ในทุกวันนี้เทคโนโลยี A.I. ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำเพลง โดยเปิดโอกาสให้นักดนตรีได้ทำการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ ด้วยความช่วยเหลือของอัลกอริธึม  A.I. สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลเพลงจำนวนมหาศาลเพื่อระบุรูปแบบและสร้างสรรค์งานดนตรีขึ้นมาได้ อีกทั้งสามารถจำลองเสียงของศิลปินจริง ๆ ได้ A.I. สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ลักษณะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของนักร้องดังทั้งระดับเสียง น้ำเสียง และสไตล์ ซึ่งช่วยให้ A.I.  สร้างเสียงใหม่ที่เลียนแบบเสียงของนักร้องได้อย่างแม่นยำที่แทบแยกไม่ออกจากเสียงของศิลปินต้นฉบับ

แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีศักยภาพในการปฏิวัติวงการเพลง แต่ก็ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องและความเป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ หนึ่งในประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้คือ A.I. เทคโนโลยีก่อให้เกิดความท้าทายต่อกฎหมายลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรมเพลง การที่ A.I. ใช้อัลกอริทึมในการสร้าง เรียบเรียงดนตรีและรีมิกซ์บทเพลงใหม่ นั้นเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนี้ได้ระหว่างผู้ใช้ A.I. ศิลปินผู้สร้างเจ้าของข้อมูลที่ A.I. ใช้ในการเรียนรู้ ค่ายเพลง หรือผู้พัฒนาระบบ A.I. นอกจากนี้ในบางกรณี A.I. อัลกอริทึมอาจใช้ตัวอย่างหรือทำนองที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์ดั้งเดิม ซึ่งนำไปสู่ข้อพิพาททางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น การที่ A.I. เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นก่อให้เกิดข้อกังวลว่าอาจมีการใช้ A.I. สร้างสรรค์บทเพลงแบบ “deepfake” ที่ฟังดูเหมือนผลงานที่สร้างโดยศิลปินดังคนใดคนหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับการระบุแหล่งที่มาของศิลปินและการเป็นเจ้าของบทเพลง

จับ Drake มาฟีเจอริงกับ The Weeknd ด้วย A.I.

ดังในกรณีล่าสุดที่มีการปล่อยบทเพลง “Heart on My Sleeve” โดยโปรดิวเซอร์ลึกลับนาม ‘Ghostwriter’ ซึ่งซ่อนใบหน้าเอาไว้ภายใต้ผ้าปูที่นอนสีขาว บทเพลงนี้เป็นเพลงในแบบของ Drake มีเสียงร้องของ Drake และฟีเจอริงโดย The Weeknd บทเพลงนี้ถูกปล่อยบน Youtube, TikTok และ Spotify และมียอดฟังหลายล้านครั้ง สร้างความสับสนให้กับแฟนเพลงซึ่งหลายคนคิดว่านี่คือผลงานจริง ๆ ของ Drake และ The Weeknd ทำให้เพลงนี้ได้จุดประกายการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของ A.I. ในอุตสาหกรรมดนตรีและศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานรวมไปถึงประเด็นปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์

https://www.youtube.com/watch?v=7HZ2ie2ErFI

ทาง UMG (Universal Music Group) ต้นสังกัดของศิลปินได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้และเรียกร้องให้ Ghostwriter นำเอาบทเพลงออก โดยถ้อยแถลงของ UMG เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องศิลปินและงานสร้างสรรค์ของพวกเขาท่ามกลางเพลงที่สร้างโดย A.I. ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น UMG รับทราบถึงศักยภาพของ  A.I.  ในอุตสาหกรรมดนตรีและได้ทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมของตนเองในด้านนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการใช้เพลงของศิลปินโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อฝึกฝนการสร้างสรรค์ โดย A.I. และการมีอยู่ของเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ที่สร้างขึ้นโดย A.I. ทำให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และผลประโยชน์ชดเชยที่ศิลปินควรจะได้รับ

นอกจากนี้ UMG ยังเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านการฟังเพลง ในการป้องกันการใช้บริการในทางที่เป็นอันตรายต่อศิลปิน ซึ่ง UMG ได้รับการสนับสนุนจากการมีส่วนร่วมของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในประเด็นเหล่านี้ โดยตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เนื่องจากการใช้ A.I. ในอุตสาหกรรมเพลงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ชัดเจนว่าการปกป้องสิทธิ์ของศิลปินและรับประกันการชดเชยที่ยุติธรรมจะมีความสำคัญต่อการรักษาอุตสาหกรรมเพลงที่กำลังเฟื่องฟู รวมไปถึงการจัดการกับปัญหาด้านจริยธรรมและกฎหมายในประเด็นที่ซับซ้อนเหล่านี้

มาแบ่งกัน 50 – 50

ศิลปินหลายคนต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้ A.I.  ในดนตรี Grimes เป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นเชิงบวกในเรื่องนี้ โดยเธอได้ยื่นข้อเสนอที่จะแบ่งค่าลิขสิทธิ์ 50% สำหรับเพลงที่สร้างโดย A.I. ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เสียงของเธอ ในขณะที่ค่ายเพลงรายใหญ่พยายามป้องกันเพลงจาก A.I. ที่ใช้เสียงของศิลปินชื่อดัง Grimes กลับเปิดรับเทคโนโลยีและค้นหาวิธีใหม่ในการทำงานร่วมกัน

Grimes

“มันเป็นข้อตกลงแบบเดียวกับที่ฉันทำกับศิลปินที่ฉันร่วมงานด้วย อย่าลังเลที่จะใช้เสียงของฉันโดยไม่มีการปรับโทษใด ๆ ทั้งนั้น” เธอทวีต “มันเจ๋งมากที่จะหลอมรวมเราเข้ากับเครื่องจักร และฉันชอบแนวคิดของโอเพนซอร์สในงานศิลปะทั้งหมดและการขจัดทิ้งเรื่องลิขสิทธิ์ไปซะ”

“มันโคตรบ้าเลยว่ะ”

เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher) แห่งวง Oasis ก็เป็นอีกคนที่มีความเห็นในเชิงบวกเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากได้ฟังผลงานอัลบั้มเพลงที่สร้างสรรค์โดย A.I. โดยใช้สไตล์ของวง Oasis จนกลายเป็นไวรัล อัลบั้มนี้มีชื่อว่า ‘ AISIS : The Lost Tapes Volume I’ คอนเซ็ปต์อัลบั้มความยาว 33 นาทีที่จินตนาการถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากสมาชิกวง Oasis ยุคคลาสสิกในปี 1995-1997 ยังคงเขียนเพลงต่อไป อัลบั้มนี้สร้างสรรค์โดยวงอินดี้ Breezer ซึ่งใช้ A.I. เพื่อเลียนแบบเสียงร้องของเลียม

“เราแค่เบื่อที่จะรอให้ Oasis มารวมวงกันใหม่” บ็อบบี้ เกราตี (Bobby Geraghty) นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์วัย 32 ปีกล่าว “สิ่งที่เรามีตอนนี้คือเลียมและพี่ชายของเขาพยายามที่จะเอาชนะกันและกัน แต่นั่นมันไม่ใช่ Oasis ดังนั้นเราจึงได้เลียมที่จำลองด้วย A.I. มาร่วมทำเพลงที่เดิมเขียนขึ้นสำหรับวงดนตรีที่มีอายุสั้นแต่เป็นที่รักอย่าง Breezer”

แม้ว่าเลียมของพวกเขาจะเป็นของปลอม แต่เพลงนั้นเป็นของแท้ เพราะทั้งดนตรีและเนื้อเพลงเป็นของ Breezer ทั้งหมด และเกราตีก็ ‘ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้’ ที่วันหนึ่ง A.I. จะสามารถเขียนเพลงแบบ Oasis ได้ด้วยตัวเองหากปราศจากการช่วยเหลือของผู้ใช้งาน “A.I. ยังคงถูกควบคุมโดยผู้ใช้เป็นอย่างมาก คุณต้องให้ข้อมูลกับมันให้ตรงตามที่ต้องการเพื่อเกิดการทำซ้ำที่แม่นยำ ผมไม่คิดว่ามันถึงจุดที่ A.I. สามารถเขียนเพลงเองได้ แม้จะมีคนจำนวนมากถามว่าเพลงนั้นสร้างโดย A.I. หรือไม่ ซึ่งมันไม่ใช่”

“ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่าคือแนวคิดที่ว่ามนุษย์สามารถร่วมมือกับ A.I. เพื่อชุบชีวิตศิลปินที่ตายไปแล้ว (หรือศิลปินที่ยุบวงไปแล้ว) ได้” คริส วูดเกตส์ (Chris Woodgates) มือกีตาร์ของวงกล่าวเสริม

ส่วนศิลปินผู้เป็นเจ้าของเสียงร้องตัวจริง เลียม กัลลาเกอร์ นั้นก็แสดงความคิดเห็นสนับสนุนอัลบั้ม Oasis ที่สร้างโดย A.I. นี้ โดยบอกว่า “มันโคตรบ้าเลยว่ะ” และยกย่องคุณภาพของเพลง พร้อมทั้งทวีตว่าเขาไม่เคยได้ยินทั้งอัลบั้ม แต่เคยฟังบางเพลงและคิดว่าเพลงเหล่านี้ดีกว่า “พวกเพลงเห่ย ๆ ที่ปล่อยออกมาเต็มไปหมด”  นอกจากนี้เขายังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความแม่นยำของเสียงร้องที่สร้างโดย A.I. โดยกล่าวว่า “เสียงของผมมันเจ๋งมากเลยว่ะ” การสนับสนุนจากนักดนตรีชื่อดังอย่างเลียมนั้นแสดงให้เห็นว่าเพลงที่สร้างโดย A.I.  กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นในหมู่ศิลปินและผู้ฟัง

เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher)

บทเพลงนั้นเกิดจากความทุกข์แต่ A.I. ไม่รู้จักความทุกข์หรอก

ส่วนศิลปินที่มีความเห็นในด้านที่ไม่ปลื้มต่อ A.I. ก็มีด้วยเช่นกัน อย่างก่อนหน้านี้ที่ นิค เคฟ (Nick Cave) นักร้องนำวง Bad Seeds ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบ A.I. ที่พยายามเขียนเพลง ‘ในสไตล์ของ Nick Cave’ หลังจากที่แฟนเพลงส่งเนื้อเพลงที่เขียนโดย ChatGPT ให้เขา เคฟเรียกผลลัพธ์ของมันว่า ‘การล้อเลียนแบบวิตถาร’ แม้ในเนื้อเพลงจะมีเนื้อหาที่สะท้อนแง่มุมของความเชื่อความศรัทธากับประเด็นทางศาสนาและการสร้างอารมณ์ที่มืดหม่นตามสไตล์ของเคฟ แต่เคฟก็แย้งว่าผลลัพธ์ของ ChatGPT เป็นการพยายามลอกเลียนแบบที่ไม่สามารถสร้างและสะท้อนภาวะของการต่อสู้ที่ซับซ้อนภายในจิตใจของมนุษย์ “บทเพลงนั้นก่อเกิดจากความทุกข์” เคฟกล่าว “ข้อมูลนั้นมันไม่รู้จักความทุกข์หรอก”

นิค เคฟ (Nick Cave)

ในฐานะนักแต่งเพลง เคฟแนะนำว่าการผลิตความคิดใหม่ ๆ ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ เขาให้เหตุผลว่า A.I. ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ล้ำลึกได้ เพราะมันไม่มีสิ่งใด ๆ อยู่ภายใน ไม่มีที่ไหนเลย ไม่มีสิ่งใดคงทน และไม่มีความกล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของมัน พร้อมทั้งย้ำอีกครั้งว่าเนื้อเพลงที่เขียนขึ้นโดย A.I. นั้นเป็นอะไรที่ “ห่วยมาก”

จงเตรียมรัดเข็มขัดเอาไว้

ล่าสุด ฟาร์เรล วิลเลียมส์ (Pharrell Williams) นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชื่อดังได้แบ่งปันความคิดของเขาเกี่ยวกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้สำเนาเสียงของศิลปินดังที่สร้างโดย A.I. ในการให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone วิลเลียมส์ได้กล่าวถึงบทบาทของอัลกอริทึม A.I. ในชีวิตประจำวันของผู้คน อย่างในสมาร์ตโฟนหรือบริการสตรีมเพลงที่แนะนำและทำงานผ่านการอิงจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้ วิลเลียมส์เชื่อว่า A.I. เป็นเพียงอีกแง่มุมหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์ และการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของศิลปินอาจเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์

ฟาร์เรล วิลเลียมส์ (Pharrell Williams)

“การไม่แสดงความเคารพอย่างนั้นหรอ ? ผมไม่รู้เกี่ยวกับการไม่เคารพหรอก แต่ผมรู้ว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์” วิลเลียมส์กล่าว “และคุณทำอะไรกับมันไม่ได้หรอก ดังนั้น จงเตรียมรัดเข็มขัดเอาไว้”

วิลเลียมส์ชี้ให้เห็นว่า A.I. เป็นก้าวที่เหนือกว่าเสิร์ชเอ็นจิน เพราะไม่เพียงแต่ให้คำตอบเท่านั้น แต่ยังให้รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพและเสียงของสิ่งที่ถูกถามถึงอีกด้วย โดยเขาเรียกสถานะปัจจุบันของ A.I.  ในทุกวันนี้ว่า “The Wild West”  โดยเปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับแดนเถื่อนในดินแดนตะวันตกของอเมริกา โดยบอกว่าเราอยู่ในดินแดนที่ไม่มีการเขียนแผนที่และไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ  และอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ วิลเลียมส์ยอมรับว่าเขาไม่มีคำตอบใดเกี่ยวกับวิธีจำกัดหรือต่อสู้กับการแพร่กระจายของเทคโนโลยีนี้ แต่ยืนยันว่าการพัฒนาของ A.I.   เป็นผลผลิตจากธรรมชาติของมนุษย์ การใช้ A.I.  ในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นเป็นขั้นตอนที่สมเหตุสมผล เนื่องจากเราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น การใช้งาน A.I.  ในอนาคตจะกว้างขวางมากยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งที่เราทำได้คือให้ “รัดเข็มขัด” และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี A.I. ต่อไปในอนาคต

แม้ว่าระบบปัญญาประดิษฐ์จะมีความเกี่ยวข้องมากขึ้นในอุตสาหกรรมดนตรี แต่ก็ยังคงมีการแบ่งแยกความคิดเห็น บางคนโต้แย้งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อกระบวนการสร้างสรรค์และการแสดงออกทางศิลปะ ในขณะที่บางคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์และนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ๆ ในขณะที่เทคโนโลยี A.I. ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มันจะนำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นที่ชัดเจนว่าระบบ A.I. มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมดนตรี และศิลปินและผู้ฟังก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อย่างที่ฟาร์เรล วิลเลียมส์แนะนำ วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ “รัดเข็มขัด” และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง แม้ว่าอนาคตของ A.I. ในดนตรีอาจไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือมันจะยังคงมีบทบาทต่อรูปแบบที่เราสร้างสรรค์ ฟัง และสัมผัสกับดนตรีต่อไป

ที่มา

The Guardian 1

The Guardian 2

Rolling Stone 1

Rolling Stone 2

American Songwriter

BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส