เมื่อวันก่อน ผมกำลังหาซื้อแบตเตอรี่สำรองสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตอนนี้เหมือนเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ระหว่างที่นั่งหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเพราะมีให้เลือกมากมายจนทำให้เริ่มสับสน อันนี้สามารถชาร์จไร้สายได้ อันนี้มีสายมาพร้อมด้วย อันนี้เบากว่า อันนี้บางกว่า อีกอันมีขาตั้งให้ด้วย หรือจะเพิ่มเงินอีกนิดเอาความจุที่ใหญ่ขึ้นดี เราจะเอาอันนี้ขึ้นเครื่องบินตอนเดินทางได้ไหมนะ หรือพกใส่ในกระเป๋าเป้แล้วมันจะหนักไปรึเปล่า? …

ติ๊กต๊อก ๆ ๆ ผ่านไปสามชั่วโมง… ยังตัดสินใจไม่ได้ พรุ่งนี้เหมือนจะมีโปรโมชันลดราคา เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยว่ากัน วันต่อมาก็เข้าลูปเดิม เหมือนจะมีรุ่นใหม่ออกมา เดี๋ยวพลาดของดี ๆ รออีกแป๊บดีกว่า…

ผ่านมาสัปดาห์หนึ่ง ผมยังตัดสินใจไม่ได้เลย และดูเหมือนว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่กำลังตกอยู่ในสภาพตัดสินใจไม่ได้เช่นนี้ พฤติกรรมที่เราใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือบางครั้งหลายวันเพื่อตัดสินใจ ทั้ง ๆ ที่บางทีไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรเลย มีชื่อเรียกว่า “FOBO” หรือ “Fear of Better Option” หรือ “ความกลัวที่จะพลาดทางเลือกที่ดีกว่า” นั่นเอง ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของ FOMO (Fear of Mission Out – ความกลัวที่จะตกกระแส) ที่เราพอจะรู้จักกันมาบ้างแล้วนั้นเอง แต่เจ้า FOBO มีความรุงรังตรงที่ว่ามันจะทำให้เราไม่ยอมลงมือทำอะไรซะที บางทีแค่มื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นก็ตัดสินใจไม่ได้ซะที แล้วมันเกิดจากอะไรล่ะ? แล้วเราพอจะทำอะไรกับมันได้บ้างรึเปล่า?

FOBO เป็นพฤติกรรมที่ทำให้คนที่เป็นนั้นตกอยู่ในสภาวะที่ลังเล รีรอ กลายเป็นไม่ตัดสินใจอะไรสักอย่าง มีตั้งแต่เรื่องร้านอาหารเย็นวันนี้ ไปจนกระทั่งมหาวิทยาลัยที่จะสมัคร งานที่อยากทำ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ที่ค้าง ๆ คา ๆ

มีงานวิจัยหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือ ‘The Art of Thinking Clearly’ ของ รอล์ฟ ดอเบลลี (Rolf Dobelli) นักวิจัยเอาโต๊ะไปตั้งในซูเปอร์มาเก็ตพร้อมกับแยมทั้งหมด 24 รสชาติในวันแรก และในวันที่สองลดเหลือเพียง 6 รสชาติ ผลที่ได้ก็คือว่าในวันแรกนั้นมีคนมามุงดูเยอะมากกว่าวันที่สอง เพราะมันมีของเยอะ คนก็ “อู้ววว อ่า” กันไป แต่เมื่อนับยอดขายเมื่อหมดวัน กลายเป็นว่าวันที่สองนั้นทำรายได้มากกว่าวันแรกถึงสิบเท่า

มันแสดงให้เห็นว่ายิ่งเรามีทางเลือกมากเท่าไหร่ เรายิ่งตัดสินใจเลือกน้อยลงเท่านั้น

ปัญหานี้เมื่อก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราไม่มีมีโอกาสได้เจอ หรืออาจจะเจอแต่ก็ไม่ได้หนักหนาเท่าตอนนี้ เมื่อก่อนนั้นคนมักจะ “เจริญรอยตาม” รุ่นคุณปู่คุณย่า อากงอาม่าที่แผ้วถางทางไว้ให้ลูกหลานก่อนแล้ว ส่วนใหญ่ทางเลือกหรือการตัดสินใจนั้นจะมีการเลือกไว้ให้ก่อน อาชีพ หน้าที่การงาน หรือแม้แต่คู่ชีวิตในบางวัฒนธรรม

ผ่านมาถึงตอนนี้ ไม่กี่ทศวรรษ เรามีทางเลือกมากมาย ไม่เชื่อลองเปิดทีวีดูได้ ตอนนี้มีไม่รู้กี่ร้อยช่อง เปิด Netflix ดู มีซีรีส์ใหม่ ๆ เป็นร้อยเป็นพัน แต่กลายเป็นว่าเลือกไม่ได้ ไม่รู้จะดูอะไร สุดท้ายทำยังไง? กลับไปดูซีรีส์เดิมที่เคยดูมาแล้ว ดูตอนเก่า ๆ ของ ‘How I Met Your Mother’, ‘Modern Family’ หรือ ‘The Office’ (ถ้าใครยังไม่เคยดูแนะนำนะครับ) ทางเลือกมากเกินกว่าที่เราจะเลือกได้หมด

ไม่ใช่แค่เรื่องของทางเลือกในเรื่องของสื่อบันเทิงเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ อย่างหน้าที่การงานที่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดในอาชีพเดียวอีกต่อไป ทุกคนสามารถออกตามล่าหาความฝันอันยิ่งใหญ่ได้ทุกวัน เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ยืดหยุ่นสุด ๆ แต่นี่แหละปัญหาของ FOBO ที่แก้ไม่ตก กลายเป็นความเครียดในการตัดสินใจที่ซ้ายขวาหน้าหลัง

แม้แต่การเลือกคู่บนแอปพลิเคชันหาคู่อย่าง Tinder ที่ปัดไปเรื่อย ๆ เพราะกลัวว่าจะมีออปชันที่ดีกว่ารออยู่ข้างหลัง หรือเดินเข้าร้านหนังสือมี “Best-Sellers” ที่เปลี่ยนตลอดเวลา อ่านยังไงก็ไม่มีทางทัน จะเลือกเล่มไหนก่อนดี

พฤติกรรมของคนที่เป็น FOBO คือการพยายามหาข้อมูลของทุกทางเลือกที่มี เพราะกลัวว่าจะพลาดทางเลือกที่ดีกว่า ไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งสภาวะลังเลและงึกงักไม่ตัดสินใจซะทีเท่านั้น แต่มันยังนำมาซึ่งความรู้สึกผิดหวังและความสุขน้อยลงอีกด้วย

แพทริค แมคกินนิส (Patrick McGinnis) ผู้บัญญัติคำว่า “FOBO” และก็ “FOMO” นั้นบอกว่าเขาเองก็ประสบกับปัญหานี้จนต้องหาชื่อเรียกมันเพราะคนอื่นที่เขารู้จักก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน เขาอธิบายต่อว่าทั้ง FOBO และ FOMO นั้นอาจจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า FODA หรือ “Fear of Doing Anything” หรือความกลัวจนไม่เป็นอันทำอะไรสักอย่าง ซึ่งทุกคนก็น่าจะรู้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ห่วยแตกมาก

แมคกินนิส เขียนถึงเรื่อง FOBO เกี่ยวกับช่วงเวลาที่เขาเป็นเด็กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ว่ามันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยโอกาสและทางเลือกอันมากมาย วิชาเรียน งานสังคม ปาร์ตี้ การสัมภาษณ์งาน ทุกอย่างเข้าถึงได้หมด เขาซึ่งมาจากชนบทมาถึงก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันดูเยอะไปหมด อยากทำทุกอย่าง (FOMO) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะเอาอะไรดีเพราะกลัวว่าจะเลือกพลาด (FOBO)

มีหลักฐานทางงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าถ้าเรามีทางเลือกน้อยลง เราจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นแถมยังรู้สึกพอใจมีความสุขมากขึ้นด้วยจากทางเลือกที่เลือกไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อเรามีทางเลือกมากขึ้นนั้น เราจะตัดสินใจได้แย่ลงหรือยักแย่ยักยันไม่ตัดสินใจสักที แถมไม่พอสิ่งที่ตามมาก็คือหลังจากที่เลือกไปแล้ว แทนที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเลือก กลับไปคิดถึงสิ่งที่เราไม่ได้เลือกซะงั้น ยิ่งมีทางเลือกมาก ยิ่งรู้สึกว่า “เฮ้ย…กูเลือกถูกไหมวะ หรือจะมีอันที่ดีกว่านี้?”

แล้วเราทำยังไงกับมันได้บ้าง? อ่านต่อหน้า 2 เลย

แมคกินนิสเลยออกแบบทางแก้ที่เขาใช้ออกมาสองอย่าง

  1. สำหรับของทั่วไปในชีวิตประจำวัน – เขาใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ถามนาฬิกา” (หรือถ้าใครไม่มีก็เหรียญในกระเป๋าก็ได้) โดยจะตัดทางเลือกออกให้เหลือแค่สองอันแล้วก็แบ่งหน้าปัดนาฬิกาออกเป็นสองด้าน ซ้าย-ขวา สำหรับแต่ละทางเลือกไว้ในใจ (ถ้าเป็นเหรียญก็หัว-ก้อย) หลังจากนั้นก็ก้มดูนาฬิกาว่าเข็มวินาทีมันอยู่ด้านไหนของหน้าปัด แล้วก็ไปทางนั้นเลย
  2. สำหรับเรื่องใหญ่ๆ – เขาใช้เทคนิคเดียวกับนักลงทุน (Venture Capitalist) โดยเอากระดาษมาเขียนเลยว่า ข้อดีมีอะไร ข้อเสียมีอะไร ความท้าทาย การเรียนรู้ ความสามารถ ฯลฯ หลังจากนั้นก็เรียบเรียงและอ่านหลาย ๆ รอบ มันเป็นกระบวนการเหมือนกับที่นักลงทุนทำก่อนที่จะตัดสินใจวางเงินลงทุน ซึ่งสำหรับตัวเราเองการตัดสินใจบางอย่างก็คือการลงทุนเหมือนกัน เวลา เงิน พลังงาน ฯลฯ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นคนหนึ่งที่ประสบกับปัญหา FOBO เช่นกันในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ เขาเรียกมันว่า “Option Paralysis” หรือ “เป็นอัมพาตในการตัดสินใจ” เขาแก้ไขปัญหานี้โดยการลดทางเลือกของตัวเองลงให้เหลือน้อยที่สุดอย่างเช่นเรื่องของชุดที่ใส่ในแต่ละวัน ให้เหลือเสื้อกับกางเกงแบบเดียว เพื่อลดการตัดสินใจในตอนเช้าว่าจะใส่อะไรดี เพราะทุกการตัดสินใจนั้นต้องใช้พลังงานทางสมอง การเลือกชุดที่จะใส่ในแต่ละวันก็ทำให้เสียพลังงานได้ กระบวนการคิดเดียวกันนี้ก็ถูกใช้โดยบุคคลที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆด้วยอย่าง บารัก โอบามา (Barack Obama), สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)

แน่นอนว่ามันอาจจะทำได้สำหรับเสื้อผ้าแต่ถ้าเป็นอย่างอื่นหล่ะ? สิ่งที่เราทำได้คือใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Mostly Fine Decision” หรือการเลือกผลลัพธ์ที่เรารู้สึกว่าดีพอแล้ว แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่เรารู้ว่าเราเสียเวลามากพอแล้ว ทิม เฮอร์เรร่า (Tim Herrera) นักเขียนแห่ง New York Times อธิบายว่า

“MFD คือผลลัพธ์ขั้นต่ำที่สุดที่คุณพอใจที่จะยอมรับมันได้จากการตัดสินใจครั้งนี้ มันคือสิ่งที่เรารู้สึกว่าโอเคกับมัน มากกว่าที่จะเป็นผลลัพธ์ที่ต้องสมบูรณ์แบบ”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ตัดทุกอย่างออกให้หมดแล้วถามตัวเองว่า “อะไรคือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นถ้าตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่างตอนนี้?”

เรามักจินตนาการถึงปลายทางทุกอย่างไว้กับการตัดสินใจอันใดอันหนึ่งเท่านั้น โดยลืมนึกไปว่าระหว่างทางยังต้องมีการตัดสินใจอื่น ๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ถ้า FOBO กำลังเป็นสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ให้ลองคิดว่า “สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร?” ถ้าทางไหนก็ไม่แย่ ก็โยนเหรียญเลยตัดสินใจไปเลย บางทีมันอาจจะดูว่าไร้เหตุผลแต่การตัดสินใจแล้วมองไปข้างหน้าก็นำมาซึ่งอิสรภาพอย่างเหลือเชื่อเช่นกัน แน่นอนมันไม่ได้หมายความว่าให้ลดความคาดหวังหรือเลือกตัวเลือกห่วย ๆ แต่แค่ยอมรับว่า “ความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริงและมันอาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความสุขด้วย”

มีอาจารย์ผมคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยชอบให้การบ้านโหด ๆ กับนักเรียนเสมอ โจทย์มักจะยากและใช้เวลาทำนานเสมอ เขามักมีประโยคปิดท้ายทุกคาบเรียนตอนให้การบ้านว่า

“Done is always better than perfect”
ทำให้เสร็จย่อมดีกว่ารอให้มันสมบูรณ์แบบ

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3 อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส