ท่ามกลางการต่อสู้อันเข้มข้นของเหล่าผู้ให้บริการสตรีมมิงทั่วโลก ออริจินัล คอนเทนต์ (Original Content) หรือคอนเทนต์ต้นฉบับที่ถูกผลิตขึ้นในนามของสตรีมมิง กลายเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จให้แก่แพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ให้บริการเจ้าใหญ่อย่าง Prime Video ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ลงทุนปีละมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ สำหรับการสร้างออริจินัล คอนเทนต์ทั้งในรูปแบบซีรีส์และหนัง ผลงานอย่าง ‘The Lord of the Rings: The Rings of Power’, ‘The Boys’ หรือ ‘Citadel’ ต่างเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า Prime Video นั้นเอาจริงแค่ไหน ในเรื่องการพัฒนาคอนเทนต์ลักษณะนี้

ทีมงาน beartai BUZZ ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนั่งพูดคุยกับ เจมส์ แฟร์เรล (James Farrell) ผู้บริหารระดับสูงของ Prime Video ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งในฐานะหัวหน้าแผนกเนื้อหาออริจินัลท้องถิ่นของ Amazon Studios ซึ่งในฐานะหัวหน้าแผนกนี้ แฟร์เรลมีหน้าที่ดูแลภาพรวมการผลิตเนื้อหาประเภทออริจินัลท้องถิ่นของ Prime Video นอกสหรัฐฯ ทั้งหมด เขาต้องบริหารทีมมากกว่า 20 ทีมทั่วโลก ทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา เอเชีย แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย และ แอฟริกา ซึ่งบทสนทนาครั้งนี้ แฟร์เรลได้ออกมาเปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนาออริจินัล คอนเทนต์ที่เขาและทีมตั้งใจปั้นลงบน Prime Video ในช่วงเวลาต่อจากนี้

Amazon Prime VIdeo

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Prime Video แตกต่างจากสตรีมมิงเจ้าอื่น

แฟร์เรล: อย่างที่ทุกคนเห็นกัน ตอนนี้มีผู้ให้บริหารสตรีมมิงหลายเจ้าและมีคอนเทนต์จำนวนมากให้คนดูได้เลือกรับชม ทีวีซีรีส์ ภาพยนตร์ สารคดี แอนิเมชัน เรามีการพูดกันในทีมว่า ทำอย่างไรเราถึงจะโดดเด่นขึ้นมา นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างซีรีส์อย่างเช่น ‘The Boys’ ในขณะเดียวกันประเภทของคอนเทนต์ท้องถิ่นที่เราทำ อย่างรายการ ‘โหด มัน ฮา’ (Takeshi’s Castle) ก็เป็นคอนเทนต์ที่เราเชื่อว่าจะโดดเด่น อาจจะเพราะว่านี่คือรายการที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว หรืออาจจะเพราะมันเป็นรายการที่โด่งดัง ได้รับความนิยมมาก ๆ และที่สำคัญเป็นรายการที่ไม่เหมือนใคร ตลก ดูสนุก นี่คือคำถามที่น่าสนใจนะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากทีเดียวที่จะสร้างคอนเทนต์ให้โดดเด่นและแตกต่าง แต่เราพยายามจะสร้างเนื้อหาที่ใช่ที่สุด โดยเริ่มมาจากแต่ละประเทศ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา Prime Video ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ในการสร้าง ออริจินัล คอนเทนต์ ของตัวเอง คุณคิดว่าคอนเทนต์แบบนี้สำคัญกับบริษัทอย่างไร

แฟร์เรล: ผมคิดว่าถ้าคุณไม่มีเนื้อหาของตัวเอง หรือออริจินัล คอนเทนต์ คอนเทนต์เดียวที่คุณจะมีบนสตรีมมิงก็คือสิ่งที่คุณซื้อเข้ามาจากคนอื่น คุณจะไม่มีคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์บนสตรีมมิงของคุณ อย่างในประเทศไทย คอนเทนต์ส่วนใหญบนแพลตฟอร์มมาจากค่ายหนังท้องถิ่นจากฝั่งฮอลลีวูด อินเดีย หรือเกาหลี เป็นต้น แต่ถ้าคุณต้องการจะเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงที่ดีสำหรับคนไทย เราจำเป็นต้องมีการทำออริจินัล คอนเทนต์ที่ทำงานร่วมกับค่ายท้องถิ่น คุณต้องค้นหาทาเลนต์ที่ใช่ในประเทศนั้น ๆ ต้องมีการนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเนื้อหาที่น่าจะโดนใจผู้คน นี่คือสิ่งที่คุณต้องทำ ถ้าอยากจะเป็นบริษัทที่ดี มันไม่มีทางเลือกอื่นเลย นอกจากการทำคอนเทนต์พิเศษ ๆ ของตัวเองขึ้นมา

ในตลาดเอเชีย คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ท้าทายสำหรับ Prime Video

แฟร์เรล: ผมคิดว่าทั้งในเอเชียและทั่วโลกมีสิ่งที่ท้าทายเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “ลูกค้าหรือคนดูต้องการจะรับชมคอนเทนต์แบบไหนกันแน่?” เมื่อ 2 ปีหรือ 5 ถึง 10 ปีก่อน ตอนที่สตรีมมิงเพิ่งจะเริ่มต้น คนดูอาจจะสงสัยว่าสตรีมมิงสามารถทำอะไรได้บ้าง หรืออะไรคือสิ่งที่ต่างกับทีวีบรอดแคสต์?  ซึ่งต่อมาคนดูได้รับรู้ว่า บนสตรีมมิงมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย มีเนื้อหารุนแรงกว่าบนทีวี มีหลายภาษา หลายประเทศ มีซีรีส์สไตล์ดาร์กดราม่า มีรายการตลกแปลก ๆ นั่นคือสิ่งที่คนดูรับรู้เกี่ยวกับสตรีมมิงตอนนี้

ซึ่งสิ่งที่ท้าทายจริง ๆ ตอนนี้ก็คือ “ในปีนี้ ปีหน้า หรือปีถัด ๆ ไป ผู้คนต้องการจะรับชมคอนเทนต์แบบไหนกันแน่?” ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าตอนนี้โลกมีแต่ความตึงเครียด ผู้คนเหนื่อยล้า มีเรื่องให้ต้องกังวลมาก มีปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งผมคุยกับทีมงานทั่วโลกว่า เราต้องเน้นไปที่การสร้างคอนเทนต์ที่สนุก และเอนเตอร์เทนผู้คนได้ หนังรอมคอม รายการวาไรตี้ หนังแอ็กชัน อย่างตอนนี้เราก็ทำ ‘Comedy Island’, ‘โหด มัน ฮา’, ‘LOL’ หรือฝั่งคอนเทนต์แอ็กชันเราก็มี ‘Jack Ryan’ นี่คือสิ่งที่ผมประมาณการและคาดหวังไว้ว่าคนดูต้องการจะเสพคอนเทนต์ในลักษณะนี้ อาจจะมีคนที่คิดว่า “คืนนี้ฉันดู Prime Video หรือ สตรีมมิงไหนดีนะ? อ่อ ฉันว่าฉันดู Prime Video ดีกว่า เพราะพวกเขามีคอนเทนต์ที่สนุกและเอนเตอร์เทนดี” นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่าคนดูจะได้รับ

คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมใน 6-12 เดือนถัดจากนี้

แฟร์เรล: ผมคิดว่าในเอเชียหลายบริษัทจะจับมือร่วมกันทำงานมากขึ้น อย่างของ Prime Video เราเริ่มทำงานกับสตูดิโอในประเทศท้องถิ่นมากขึ้นกว่าเดิม อย่างในญี่ปุ่นเราทำงานกับบริษัทใหญ่อย่าง Toho ซึ่งเรากำลังร่วมพัฒนาหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง ‘The Silent Service’ ที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ก่อน และจากนั้นก็จะนำมาฉายบน Prime Video คุณจะเห็นได้ว่าตอนนี้หลายบริษัทหันมาจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กันมากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ หรือคอยเติมเต็มสกิลที่ต่างฝ่ายต่างไม่มี และร่วมกันผลักดันด้านธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น

เนื้อหาที่ Prime Video สนใจจะลงทุนที่สุด

แฟร์เรล: ผมว่าเนื้อหาประเภทหนังเป็นสิ่งที่น่าสนใจจะลงทุนมากที่สุดตอนนี้ Prime Video เป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความสนใจของผู้ชม เราต้องการจะสร้างหนังให้ออกมาดีที่สุดเสมอ ซึ่งผมคิดว่าหนังคือสิ่งที่เราสนใจจะลงทุนเพิ่มมากกว่านี้

Prime Video มีแผนจะลงทุนสร้างออริจินัล คอนเทนต์ในไทยเพิ่มขึ้นไหม

แฟร์เรล: แน่นอน เรามีการพูดคุยและเริ่มลงทุนในการสร้างออริจินัล คอนเทนต์ของไทยแล้ว ซึ่งตอนนี้เรายังไม่สามารถประกาศออกไปได้มากนัก แต่ผมคิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อให้ทีมสร้างได้ใช้เวลาสร้างสรรค์มันขึ้นมาให้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงพัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ ผมว่าอาจจะใช้เวลามากกว่า 2 ปี และเมื่อถึงเวลาทุกคนก็จะได้รับชมตัวอย่างจากผลงานเหล่านั้น

ในฐานะผู้บริหารฝั่งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ หนังหรือซีรีส์เรื่องใดบน Prime Video ที่คุณชอบที่สุด

แฟร์เรล: ผมมักจะมีปัญหาตลอดเมื่อเจอคำถามลักษณะนี้ เพราะทีมงานผมหลายคนชอบอ่านบทความสัมภาษณ์ของผม แล้วทุกคนพออ่านเสร็จก็จะรู้สึกหงุดหงิดในทำนองที่ว่า “ทำไม ทำไมไม่พูดถึงซีรีส์ที่ฉันทำ” เพราะฉะนั้นมันจึงยากที่จะหาคำตอบดี ๆ ที่ไม่ทำให้คนในทีมของผมรู้สึกหงุดหงิดได้ ผมให้เครดิตกับทีมอเมริกาใต้มาก ๆ พวกเขาได้พัฒนาหลาย ๆ สิ่ง ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างเรื่อง ‘Argentina, 1985’ ก็เป็นหนังที่ได้รางวัลลูกโลกทองคำ ตัวหนังมีแง่มุมที่แข็งแรง ให้ความบันเทิงมาก ๆ ดังนั้นมันจึงมีตัวเลขที่ดีในยอดการรับชม

Argentina, 1985

แล้วก็มีหนังแอ็กชันไตรภาคที่เราสร้างในชิลีชื่อ ‘Sayen’ ผมชอบความทะเยอทะยานของโปรเจกต์นี้ เราถ่ายทำแบบไตรภาคโดยไล่เรื่องราวจากหลังไปหน้า หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเด็กสาวพื้นเมืองคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภูเขา แล้วจู่ ๆ ก็มีบางคนเข้ามาฆ่าคนในครอบครัวของเธอ ผมชอบที่ทีมสามารถค้นพบคอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยมแบบนี้ และลงมือทำมันจนออกมาเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งผมต้องให้เครดิตกับทีมที่ปั้นผลงานเหล่านี้ออกมา

ทุกวันนี้ คนดูมากมายมักหมดเวลาไปกับการเลือกหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง ปัญหาแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับคุณไหม หรือคุณมีคำแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการหาคอนเทนต์ดูสักเรื่อง

แฟร์เรล: ผมโชคดีที่ได้ทำงาน Prime Video ไม่ใช่ผู้ให้บริการเจ้าอื่น หรือสถานีโทรทัศน์ ที่ทำให้คุณต้องเจอกับรายการประจำช่วงเช้าหรือบ่ายตลอดสัปดาห์ คุณต้องผลิตคอนเทนต์มหาศาลมาก ๆ เพื่อให้ผู้คนเข้ามา engage กับสิ่งที่คุณทำ ซึ่ง Prime Video เราไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตในปริมาณมากขนาดนั้น หากคุณเข้ามาใช้บริการ Prime Video เดือนนี้ คุณจะได้เห็นคอนเทนต์ใหญ่ของเราในเดือนนั้น หรือถ้าคุณลองเข้ามาอีกในเดือนหน้า คุณก็จะเห็นคอนเทนต์ใหม่ ๆ เจ๋ง ๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คุณอยากจะดู ไม่ใช่คอนเทนต์สิบกว่าอันที่ดาหน้าเข้ามาให้คุณสับสน นี่คือชื่อเสียงที่เราอยากจะสร้างขึ้น เราอยากจะเป็นสตรีมมิงที่มีคอนเทนต์ไม่ต้องเยอะมาก แต่ทุกอันต้องคุณภาพ ซึ่งนี่แหละจะทำให้คนดูไม่ต้องเสียเวลาเลือกคอนเทนต์วันละ 15 นาทีทุกวัน

มิเชล โหย่ว หรือ ‘Parasite’ ก็ต่างชนะออสการ์มาแล้ว นอกจากนี้ซีรีส์เกาหลีก็สามารถครองใจคนทั่วโลกได้ ในฐานะผู้บริหารด้านคอนเทนต์ของ Prime Video คุณและทีมมองเรื่องเทรนด์ ‘เอเชียน’ ที่กำลังมาแรงตอนนี้อย่างไรบ้าง

แฟร์เรล: เทรนด์นี้กำลังมาจริง ๆ โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี ไม่ใช่แค่วงการหนังหรือซีรีส์นะ พวกเขาสามารถทำให้วงการเพลง เค-ป๊อป, แฟชั่น หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์สกินแคร์สามารถตีตลาดทั่วโลกได้ ทั้ง รัฐบาล ผู้คน และครีเอเตอร์ ล้วนแต่สมควรได้รับเครดิตกับเรื่องนี้ นอกจากนี้คอนเทนต์ของญี่ปุ่น จีน อินเดีย หรือ ไทย ก็น่าสนใจมาก ๆ ผมเพิ่งกลับจากไฮเดอราบัด ที่นั่นผมได้ดูหนังอย่าง ‘RRR หรือ ‘Baahubali’ ซึ่งมันน่าทึ่งมาก คอนเทนต์จากเอเชียเป็นสิ่งเราต้องจดโน้ตไว้เลย ผมพยายามจะใช้เวลากับครีเอเตอร์ท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เพราะตอนนี้มีครีเอเตอร์หรือไอเดียคอนเทนต์เจ๋ง ๆ มากมายล้วนแต่มาจากเอเชีย ผมกำลังจะไปไทยในไม่กี่เดือนต่อจากนี้ ซึ่งผมต้องการจะเจอคนสร้างหนังและนั่งคุยเรื่องโปรเจกต์ดี ๆ ให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่ท้าทายที่สุด ในฐานะผู้บริหารด้านคอนเทนต์ของ Prime Video ตอนนี้

แฟร์เรล: มีเยอะมาก ๆ เลย ผมคิดว่าตอนนี้โลกเราเปลี่ยนไป คนเสพคอนเทนต์กันไวขึ้นมาก ๆ โดยเฉพาะบน TikTok ที่ทุกอย่างถูกฮุกภายใน 10 วินาที ในความคิดผมนะ ทุกวันนี้คนยังดูซิตคอมอย่างพวก ‘Seinfeld’, ‘Friends’ หรือ ‘The Big Bang Theory’ ซึ่งเป็นของที่มาจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว บางครั้งเรายังต้องการโชว์หลาย ๆ ตอน มีหลายซีซัน ซึ่งคนดูจะได้เห็นการเติบโตของตัวละครที่เขาดู มันยากนะ ที่จะสร้างคอนเทนต์ให้มีคนมา engage ยาว ๆ แบบนั้น ยิ่งในยุคที่คนดูมีการเสพสื่อที่เร็วขึ้น และมีสื่อจำนวนมากให้พวกเขาได้เสพ ดังนั้นผมคิดว่าการพยายามสร้างรายการทีวีที่โดดเด่น และสามารถออกอากาศยาว ๆ ได้ ถือเป็นพันธกิจส่วนตัวของผม ซึ่งผมหวังว่าในอนาคตเราจะได้พบกับพาร์ตเนอร์ที่สามารถร่วมกันสร้างสิ่งเหล่านี้ได้

ถ้า Prime Video เป็นคน คุณคิดว่าเขาจะมีนิสัยอย่างไร

แฟร์เรล: ผมว่า Prime Video น่าจะเป็นคนที่ไว้ใจได้ นิสัยดี เป็นเพื่อนที่ดีของคนดู เราอยากจะเป็นแพลตฟอร์มที่ friendly กับคนดูทั้งในแง่ของราคาที่จับต้องได้ ระบบที่ดี หรือเนื้อหาที่มีให้คนดูได้เลือกมากมาย เราอยากจะเป็นเพื่อนซี้ของคนดูทุกคน ผมว่านั่นคือสิ่งที่ Prime Video เป็น

ขอขอบคุณทีม Prime Video ประเทศไทย สำหรับการอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส