มนุษย์โลกพยายามศึกษาและทำความเข้าใจพายุ ภัยธรรมชาติที่เป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ของมนุษยชาติกันมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือข้อมูลต่าง ๆ ที่บันทึกได้จากพายุที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดส่วนหนึ่งก็คือหนัง Twister ปี 1996 ที่เหล่าตัวละครหลักของเรื่องคือนักล่าพายุ ที่พยายามจะปล่อยทุ่นขนาดจิ๋วเข้าไปในพายุเฮอริเคนเพื่อบันทึกข้อมูลจริง ผ่านมากว่า 20 ปี มนุษย์ยังคงคิดค้นวิทยาการใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อศึกษาพายุเฮอริเคนเสมอมา และวิทยาการล่าสุดที่ผลิตออกมาแล้วใช้ได้จริง ก็มีชื่อเรียกว่า ‘Ocean drone’ ที่ผลิตโดยบริษัท Saildrone และ NOAA และประสบความสำเร็จอย่างภาคถูมิใจที่โดรนลำนี้สามารถบันทึกภาพจากเฮอริเคนแซม ขณะที่เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรแอตแลนติค เมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา

โดรนสำรวจลำนี้มีชื่อรหัสว่า SD 1045 เป็นโดรนลอยบนผิวน้ำไร้คนขับเคลื่อน ถูกบังคับให้มุ่งหน้าเข้าหาเฮอริเคนแซม เป็นเฮอริเคนที่มีความรุนแรงระดับ 4 ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2021 และโชคดีที่ไม่พัดขึ้นชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ขณะที่ SD 1045 มุ่งหน้าเข้าหาเฮอริเคนแซมนั้น มันต้องเผชิญกับคลื่นที่สูงถึง 15 เมตร และแรงลมที่ความเร็วกว่า 120 ไมล์ต่อชั่วโมง จุดมุ่งหมายเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลที่จำเป็นต่อวงการวิทยาศาสตร์ และถ้ามันทำสำเร็จ ก็จะทำให้เราได้รู้จักพลังของธรรมชาติที่มีอานุภาพในการทำลายล้างมากที่สุดบนโลกมนุษย์ใบนี้

ในช่วงฤดูมรสุมนั้น ได้มีการปล่อย Ocean drone ออกปฏิบัติการอยู่บนมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยกัน 5 ลำ SD 1045 คือ 1 ใน 5 ลำนั้น การที่ SD 1045 สามารถแล่นผ่านอุปสรรคนานาประการและพุ่งตรงเข้าสู่ใจกลางเฮอริเคนได้นั้น ก็เพราะเจ้าโดรนลำนี้ผ่านการออกแบบเพื่อการนี้มาโดยเฉพาะ และมีอุปกรณ์สำคัญนั่นก็คือ “hurricane wing” ที่ช่วยให้โดรนสามารถทรงตัวและทำงานได้เสถียรท่ามกลางพายุรุนแรง เมื่อ SD 1045 เข้าสู่ใจกลางของเฮอริเคนแซม มันก็ส่งค่าที่บันทึกได้ตามเวลาจริงเดี๋ยวนั้นกลับมา ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ได้รุดหน้าไปอีกขั้น กับการได้รับรู้ข้อมูลจากภายในเฮอริเคนที่ไม่เคยมีใครบันทึกได้มาก่อน และทำให้เราได้รู้ว่าเฮอริเคนขยายตัวและมีพลังรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยพัฒนาการพยากรณ์อากาศ กรณีการเกิดพายุได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์เรารับรู้และเตรียมพร้อมรับมือได้ล่วงหน้า ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง

“Saildrone จะมุ่งหน้าสำรวจไปยังจุดที่เรือสำรวจไม่เคยเข้าไปถึงได้ อย่างเช่นการมุ่งเข้าสู่ตาพายุเฮอริเคนแล้วรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่จะทำให้เราได้เข้าใจถึงพายุทรงอานุภาพเหล่านี้ที่อาละวาดอยู่ตามมหาสมุทรอาร์กติก และมหาสมุทรทางตอนใต้ เรามองว่าพายุเฮอริเคนนี่คือปราการด่านสุดท้ายแล้วในภารกิจการสำรวจของ Saildrone พวกเราภูมิใจกันมากที่ได้คิดค้นพาหนะที่สามารถทำงานได้ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดบนโลกแบบนี้ขึ้นมาได้”
ริชาร์ด เจนกินส์ CEO ของ Saildrone

ทาง Saildrone ได้จัดส่งข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดใหกับ NOAA (ห้องปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมทางทะเลแปซิฟิกและห้องปฏิบัติการสมุทรศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาแอตแลนติก) ผู้ร่วมปฏิบัติการในภารกิจนี้ เกร็ก โฟลต์ซ (Greg Foltz) นักวิทยาศาสตร์ประจำ NOAA ออกมาพูดถึงข้อมูลสำคัญเหล่านี้ว่า

“เราคาดหวังว่าข้อมูลที่เราได้จาก Saildrone นั้น จะนำมาเป็นต้นแบบในการพยากรณ์การก่อตัวรวดเร็วของพายุเฮอริเคนได้ กรณีที่เฮอริเคนสามารถก่อตัวขึ้นและมีความรุนแรงได้ในชั่วโมงเดียวนั้น มันถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อชุมชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง ข้อมูลใหม่ ๆ ที่เราได้จาก Saildrone นั้น จะช่วยให้พวกเราที่ NOAA พยากรณ์ได้แม่นยำขึ้นถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการก่อตัวของพายุเฮอริเคนและช่วยเตือนผู้คนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ มากขึ้น”

ฟุตเทจที่บันทึกได้จาก SD 1045 จะเป็นวิดีโอที่ไม่มีเสียง เพราะ SD 1045 ไม่มีเครื่องบันทึกเสียง

อ้างอิง