เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคดีฟ้องร้องเรื่องปกอัลบั้มในตำนาน ‘Nevermind’ ของวง Nirvana เพิ่งได้มีการตัดสินเป็นที่สิ้นสุดคดีไป กรณีนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญสำหรับคนดนตรีในการที่ทำปกอัลบั้มขึ้นมาและต้องมีความเกี่ยวข้องกับคนที่มาเป็นแบบให้กับปก เพราะการใช้ภาพถ่ายบุคคลนั้นมีความเกี่ยวพันกับประเด็นต่าง ๆ มากมายในทางกฎหมาย ทำให้ศิลปินทั้งหลายต้องระมัดระวังและติดต่อสื่อสารทำข้อตกลงกันให้แน่ใจว่ากรณีปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในวงการดนตรีก็มีกรณีของการฟ้องร้องแบบนี้ให้ได้ศึกษาและเรียนรู้เป็นตัวอย่างมากมาย ดังที่เราจะได้ยกตัวอย่างมาให้อ่านกัน โดยขอเริ่มจากอัลบั้ม ‘Nevermind’ ของวง Nirvana กันก่อนเลย

Nirvana – ‘Nevermind’ (1991)

หนึ่งในดาราหน้าปกอัลบั้มที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล สเปนเซอร์ เอลเดน (Spencer Elden) ‘ทารกน้อยในตำนาน’ ผู้ปรากฏกายล่อนจ้อนดำน้ำว่ายเข้าหาแบงก์ดอลลาร์ที่เกี่ยวตะขอตกปลาบนหน้าปกอัลบั้มชุด ‘Nevermind’ ได้ยื่นฟ้องวง Nirvana เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมปี 2021 ข้อหาเผยแพร่ภาพเปลือยกายของเด็กน้อยโชว์จุ๊ดจู๋ซึ่งก็หมายถึงภาพของตัวเขาเองนั่นแหละ 

ข้อความจากส่วนหนึ่งในเอกสารที่ยื่นฟ้องระบุว่า “ภาพนี้เผยให้เห็นอวัยวะเพศของเอลเดนที่ส่อถึงกามวิตถาร นับตั้งแต่เขายังเป็นทารกจนโตเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้” อีกทั้งในภาพยังมีตะขอตกปลาเกี่ยวแบงก์พัน ทำให้เด็กทารกคนนี้ถูกมองว่า ‘ขายบริการทางเพศ’ ! ส่วนเอลเดนนั้นก็อ้างว่าเขาต้อง “ทรมานมาตลอดและจะต้องทรมานต่อไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต” รวมทั้งมีสภาวะป่วยทางจิตอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเขา ทำให้เขาต้องเข้ารับการบำบัดจิตใจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออาชีพและการหารายได้ในชีวิตของเขาอีกด้วย เอลเดนเลยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินอย่างน้อยรายละ 150,000 เหรียญ (ประมาณเกือบ 5.5 ล้านบาท) จากทีมงาน 15 คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็รวมถึงสมาชิกของวงที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าง เดฟ โกรล (Dave Grohl) คริสต์ โนโวเซลิซ (Krist Novoselic) , ผู้จัดการดูแลทรัพย์สินของ เคิร์ต โคเบน, คอร์ตนีย์ เลิฟ (Courtney Love) อดีตภรรยาของโคเบน และช่างภาพ เคิร์ก เวดเดิล (Kirk Weddle) รวมแล้วถ้าเอลเดนชนะคดีก็จะได้เงินทั้งหมดประมาณ 82 ล้านบาทนั่นเอง  

สเปนเซอร์ เอลเดน (Spencer Elden) และปกอัลบั้ม Nevermind

แฟน ๆ และผู้ที่ติดตามข่าวนี้ต่างก็ลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งในที่สุดหนึ่งปีผ่านไปเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาคดีความนี้ก็ได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยเอลเดนเป็นฝ่ายแพ้คดี  จากการที่ผู้พิพากษาสหรัฐฯ เฟอร์นันโด โอลกวิน (Fernando Olguin) ได้สั่งยกฟ้องคดีนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าเอลเดนยื่นฟ้องในช่วงเวลาที่เกินอายุความคือ 10 ปีนั่นเอง ซึ่งคำว่า ‘อายุความ’ นั้นหมายถึง ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิ์เรียกร้อง สิทธิ์ฟ้อง หรือสิทธิ์ร้องทุกข์ หากปล่อยเนิ่นนานไปจนล่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิ์เช่นว่าจะเป็นอันยกขึ้นอ้างอีกมิได้ ซึ่งเรียกว่า “การขาดอายุความ” อย่างในกรณีของเอลเดนนั้นเขารับรู้เรื่องการใช้ภาพของเขาไปเป็นหน้าปกอัลบั้ม Nevermind มานานเกิน 10 ปีและมีสิทธิ์ที่จะทำเรื่องฟ้อง แต่กลับปล่อยให้เวลาเนิ่นนานจนขาดอายุความไปแล้ว

ในกรณีนี้สามารถมองได้ว่าทนายฝ่ายโจทก์ของเอลเดนนั้นไม่รอบคอบในการตรวจสอบข้อบกพร่องในการฟ้องร้องของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเอลเดนก็เพิ่งมีการยื่นฟ้องอีกครั้งซึ่งรายละเอียดในการฟ้องก็ไม่ได้มีการปิดจุดบกพร่องนี้แต่อย่างใด ดังคำกล่าวของผู้พิพากษาโอลกวินที่กล่าวว่าเขาให้โอกาสแก่โจทก์มาหลายครั้งแล้ว “เพราะว่าโจทก์นั้นมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในข้อฟ้องร้องของเขาในเรื่องของอายุความ ซึ่งศาลก็มองว่ามันคงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะให้โอกาสที่ 4 แก่โจทก์ในการปรับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมอีกแล้ว”

ส่วนทนายฝ่ายจำเลยของวง Nirvana ก็ยอมรับคำวินิจฉัย และได้กล่าวว่าคดีนี้มัน ‘ไร้ค่า’ มาก เพราะก่อนหน้านี้ทนายฝ่ายจำเลยก็เคยโต้แย้งว่าเอลเดนนั้น “ใช้เวลากว่า 3 ทศวรรษในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชื่อเสียงที่เขาได้รับในฐานะ ‘ทารก Nirvana’”  อีกทั้งเอลเดนยังเคยถ่ายภาพตามแบบปกอัลบั้มอีก 2 ครั้งเมื่อเขามีอายุ 15 และ 25 ปี นอกจากนี้เอลเดนยังสักคำว่า ‘Nevermind’ เอาไว้กลางอกของเขาอีกด้วย

จริง ๆ แล้วเอลเดนเองก็เคยกล่าวถ้อยคำที่มีความย้อนแย้งมาก่อนอย่างในปี 2015 เอลเดนเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “มันเป็นเรื่องที่ประหลาดมากกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของไอคอนทางวัฒนธรรม มันส่งผลดีกับผมมาโดยตลอดและได้เปิดประตูโอกาสให้กับผม ตอนนี้ผมอายุ 23 ปีแล้วและเป็นศิลปิน เรื่องราวนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับ เชพเพิร์ด แฟรีย์ (Shepard Fairey) (ศิลปินสตรีตอาร์ตชื่อดังผู้ใช้งานศิลปะในการขับเคลื่อนสังคม) เป็นเวลากว่า 5 ปีซึ่งมันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก”

Placebo – ‘Placebo’ (1996)

การเป็นคนดังบนปกอัลบั้มก็ใช่ว่าจะดีเสมอไปอย่างในกรณีของ เดวิด ฟ็อกซ์ (David Fox) ที่บอกว่าการเป็นดาราบนปกอัลบั้มของ Placebo นั้นทำให้เขาเหมือนกับตกนรกเลย

ฟ็อกซ์ดาราหน้าปกจากอัลบั้มเปิดตัวของ ‘Placebo’ ในปี 1996 ที่ขึ้นถึงอันดับ 5 ในชาร์ตอัลบั้มของสหราชอาณาจักร  ได้ตัดสินใจรวบรวมเงินทุกบาททุกสตางค์เท่าที่เขาสามารถทำได้เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับวงดนตรีชื่อดังวงนี้โดยอ้างว่าพวกเขามีการใช้ภาพของฟ็อกซ์โดยไม่ได้รับอนุญาตและมันได้ทำลายวัยเด็กของเขา ทำให้เขาต้องพบกับความบอบช้ำที่เกี่ยวข้องกับ Placebo มาตลอดชีวิต มันรู้สึกเจ็บแปลบบิดเบี้ยวแบบที่ปรากฏบนใบหน้าของเขาบนปกเลยเชียวล่ะ

“ภาพนั้นทำลายชีวิตผม” ฟ็อกซ์กล่าว “เมื่ออัลบั้มออกมา เพื่อน ๆ เริ่มจับจ้องมาที่ผม ผมคิดว่าพวกเขาอาจจะอิจฉา  หรือเป็นเพราะพวกเขาเห็นเด็กผู้ชายทำหน้าบึ้ง ๆ บูด ๆ (บนปกอัลบั้ม) ก็เลยไม่อยากไปเที่ยวกับเด็กคนนั้นอีกต่อไปเพราะเด็กคนนั้นคงดูเพี้ยนสุด ๆ ในสายตาของพวกเขา”

เดวิด ฟ็อกซ์ (David Fox)

ฟ็อกซ์เล่าว่าหลังจากที่เขากลายเป็นคนดังบนปกอัลบั้มแล้ว เขาก็โดนล้อเลียนอย่างไม่หยุดหย่อนจากคนรอบข้าง ทั้งโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่โรงเรียนทำให้เขาต้องย้ายโรงเรียนหลายครั้งเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการกลั่นแกล้งเหล่านั้น

และที่เจ็บแสบไปมากกว่านั้นก็คือลูกพี่ลูกน้องของเขาซึ่งเป็นคนถ่ายภาพของเขาไว้นั่นเองที่เป็นคนอนุญาตให้วง Placebo ใช้รูปถ่ายรูปนี้โดยไม่ปรึกษาเขาเลย และดูเหมือนว่าลูกพี่ลูกน้องของฟ็อกซ์คนนี้นี่ล่ะที่เป็นคนเก็บค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดที่เกิดจากการใช้ภาพนี้ ด้วยเหตุนี้ในปี 2012 ฟ็อกซ์ก็เลยฟ้องวง Placebo และลูกพี่ลูกน้องตัวแสบของเขา

“สำหรับผมแล้วมันไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงินเลย” ฟ็อกซ์กล่าว  “มันเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำกับผมและผลกระทบที่ตามมา มันไม่ได้มีผลกระทบกับพวกเขาเลย พวกเขาไม่ต้องอยู่กับผลที่ตามมา มีก็แต่เพียงผมนี่แหละ”

The Rolling Stones – ‘Some Girls’ (1978)

อัลบั้มอันโด่งดังจากปี 1978 ของ The Rolling Stones ‘Some Girls’ นำเสนอภาพของสาว ๆ คนดังบางคนไว้บนปกหน้าซึ่งไม่ค่อยสร้างความแฮปปี้ให้กับพวกเธอนัก ปกอัลบั้มนี้ออกแบบโดย ปีเตอร์ คอร์ริสตัน (Peter Corriston) และวาดโดย ฮูเบิร์ต เครตซ์ชมาร์ (Hubert Kretzschmar) เป็นภาพสีสันสดใสและภาพไดคัทของคนดังสาว ๆ หลายคนซึ่งมีทั้ง ลูซิลล์ บอล (Lucille Ball), ฟาร์ราห์ ฟอว์เซ็ตต์ (Farrah Fawcett), ราเคล เวลช์ (Raquel Welch), มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) และ จูดี้ การ์แลนด์ (Judy Garland) ซึ่งวงและผู้ทำปกไม่ได้ขออนุญาตสาว ๆ เจ้าของใบหน้าสวย ๆ บนปกเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นก็เลยต้องมีคดีฟ้องร้องกันตามมาอย่างแน่นอน โดยมีบอล, ฟอว์เซ็ตต์ และ ไลซา มินเนลลี (Liza Minnelli) (ลูกสาวของจูดี้ การ์แลนด์ที่ดำเนินการฟ้องร้องในนามของเธอ) และผู้ดูแลทรัพย์สินของมอนโร โดยพวกเธอให้เหตุผลว่าวงไม่ได้ขออนุญาตในการใช้ภาพใบหน้าของพวกเธอบนปกอัลบั้ม

ปกอัลบั้มเดิมที่มีปัญหา

สุดท้ายแล้ว The Rolling Stones ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการใส่ใบหน้าของสมาชิกวง (และแถมด้วยจอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) แห่ง The Beatles) มาใส่แทนใบหน้าของสาว ๆ บนหน้าปกแบบเดิม

TAD – ‘8-Way Santa’ (1991)

อัลบั้มจากปี 1991 นอกจาก ‘Nevermind’ ที่มีปัญหาแล้วก็มีอัลบั้ม ‘8-Way Santa’ ของวงกรันจ์ร็อก TAD ที่มีเรื่องมีราวกัน เพราะปกอัลบั้มชุดนี้แรกเริ่มเดิมทีเป็นภาพ (กึ่ง) นู้ดของคู่รักคู่หนึ่ง ซึ่งแทด ดอยล์ (Tad Doyle) ฟรอนต์แมนของวงได้เล่าว่า ได้ภาพต้นแบบปกนี้มาจากเพื่อน ๆ ของสมาชิกวงที่ไปเดินเล่นในร้านขายของมือสอง และสายตาก็โป๊ะเข้ากับภาพโพลารอยด์ชวนหวิวของคู่รักคู่หนึ่งซึ่งต่อมาได้ทราบตัวตนแล้วว่าเป็น แพทริเซีย โรเจอร์ส (Patricia Rogers) และ คิมบอล วีเบอร์ (Kimball Weber)

ดอยล์และผองเพื่อนก็เลยนำภาพนี้มาให้กับ บรู๊ซ พาวิตต์ (Bruce Pavitt) และ โจนาธาน โพนแมน(Jonathan Poneman) แห่งค่าย Sub Pop Records ซึ่งพวกเขาชอบมันมากก็เลยเซเยสบอกวงว่าให้ใช้เป็นปกอัลบั้ม 

ปกอัลบั้มเดิมเป็นภาพโพลารอยด์ของ (อดีต) คู่รัก แพทริเซีย โรเจอร์ส (Patricia Rogers) และ คิมบอล วีเบอร์ (Kimball Weber)

แต่อย่างไรก็ตามโรเจอร์สและวีเบอร์ ก็ไม่ได้เป็นคู่รักหวานแหววเหมือนในรูปถ่ายใบนี้อีกแล้ว วีเบอร์ได้ตัดสินใจเข้ารีตเป็นคริสเตียนอีกครั้งในเวลาที่เธอค้นพบว่ารูปถ่ายดังกล่าวมาปรากฏตัวอยู่ในร้านค้ามือสอง ส่วนโรเจอร์สก็ตัดสินใจยื่นฟ้องค่าย Sub Pop และคดีก็จบลงด้วยการที่ค่ายตกลงที่จะจ่ายเงิน 2,500 ดอลลาร์ให้กับโรเจอร์ส และวงก็ถ่ายรูปตัวเองเพื่อขึ้นปกแทน

Matchbox 20, ‘Yourself or Someone Like You’ (1996)

ชายผู้เป็นเจ้าของใบหน้าเบื่อโลกผู้สวมหมวกสำหรับขับเครื่องบินบนหน้าปกอัลบั้ม ‘Yourself or Someone Like You’ ในปี 1996 ของ Matchbox 20 คือ แฟรงก์ ตอร์เรส (Frank Torres) ชาวเมืองนิวยอร์กที่ฟ้องวง Matchbox 20 ในข้อหา “สร้างความทุกข์ระทมทางอารมณ์” โดยอ้างว่าวงไม่ได้ขออนุญาตจากเขาเพื่อใช้รูปภาพนี้ในอัลบั้ม

ทนายความของตอร์เรสกล่าวว่าเขาเพิ่งค้นพบอัลบั้มนี้เมื่อ 2 ปีก่อนการฟ้องร้อง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงไม่ดำเนินการทางกฎหมายเร็วกว่านี้ (กรณีนี้มีความน่าสนใจเพราะเอลเดนที่ฟ้องร้อง Nirvana ก็แพ้คดีด้วยสาเหตุว่าฟ้องร้องช้าและอายุความเกิน 10 ปีแล้ว ซึ่งเอลเดนไม่สามารถแก้ตัวใด ๆ หรือให้เหตุผลในแบบเดียวกันกับตอร์เรสเลย เพราะว่าเขาได้แสดงตนออกสื่อแล้วว่ารับรู้เรื่องที่ตัวเองเป็นทารกน้อยบนปกมาเป็นเวลานานแล้ว แถมยังถ่ายภาพเลียนแบบปกอีกต่างหาก)

“เราถ่ายรูปไว้หลายรูปเพื่อใช้สำหรับอัลบั้มแรกของพวกเรา” ร็อบ โธมัส (Rob Thomas) ฟรอนต์แมนของวงกล่าว “มันมีเหตุที่ผู้ชายคนนั้นจะต้องมาอยู่บนปกอัลบั้มนี้ ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเขาอยู่ด้านหลังเป็นแบ็กกราวนด์และปรากฏเป็นร่างเบลอ ๆ อยู่ในภาพ แต่ต่อมาช่างภาพก็ถ่ายรูปทดสอบ 2-3 ช็อตแล้วก็ถ่ายผู้ชายคนนั้น”

“พอล ดูเช็ตต์ (Paul Doucette) และผมตกหลุมรักชายคนนี้เข้าอย่างจัง เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ค่ายต้นสังกัดของเราไม่ชอบเอาซะมาก ๆ จนพยายามพูดจาไม่ดีต่าง ๆ นานาเพื่อให้เราไม่ใช้ภาพนี้” โธมัสกล่าว “และสุดท้ายเมื่ออัลบั้มนี้มียอดขายถึง 12 ล้าน ชายบนปกอัลบั้มก็ฟ้องเรา”

โธมัสกล่าวว่าแต่สุดท้ายแล้วตอร์เรสก็ไม่ได้อะไรจากการฟ้องร้องในครั้งนี้

Dead Kennedys – ‘Frankenchrist’ (1985)

มีประเด็นอื้อฉาวนิด ๆ หน่อย ๆ เกี่ยวกับอัลบั้ม ‘Frankenchrist’ ของ Dead Kennedys ในปี 1985 เรื่องแรกก็คือภาพวาดอวัยวะเพศชาย โดย H. R. Giger (ศิลปินและนักออกแบบผู้ให้กำเนิด Alien) ซึ่งมีชื่อว่า ‘Penis Landscape’ ซึ่งปรากฏอยู่บนปกในของอัลบั้มเพราะ เจลโล ไบอาฟรา (Jello Biafra) ชอบมันมาก

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือหน้าปก ซึ่งเป็นภาพของกลุ่ม ‘Shriners’ จากเมืองดีทรอยต์ที่กำลังขับรถยนต์ขนาดเล็กในขบวนพาเหรด  ภาพนี้ถูกถ่ายและเผยแพร่ครั้งแรกโดย Newsweek ในปี 1970 ต่อมาเมื่อกลุ่ม Shriners พบว่าพวกเขาได้กลายไปเป็นนายแบบปกแล้วก็ไม่แฮปปี้ที่จะเห็นตัวเองหราอยู่บนหน้าปกอัลบั้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปกอัลบั้มที่มีความเกี่ยวข้องกับภาพสุดอื้อฉาวอย่าง ‘Penis Landscape’

ภาพปกอัลบั้มแบบเต็ม ๆ

ส่วนสาเหตุที่ภาพนี้มาโผล่เป็นปกอัลบั้มก็เพราะ Newsweek ขายรูปถ่ายนี้ให้กับวง Dead Kennedys และค่ายเพลง ดังนั้นฝ่ายที่ถูกกลุ่ม Shriners ฟ้องก็คือทาง Newsweek โดยฟ้องร้องเป็นเงินกว่า 45 ล้านดอลลาร์

Vampire Weekend – ‘Contra’ (2010)

อัลบั้ม Contra ของ Vampire Weekend ในปี 2010 เป็นอีกหนึ่งเคสที่ถูกฟ้องเพราะไม่ได้ขออนุญาตใช้รูปภาพ  แอน เคิร์สเทน เคนนิส (Ann Kirsten Kennis ) คือสาวสวยที่ปรากฏตัวอยู่บนหน้าปก ซึ่งภาพนี้ได้ถูกถ่ายไว้เป็นเวลานานแล้ว และก็เป็นลูกสาววัยรุ่นของเคนนิสนี่เองที่ต้องตกใจเมื่อเห็นภาพถ่ายเก่าของแม่ตัวเองปรากฏอยู่บนปกอัลบั้ม

ภาพถ่ายโพลารอยด์ของเคนนิสถูกถ่ายเมื่อ 30 ปีก่อนที่อัลบั้ม Contra จะวางจำหน่าย  ซึ่งช่างภาพชื่อ ท็อด โบรดี้ (Tod Brody) ได้อ้างว่าเคนนิสได้ลงนามอนุญาตให้วงใช้ภาพถ่ายนี้ในปี 2009 ซึ่งเธอได้ปฏิเสธและฟ้องร้องวง Vampire Weekend ค่ายเพลง XL ต้นสังกัดของวงและโบรดี้เป็นเงิน 2 ล้านเหรียญ

“อย่าเที่ยวเอารูปภาพของฉันไปใช้ทุกที่” เคนนิสกล่าว  “มันรู้สึกเหมือนใครบางคนกำลังเอาเปรียบฉัน”

Vampire Weekend และ XL กล่าวว่าพวกเขาได้ปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้สิทธิ์ใช้งานรูปภาพอย่างถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุนี้ความผิดจึงไปตกอยู่ที่โบรดี้ซึ่งไม่ทำการตกลงและสื่อสารให้ถูกต้องชัดเจนกับทั้งสองฝ่าย สุดท้ายทางวงและค่ายก็เลยตกลงความกับเคนนิส แล้วมาฟ้องโบรดี้แทน

ที่มา

Loudwire

The Guardian

Beartai 1

Beartai 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส