โดยส่วนตัวจะเชื่อถือหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายขายดี เพราะอย่างหนึ่งยอดขายของนิยายก็เป็นสิ่งการันตีคุณภาพของเนื้อหามาแล้วว่าต้องสนุก แต่ก็เยอะนะที่พอผ่านกระบวนการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์หรือเจอผู้กำกับที่อ่อนหัด หรือไม่เคารพต้นฉบับก็พาให้เสียของไปก็มาก แต่ก็อุ่นใจหน่อยที่ว่าเครดิตผู้ดัดแปลงบทภาพยนตร์มีชื่อเอ็ดเวิร์ด ซวิค ผู้กำกับระดับออสการ์ เคยเขียนบทและกำกับ The Last Samurai (2003) และล่าสุดคือ Jack Reacher: Never Go Back (2015) หนังแนวสายลับเช่นเดียวกัน และอีกหนึ่งคือ มาร์แชล เฮิร์สโควิตซ์ ที่ร่วมเขียนทั้ง 2 เรื่องนั้นกับ เอ็ดเวิร์ด ซวิค , เอ็ดเวิร์ดถูกวางตัวให้เป็นผู้กำกับ American Assassin ในปี 2012 แต่กำหนดเปิดกล้องเลื่อนจากเดิมมาก เอ็ดเวิร์ดเลยถอนตัวออกไป

 

มิตช์ แรปป์ เป็นอีกหนึ่งสายลับในโลกวรรณกรรมที่ถือกำเนิดในรูปแบบนิยายมาตั้งแต่ปี 1999 ผลงานเขียนของวินซ์ ฟลินน์ ชาวอเมริกัน เขาเขียนวีรกรรมของมิตช์ ออกมาแล้วถึง 12 เล่ม มากกว่าแจ๊ค ไรอัน ที่ออกมา 9 เล่ม (แจ๊ค ไรอัน จูเนียร์ อีก 13 เล่ม) แต่น้อยกว่า แจ๊ค รีชเชอร์ ที่ออกมาแล้วถึง 22 เล่ม (โลกสายลับนี่ซื่อซ้ำ ๆ กันนะ เจมส์ กะ แจ๊ค) นิยายซีรีส์ของมิตช์ แรปป์ประสบความสำเร็จต่อเนื่องอย่างสูง ทุกเล่มจะติดอันดับนิยอร์คไทม์เบสต์เซลเลอร์ และไม่เสื่อมความนิยมแม้จะมีอายุเกือบ 20 ปี โดยเฉพาะ 3 เล่มหลังสุดขึ้นถึงอันดับ 1 ทุกเล่มทำยอดขายรวมกันกว่า 20 ล้านเล่ม จึงเป็นเรื่องน่าแปลกว่าทำไมมิตช์ แรปป์ ถึงใช้เวลาเกือบ 20 ปี กว่าจะก้าวเข้าสู่โลกภาพยนตร์

ก่อนเข้าถึงรีวิว ขอเพิ่มเติมเรื่องราวเบื้องหลังอีกสักหน่อยนะ เพราะเส้นทางกว่าจะมาเป็นหนังนี่น่าสนใจมาก วินซ์ ฟลินน์ เขียนนิยายมิตช์ แรปป์ ออกมาได้ 13 เล่ม เขาก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งต่อมลูกหมาก แม้ผู้ให้กำเนิดตายแต่มิตช์ แรปป์ ก็ไม่ได้ตายไปด้วย ไคล์ มิลล์ เข้ามาสานต่อวีรกรรมของมิตช์ แรปป์ ไคล์ เขียนออกมาแล้วอีก 2 เล่ม และเรื่องล่าสุด Enemy of the State ก็จะออกจำหน่ายในเดือนตุลาคมนี้ ไคล์ มิลล์ เคยทำงานสานต่อแบบนี้มาแล้ว เขาเคยเขียนนิยายในซีรีส์ โคเวิร์ต-วัน ต่อจากโรเบิร์ต ลัดลัม ที่เสียชีวิตไปในปี 2001

ที่จริงแล้วมิตช์ แรปป์ ถูกค่ายซีบีเอสฟิล์มซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นหนังตั้งแต่ปี 2008 เดิมทีเรื่องที่จะสร้างคือ “Consent to Kill”นิยายเล่มที่ 6 วางตัว อังตวน ฟุควา The Equalizer (2014) , Olympus Has Fallen (2013) ให้มากำกับ คริส เฮล์มเวิร์ธ  รับบท มิตช์ แรปป์ และ บรู๊ซ วิลลิส ในบท สแตน เฮอร์ลีย์ แต่ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมสร้าง วินซ์ ฟินน์ ก็ออกนิยายตอนใหม่ “American Assassin”มาในปี 2010 ซึ่งเนื้อหาในเล่มนี้ย้อนไปเล่าจุดกำเนิดของมิตช์ แรปป์ และเหตุที่เขามาเป็นมือสังหารของ CIA เนื้อหาของเล่มนี้ทำให้งานสร้างหนังหยุดชะงัก แล้วหันมาสร้าง “American Assassin”เพราะหนังเรื่องแรกก็ควรจะเล่าจุดกำเนิดของมิตช์ แรปป์ ทีมงานเริ่มต้นหาตัวนักแสดงใหม่ให้ตรงกับวัยของมิตช์ แรปป์ที่บรรยายไว้ในหนังสือ ว่าเป็นหนุ่มวัยเพิ่งจบการศึกษา และมองการณ์ไกลว่าถ้าหนังประสบความสำเร็จ วัยของตัวแสดงจะได้เติบโตไปพร้อมกับภาคต่อของหนังที่มีวัตถุดิบรอให้สร้างอีกเป็น 10 ภาค

 

แล้วตัวเลือกก็มาจบที่ ดีแลน โอ.ไบรอัน เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในวัย 26 ใกล้เคียงกับที่บรรยายไว้ในนิยาย ดีแลน เปลี่ยนบุคลิกจากเด็กหนุ่มใน Maze Runner ไปแบบคนละภาพลักษณ์เลย กว่าจะมาเป็นมิตช์ แรปป์ ดีแลน ต้องผ่านเวิร์คช็อปหนัก ๆ มาทั้ง MMA, โยคะ, ชกมวย, ยิงปืน, เวทเทรนนิ่ง, ยิวยิตสุ, คิกบ๊อกซิ่ง และครูฝึกของเขาคือ โรเจอร์ หยวน คนเดียวกับที่ฝึกแดเนียล เคร็ก ก่อนมาเป็นเจมส์ บอนด์ สุดท้ายดีแลนก็ขึ้นจอในหุ่นเฟิร์มแต่ไม่ถึงกับล่ำบึ้ก นัก ดีแลน สื่อภาพของ มิตช์ แรปป์ หนุ่มอมทุกข์และความแค้นไว้ภายในให้รู้สึกได้

หนังดัดแปลงเรื่องราวสะเทือนใจจากเดิมไปนิด ในนิยายแฟนสาวตายในเหตุวางระเบิดเครื่องบิน มาเป็นเหตุกราดยิงหมู่บนหาดทราย แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็สร้างผลกระทบต่อจิตใจได้รุนแรงดีกว่า ให้มิตช์ ได้เห็นภาพแฟนสาวตายไปต่อหน้าต่อตา ทำให้เขาระเบิดความแค้นออกมาด้วยการฝึกฝนการต่อสู้ทุกรูปแบบ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตามล่าหัวหน้าหน่วยก่อการร้ายชาวมุสลิม มิตช์แทรกซึมจนเข้าถึงหัวหน้าหน่วยก่อการร้ายมุสลิม วีรกรรมของเขารู้ไปถึงCIA ก็เลยใช้ประโยชน์จากมิตช์ ด้วยการตามรอยเขาไปจนถึงที่กบดานของผู้ก่อการร้าย หนังวางพลอตเริ่มต้นมาได้แข็งแรงชวนติดตามมากกับการล้างแค้นของมิตช์ แต่แล้วก็ขมวดจบเรื่องราวการล้างแค้นเสียตั้งแต่ต้นเรื่อง มิตช์ ถูกหว่านล้อมให้เข้าCIA ถูกส่งไปฝึกกับ สแตน ครูฝึกจอมโหดประจำ CIA และกลายเป็นศิษย์เอก

หลังจากศิษย์และอาจารย์เผชิญหน้ากันไม่นาน ก็เดินเข้าสู่โหมดหนังสายลับรูปแบบเดิม ๆ เป๊ะ เหมือนอย่างที่เราดูกันมาแล้วนับสิบเรื่อง ผู้ก่อการร้ายชิงพลูโตเนียมมาจากรัสเซีย ประกาศขายทอดตลาดให้ใครก็ได้ซื้อไปทำนิวเคลียร์ สแตนและมิตช์ ถูกมอบหมายให้ยับยั้งแผนการนี้ก่อนที่พลูโตเนียมจะกลายเป็นนิวเคลียร์มาถล่มสหรัฐ เนื้อหาจากนี้เต็มไปด้วยฉากเดิม ๆ ในหนังสายลับ ตามรอยคนขายพลูโตเนียมไปหลาย ๆ ประเทศ ร่วมมือกับสายลับท้องถิ่น สืบเบาะแสจากเพื่อนเก่าในวงการ หนอนบ่อนไส้ในทีม และฉากโดนจับทรมาน แต่ในภาพที่ซ้ำซาก ก็มีจุดที่ช่วยพยุงหนังไว้ได้ คือตัวตนของมิตช์ แรปป์ ที่ถูกบรรยายออกมาให้แตกต่างจากบรรดามือสังหารรุ่นพี่ทั้งหลาย  มิตช์เป็นมือสังหารไฟแรง ด้วยความที่ยังหนุ่มแน่นและมีความแค้นส่วนตัว ทำให้มิตช์มีความมุทะลุ มีเลือดบ้ารุนแรง ไม่เคยฟังหัวหน้า เชื่อมั่นในสัญชาติญาณตัวเอง แต่ด้วยความเก่งและเป็นลูกรักของไอรีน รองผู้บัญชาการCIA ก็เหมือนมีคนให้ท้ายตลอดเวลา

และด้วยลูกบ้าของมิตช์นี่แหละ ทำให้หนังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ฉากแอ็คชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ถูกประเคนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีฉากตัวละครพูดคุยจิ๊จ๊ะกันมากจุดเด่นอีกอย่างของ American Assassin ก็คือฉากต่อสู้ประชิดตัว ทั้งดีแลน และ ไมเคิล ต่างก็เล่นได้รุนแรงสมจริง ประยุกต์สิ่งของรอบตัวมาเป็นอาวุธ ในขณะที่บทนำวางนักแสดงมาได้ลงตัว แต่กับเทย์เลอร์ คิตช์ ในบทโกสต์ หลังจากได้โอกาสเป็นพระเอกมาหลายเรื่องแล้วก็ไม่เกิด เทย์เลอร์ ก็ขอลองเป็นตัวร้ายดูสักครั้งสิ  แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เวิร์คนะครับ ด้วยสรีระเทย์เลอร์ ดูเป็นอดีตทหารมากประสบการณ์ได้ แต่ในฐานะตัวร้ายสุดของเรื่องเทย์เลอร์ไม่มีความน่ากลัวเลย การปรากฏตัวแต่ละครั้งไม่รู้สึกถึงรังสีอำมหิต ยิ่งฉากเผชิญหน้ากับไมเคิล คีตัน นี่ด้อยมาก ข่มบารมีคีตันไม่ลงเลย เมื่อตัวร้ายไม่น่ากลัว ก็เลยทำให้บรรยากาศของหนังไม่ระทึกเท่าที่ควร นี่ขนาดมีระเบิดลูกโตอยู่ในมือนะ ห่างชั้นสิบเท่ากับความน่ากลัวของ เดนนิส ฮอปเปอร์ใน Speed ที่มีแค่ระเบิดลูกเล็ก ๆ ในรถเมล์ แต่ท้ายที่สุดหนังก็พาเราไปสู่จุดตูมตามในไคลแมกซ์ได้น่าพอใจ แต่ไม่ใช่เพราะการแสดง แต่เป็นเพราะภาพสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ที่ทำออกมาได้ใหญ่โต ก็ถือว่าเป็นการใช้ทุนสร้างเพียง 33 ล้านได้คุ้มเงินนะ

มิตช์ แรปป์ น่าจะหาช่องให้ตัวเองแจ้งเกิดในฐานะมือสังหารอีกคนบนโลกฮอลลีวู้ดได้สำเร็จนะ เป็นหนังสายลับอีกเรื่องที่ดูสนุก แอ็คชั่นโหด ๆ แรง ๆ จัดมาต่อเนื่อง เดินเรื่องเร็ว ไคลแมกซ์เวอร์วัง ดารานำสอบผ่าน น่าจะได้เห็นวีรกรรมภาคต่อไป ของมิตช์ แรปป์ละครับ