ช่วงหลายสัปดาห์ ตามฟุตปาธข้างทางในกทม. ดูแปลกตาเป็นพิเศษ มองไปทางไหนก็เจอแต่จักรยานคันเหลืองเทาจอดวางกันเรียงราย ด้วยความสงสัย เลยเข้าไปดูจึงพบว่า กทม. และประเทศไทย กำลังจะมีบริการจักรยานสาธารณะรายใหม่ ในชื่อว่า “Obike” แน่นอนว่าไม่พลาดที่จะเข้าไปลองของทันที

เล่าเท้าความก่อน Obike คืออะไร ?

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรก Obike คือบริการจักรยานสาธารณะจากประเทศสิงคโปร์ เริ่มโดยบริษัท Obile จุดเด่นของบริการนี้ คือสามารถเรียกใช้บริการที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีสถานีหรือจุดจอดที่ตายตัว ใช้แล้วอยากจอดที่ไหนก็ได้ แบบเดียวกันกับจักรยานที่เจอกันในเมืองจูไห่ ประเทศจีน ที่แบไต๋เคยพาเยือนมาแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั่นเอง

เริ่มใช้งานกันเลยดีกว่า !

จะใช้งานได้ ต้องโหลดแอปก่อนนะ แอปมีชื่อว่า Obike ชื่อเดียวกันกับบริการนี้เลย โหลดได้ทั้ง Android และ iOS เมื่อโหลดเสร็จแล้ว ก็ทำการลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์ของเรา หลังจากนั้นก็กำหนดพาสเวิร์ดของเราเอง แล้วเข้าระบบได้ทันที

หน้าจอของแอปนี้ โดยรวมถือว่าเข้าใจง่ายดี มีแผนที่ซึ่งไปร่วมกับ Google Maps นำข้อมูลมาแสดงผลบนหน้าจอ ทั้งเส้นทาง อาคารต่างๆ รวมไปถึงสภาพจราจรในเวลานั้น และตำแหน่งที่ตั้งของจักรยานในละแวกใกล้เคียงกับตัวเรา

รู้จักการใช้งานแล้ว มาลองกันเลย!!!

เริ่มต้น เมื่อเจอจักรยานและต้องการใช้งาน ให้เปิดแอป Obike และกดปุ่มสแกนคิวอาร์โค้ด หน้าแอปจะทำการเปิดหน้ากล้องรอพร้อมให้สแกนทันที โดยจุดที่ให้สแกนคิวอาร์โค้ดบนจักรยานจะมี 2 จุดด้วยกัน คือบริเวณคอจักรยาน และส่วนบังโคลนล้อหลัง จะสแกนจากโค้ดตรงไหนก็ได้ เพราะมันลายเดียวกัน แต่ถ้าสแกนไม่ได้ ก็สามารถใส่หมายเลขของตัวจักรยานที่เราจะปั่นก็ได้

หลังจากสแกนหรือกรอกเลขจักรยานแล้ว ให้ทำการปลดล็อคที่ตัวล็อคใต้อาน ซึ่งล็อคล้อหลังไว้ไม่ให้เคลื่อนไปไหน (ในกรณีที่ไม่มีผู้ใช้งาน) เมื่อปลดล็อคเสร็จ สามารถปั่นออกไปได้เลย โดยที่ตัวล็อคนี้ จะส่งพิกัดจีพีเอสและสัญญาณบลูทูธมายังสมาร์ทโฟนของเรา เพื่อตรวจวัดว่าปั่นไปในระยะทางเท่าไหร่ ปั่นไปกี่นาที

เมื่อสิ้นสุดการปั่น และล็อคจักรยานแล้ว ตัวล็อคจะส่งสัญญาณบลูทูธมายังสมาร์ทโฟน เพื่อยืนยันการสิ้นสุดการปั่น แสดงผลว่าปั่นไปแล้วกี่นาที ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และลดได้กี่แคล

แล้วเมนูย่อยมีอะไรบ้าง

เมนูย่อยตรงนี้ จะแสดงผลระยะทางรวม จำนวนก๊าซคาร์บอนที่ได้ลดลงไป และจำนวนแคลลอรี่ที่ได้ลดลงไปจากการปั่น ซึ่งนับรวมตั้งแต่ครั้งแรกที่ปั่นกับ Obike

เมนูย่อย

ถัดลงไป จะเป็นกระเป๋าเงิน หรือเงินที่ใช้ในการปั่นจักรยาน ซึ่งสามารถเติมลงไปได้ โดยการหักจากบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่เราใช้งาน (ซึ่งจะต้องผูกบัตรไว้กับแอปก่อนนะ ถึงจะเติมเงินลงไปได้)

ถัดไปอีก เป็นประวัติการขับขี่ ซึ่งรวบรวมประวัติจากการใช้บริการในทุกๆ ครั้งว่า ปั่นเมื่อวันที่เท่าไหร่ ปั่นกี่โมง สิ้นสุดกี่โมง จักรยานที่ปั่นเลขอะไร และค่าบริการเท่าไหร่

ประวัติการขับขี่ของฉัน

ถัดมาอีก เป็นข้อมูลของฉัน ซึ่งจะใช้แจ้งข่าว หรือแจ้งอัปเดตจากทางผู้ให้บริการ

ข้อมูลของฉัน

ลงมาอีก คือโปรโมชั่น ส่วนนี้ คือการกรอกโค้ดที่ได้จากการเชิญชวนจากเพื่อนๆ เพื่อรับเครดิตหรือส่วนลด หรืออื่นๆ ซึ่งผู้ให้บริการอาจจะมีให้เมื่อไหร่ก็ได้ (วิธีนี้ ทำนองเดียวกันกับอูเบอร์ที่ใช้ในปัจจุบัน)

กรอกรหัสโปรโมชั่น หรือชวนเพื่อนมาใช้ก็ได้

ถัดอีก คือรางวัลเชิญชวน จริงๆ คือโค้ดเชิญชวนของเราเองนั่นแหละ กดแชร์ลงโซเชียลเพื่อชวนเพื่อนมาร่วมปั่นและรับเครดิตจากเราได้

แล้วคะแนนเครดิตคืออะไร…?

คะแนนเครดิต คือคะแนนที่วัดจากการใช้บริการ Obike ในทุกๆ ครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นสแกน ไปจนถึงล็อคในจุดจอด ถามว่ามีไว้เพื่ออะไร ในแอปของ Obike ได้ระบุไว้ว่า…

“…สนับสนุนให้ประชาชนทำความเข้าใจและใช้บริการจักรยานอย่างถูกต้อง โดยผ่านคะแนนเครดิต…”

ถือว่าเป็นแนวความคิดที่ดีเลยนะ สำหรับการวัดการใช้งานอย่างถูกต้อง โดยมีคะแนนเครดิต อย่างบางข้อที่เป็นตัวอย่างของการลด – เพิ่มเครดิต เช่น ทิ้งจักรยานหนีเมื่อเจอตำรวจ อันนี้ล้างคะแนนเครดิตเลย แต่ถ้าใช้งานไปแล้วเจอจุดบกพร่อง และรายงานให้ระบบทราบ อันนี้รับเครดิตเพิ่ม 2 คะแนน

ในบางประเทศที่ Obike ไปให้บริการ คะแนนเครดิตนี่มีส่วนในการปรับอัตราค่าบริการต่อนาทีให้แต่ละบุคคลด้วยนะ

แล้วค่าใช้จ่ายมันจะเท่าไหร่กัน…?

แรกเริ่มการให้บริการ ใครที่สมัครแล้วจะยังใช้งานไม่ได้ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าก่อน อยู่ที่ 899 บาท (ซึ่งค่ามัดจำนี้ คือเงินประกันในการขับขี่จักรยานนั่นเอง) แต่เมื่อจ่ายแล้ว สามารถถอนคืนได้ทุกเมื่อ หลังจากนั้นสามารถเติมเงินค่าบริการ โดยผ่านการหักจากบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่ได้ผูกไว้ เติมได้สูงสุดถึง 500 บาท

ส่วนอัตราค่าบริการ อยู่ที่ 10 บาท โดยจะนับทุกๆ 15 นาที นั่นเท่ากับว่า ถ้าเราใช้งาน 1 ชั่วโมง ค่าบริการจะอยู่ที่ 40 บาท ซึ่งเอาจริงๆ เราก็ใช้งานในระยะทางสั้นๆ แบบหลบรถติด หรือรถเมล์ยังมาไม่ถึง ก็ได้อยู่แหละ…

ข้อดีของ Obike

คือการที่จักรยานมีให้บริการเป็นจำนวนมาก และสามารถหาได้ง่าย ไม่ Fix ตายตัวเหมือนมีจุดจอดหรือสถานีที่ตั้งไว้ข้างถนน อีกอย่างหนึ่งที่ดีคือการกดจองจักรยานได้ เผื่อเราเห็นจากในแอปแต่ตัวเรายังไปไม่ถึงจุดจอด เราสามารถกดจองได้ โดยจะทำการจองให้เราและนับถอยหลัง 10 นาที

ข้อเสียของ Obike

ช่วงที่ผู้เขียนได้ทดลองปั่น พบว่าช่วงออกตัวยังไม่ค่อยดี การปั่นช่วงแรกยังฝืดๆ อยู่ แต่เมื่อปั่นไปสักพักจะลื่นมากขึ้น ส่วนของตัวล็อคและหน้าจอแสดงผลบนแอปเหมือนจะมีปัญหาเมื่อดันตัวล็อคแล้ว แต่การนับนาทีที่ใช้งานยังนับต่อเนื่อง ซึ่งต้องรีสตาร์ทสมาร์ทโฟนแล้วเปิดแอปอีกครั้ง ถึงจะแสดงผลอย่างถูกต้อง (แต่จริงๆ เขาแนะนำมาว่าให้เปิดแอป รอให้บลูทูธซิงค์ แล้วถึงจะดันล็อคได้…)

สุดท้ายนี้ ใครจะลองใช้บริการ Obike ก็ลองกันได้ตามความสะดวก แต่อย่าลืมว่า ควรปั่นในเลนที่มีการจัดไว้ให้แล้ว และควรปั่นด้วยความระมัดระวัง การไม่เกิดอุบัติเหตุถือว่าดีที่สุด