คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกแปลกใจมากที่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอิสราเอล นายรอยเวนท์ ริฟลิน (Reuben Rivlin) ได้ต่อสายโทรศัพท์คุยตรงผ่านล่ามของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ กับนางสาวเรือนรัตน์ แซ่ลี้ ภรรยาของนายวีรวัฒน์ การุณบริรักษ์ ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และกับนางสาวอรทัย กองมะเริง ภรรยานายสิขรินทร์ สงำรัมย์ ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สามีของเธอทั้งสองเป็นแรงงานไทยที่ถูกลูกหลงเสียชีวิตจากการปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ฉนวนกาซา ในประเทศอิสราเอล เมื่อ 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีริฟลินได้กล่าวแสดงความเสียใจกับการสูญเสียของทั้งสองครอบครัว และยังได้ให้คำมั่นจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการอิสราเอลประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการส่งศพแรงงานไทยทั้งสองรายกลับไทย พร้อมให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยตามสิทธิประโยชน์จากอิสราเอลทั้งหลายทั้งปวงให้เรียบร้อยด้วย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานไทยในอิสราเอลหลายสิบคน ได้ตกเป็นเหยื่อระเบิดและกระสุนที่ยิงกันไปมาระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มหัวรุนแรงปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาส ทุก ๆ ครั้งที่เกิดเรื่อง มักมีคนไทยถูกลูกหลงเสียชีวิต ฝ่ายรัฐบาลอิสราเอลจะไม่รอช้า รีบจัดการทุกเรื่องรวมทั้งส่งศพกลับไทยและจ่ายค่าชดเชยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้นที่สุด

ทำไมอิสราเอลมีความเป็นมิตรต่อไทยอย่างมาก? สาเหตุหลักมีอยู่ 6 ประการ

เหตุผลแรกสุดคือ ประเทศไทยเป็นเพื่อนแท้ของอิสราเอลเป็นระยะเวลานานกว่า 67 ปี หลังจากที่รับรองรัฐชาติของอิสราเอลในปี พ.ศ. 2497 ในแวดวงสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่รับรองอิสราเอล คือ ไทย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, กัมพูชา และเมียนมา

เหตุผลที่สองคือ ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศนี้ ลึกล้ำและลับสุด ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความร่วมมือการก่อการร้าย เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือรัฐบาลอิสราเอล ด้วยการปล่อยตัวนักโทษชาวอิหร่าน 3 คนที่อยู่ในคุกไทยมานานถึง 8 ปี เพื่อแลกเปลี่ยนตัวนักโทษชาวออสเตรเลียชื่อ นางไคลี มัวร์ กิลเบิร์ต (Kylie Moore Gilbert) ซึ่งถูกจองจำอยู่ที่กรุงเตหะรานมานานถึง 2 ปีในข้อหาเป็นสายลับให้กับสหรัฐอเมริกา การแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งนี้มีข่าวออกมาเพียงเล็กน้อย เพราะรายละเอียดถือเป็นความลับชั้นสุดยอด รัฐบาลไทยได้คะแนนนิยมถีงสี่เด้งคือความชื่นชมจากอิหร่าน, อิสราเอล, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เพราะสามีของเธอเป็นชาวอเมริกัน

เหตุผลที่สามคือ รัฐบาลอิสราเอลต้องการแรงงานไทยทำงานด้านเกษตรกรรมในอิสราเอล เพราะคนไทยขยันทำงานและไม่สร้างปัญหา สามารถนำมาทดแทนแรงงานชาวปาเลสไตน์ซึ่งบางครั้งมีการประท้วงไม่ยอมทำงาน แรงงานไทยชอบทำงานที่อิสราเอลเพราะรายได้ดี ตกประมาณเดือนละ 50,000 บาท

เหตุผลที่สี่คือ รัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอลมีข้อตกลงความร่วมมือทางด้านเกษตรกรรมระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะโครงการหลวงในจังหวัดต่าง ๆ อิสราเอลได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรม

เหตุผลที่ห้าคือ สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและไม่เปิดเผยะหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทั้งสองประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความร่วมมืออันยาวนาน ตั้งแต่ปีค.ศ. 1972 ในช่วงที่สถานทูตอิสราเอลถูกบุกและทูตถูกจับเป็นตัวประกัน ฝ่ายไทยได้เข้ามาช่วยเหลือคลี่คลายสถานการณ์โดย พลเอกชาติขาย ชุณหะวัน เสนอตัวเองเป็นตัวประกันเพื่อความปลอดภัยของกลุ่มผู้ก่อการร้ายและตัวประกันอื่น ๆ ขณะนี้ไทยได้รับคำแนะนำทางด้านความมั่นคง รวมทั้งเรื่องความมั่นคงด้านไซเบอร์ 

เหตุผลสุดท้ายคือ คนหนุ่มสาวชาวอิสราเอลคลั่งไคล้งานปารตี้ที่เกาะพงัน ในคึนพระจันทร์เต็มดวง พวกฝรั่งรู้จักกันในนามฟูลมูนปาร์ตี้ นักเที่ยวปาร์ตี้กลุ่มวัยรุ่นเป็นที่รู้กันดีว่า คนหนุ่มสาวอิสราเอลหลังจากถูกปลดทหารประจำการหรือมีช่วงพักร้อนก็จะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยทันที เพื่อปลดปล่อยแรงกดดันและความตึงเครียดทั้งหลายทั้งปวงจากสังคมในอิสราเอล

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส