เชื่อเลยว่าคุณผู้อ่านหลายคน คงรู้จักนักเขียนมังงะสยองขวัญอย่างอาจารย์จุนจิ อิโตะ (Junji Ito) กันอยู่แล้ว ท่านเป็นปรมาจารย์ที่มีผลงานเรื่องดังอย่าง โทมิเอะ (Tomie), ก้นหอยมรณะ (Uzumaki) และเหล่าคลังเรื่องสยองที่มักจะเป็นที่จดจำของแฟนการ์ตูนสยองขวัญ

แม้ว่าจะผลงานของอาจารย์จะไม่ได้มีแฟนคลับเป็นวงกว้าง แต่กระนั้น 30 กว่าปีในวงการการ์ตูนของอาจารย์ก็เนรมิตผลงานจนแฟนคลับต่างติดอกติดใจดั่งโดนมนตร์สะกดตรึงไว้ เนื่องในโอกาสที่ Netflix ได้นำคลังอนิเมะคลังสยองของอาจารย์อิโตะอย่าง Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre มาฉาย วันนี้เราจะพาทุกไปรู้จักกับอาจารย์อิโตะให้มากขึ้นกัน

เริ่มอ่านการ์ตูนสยองขวัญตั้งแต่ 5 ขวบ

อาจารย์จุนจิ อิโตะ เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ในตอนนั้นเขาเป็นแค่เด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ชอบวาดการ์ตูน ซึ่งการเปิดโลกการ์ตูนสยองขวัญของเขา ก็มาจากการได้เห็นพี่สาวทั้งสองคนอ่านการ์ตูนสยองขวัญ โดยอาจารย์อิโตะในเวลานั้นจึงขอเข้าไปอ่านด้วย ซึ่งเรื่องที่เขาอ่านก็คือ Mummy Teacher ของอาจารย์อุเมซุ คาซึโอะ (Umezu Kazuo) และ Eko Eko Azarak ของอาจารย์ชินอิจิ โคกะ (Shinichi Koga) นั่นเอง

แทนที่อาจารย์อิโตะจะรู้สึกกลัวเหมือนเด็ก 5 ขวบทั่วไป เขากลับหลงใหลมันเข้าอย่างจัง จนการ์ตูนสยองขวัญได้กลายเป็นอิทธิพลสำคัญให้แก่เขา ขนาดที่อาจารย์อิโตะได้เปรียบเปรยว่า เขาในตอนนั้นเห็นการ์ตูนสยองขวัญเป็นดั่ง ‘พ่อแม่’ เสมือนลูกเป็ดที่คิดว่าสิ่งแรกที่มองเห็นหลังจากลืมตาดูโลกก็คือแม่ของมัน 

เคยเป็นช่างทันตกรรมมาก่อน

อาจารย์อิโตะนับว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนไม่กี่คน ที่ไม่ได้มุ่งสู่เส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนแบบทุ่มสุดตัวแต่แรกเริ่ม ดังเช่นนักเขียนการ์ตูนท่านอื่น ๆ เพราะหลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย อาจารย์อิโตะก็ทำงานเป็นช่างทันตกรรมอยู่เกือบ 6 ปี ซึ่งเขาก็ไม่ทิ้งการวาดการ์ตูนหรอกนะ เพราะระหว่างเรียนเขาก็ทำสิ่งนี้เป็นงานอดิเรก จนในที่สุดมันก็สร้างรายได้ให้กับอาจารย์อิโตะไปด้วย แต่ทว่าหลังจากวาดไปเรื่อย ๆ การทำงาน 2 อย่างพร้อมกันก็ทำให้เขาต้องเสียภาษี 2 เท่า อีกทั้งเขาเริ่มไม่มีความสุขกับการควบงาน เพราะมันทำให้เขาเหนื่อยเกินไป คิดได้ดังนั้นอาจารย์อิโตะจึงลาออกมาเป็นนักวาดการ์ตูนเต็มเวลาในที่สุด 

การเป็นช่างทันตกรรม มีส่วนช่วยอาจารย์อิโตะในการวาดการ์ตูนเป็นอย่างมาก เพราะเขาใช้ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ มาช่วยในการวาดสัดส่วนและอวัยวะในร่างกาย ให้ออกมาได้ถูกต้อง ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอาจารย์ถึงวาดร่างกายมนุษย์ได้เหมือนจนน่าขนลุกนัก นั่นเพราะเขามีคลังความรู้นี้ในหัวอยู่แล้ว

เปิดตัวผลงานในนิตยสารการ์ตูนผู้หญิง

ในประเทศญี่ปุ่น การ์ตูนสำหรับเยาวชนจะแบ่งออก 2 สายเป็นหลัก ได้แก่ โชเน็นมังงะกับโชโจมังงะ โดยโชเน็นมังงะจะมีเป้าหมายไปที่เด็กผู้ชาย และโชโจมังงะมีกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กผู้หญิง  

โดยอาจารย์อิโตะ ได้ส่งการ์ตูนเรื่องหนึ่งเข้าประกวดในงานของ Kazuo Umezu Prize และได้รับรางวัลชมเชยในปี 1987 และอาจารย์อิโตะก็พัฒนาการ์ตูนเรื่องนั้นจนกลายเป็น Tomie ในที่สุด ซึ่งต่อมาก็ได้ตีพิมพ์ลงในโชโจแม็กกาซีน (นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กสาว) ในช่วงฮาโลวีนนั่นเอง นับว่าอาจารย์อิโตะเป็นนักเขียนชายอีกหนึ่งคน ที่ตีพิมพ์ผลงานตัวเองในโชโจแม็กกาซีนได้อย่างดีเลยล่ะครับ หลังจากนั้น Tomie ก็กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานของอาจารย์ที่คนรู้จักมากที่สุด

สร้างการ์ตูนจากความกลัวในวัยเด็ก

เห็นแกเขียนการ์ตูนสยองขวัญอยู่บ่อย ๆ แต่เอาเข้าจริง เขาเองก็เป็นคนขี้กลัวคนหนึ่งเลยนะครับ โดยอาจารย์อิโตะมักจะชอบเก็บงำประสบการณ์รอบตัวไว้ แล้วนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนการ์ตูน มีครั้งหนึ่งที่นักเรียนหญิงที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของเขาเสียชีวิตลง โดยเรื่องนี้มันติดอยู่ในใจของเขามาตลอดจนในที่สุดก็เป็นจุดประกายให้เกิด Tomie, ต่อมาก็เรื่อง The Hanging Balloons ซึ่งลูกโป่งหัวมนุษย์ก็ได้ไอเดียมาจากความฝันในตอนที่เขานอนฝันร้าย 

ครั้งหนึ่งอาจารย์อิโตะได้เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่เขากลัวที่สุดก็คือฉลาม นั่นเพราะหนังเรื่อง Jaws ทำให้เขากลัวสิ่งนี้ไปเลย แต่เขาไม่ปล่อยให้มันเป็นตะกอนใจหรอกนะครับ อาจารย์แกให้จินตนาการเข้าครอบงำ นำความรู้สึกนั้นมาสร้างผลงาน Gyo ปลามรณะ ที่เล่าถึงคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งที่ต้องต่อสู้กับปลาเดินได้ลึกลับ และผลงานจากความกลัวเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการวาด

เป็นเวลาหลายปีที่อาจารย์อิโตะฝึกฝนเทคนิคการวาดภาพอันสวยงามด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ แต่แม้จะดูแลสุขภาพดีแค่ไหน อาจารย์ก็หนีไม่พ้นกับอาการบาดเจ็บสุดคลาสสิกที่นักวาดการ์ตูนต้องเจออย่าง ‘อาการบาดเจ็บที่มือ’ ยิ่งบวกกับสไตล์งานวาดของแล้ว ยิ่งทำให้อาจารย์อิโตะวาดการ์ตูนได้อย่างยากลำบาก แต่ทว่าอาจารย์ก็ไม่ได้หยุดวาดเพื่อรักษามือ เขายอมปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือดิจิทัลในการวาดการ์ตูน เพื่อทำให้ตัวเองยังคงสร้างผลงานได้ เรียกได้ว่ายอมเปลี่ยนเพราะอาการบาดเจ็บเลยล่ะครับ 

อาจารย์อิโตะเป็นทาสแมวตัวยง

เขาเป็นหนึ่งในคนที่พิสูจน์ทฤษฎีที่ว่า ‘ตอนแรกไม่ชอบแต่โดนลูกอ้อนเลยหลงรัก’ นั้นเป็นความจริง

ในตอนแรกอาจารย์อิโตะนั้นไม่ได้ชอบแมวเลย ทุกครั้งที่มองไปที่แมวอาจารย์อิโตะจะรู้สึกขนลุกอยู่ตลอด แต่ทว่าความรู้สึกนั้นเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากเขาแต่งงานกับภรรยาในปี 2006 โดยพวกเขาทั้งคู่รับเลี้ยงลูกแมว 2 ตัว และให้ชื่อพวกมันว่า ยอนกับมู 

หลังจากรับแมวมาแล้วสุขภาพจิตของอาจารย์ดีขึ้นจนเห็นได้ชัด จนกอง บ.ก. เห็นแล้วอดแซวแกไม่ได้ แถม บ.ก. ยังแนะนำให้อาจารย์เขียนการ์ตูนเกี่ยวกับแมวออกมาด้วย และอาจารย์อิโตะก็ไม่รอช้าเขียนการ์ตูนชีวประวัติของตัวเองกับแมวออกมาจนเป็น Cat Diary Junji Ito: Yon & Mu ซึ่งเป็นเรื่องราวไดอารี่สุดน่ารักที่เล่าเรื่องราวของอาจารย์อิโตะ ในฐานะทาสแมวมือใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากทั้งแฟน ๆ และนักวิจารณ์

ร่วมงานกับผู้สร้าง Pokémon 

ในปี 2014 อาจารย์อิโตะร่วมมือกับบริษัท Nintendo ผู้สร้างโปเกมอน สำหรับโปรเจกต์ฮาโลวีนในชื่อ KowaPoke ซึ่งมีความหมายว่าโปเกมอนที่น่ากลัว โดยอาจารย์อิโตะได้นำเสนอภาพ Banette ที่กำลังสะกดรอยตามเด็กสาว และ Gengar ในสไตล์งานการ์ตูนของอาจารย์เอง

เกือบได้สร้าง Silent Hills 

สิ่งน่าเสียดายอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงการเกมคือการที่ Konami ยกเลิก Silent Hills ของฮิเดโอะ โคจิมะ  (Hideo Kojima) หากใครไม่รู้จัก เขาเป็นกำกับเกมคนดังที่สร้าง Metal Gear Solid และ Death Stranding นั่นเอง โดยโปรเจกต์นี้อาจารย์อิโตะจะร่วมมือกับโคจิมะ แถมยังมีผู้กำกับฮอลลีวูดอย่าง กีเยร์โม เดล โตโร ( Guillermo Del Toro) มาร่วมสร้างสรรค์ความหลอนในโลก Silent Hills ด้วยอีก แต่ทว่าโปรเจกต์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมา

นักเขียนมังงะคนแรกที่ได้รับรางวัล Eisner Award 

อาจารย์อิโตะเป็นนักเขียนมังงะคนแรกที่ได้รับรางวัล Best Writer/Artist ของ Eisner Award อันทรงเกียรติ โดย Eisner Awards เป็นที่รู้จักกันในชื่อ รางวัลออสการ์ของวงการการ์ตูน ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1988 เพื่อยกย่องการ์ตูนอเมริกัน หลังจากนั้นขอบเขตของรางวัลก็ค่อย ๆ ขยายไปที่การ์ตูนต่างประเทศด้วย และในที่สุดปี 2019 อาจารย์จุนจิ อิโตะ ก็ได้รับรางวัล Eisner เป็นครั้งแรกจากผลงานเรื่อง Remina และ Venus in the Blind Spot นั่นเอง

ที่มา: polygon, mentalfloss

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส