Play video

เนื่องในสัปดาห์นี้มีหนังน่าดูถึง 2 เรื่องที่เข้าฉายในระบบพิเศษ โดยคราวที่แล้วเราได้พูดถึงหนังเรื่อง Dunkirk  ในระบบไอแมกซ์ฟิล์ม70มม.ไปแล้ว  คราวนี้ถึงทีของหนังไซไฟอวกาศจากผู้กำกับเปี่ยมจินตนาการอย่าง ลุก เบซอง (Luc Besson) ที่คราวนี้ขอหยิบคอมิคเล่มโปรดมาเสริมจินตนาการสุดบรรเจิดจนได้หนังอวกาศอารมณ์ Star Wars หรือ Star Trek เวอร์ชั่นคนเมายาบ้าอย่าง Valerian and the city of a thousand planets ซึ่งมีการฉายแบบ 3มิติตามยุคสมัยและแน่นอน ในเมื่อหนังทำมาเป็น 3 มิติก็สามารถนำมาเข้าโปรแกรมพร้อมเทคนิคพิเศษเพื่อฉายในรูปแบบ 4DX หรือ ภาพยนตร์ 4 มิติ เพื่อให้ได้ความสนุกเหมือนเครื่องเล่นในสวนสนุก และวันนี้ WHAT THE FACT จะพาทุกท่านขึ้นเก้าอี้สั่น น้ำกระจาย ไฟแล่บแปลบๆไปกับเราเพื่อพิสูจน์ความคุ้มค่าในการชมระบบ 4DX ไปด้วยกัน

เอฟเฟกต์ทั้งหมดของระบบ 4DX

ข้อมูลก่อนตัดสินใจชม

แว่น 3 มิติ ให้ยืมมาในถุงผ้าสีแดง

สำหรับการฉายในรูปแบบ 4DX หรือ 4 มิติ ทางโรงภาพยนตร์จะมี แว่นตา 3 มิติแจกหน้าโรงในกรณีหนังเรื่องนั้นฉายระบบ3มิติ แต่! เวลาหาภาพยนตร์ชมในระบบ4DX ผู้ชมจำเป็นต้องหาข้อมูลเสียก่อนว่าหนังฉายในระบบ3มิติหรือไม่ เพราะโรง4DX  (หรือ MX4D ในเครือ SF) ปัจจุบันมีการฉายหนัง2มิติธรรมดาพร้อมเอฟเฟกต์ ดังนั้นเพื่อความคุ้มค่าผู้เขียนขอให้ทุกท่านเลือกชมหนัง3มิติเพื่อให้เสพย์ความสนุกทะลุจอแบบคุ้มค่าตั๋วที่สุด

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังเล็กน้อยสำหรับผู้ชมบางท่านที่อาจไม่เหมาะกับการชมหนังระบบ 4 มิติ ได้แก่

  • ผู้มีปัญหาโรคหัวใจ
  • สตรีมีครรภ์ เพราะหลายเอฟเฟกต์ส่งผลต่อสุขภาพคุณแม่และลูกในครรภ์
  • ผู้มีอาการปวดหลังและปวดสะโพก เพราะเก้าอี้โยกอาจส่งผลเสียต่ออาการ
  • ผู้ป่วยมีอาการไข้ เพราะมีการฉีดน้ำและลมแรงจากพัดลมในโรงประกอบภาพบนจอ
  • ผู้มีปัญหาทางเดินหายใจ  เพราะมีระบบกลิ่นและควันประกอบเรื่องที่อาจรบกวนการหายใจ
  • เด็กเล็กหรือบุคคลที่มีส่วนสูงไม่ได้มาตรฐานกับเก้าอี้เพราะอาจตกเก้าอี้ขณะหนังมีเอฟเฟกต์เก้าอี้สั่นไหว

ภาพ 3 มิติทะลุจอแค่ไหน

ก่อนอื่นขอออกตัวว่า หัวข้อนี้เราจะนำเกณฑ์ที่เคยพิจารณาภาพยนตร์ 3 มิติทั้งระบบไอแมกซ์และเรียลดีทรีดี มาพิจารณารวมกัน ซึ่งต้องบอกว่าด้วยความที่ Valerian and the city of a thousand planets เป็นหนังไลฟ์แอ็คชั่นที่มีตัวละครหรือฉากหลังที่เป็นซีจีเป็นส่วนใหญ่ทำให้ภาพเอฟเฟกต์ต่างๆถูกแปลงเป็นภาพ3มิติ (3D Conversion) ในทุกเฟรม ผู้เขียนได้ลองถอดแว่นดูเป็นระยะในทุกฉากพบว่ามีความเบลอในทุกช็อต ส่วนความลึกไม่ต้องพูดถึง หนังออกแบบองค์ประกอบภาพให้โชว์มิติความลึกแบบสะใจทุกเฟรม และแม้ว่าหนังจะไม่ได้มีการขว้างปาสิ่งของใส่คนดูแต่ปริมาณความพุ่งทะลุจอก็ถือว่าทำได้ดีในทุกฉากแอ็คชั่นโดยเฉพาะเวลายานบินผ่านหน้าคนดูก็ตื่นตาตื่นใจดี และนอกจากนี้หนังยังทำได้ดีในแง่ไม่ทำให้คนดูปวดเศียรเวียนเกล้าเพราะมีการออกแบบการเคลื่อนกล้องและจังหวะตัดต่อที่ถนอมสุขภาพตาของผู้ชมมาเป็นอย่างดี

ข้อมูลเทคนิคการถ่ายทำจากเว็บไซต์ IMDB

ความสั่น…ความโยก…ความสะกิดของเก้าอี้

แน่นอนว่าหนังมีหลายฉากที่ตัวละครทั้งเจ้าหน้าที่วาเลเรียน และ ลอเรลลีน ต้องควบยานฝ่าดงกระสุน ทำให้เก้าอี้นั่งต่อระบบไฮดรอลิกทำงานของมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งเรื่อง เรียกได้ว่า สั่นแรง สั่นถี่ สั่นตลอด เสมือนคนดูได้ท่องอวกาศไปกับตัวละครด้วย หรือแม้กระทั่งฉากชกต่อย เก้าอี้ก็ยังอุตส่าห์โยกและมีการสะกิด(เหมือนมีใครเคาะพนักเก้าอี้หลังเราเบาๆ )ตามตัวละครสร้างอารมณ์ร่วมไปด้วย

ลักษณะของเก้าอี้ในโรง 4DX

สายน้ำ และสายลม

บอกก่อนว่าอันนี้ไม่ได้วัดจากปริมาณความถี่ของเอฟเฟกต์แต่วัดจากความกลมกลืนกับภาพบนจอ ซึ่งต้องบอกว่า Valerian and the city of a thousand planets ทำได้ดีมาก ทั้งการพ่นน้ำที่แม้จะมีแค่ 3 ครั้งแต่สามารถเสริมรับกับภาพบนจอได้อย่างกลมกลืน เพราะอย่าลืมว่าการพ่นน้ำแต่ละครั้งอาจทำให้ละอองน้ำเกาะเลนส์แว่นสามมิติได้ ดังนั้นจึงเป็นเอฟเฟกต์ที่ควรปล่อยมาแต่พอดีที่สุด และที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำหรับระบบ 4DX เรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเอฟเฟกต์ลมที่มีความแรงจนหนาวสะท้าน  จึงขอเตือนไว้อีกข้อว่าใครขี้หนาวอย่าลืมติดเสื้อแจ็คเก็ตมาด้วยไม่งั้นงานนี้มีตัวสั่นแน่ๆ นอกจากนี้หากฉากไหนมีการยิงปืน ช่องลมด้านหน้าก็ปล่อยลมเป่าเหมือนอยู่ในดงกระสุนยังไงยังงั้น

ช่องสำหรับพ่นน้ำและลม รวมถึงกลิ่น

เลเซอร์, กลิ่น และหมอกควัน

อาจจะเรียกได้ว่า Valerian and the city of a thousand planets คือหนังที่สามารถใช้เอฟเฟกต์ เลเซอร์, กลิ่น และควันได้อย่างเหมาะเจาะที่สุด ซึ่งทั้ง3 เอฟเฟกต์นี้เสี่ยงต่อการรบกวนการดูหนังที่สุด แต่ต้องชื่นชมคนทำโปรแกรมเอฟเฟกต์ให้ Valerian ที่สามารถควบคุมเลเซอร์ให้ฉายแสงออกมาเหมาะเจาะกับฉากในหนังไม่แสบตาคนดูโดยใช่เหตุ หรือแม้กระทั่งควันตรงบริเวณหน้าจอ ที่กะเวลาให้หมอกควันสลายในเวลาที่พอดีไม่บดบังหน้าจอจนดูหนังไม่รู้เรื่อง สำหรับ เอฟเฟกต์กลิ่นในเรื่องก็ทำได้ดีทั้งกลิ่นหอมแบบชายทะเลสบายจมูกและกลิ่นดินปืนในฉากแอ็คชั่นที่ไม่เหม็นจนเกินไป  โดยเอฟเฟกต์ที่ไม่ปรากฏในเรื่องคือ ฟองสบู่  ซึ่งมักไม่ได้พบบ่อยๆนักในระบบ 4DX จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

ทิศทางแสงเลเซอร์จากด้านข้างของโรงหนัง

 

  • ภาพ 3 มิติทะลุจอแค่ไหน                              10/10
  • ความสั่น…ความโยก…ความพ่นลมของเก้าอี้ 10/10
  • สายน้ำ และสายลม                                         10/10
  • เลเซอร์, กลิ่น และหมอกควัน                          10/10
  • รวม                                                                 40/40

หมอกควันจะพ่นขึ้นจากด้านล่างของจอ

สรุป

ด้วยความที่หนัง Valerian and the city of a thousand planets มีความวิจิตรในการรังสรรค์งานภาพได้อย่างตื่นตาตื่นใจและมีเนื้อเรื่องที่เหมาะกับการทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์เหมือนเข้าสวนสนุกอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจเลยที่ทุกเอฟเฟกต์ในระบบ 4DX จะทำงานกับหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าถ้าอยากรู้ว่าเจ้าหน้าที่วาเลเรียนและลอเรลลีนเจออะไร เอฟเฟกต์ของโรงหนังสามารถจัดหนักจัดเต็มสร้างความตื่นตาตื่นใจได้เป็นอย่างดี