วัยทำงานคงคุ้นเคยกับอาการปวดหลัง ปวดคอ บ่า ไหล่ และรู้กันดีว่าอาการเหล่านี้คืออาการของ โรคออฟฟิศซินโดรม หลายคนเลือกแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการไปพบหมอนวด หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการเป็นครั้งคราวไป

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ บ่า ไหล่ ก็มาจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และที่สำคัญเก้าอี้ที่ใช้นั่งทำงานเป็นประจำอาจไม่เหมาะกับสรีระของตนเอง ทำให้เกิดการเกร็งตามคอ บ่า ไหล่ จนเกิดเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นการเลือกเก้าอี้ทำงานจึงมีความสำคัญกว่าที่คิด

เลือกเก้าอี้อย่างไรให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม

ปัจจุบันเก้าอี้สำนักงาน หรือเก้าอี้ทำงานมีให้เลือกสรรมากมาย แต่การตามหาเก้าอี้ที่จะพอดีกับสรีระของตนเองอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงควรเลือกเก้าอี้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

1. มีพนักพิงศีรษะ

อาการปวดคอ เกิดจากการนั่งเกร็งช่วงบริเวณลำคอและศีรษะเป็นเวลานาน ดังนั้น เมื่อต้องเลือกซื้อเก้าอี้ทำงานจะต้องเลือกเก้าอี้ที่มีที่พนักพิงศีรษะ ที่สำคัญต้องสามารถปรับขึ้น-ลง ให้เหมาะสมกับช่วงลำคอของคุณได้

2. เลือกเก้าอี้ที่ปรับลดระดับได้

เก้าอี้แต่ละประเภทถูกสร้างมาโดยไม่ได้จำเพาะตัวบุคคล การเลือกซื้อเก้าอี้จึงจำเป็นต้องทดลองนั่งก่อนและให้เลือกเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับขึ้น-ลง ตามความสูงของตัวคุณได้ วิธีสังเกตเบื้องต้น คือ ไม่เลือกซื้อเก้าอี้ที่มีความสูงใหญ่ หรือตัวเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับตัวคุณนั่นเอง เพราะหากนั่งเก้าอี้ที่สูงหรือต่ำเกินไปอาจทำให้นั่งไม่สะดวกสบาย และทำให้ปวดช่วงลำตัว หรือบริเวณช่วงเอวได้

3. มีที่วางแขน

อาการปวดบ่าหลัก ๆ มาจากการนั่งพิมพ์งานเป็นเวลานาน โดยที่แขนจะต้องยกอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดอาการเกร็ง ปวด เมื่อย บริเวณบ่า ไหล่ ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อเก้าอี้แบบที่มีที่วางแขนเพื่อพักแขนระหว่างพิมพ์งาน และช่วยรองรับน้ำหนักจากบริเวณหัวไหล่ได้ ที่สำคัญต้องเลือกเก้าอี้ที่สามารถปรับลดที่วางแขนเพื่อให้เหมาะสมกับลำตัวตนเองได้ด้วย โดยนวัตกรรมสมัยนี้ก็มีทั้งสามารถปรับลดระดับได้ และยังปรับองศาของที่วางแขนได้ด้วย

4. เลือกเก้าอี้ที่มีระบบ Lumba Support 

สำหรับคนที่มีอาการปวดหลัง ต้องอย่าลืมเลือกเก้าอี้ที่มีส่วนช่วยดูแลช่วงหลังด้านล่าง หรือบริเวณช่วงเอวของคุณ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Lumba Support พนักพิงเสริมพิเศษที่ช่วยรองรับและประคองช่วงเอวของคุณ โดยให้เลือกแบบที่สามารถปรับเอนได้ตามสรีระของแต่ละคนได้

5. เลือกเก้าอี้ที่มีล้อเลื่อน

เก้าอี้ที่มีล้อเลือน ไม่เพียงแต่ช่วยเรื่องความสะดวกในการเลื่อนเก้าอี้หยิบของต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายสะดวก ไม่ต้องนั่งนิ่งอยู่กับที่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังลดการเกิดร่องรอยขีดข่วนบริเวณพื้นจากการเลื่อนเก้าอี้อีกด้วย

หากต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก ไม่ใช่แค่ต้องให้ความสำคัญกับเก้าอี้นั่งเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับโต๊ะทำงานด้วย เพราะโต๊ะทำงานจะต้องไม่สูงหรือต่ำกว่าเก้าอี้ที่คุณนั่ง เพื่อไม่ให้เกิดการก้มศีรษะหรือเงยศีรษะระหว่างทำงาน

ปรับพฤติกรรมการนั่งทำงาน

1. นั่งตัวตรง 

เมื่อปรับเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระของตนเองแล้ว ต้องนั่งตัวตรงพิงกับพนักเก้าอี้ในท่าที่สบาย ไม่ห่อไหล่ หรือยื่นหน้าไปข้างหน้า เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายและกล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง และทำให้ปวดที่บริเวณหลัง คอ บ่า ไหล่ ได้

2. ยกหน้าจอโน้ตบุ๊กให้อยู่ในระดับสายตา

หากโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ไม่เพียงแต่ทำให้เกร็งช่วงคอเท่านั้น แต่ยังทำให้อวัยวะช่วงแขน บ่า ไหล่ ของคุณเกิดการยกขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจุบันมีอุปกรณ์เสริมที่ช่วยยกตำแหน่งของหน้าจอโน้ตบุ๊กให้อยู่ระดับสายตาของคุณได้

3. ปรับพนักวางแขนให้ได้ตำแหน่งที่เหมาะสม

วางแขนที่พนักวางแขนให้อยู่ในมุมที่พอดี ไม่ยกไหล่ระหว่างพิมพ์งาน หรือปล่อยไหล่ตก เพื่อให้กล้ามเนื้อไม่เกิดความเมื่อยล้าจนเกินไป

4. ลุกเปลี่ยนอิริยาบถให้ร่างกายผ่อนคลาย

สำหรับชาวออฟฟิศ หรือคนที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แม้ว่าจะเลือกเก้าอี้นั่งแบบสุขภาพ หรือปรับท่านั่งที่เหมาะสมแล้วก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรละเลย คือ การออกไปยืดเส้นยืดสาย บริหารร่างกายเพื่อให้ร่างกายไม่รู้สึกตึงเครียดจนเกินไป การปรับเปลี่ยนอิริยาบถเพียงเล็กน้อยก็จะมีส่วนช่วยให้ร่างกายและกล้ามเนื้อที่เกร็งได้คลายตัวลง และลดความเสี่ยงต่ออาการปวดตามบริเวณต่าง ๆ

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า การแก้ปัญหาอาการปวดหลัง คอ บ่า ไหล่ แม้ทุกวันนี้จะมีวิธีรักษามากมายแต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากไม่รู้จักวิธีแก้ที่ถูกต้อง ทั้งการเลือกเก้าอี้ทำงาน หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดอาจจะต้องใช้ความเคยชินและทำจนเป็นนิสัย และการได้เริ่มปรับเปลี่ยนที่ละนิดก็จะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรคออฟฟิศซินโดรมในระยะยาวได้ ที่สำคัญไม่ต้องเสียเงินไปหาหมอกายภาพบำบัดทุกเดือนอีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส