[รีวิว] ‘I Wanna Dance with Somebody’ หนังชีวิตที่ไม่ฮิตโน้ตของ Whitney Houston

Release Date

26/01/2023

2022 ‧ Biographical Musical Drama ‧ 2h 26m

Starring: Naomi Ackie, Stanley Tucci, Ashton Sanders, Tamara Tunie, Nafessa Williams

[รีวิว] ‘I Wanna Dance with Somebody’ หนังชีวิตที่ไม่ฮิตโน้ตของ Whitney Houston
Our score
6.2

[รีวิว] ‘I Wanna Dance with Somebody’ หนังชีวิตที่ไม่ฮิตโน้ตของ Whitney Houston

จุดเด่น

  1. การแสดงของเนโอมิ แอ็กกี ที่แม้จะลิปซิงก์แต่ทำให้เชื่อว่าเป็นวิทนีย์ ฮูสตัน ได้จริง รวมถึงนักแสดงคนอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ได้ดี

จุดสังเกต

  1. บทหนังที่เล่าไปเรื่อย ๆ ไม่โฟกัสที่ประเด็นใดเป็นพิเศษ การใช้เพลงได้ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ไม่มีจุดพีคแม้กระทั่งตอนจบของหนัง
  • การแสดง

    8.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • บท

    3.0

  • ความบันเทิง

    7.0

  • คุ้มค่าเวลาในการชม

    6.0

หลังการจากไป ชีวิตของ วิทนีย์ ฮูสตัน (Whitney Houston) ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสารคดีสองครั้งคือ ‘Whitney: Can I Be Me’ (2017) และ ‘Whitney’ (2018) รวมทั้งหนังสำหรับฉายทางโทรทัศน์เรื่อง ‘Whitney’ (2015) ที่กำกับโดย แองเจลา บาสเซตต์ (Angela Bassett) และได้ ยายา ดาคอสตา (Yaya DaCosta) มารับบทเป็นวิทนีย์ แต่ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือสารคดี ก็ยังไม่มีเรื่องใดที่เป็นที่โจษจันอย่างกว้างขวาง กระทั่งโซนีพิกเจอร์สประกาศสร้างหนังอัตชีวประวัติของดีว่าผู้ล่วงลับคนนี้อีกครั้งในชื่อ ‘Whitney Houston: I Wanna Dance with Somebody’ โดยใช้ทุนสร้างสูงถึง 45 ล้านเหรียญ พร้อมมีชื่อ ไคลฟ์ เดวิส (Clive Davis) บุคคลสำคัญที่แจ้งเกิดและทำงานใกล้ชิดตลอดชีวิตของวิทนีย์มาเป็นโปรดิวเซอร์ของหนัง บวกกับ แอนโธนี แม็กคาร์เทน (Anthony McCarten) มือเขียนบทจาก ‘Bohemian Rhapsody’ (2018) มาเป็นเครื่องการันตีว่าหนังเพลงเรื่องนี้น่าจะก้องกังวานไม่แพ้น้ำเสียงของเธอ 

สนับสนุนบทความโดย

หนังเปิดเรื่องในปี 1983 ที่นิวเจอร์ซีย์ บ้านเกิดของวิทนีย์ หรือชื่อเล่นที่ทุกคนเรียกว่า ‘แนปปี้’ วัยรุ่นสาวที่รักการร้องเพลง เพราะเกิดมาก็มีแม่เป็นนักร้องอาชีพอย่าง ซิสซี ฮูสตัน และมีญาติเป็น ดิออน วอร์วิก เธอหัดร้องเพลงที่โบสถ์และเป็นคอรัสให้กับแม่ของเธอที่คลับในนิวยอร์กชื่อ Sweetwater’s ในคืนที่ ไคลฟ์ เดวิด โปรดิวเซอร์มือทองของค่ายอริสตาไปนั่งชม วิทนีย์ร้องเพลง ‘The Greatest Love of All’ ของ จอร์จ เบนสัน จนไคลฟ์ต้องตกตะลึง เขานัดเธอเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดทันที เรื่องราวต่อจากนี้คือความสำเร็จของวิทนีย์ตั้งแต่สามอัลบั้มแรก (Whitney Houston, Whitney, I’m Your Baby Tonight) จนถึงซาวน์แทร็กหนัง ‘The Bodygaurd’ ที่ส่งให้ชื่อเสียงและยอดขายผลงานเพลงของเธอโด่งดังที่สุดในช่วงต้นยุค 90’s

หนังเล่าเรื่องการประสบความสำเร็จในงานเพลงคู่ขนานไปกับอุปสรรคในเส้นทาง อย่างเช่นการถูกโจมตีจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งว่า “วิทนีย์ทำเพลงได้ไม่ดำพอ” เธอโดนโห่ที่งาน Soul Train Music Awards ในปี 1988 ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้พบกับ บ็อบบี บราวน์ ศิลปินแอร์แอนด์บีชื่อดังในตอนนั้น และแต่งงานกันในเวลาต่อมา ทั้งสองมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน บ็อบบี คริสตินา บราวน์ (วิทนีย์เคยแท้งลูกหนึ่งครั้งระหว่างถ่ายหนัง ‘The Bodyguard’ ซึ่งก็มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้อยู่ในหนัง) 

ชั่วโมงสุดท้ายของหนังคือด้านมืดในชีวิตของวิทนีย์ ทั้งการทะเลาะเบาะแว้งกับสามี การถูกพ่อของเธอ (ซึ่งเป็นผู้ดูแลธุรกิจ) ยักยอกเงิน การผิดใจกับโรบินเพื่อนสาวอดีตคนรักที่ผันตัวมาเป็นผู้ดูแลศิลปิน การติดยาจนต้องเข้ารับการบำบัด ไปจนถึงชื่อเสียงและผลงานในระยะหลังที่ดิ่งลงเรื่อย ๆ กระทั่งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2012 ศิลปินเจ้าของฉายา ‘The Voice’ เสียชีวิตจากการจมน้ำในอ่างอาบน้ำของโรงแรม อันเป็นผลมาจากการเสพโคเคน ก่อนที่เธอจะขึ้นร้องเพลง “Home” ในงาน pre-Grammy ที่จะจัดในวันรุ่งขึ้น

เนโอมิ แอ็กกี (Naomi Ackie) นักแสดงหญิงชาวอังกฤษรับบท วิทนีย์ ฮูสตัน ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง (แม้หน้าตาเธอจะเหมือนแบรนดี้ก็เถอะ) ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่าการที่แอ็กกีลิปซิงก์เพลงของวิทนีย์ทั้งเรื่อง (ยกเว้นฉากในโบสถ์และฉากซ้อมร้อง) ทำให้พลังของหนังลดลง ไร้มนต์ขลัง เหมือนที่ ทารอน อีเกอร์ตัน ร้องเพลง เอลตัน จอห์นใน ‘Rocketman’ (2019) หรือ เรเน เซลเวเกอร์ ร้องเพลงของจูดี การ์แลนด์ ใน ‘Judy’ (2019) แต่แอ็กกีใช้วิธีเดียวกับที่รามี แมลิก สวมบทเป็น เฟรดดี เมอร์คูรี ใน ‘Bohemian Rhapsody’ (2018) ซึ่งเป็นการลิปซิงก์เช่นเดียวกัน อีกอย่างก็ต้องยอมรับว่าเพลงของวิทนีย์ ฮูสตัน ใช่ว่าใครจะร้องได้ ขณะที่นักแสดงร่วมคนอื่น ๆ ล้วนทำหน้าที่ได้ดีทั้งสิ้น โดยเฉพาะ สแตนลีย์ ทุชชี (Stanley Tucci) ในบทไคลฟ์ เดวิด และ ทามารา ทูนี (Tamara Tunie) ในบทซิสซี แม่ของ วิทนีย์ที่สอนให้ใช้ “Head, Heart และ Guts” โดดเด่นทุกครั้งที่ปรากฏตัว

ผู้กำกับหญิง เคซี เลมมอนส์ (Kasi Lemmons) ที่ถนัดหนังเพลงและคนดำ อย่าง Talk to Me (2007), Black Nativity (2013) และ Herriet (2019) ไม่สามารถทำให้ ‘I Wanna Dance with Somebody’ ออกมาเป็นหนังของสุดยอดศิลปินหญิงที่น่าจดจำได้เลย ปัญหาใหญ่คือบทหนังที่ไม่น่าเชื่อว่ามาจากคนเดียวกับ ‘Bohemian Rhapsody’ เพราะตลอด 146 นาทีของหนัง (ค่อนข้างยาวไปด้วยซ้ำ) เล่าเรื่องแบบไร้พลัง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธอประกายแสงเจิดจรัสในวงการ หรือตอนที่เธอกำลังมีชีวิตที่ดำดิ่งมืดมนก็ตามที นอกจากนั้นยังขาดลึกในหลายมิติ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นข้อมูลที่คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว สิ่งเดียวที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับโรบิน ที่ตัวโรบินเองเพิ่งมาเปิดเผยในหนังสือของเธอเมื่อปี 2019

สาเหตุมาจากการไม่เด็ดขาดในการเลือกว่าจะมุ่งเน้นประเด็นใด อุปสรรคในเส้นทางการเป็นศิลปิน, พ่อจอมละโมบ, ความรักที่ทุกข์ระทมกับ บ๊อบบี บราวน์, ความรักแบบ LGBT กับโรบินที่น้อยคนจะรู้, หรือการเดินเข้าสู่วังวนของยาเสพติดที่ไม่มีวันหวนกลับ แต่หนังเลือก “เล่าทุกอย่าง” ในชีวิตของเธอ จนไม่ชัดเจนสักเรื่อง หลายประเด็นไม่มีการคลี่คลาย และหลายตัวละครซึ่งเป็นคนสำคัญในชีวิตของวิทนีย์ก็ถูกทิ้งขว้างในตอนท้าย (ตัวอย่างที่ดีคือ ‘Judy’ ที่เล่าเรื่องช่วงเวลาสุดท้ายของ จูดี การ์แลนด์ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต และใช้การแฟลชแบ็กมาช่วยเล่าเรื่อง) 

จริงอยู่ที่บทเพลงของวิทนีย์ ฮูสตัน ส่วนใหญ่เป็นเพลงรักที่ไม่ได้ลุ่มลึกถึงขั้นเหมาะกับการนำมาเล่าเรื่อง (หากเปรียบเทียบกับเพลงของ เอลตัน จอห์น หรือควีน) แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เลมมอนส์ไม่เล่าเรื่องไปพร้อมกับบทเพลงทั้งที่มีโอกาสหลายครั้ง อย่างเช่นเพลง “It’s Not Right But It’s Okay” ตอนที่เธอเลิกรากับ บ๊อบบี บราวน์ เพราะจับได้ว่าเขามีหญิงอื่น, เพลง “How Will I Know” ก็เป็นช่วงที่เธอเพิ่งพบกับ เจอร์เมน แจ็กสัน, หรือ “I Didn’t Know My Own Strength” ซึ่งเธอร้องในช่วงเวลาที่เปราะบางบนเวทีของ โอปราห์ วินฟรีย์ (มีการใช้ครั้งเดียวคือเพลง “I Will Always Love You” ที่ใส่มาในฉากที่เธอแต่งงาน) ในทางตรงกันข้าม เลมมอนส์เลือกจะให้คนดูได้ชมการแสดงสด (ลิปซิงก์) ของแอ็กกีทั้งเพลงและหลายเพลง โดยเฉพาะในฉากสุดท้ายที่เลือกเมดเลย์สามเพลง (“I Love You, Porgy”, And I’m Telling You I’m Not Going” และ “I Have Nothing” ) ที่วิทนีย์เคยร้องไว้ในงาน American Music Awards ปี 1994 ซึ่งเป็นสุดยอดไลฟ์ที่ทุกคนต่างชื่นชม กลับดูเหมือนการ ‘ยัดเยียด’ ไม่ได้รู้สึกว่ามัน “สุดยอด!” แบบเดียวกับฉาก เฟรดดี เมอร์คิวรี เล่นเมดเลย์ (“Bohemian Rhapsody”, “Radio GaGa” และ “We Are the Champions”) บนเวที Live Aid อย่างในตอนจบของหนัง ‘Bohemian Rhapsody’ 

จริง ๆ หนังผิดตั้งแต่เลือกชื่อเพลงดัง “I Wanna Dance With Somebody” มาเป็นชื่อเรื่อง ที่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้สื่อถึงอะไรในหนัง อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ผลงานที่น่าผิดหวังหรือไร้ความบันเทิง มันดูเพลินเชียวล่ะ ยิ่งถ้าคุณเป็นแฟนเพลงหรือรู้จักเพลงของวิทนีย์ เว้นเสียแต่มันมาพร้อมกับบทหนังที่เหมือนอ่านประวัติของวิทนีย์ ฮูสตัน บน Wikipedia และอินเสิร์ตด้วยคลิปแสดงสดจาก YouTube 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส