หลายคนอาจรู้จักเขาในแง่ของ เพลย์บอยตัวกลั่น ไอคอนแห่งผู้ชายเจ้าสำราญ หรือมหาเศรษฐีนักรักเจ้าของนิตยสารปลุกใจเสือป่าชื่อก้องโลกอย่าง Playboy แต่ในอีกมุมชีวิตหนึ่ง เขาคือดาวจรัสแสงแห่งวงการบันเทิงฮอลลีวู้ดทีเดียว และบางแง่มุมในชีวิตของเขาจะทำให้เราต้องล้างความเชื่อบางอย่างในตัวเขาด้วย เพราะจริง ๆ เขาเป็นทั้งนักคิดและนักเรียกร้องทางสังคม รวมถึงศิลปิน และประสบการณ์ชีวิตบางอย่างอาจทำให้เราต้องสงสารมากกว่าอิจฉาเขาด้วย

ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ มีชื่อเต็ม ๆ ว่า ฮิวจ์ มาร์ซัน เฮฟเนอร์ (Hugh Marston Hefner) เขาเกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1926 ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ พ่อและแม่ของเฮฟเนอร์ต่างเป็นครูทั้งคู่ หลังจากจบชั้นมัธยมเขาเข้าร่วมสงครามโลก โดยเป็นนักเขียนให้หนังสือพิมพ์ของกองทัพ และเมื่อปลดประจำการเขาก็เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้เวลา 2 ปีครึ่งก็จบหลักสูตรจิตวิทยาและการเขียนเชิงสร้างสรรค์ หลังจากนั้นเขาให้ความสนใจเรียนต่อในด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น แต่ก็เรียนไม่จบ

ในปีที่ออกจากมหาวิทยาลัยเขาได้แต่งงานกับ มิลเดรด วิลเลียมส์ (มิลลี) แฟนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม พวกเขาแต่งงานกันในปี 1949 และมีธิดาและบุตรด้วยกัน 2 คน คือ คริสตี เฮฟเนอร์ และ เดวิด ที่ต่อมาใช้ชื่อว่า เดวิด พอล

มิลลี่ กับฮิวจ์

ก่อนแต่งงาน มิลลี่ ได้สารภาพกับเฮฟเนอร์ว่าเธอเคยนอกใจเขาครั้งที่เขาไปเป็นทหาร (อาจเพราะเรื่องนี้ด้วย เฮฟเนอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่าการตัดสินใจไปเข้าร่วมกองทัพเป็นความพังพินาศที่สุดในชีวิตของเขา) มิลลี่จึงบอกให้เฮฟเนอร์ไปมีอะไรกับผู้หญิงคนอื่นได้ เพื่อที่เธอจะลบล้างความรู้สึกผิดของตนเอง และหวังว่าจะรักษาความรักให้ยั่งยืนได้ แต่พวกเขาก็หย่าขาดจากกันในที่สุดในปี 1959 หลังจากแต่งงานกันมา 10 ปี และนี่อาจเป็นแผลใจอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักรักที่ไม่ลงหลักปักฐานจริงจังยาวนานของเขาก็ได้

ด้านการงาน ในปี 1952 ปีที่คริสตี้ลูกสาวคนโตเกิด เฮฟเนอร์ซึ่งเป็นนักเขียนให้นิตยสารเอสไควร์ ได้ตัดสินใจลาออกหลังจากไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน เขากู้เงินและระดมทุนจากหลาย ๆ ทางรวมถึงแม่ของเขา เพื่อตีพิมพ์นิตยสารตามความฝันของตนเองอย่าง เพลย์บอย (Playboy)

ในเดือนธันวาคม ปี 1953 เพลย์บอยฉบับแรกได้วางแผง โดยใช้ปกเป็นภาพวาบหวิว (ในยุคนั้น) อันเป็นรูปเก่าของ มาริลีน มอนโร ซึ่งเธอถ่ายสำหรับทำปฏิทินในปี 1949 แล้วเพลย์บอยฉบับปฐมฤกษ์ก็ฮิตถล่มทลายขายไปได้กว่า 50,000 ฉบับทีเดียว (ในปี 1992 เฮฟเนอร์ซึ่งในชีวิตนี้ไม่เคยได้เจอผู้มีพระคุณทางอ้อมอย่างมอนโรตัวเป็น ๆ เลยออกเงินกว่า 75,000 เหรียญ ซื้อพื้นที่ข้าง ๆ หลุมฝังศพของมอนโรไว้ให้ตัวเองเลย)

นิตยสาร Playboy ฉบับแรก

ด้านซ้ายที่มีรอยจูบมากมาย คือหลุมศพที่เฮฟเนอร์ซื้อไว้เพื่อจะได้นอนอยู่ข้างกายมอนโร

นอกจากนี้มอนโรยังเป็นนางแบบบนปกคนเดียวที่ได้ตำแหน่ง Sweetheart of the Month ด้วย เพราะหลังจากนั้นพอฉบับที่ 2 ในเดือนมกราคม ปี 1954 นางแบบบนปกคือ มาร์กี ฮาร์ริสัน ก็ได้ถูกขนานนามว่า Playmate of the Month แทน และใช้ชื่อเพลย์เมท (Playmate) เรียกสาว ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเฟ้นมาขึ้นปกแทนนับแต่นั้นมา โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรับตำแหน่งนี้ซ้ำสอง แต่ก็มีนางแบบหลายคนที่เคยขึ้นปกหลายครั้ง โดยคอนเซ็ปต์ของเพลย์เมทนั้นจะไม่มีคนเก่าหรืออดีตเพลย์เมท เพราะ “เมื่อเป็นเพลย์เมทครั้งหนึ่งแล้ว ย่อมถือว่าเป็นตลอดไป” นับเป็นความโรแมนติกในแบบเพลย์บอยของเฮฟเนอร์ทีเดียว

นิตยสารฉบับที่ 2 กำเนิดเพลย์เมท และโลโก้เจ้ากระต่ายใส่ทักซิโด ซึ่งยังไม่ใช่แบบที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน

อีกหนึ่งเรื่องคือหลังจากความสำเร็จของฉบับแรก นิตยสารฉบับถัดมาเฮฟเนอร์เริ่มมองหาโลโก้ที่จะทำให้คนติดแบรนด์เขาง่ายขึ้น และเขาเลือก อาร์ต พอล มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์คนแรก ผู้ออกแบบโลโก้กระต่ายใส่ชุดทักซิโดเวอร์ชั่นแรกก่อนจะมาเป็นแบบที่ติดตาเราในปัจจุบัน เหตุผลที่เฮฟเนอร์เลือกกระต่ายนี้ก็เพราะ กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ในเชิงตลก ๆ และเขาก็ต้องการนำเสนอภาพลักษณ์ของนิตยสารให้ออกมาในแนวซุกซน สนุกสนาน ขี้เล่น ตามสไตล์หนุ่มเจ้าสำราญ ชั้นสูงแห่งเมืองนิวยอร์กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเฮฟเนอร์ด้วย

นั่นทำให้นอกจากเล่มแรกแล้ว เพลย์บอยจะมีเจ้ากระต่ายปรากฏเป็นโลโก้อยู่ในทุกเล่มเลย และความดังของเจ้ากระต่ายนี่ก็ดังถึงขนาดที่ว่าคนสมัยนั้นเขียนรูปกระต่ายนี้แทนการจ่าหน้าที่อยู่ถึงกองบรรณาธิการเพลย์บอยได้เลยด้วย

อาร์ต พอล

ต่อมาเฮฟเนอร์ยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดดาว 2 ดวงสำคัญในวงการด้วย หนึ่งคือ ชาร์ลส์ โบมอนต์ นักเขียนเรื่องสั้นแนวแฟนตาซีและสยองขวัญ โดยเมื่อนิตยสารเอสไควร์ปฏิเสธเรื่องสั้น The Crooked Man ของโบมอนต์ ที่ว่าด้วยเรื่องของชายแท้คนหนึ่งที่ถูกกดขี่ ในโลกอนาคตที่การรักร่วมเพศเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตัวเฮฟเนอร์นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นเสรีนิยมที่สนับสนุนสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ และสนับสนุนกลุ่มรักร่วมเพศในแง่ของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ด้วย

เขาจึงนำเรื่องสั้นของโบมอนต์มาลงเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในนิตยสารเพลย์บอยเมื่อปี 1955 และเมื่อกระแสคำวิจารณ์ก่นด่าเรื่องนี้มากเข้า เฮฟเนอร์ก็ได้ออกมาให้สติว่า “หากการกดขี่พวกรักเพศตรงข้ามในสังคมรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดแล้ว การกดขี่พวกรักร่วมเพศในสังคมของพวกรักเพศตรงข้ามจะเป็นเรื่องถูกต้องไปได้อย่างไร” และในปีนั้นเองโบมอนต์ก็ได้เข้าสู่วงการโทรทัศน์และวิทยุด้วย ต่อมาเขาก็ได้ร่วมเขียนบทตอนสำคัญ ๆ ที่เป็นตำนานในซีรีส์ที่เรารู้จักดีอย่าง Twilight Zone นั่นเอง

โบมอนต์ กับนักแสดงนำในตอน The Howling Man ของซีรีส์ Twilight Zone

อีกหนึ่งดาวที่เฮฟเนอร์ช่วยให้จรัสแสงขึ้นมาคือ คอมเมเดียนนามว่า ดิก เกรกอรี ตลกผิวสีต๊อกต๋อยที่เฮฟเนอร์ไปเจอในบาร์ที่ชิคาโกเมื่อปี 1961 เขาถูกใจดิกมากและจ้างให้มาเล่นในบาร์ชิคาโกเพลย์บอยของเขา ซึ่งกลายเป็นการเปิดตัวสู่อาชีพศิลปินตลกอเมริกันคนสำคัญของเกรกอรี่ด้วย

มุกที่เกรกอรี่เล่นให้เฮฟเนอร์ดูตอนนั้นมีอยู่ว่า

“เมื่อตอนที่ผมลงมาที่รัฐทางใต้ แล้วเข้ามานั่งสั่งอาหารในร้านแบบนี้ล่ะ พนักงานก็เดินเข้ามาบอกผมว่า ‘เราไม่เสิร์ฟคนผิวสีนะ’ ผมเลยตอบเขาไปว่า ‘ดีเลยเพราะผมก็ไม่กินคนผิวสีเหมือนกัน ไงเอาไก่ทอดมาให้ผมแล้วกันนะ’ หลังจากนั้นพอผมได้ไก่ทอดมาระหว่างที่กำลังจะใช้มีดหั่นมากิน ก็มีชายหนุ่มสามคนดูท่าไม่พอใจเดินปรี่มาหาผมแล้วขู่เสียงดังว่า ‘นี่พวกเราเตือนดี ๆ แล้วนะ อะไรที่แกจะทำกับไอ้ไก่ทอดนั่น เราก็จะทำมันแบบเดียวกันกับแกด้วย!’ ผมฟังจบก็เลยเอาไก่ทอดตรงหน้ามาจูบอย่างบรรจง แล้วหันไปบอกพวกเขา ‘เอาเลยสิ พ่อหนุ่ม”

ดิก เกรกอรี

ตรงนี้จะเห็นได้ว่าเฮฟเนอร์เป็นนักคิดนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมมาก ๆ คนหนึ่งเลยทีเดียวครับ

หลังจากมีปัญหาเรื่องสาว ๆ จำนวนมากในชีวิตตั้งแต่ช่วงปี 1960 มา โดยเฉพาะบรรดาเพลย์เมทประจำเดือนทั้งหลายที่ลือกันว่า เฮฟเนอร์จัดหนักถึง 11 จาก 12 คนที่ขึ้นปกในแต่ละปีทีเดียว (1 คนที่เหลือควรเสียใจมั้ยเนี่ย) เฮฟเนอร์ก็ประกาศขอทดลองเป็นไบเซ็กช่วลดูในปี 1971 (ซึ่งคงไม่ใช่ทางของเขานัก) และในปีเดียวกันเขาก็มาสร้างเพลย์บอยแมนชั่นแห่งใหม่ อันมีชื่อเสียงราวกับฮาเร็มส่วนตัวของเขาที่เมืองแอลเอ และย้ายมาอยู่ถาวรในปี 1975

เฮฟเนอร์ กับเพลย์บอยแมนชั่นในปี 1971

ในช่วงปี 1985 ด้วยการสำราญอย่างหนักทำให้เขามีปัญหาสุขภาพจนต้องลดดีกรีความเฟี้ยวลง และปล่อยมือจากบริษัทเพลย์บอยเอ็มไพร์ของตนเองให้ คริสตี้ ลูกสาวคนโตรับช่วงต่อในปี 1988 และพอปีถัดมาในวัย 60 ปี เขาก็เลยลองลงหลักปักฐานกับเพลย์เมทแห่งปีนาม คิมเบอร์ลีย์ คอนราด วัย 24 ปี ดูอีกรอบ เป็นการแต่งงานครั้งที่ 2 ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน คือ มาร์สตัน เกล็น และ คูเปอร์ แบรดฟอร์ด ช่วงนั้นเพลย์บอยแมนชั่นได้แปรสภาพเป็นบ้านแสนอบอุ่นของครอบครัวเดี่ยว ก่อนที่ทั้งคู่จะแยกกันอยู่ในปี 1998 ซึ่งคอนราดก็ไม่ได้หายไปไหนไกล เพียงย้ายไปอยู่บ้านหลังข้าง ๆ เพลย์บอยแมนชั่นแทน

เฮฟเนอร์กลับไปควงสาวมากหน้าอีกครั้ง ก่อนจะคบหากับ คริสตัล แฮร์ริส ที่ได้ชื่อว่า “แฟนสาวหมายเลข 1” ในปี 2008 ซึ่งระหว่างนั้นเขาก็ยังมีความสัมพันธ์กับสองพี่น้องฝาแฝด แชนนอน ด้วย แต่แล้วก็เลิกกับฝาแฝดสาวไปในปี 2010 นั่นเอง ซึ่งในปีเดียวกันเฮฟเนอร์ก็ตั้งใจลงหลักปักฐานจริงจังกับแฮร์ริสเสียที เขาจึงลงนามหย่ากับคอนราดในที่สุด โดยเขาบอกว่าที่ผ่านมาไม่ได้หย่าก็เพื่อลูก ๆ ของเขาซึ่งบัดนี้ก็โตพอที่จะดูแลตนเองได้แล้ว

เฮฟเนอร์ถ่ายร่วมกับลูกชายทั้ง 3 ของตนเอง ไล่จากซ้าย คูเปอร์ มาร์สตัน และเดวิด

ปลายปี 2010 นั้น เขาก็หมั้นกับแฮร์ริสและมีแผนแต่งงานในวันที่ 18 มิถุนายน 2011 แต่เหมือนฟ้าแกล้งเพียง 5 วันก่อนวันแต่ง แฮร์ริสก็เป็นฝ่ายขอถอนหมั้น ปล่อยปู่เฮฟเนอร์ในวัย 86 ปีกลายเป็นคนที่น่าสงสารสุดแห่งปี เพราะนิตยสารเพลย์บอยฉบับเดือนกรกฎาคม ซึ่งขึ้นปกเป็นรูปแฮร์ริส พร้อมข้อความ “ขอแนะนำเจ้าหญิงของอเมริกา นางคริสตัล เฮฟเนอร์” ที่หวังจะเป็นการฉลองการแต่งงานแบบสุดยอดโรแมนติกของเฮฟเนอร์กับแฮรร์ริส ก็ถูกส่งไปถึงทั่วอเมริกาก่อนเสียแล้ว T_T

พ้นจากเรื่องเศร้า ๆ กลับมาว่าด้วยผลงานในวงการบันเทิงของเฮฟเนอร์กันดีกว่า

ขอย้อนไปในปี 1959 เป็นปีที่เฮฟเนอร์เริ่มเข้าสู่วงการโทรทัศน์โดยทำรายการทีวีในสไตล์นิตยสารเพลย์บอยอย่าง Playboy’s Penthouse (1959–1960) และต่อมาก็มีรายการ Playboy After Dark (1969–1970) ด้วย ในช่วงปีเหล่านี้เฮฟเนอร์โด่งดังเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นมากด้วยอิทธิพลของโทรทัศน์ โดยเฉพาะปี 1965 เขายังได้ร่วมเป็นนักแสดงรับเชิญเล่นในซีรีส์เรื่อง Burke’s Law โดยรับบทผู้จัดการบันนี่บาร์ด้วย

หลังจากนั้นเขาก็ได้เล่นซีรีส์ในฐานะนักแสดงทั้งบทบาทสมมติและเป็น ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ อีก 16 เรื่องจนถึงปี 2008 ก็ได้ปรากฏตัวเล่นเป็นตัวเองในซีรีส์ Shark เป็นซีรีส์เรื่องสุดท้าย

เฮฟเนอร์ในกองถ่ายรายการ Playboy’s Penthouse

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับรายการโทรทัศน์และหนังฉายทางโทรทัศน์อีกนับไม่ถ้วน เริ่มตั้งแต่ปี 1973 กับหนังโทรทัศน์เรื่อง The Third Girl from the Left เป็นเรื่องแรก และ Bullets Over Hollywood หนังสารคดีโทรทัศน์ในปี 2008 ก็เป็นเรื่องสุดท้ายของเขา

โดยรายการโทรทัศน์ที่โด่งดังมาก ๆ อีกรายการหนึ่งที่เฮฟเนอร์อำนวยการสร้างก็คือ The Girls Next Door หรือที่มีบางคนเรียกว่า รายการเหล่าเด็กสาวแห่งเพลย์บอยแมนชัน โดยเป็นเรียลลิตี้โชว์ที่ถ่ายบรรดาแฟนสาวของเฮฟเนอร์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับปู่เฮฟเนอร์ในเพลย์บอยแมนชันนั่นเอง รายการนี้ออกอากาศตั้งแต่ปี 2005 ถึงปี 2010 มีจำนวนตอนถึง 90 ตอนเลยทีเดียว

ด้วยผลงานด้านโทรทัศน์ที่แสนโดดเด่น เฮฟเนอร์ได้รับเกียรติจารึกชื่อในดาวเกียรติยศ วอล์ค ออฟ เฟม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1980 หรือวันเกิดปีที่ 54 ของเขานั่นเอง

ส่วนด้านวงการภาพยนตร์นั้น เฮฟเนอร์เริ่มมามีส่วนร่วมครั้งแรก ในปี 1971 โดยเป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับหนังของ โรมัน โปลันสกี เรื่อง The Tragedy of Macbeth ก่อนจะได้เป็นนักแสดงในภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1981 ในหนังแนวตลกเสียดสีประวัติศาสตร์โลกเรื่อง History of the World: Part I ของ เมล บรูกส์ โดยรับเชิญในบทเจ้าของกิจการในมหานครโรมัน

หลังจากนั้นเฮฟเนอร์ก็ทิ้งช่วงยาว ก่อนจะมารับบทประธานาธิบดีสหรัฐในหนังปี 2000 เรื่อง Citizen Toxie: The Toxic Avenger IV  และต่อมาในปี 2004 เขาก็ได้มาเล่นเป็นตัวเองอีกครั้งในหนังลงแผ่นของผู้กำกับ มาร์ก ฮามิลล์ หรือ เจได ลุก สกายวอล์กเกอร์ นั่นล่ะ กับหนังตลกแนวสารคดีปลอมเรื่อง Comic Book: The Movie

ภาพ จอน ฟินช์ ผู้รับบทแมคเบธ จะเห็นเสื้อคลุมที่มีโลโก้ของเพลย์บอย

เฮฟเนอร์กับการแสดงหนังครั้งแรก

ส่วนหนัง 2 เรื่องสุดท้ายในฐานะนักแสดงของเฮฟเนอร์ ก็คือ Miss March (2009) และให้เสียงในแอนิเมชั่นเรื่อง Hop (2011) โดยเฉพาะ Miss March นั้น เฮฟเนอร์ถึงกับได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดแย่ ราซซี่อวอร์ด จากการเล่นเป็นตัวเองเลยด้วย แต่เจ้าตัวก็แก่เก๋าพอ แถมยังออกมาให้สัมภาษณ์ตลก ๆ ด้วยว่า “สงสัยผมจะไม่ค่อยเข้าใจไอ้ตัวละครนี้เท่าไหร่น่ะ” (เดี๋ยว ๆ พี่เล่นเป็นตัวเองนะ 555) 

เฮฟเนอร์กับสองนักแสดงนำใน Miss March

คุณานุคุณยิ่งใหญ่ต่อวงการหนังอีกอย่างของเฮฟเนอร์คือ การที่เขาเป็นโต้โผในการจัดงานระดมเงินบริจาคเพื่อซ่อมบำรุงป้ายสัญลักษณ์ Hollywood ที่เพลย์บอยแมนชั่นของตนเองในปี 1978 โดยยังสมทบทุนบริจาคไปถึง 1 ใน 9 ส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือราว ๆ 27,000 เหรียญเลยด้วย

นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้บริจาคเงินกว่า 1 แสนเหรียญให้วิทยาลัยศิลปะภาพยนตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอเนียเพื่อเปิดคอร์สที่ชื่อว่า การศึกษาการเซ็นเซอร์ในงานภาพยนตร์ ทั้งยังบริจาคเงินอีกกว่า 2 ล้านเหรียญให้กับการศึกษาด้านภาพยนตร์อเมริกันแก่สถาบันต่าง ๆ อีกด้วย

แต่หากพูดถึงงานในแวดวงฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ของเขาแล้วคงต้องนึกถึงหนังแผ่นตระกูล Playboy สารพัดชื่อห้อยท้ายที่มีออกมามากกว่าร้อย ๆ เรื่องนั่นล่ะครับ จนในปี 2003 เขาถึงกับได้รับตำแหน่ง 1 ใน 50 ผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการหนังโป๊เลยทีเดียว

นอกจากนั้นเขาก็ยังอำนวยการสร้างให้พวกงานสารคดีที่วน ๆ เวียน ๆ อยู่กับเรื่องผู้หญิงอันเป็นจุดขายสำคัญของเฮฟเนอร์ด้วย โดยเฉพาะช่วงหลังเขาให้ความสนใจด้านหนังสารคดีเป็นพิเศษ โดยมีสารคดีเรื่อง Be Natural: The Untold Story of Alice Guy-Blaché ที่อยู่ในขั้นตอนโพสต์โปรดักชัน เป็นผลงานการอำนวยการสร้างเรื่องสุดท้าย

หนึ่งในปกเทป VHS ตระกูล Playboy

ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ ดวงดาวแห่งฮอลลีวู้ด ณ บล็อกที่ 70000 ถนนฮอลลีวู้ด ได้จากไปในวันที่ 27 กันยายน 2017 รวมอายุได้ 91 ปี เป็นอีกหนึ่งหน้าตำนานสำคัญในฮอลลีวู้ดที่จากไปในปีนี้ครับ