรปันส่วนกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลส่วนตัวของคุณจะถูกส่งไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนียหรือว่าถูกส่งไปเซินเจิ้น”

ยูวาล ฮารารี

ฮารารียังยกตัวอย่างว่าทุกวันนี้ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราแล้วแค่ไหน ให้สังเกตจาก
“Netflix เริ่มแนะนำเราแล้วว่าควรจะดูอะไร Amazon ก็คอยแนะนำว่าเราควรซื้ออะไร แล้วในระยะเพียง 10 หรือ 20 หรือ 30 ปีจากนี้ ด้วยอัลกอริทึมต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะสามารถบอกคนรุ่นหลัง ๆ แล้วว่าพวกเขาควรจะต้องเรียนอะไร ทำงานอะไร ควรแต่งงานกับใคร หรือแม้กระทั่งควรจะเลือกใครเป็นผู้นำ”

ฮารารียังสาธยายถึงความน่ากลัวของ AI ต่อไปว่า โดยเฉพาะในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อผู้คนกักตัวอยู่กับบ้านแล้วใช้บริการต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้ช่วงนี้ AI ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของเราได้มากขึ้น
“ข้อมูลต่าง ๆ มันเริ่มเจาะลึกลงไปภายในตัวเราแล้ว ตลอดเวลาที่เราได้เห็นได้ทำอะไรลงไป องค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงรัฐบาลก็ได้สะสมข้อมูลต่าง ๆ พวกนี้ไว้ ไม่ว่าเราจะไปไหนมาไหน ไปพบปะใคร เราดูหนังเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง ก้าวต่อไปของ AI ก็จะเริ่มเจาะลึกเข้าไปใต้ผิวหนังเราแล้ว”

“จำเป็นที่สุดแล้วตอนนี้ที่โลกเราควรจะหันมาร่วมมือกันควบคุมเรื่องนี้ แต่ละประเทศไม่สามารถรับมือกับพลังอำนาจมหาศาลของ AI ได้หรอก”
“หลักการสำคัญของการใช้ข้อมูลบุคคล เมื่อ AI ได้ข้อมูลไปแล้ว มันควรจะใช้ข้อมูลนั้นมาช่วยเหลือปรับปรุงตัวเราในทางบวก ไม่ใช่ใช้ประโยชน์จากตัวเรา อีกหลักการสำคัญก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ AI เริ่มสำรวจลงลึกถึงระดับบุคคลแล้ว AI ก็ควรที่จะได้รับการยกระดับการเข้าถึงข้อมูลขององค์กรและรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนมากที่สุด และหลักการข้อที่ 3 ก็คือ อย่าได้ให้ข้อมูลประชากรเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง เพราะนั่นคือสูตรสำเร็จของการปกครองระบอบเผด็จการ”

ตอนนี้มนุษยชาติกำลังอยู่ในภาวะ ‘เสี่ยง’ ที่จะถูก AI แฮก ถ้าทั่วโลกไม่ร่วมมือกันควบคุมให้ดี
“ถ้า AI แฮกมนุษย์ได้ มันจะรู้จักตัวเราดียิ่งกว่าตัวเราเองเสียอีก และเมื่อถึงจุดนั้นมันจะสามารถควบคุมจัดการเราได้”
แต่ในทางกลับกัน เราก็สามารถควบคุม AI ได้ ถ้าเราร่วมมือกันควบคุมมันเสียแต่วันนี้

“เราอาจจะไม่ก้าวไปสู่ Dystopia แต่อาจจะเป็น Utopia ก็ได้ ผมหมายความว่าข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้ในทางบวกเช่น ดูแลสุขภาพร่างกายเรา คำถามก็จะย้อนกลับมาที่ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบริหารจัดการอย่างไร? หรืออยู่ในมือใคร? และใครมีอำนาจจัดการควบคุม?

อ้างอิง