“เมื่ออดีตและความทรงจําถูกปะติดปะต่อกับปัจจุบัน” 


หลังจากที่ Greasy Cafe หรือ เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร ทิ้งช่วงห่างจากอัลบั้มที่แล้ว The Journey without Maps มาเป็นเวลากว่า 5 ปี ล่าสุดเขากลับมาอีกครั้งพร้อม “ปะติดปะต่อ”  ซิงเกิลแรกจากสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 ที่ใช้ชื่อว่า Technicolor

“ปะติดปะต่อ” มาพร้อมกับสำเนียงแฝงแววหม่นเศร้าแต่ลุ่มลึกอันเป็นเอกลักษณ์ของ Greasy Cafe  ซึ่งทำหน้าที่แต่งคำร้อง ทำนอง และเรียบเรียงดนตรีด้วยตนเอง ส่วนสิ่งที่เป็นทิศทางใหม่ในงานเพลงของ Greasy Cafe ก็คือท่วงทำนองของเพลงที่มีการใช้เสียงสังเคราะห์จากซินธิไซเซอร์และเสียงแอมเบียนต์เป็นหลัก สะท้อนห้วงอารมณ์แห่งความสับสนวุ่นวายภายในจิตใจ โดยลดบทบาทของเครื่องดนตรีสดชิ้นอื่นๆไป ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากงานเพลงเก่าๆที่มีความเข้มข้นในสัดส่วนของภาคดนตรีอย่างชัดเจน นับว่าเป็นการเปิดตัวที่น่าสนใจและน่าจับตามองต่อไปว่าเพลงที่เหลือในอัลบั้ม Technicolor นั้นจะเป็นอย่างไร


ถ้าหากความทรงจำต้องการเก็บเราในนั้น

ก็จงอย่าปล่อยให้มันมารบกวนปัจจุบันได้หรือเปล่า


เนื้อหาของบทเพลง ถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของความสับสนในชีวิตของคน ในเวลาที่เราได้พบกับการเปลี่ยนแปลงและพยายามที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แต่หลายครั้งเรากลับพบว่ามันเหมือนกับเรากำลังเดินถอยหลังกลับไปยังอดีต คนบางคนเลือกที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อตามหาสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่กับบางคนก็อาจเลือกที่จะเดินทางกลับสู่อดีตเพื่อซึมซับมันใหม่อีกครั้ง สิ่งที่เราตามหาอยู่นั้นเป็นเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นใน อนาคต หรือมันยังคงเป็นเรื่องราว ความทรงจำเก่าๆ ที่เรายังคงหยิบมาบอกเล่าใหม่ที่บางส่วนใน วันนั้นอาจยังแอบอาศัยอยู่ในวันนี้ การ ‘ปะติดปะต่อ’ เรื่องราว จึงเกิดขึ้น

ส่วนมิวสิควีดิโอนั้นกำกับโดย จีน คำขวัญ ดวงมณี Filmaker รุ่นใหม่ ไฟแรง ที่มีดีกรีแฟชั่นดีไซน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอถ่ายทอดบทเพลงนี้ผ่านเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่เก็บตัวตนและความทรงจำของเขากับคนรัก ผ่านความฝันอันหลากหลายเรื่องราวอันปะปน สับสนไม่รู้ว่าสิ่งไหนคืออดีต สิ่งไหนคือปัจจุบัน สิ่งไหนคือความจริง สิ่งไหนคือความลวง ซึ่งถูกนำมาปะติดปะต่อกลายเป็นเรื่องราวชีวิตและตัวตนของเขาในปัจจุบัน

คำขวัญ ดวงมณี ผู้กำกับมิวสิควีดิโอ

โดยผีเสื้อในตอนต้นและตอนท้ายของมิวสิควีดิโอนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความฝันอันมีที่มาจาก ความตอนหนึ่งในงานเขียนของ จวงจื่อ ความว่า

ครั้งหนึ่งจวงจื่อฝันไปว่าตนเป็นผีเสื้อ ขยับกระพือปีกบินไปรอบๆอย่างสุขสำราญใจ เริงเล่นไปตามใจปรารถนา มันหารู้ไม่ว่ามันคือจวงจื่อ พลันเมื่อตื่นขึ้นและพบว่าตัวเองเป็นจวงจื่ออย่างแน่แท้ แต่เขากลับไม่แน่ใจว่าเป็นจวงจื่อที่ฝันไปว่าตัวเองเป็นผีเสื้อ หรือว่าเป็นผีเสื้อที่ฝันเป็นจวงจื่อกันแน่ ระหว่างจวงจื่อและผีเสื้อ จะต้องมีความแตกต่างบางอย่าง นี่เรียกว่าการแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่ง

ชื่อของอัลบั้ม Technicolor นั้นสื่อถึง ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากภาพขาวดำที่เลือนลางในอดีตอันถูกกลั่นกรองออกมาจากความทรงจำ ที่ถูกนำมาผสมสีแห่งความรู้สึกโดยใช้หัวใจและอาศัยเครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยให้มันถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเสมือนจริงอีกครั้ง ภาพขาวดำจึงกลายเป็นภาพสีที่เจือจางเรื่องราวเหล่านี้จึงถูกร้อยเรียง และบอก เล่าผ่านในอัลบั้ม Technicolor อัลบั้มที่ 4 ของ Greasy Cafe

ซึ่งในอัลบั้มนี้จะมีทั้งหมด 13 เพลง โดยได้เปิดให้พรีออเดอร์แล้วทางเวปไซต์ www.Greasy-Cafe.com ซึ่ง 300 คนแรกที่สั่งซื้ออัลบั้มทางเวปไซต์ สามารถเลือกรับสิทธิ์ดู Greasy Cafe Technicolor Secret Show ในวันที่ 14 ก.ค. 60

Play video

“ปะติดปะต่อ”

Artist : Greasy Cafe

” เราจะได้บางสิ่งและเสียบางส่วนของเราไป เมื่อเราเริ่มต้นมีความสัมพันธ์กับใครบางคน และเมื่อสิ่งนั้นจบลง คนส่วนใหญ่มักจะยังแบกสิ่งนั้นติดตัวมาด้วย ในวันที่ไม่มีความสัมพันธ์นั้นอีกต่อไป “

  • Director : คําขวัญ ดวงมณี
  • Producer : บุณยนุช บุณยรัตพันธุ์
  • Lyric | Arrange | เรียบเรียง : Greasy Cafe
  • Mixing | Mastering : บัญชา เธียรกฤตย์