หลับในระหว่างขับรถเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้ของอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้สถิติจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมจะระบุว่าพบอุบัติเหตุจากการหลับในแค่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เพียงเสี้ยววินาทีที่คนขับหลับในอาจทำให้เกิดการสูญเสียได้ไม่ต่างจากสาเหตุอื่น ทั้งทรัพย์สิน อวัยวะ และชีวิต ทั้งต่อตัวคนขับและคนอื่น ๆ

ปัจจัยที่ทำให้หลับในระหว่างขับรถเกิดได้ทั้งจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ โรคเกี่ยวกับการนอน การใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึม การดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงความเหนื่อยล้าสะสม แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว เวลาในช่วงที่ขับขี่ก็ส่งผลอาจเพิ่มความเสี่ยงของการหลับในได้เช่นเดียวกัน Hack for Health จะพาคุณไปดูช่วงเวลาที่คนมักจะหลับในกัน

ขับรถ เสี่ยงหลับในเวลาไหนมากที่สุด?

คุณเคยมีประสบการณ์ง่วงตอนขับรถ ขณะทำงาน หรือขณะเรียนไหม? หากมีก็คงจะพอรู้ว่าสติ สมาธิ และความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด บ้างก็ลืมตาไม่ขึ้น หรือบางคนก็ถึงขั้นสัปหงก แต่เคยสังเกตไหมว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงไหนของวัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าคนมักจะหลับในได้บ่อยใน 2 ช่วงเวลาด้วยกัน

ช่วงเวลาแรก: เที่ยงคืน ถึง 6 โมงเช้า

การจะรู้สึกง่วงในช่วงเวลานี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการนอนหลับ เดิมทีร่างกายมนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่านาฬิกาชีวภาพ (Circadian rythm) อยู่ พอตกกลางคืนขึ้นร่างกายก็จะเริ่มเข้าสู่โหมดพักผ่อน หลั่งสารที่ชื่อ เมลาโทนิน (Melatonin) ช่วยให้ร่างกายและสมองผ่อนคลายพร้อมนอนหลับเลยทำให้คุณรู้สึกง่วงแบบสุด ๆ จึงไม่แปลกที่อุบัติเหตุจากการหลับในจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเวลานี้

และถ้าหากคุณเป็นคนที่นอนน้อยอยู่แล้ว มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน อย่างนอนกรนหรือนอนละเมอ ยิ่งทำให้ความง่วงสะสมในร่างกายมากยิ่งขึ้น หรือหากก่อนช่วงวันหยุดยาว บางคนก็มักคนงานในช่วงวันศุกร์และขับรถออกต่างจังหวัดในคืนนั้นเลย ความเหนื่อยล้ามาเจอกับความง่วงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุได้มากขึ้นอีก ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่คุณควรระวัง

ช่วงเวลาที่ 2: บ่าย 2 โมงถึง 4 โมงเย็น

แม้จะเป็นช่วงเวลากลางวัน แต่ก็ทำให้รู้สึกง่วงได้เหมือนกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับบางส่วนเชื่อว่าช่วงบ่าย ๆ นาฬิกาชีวภาพก็กระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกง่วงได้เหมือนกับตอนกลางคืน แต่ในระดับที่น้อยกว่า บางคนจึงอาจรู้สึกง่วงในช่วงเวลานี้ด้วย

หรือหลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่าการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเยอะ ๆ ก็อาจทำให้รู้สึกง่วงในช่วงบ่าย ซึ่งเรื่องนี้เป็นความจริง แต่ไม่ใช่แค่คาร์โบไฮเดรต อย่างข้าว ก๋วยเตี๋ยว หรือน้ำหวานเท่านั้น แต่รวมถึงพวกเนื้อสัตว์และอาหารโปรตีนสูงด้วย ซึ่งการกินอาหารเหล่านี้มากเกินไปทำให้ทางเดินอาหารทำงานหนักและหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าออกมาสมทบความง่วงที่มีอยู่แล้ว

และทางกลับกัน การกินอาหารที่น้อยเกินไปก็ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงและรู้สึกง่วงในตอนบ่าย จนเสี่ยงต่อการหลับในมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ช่วงบ่ายจึงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มีปัจจัยที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อการหลับในได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การหลับในระหว่างขับรถอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การสังเกตตัวเองและสัญญาณของการหลับในอยู่เสมอจึงสำคัญมาก

รู้ได้อย่างไรว่าจะหลับใน

นอกจากจะรู้สึกง่วงหรือหาวบ่อยกว่าปกติแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ช่วยให้คุณรู้ตัวว่ากำลังเสี่ยงต่อการหลับในได้มากขึ้น

  • รู้สึกตาล้า ตาพร่า ลืมตาไม่ขึ้น
  • ขับรถเลยทางเลี้ยวหรือทางออก
  • ขับรถออกนอกเลน ขับรถส่าย ขับคร่อมเลน หรือเฉี่ยวขอบถนน
  • ขับรถจี้คันข้างหน้าไม่รู้ตัว คุมความเร็วของรถได้ไม่คงที่
  • จำทางที่ผ่านมาหรือจำเรื่องที่เพิ่งคุยกับคนที่นั่งรถมาด้วยไม่ได้
  • รู้สึกคล้ายจะวูบหลับ สัปหงก

หากคุณเจอสัญญาณแบบนี้ Hack for Health แนะนำให้คุณรีบหาที่จอดรถ แล้วงีบหลับสัก 15-20 นาทีหรือหาห้องพักใกล้ ๆ เพื่อบรรเทาความง่วง ดีกว่าฝืนตัวเองแล้วต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุ

หนทางที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของการหลับในคือการพักผ่อนให้เพียงพอหรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง หากเดินทางไกล ควรหาคนที่สามารถสลับกันขับได้หรือมีคนนั่งไปเป็นเพื่อนก็ดี และควรจอดรถยืดเส้นยืดสายทุก 2 ชั่วโมง หากาแฟดื่มก็ช่วยได้ไม่น้อย ระหว่างขับรถอาจเปิดหน้าต่างรับลมหรือเปิดเพลงสนุก ๆ กระตุ้นให้รู้สึกสดชื่นก็ได้เช่นเดียวกัน

ที่สำคัญไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด นอกจากนี้ คนที่ทำงานเป็นกะ คนที่ใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึมก็ควรเลือกช่วงเวลาการเดินทางให้ดี และเลี่ยงช่วงที่เสี่ยงต่อการหลับในให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ก่อนเดินทางไกล ควรเช็กสภาพรถทุกครั้งด้วยเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและเพื่อนร่วมทาง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส