เป็นที่ฮือฮาและถกเถียงกันอย่างหนัก เมื่อมีการพูดถึงการบัญญัติศัพท์ในพจนานุกรมคำใหม่จากราชบัณฑิตยสภาที่แปลกหูแปลกตาและเกินจะรับไหวกับตัวสะกดที่อีหยังวะ จากพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 เช่น พ้าร์ตทาย์ม, ค็อฟฟี่ฉ็อป, แฟนขลับ, พรีเหมี่ยร์, เพอร์เฝ็กต์, ค็อมเม้นต์ ทำเอาโลกโซเชียลครื้นเครงจนกรามค้างไปตาม ๆ กันว่าสะกดแบบนี้มันใช่เหรอ เรื่องจริงหรือไก่กา แต่มันมีอยู่ในพจนานุกรมคำใหม่เล่มที่ว่าจริง ๆ นะ ซึ่งพจนานุกรมคำใหม่ทั้ง 2 เล่มเล่มที่ถูกกล่าวอ้างถึงได้ถูกตีพิมพ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2550-พ.ศ.2552 ตามลำดับ แถมยังมีเล่ม 3 คลานตามกันมาอีกด้วยแน่ะ

ศัพท์แปลกตาอย่างนี้ ต้องเขียนตามจริง ๆ เหรอ

ผู้เขียนขอรำลึกความหลังครั้งกระโน้นให้พอนึกออกคร่าว ๆ กันตามนี้ว่า ในช่วงหนึ่งราชบัณฑิตได้ออกแนวทางการเขียนคำทับศัพท์โดยให้เน้นการเทียบเสียงและมีวรรณยุกต์กำกับให้ชัดเจนจนเป็นที่ฮือฮาในช่วงสั้น ๆ และไม่ได้ถูกนำมาใช้แต่อย่างใดเพราะมันไม่โอแหละจ้ะ แถมข้อกำหนดการทับศัพท์ก็ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งได้มีการจัดพิมพ์พจนานุกรมคำใหม่เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อรวบรวมคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่มักจะใช้ในการพูดแบบไม่เป็นทางการ เพื่อบันทึกไว้ว่าได้มีการใช้คำศัพท์นั้น ๆ ในความหมายใดบ้าง ซึ่งในบางกรณีการใช้คำศัพท์นั้น ๆ อาจแตกต่างไปจากความหมายเดิม เช่น “คีย์”

หากวันหนึ่งวันใดที่ความหมายเปลี่ยน เนื่องจากภาษาไทยมักจะมีคำใหม่ สำนวนใหม่ วลีใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะจากสื่อโทรทัศน์ สื่อโซเชียลมีเดีย ที่เรามักจะได้ยินคำใหม่ความหมายใหม่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกทั้งคำเก่า สำนวนเก่าก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ ขยายความหมาย เปลี่ยนความหมาย หรือเปลี่ยนบริบทการใช้แตกต่างไปจากเดิม พจนานุกรมคำใหม่จึงเป็นการรวบรวมคำใหม่ที่เกิดขึ้นและคำเก่าที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าไว้ด้วยกัน แล้วนำมาจัดทำคำอธิบายพร้อมยกตัวอย่างการใช้คำ และให้ที่มาของคำเท่าที่จะหาหลักฐานได้ เอาไว้ให้ประชาชนได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง

โดยได้ระบุเอาไว้ในคำชี้แจงข้อ 3 เกี่ยวกับการสะกดคำเอาไว้ว่า การสะกดคำของพจนานุกรมเล่มนี้ ถอดเสียงตามที่คนไทยส่วนใหญ่ออกเสียง หมายความว่าไม่ใช่การสะกดตามหลักการทับศัพท์ของราชบัณฑิต ส่วนคำใดที่เขียนตามหลักการทับศัพท์ยังเก็บไว้คงเดิมและได้เพิ่มการออกเสียงตามคนไทยส่วนใหญ่เอาไว้ด้วย

คำชี้แจงการสะกดคำ พจนานุกรมคำใหม่ เล่มที่ 1

ซึ่งข้อกำหนดของการทับศัพท์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาเดิมและให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย เพราะฉะนั้นการทับศัพท์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อกำหนดนี้ และคำศัพท์ในพจนานุกรมคำใหม่เป็นเพียงการสะกดตามการออกเสียงที่คนไทยส่วนใหญ่ออกเท่านั้น ไม่ใช่การบัญญัติคำให้เราต้องเขียนตาม ไม่ใช่การเขียนที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของการทับศัพท์ เพราะยังไม่เคยมีการประกาศเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดใหม่ ฉะนั้นคำทับศัพท์ยังคงเขียนตามหลักการเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ซึ่งล่าสุดดราม่าครั้งนี้ก็เดือดร้อนไปถึง สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ต้องออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลที่มีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นศัพท์ใหม่ของราชบัณฑิตยสถานนั้นเป็นข้อมูลเก่าที่ปรากฏในพจนานุกรมคำใหม่ เล่มที่ 1 ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2550 และพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2552 ปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวได้มีการแก้ไขแล้ว และปรากฏอยู่ในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 พ.ศ.2557  หมายความว่าได้มีการอัปเดตใหม่มาตั้งแต่ปี 2557 โดยใช้ตัวสะกดตามข้อกำหนดการทับศัพท์ ซึ่งถ้านับมาถึงปัจจุบันก็ผ่านมาเป็นเวลา 8 ปีเข้าไปแล้ว

แต่ถ้าใครอยากจะเขียน พ้าร์ตทาย์ม ก็ไม่มีใครว่าอะไรนะ เก๋ ๆ กู้ด ๆ โดดเด่นอย่าบอกใคร เราเขียนแบบออกเสียงถูกซะอย่าง ใครจะมาว่าอะไรได้ และจากดราม่าอันลือลั่น ทำเอาหลายคนเกิดความสับสนว่าตกลงพจนานุกรมคำใหม่เป็นพจนานุกรมประเภทใดกันแน่ บ้างก็เข้าใจว่าเป็นพจนานุกรมที่เอาไว้บัญญัติคำทับศัพท์ให้เขียนกันแปลก ๆ อีกแล้วสิ จากคำอธิบายที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจเช็กคำทับศัพท์ที่ถูกต้องได้ที่ ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

เพราะฉะนั้น พจนานุกรมคำใหม่จึงไม่ใช่พจนานุกรมที่บัญญัติคำทับศัพท์ แต่เป็นพจนานุกรมที่เก็บรวบรวมศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นและศัพท์เก่าที่ขาดตัวอย่างการใช้ ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายไม่ชัดเจนพอ มีการเพิ่มความหมายใหม่ จากที่มีอยู่แล้วในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และอธิบายชนิดของคำไว้ทุกความหมาย เพื่อประโยชน์ทางนิรุกติศาสตร์ ในการศึกษาภาษาเชิงประวัติ หากวันหนึ่งวันใดที่มีการได้ยินศัพท์ใหม่ ๆ แล้วเกิดความไม่เข้าใจจะสามารถใช้พจนานุกรมคำใหม่ในการศึกษาคำอธิบายของคำนั้น ๆ เพื่อความเข้าใจได้โดยง่าย

นี่คือประโยชน์ของพจนานุกรมคำใหม่ ซึ่งรวบรวมคำที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเอาไว้ หลากหลายเลยทีเดียว เขาไปได้ยินมาจากไหนนะ เพราะบางคำผู้เขียนเองก็ไม่เคยได้ยินเหมือนกันแฮะ ว่ามันมีความหมายแบบนั้น เช่น กั๊ก ซึ่งเป็นคำที่ยืม (แล้วไม่คืน) มาจากภาษาจีนมีความหมายเดิมว่ากักไว้ส่วนหนึ่ง ก็ยังจะมีความหมายใหม่เพิ่มเติมมาอีกได้ว่า แฟนของกิ๊ก ซะงั้นน่ะ “กิ๊กของเธอเขามีกั๊กแอบไว้อีกหรือเปล่า” ว่าซั่น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส