ทุก ๆ ปี สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติจะคัดเลือกหนังไทย 1 เรื่อง มาเป็นตัวแทนประเทศไทยในการส่งเข้าไปชิง รางวัลออสการ์ สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งต้องเข้าไปฟาดฟันกับหนังอีกเกือบ 200 เรื่องจากทั่วโลก อย่างปีก่อนก็เป็นหนังเรื่อง อาปัติ และสำหรับในปีนี้ได้เลือกหนังรางวัลสุพรรณหงส์ยอดเยี่ยมเรื่อง ดาวคะนอง ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ เป็นตัวแทนประเทศ

ผู้กำกับ ใหม่-อโนชา

ดาวคะนอง จะให้พูดไปคือหนังที่ว่าด้วยเรื่องของ การรื้อสร้างการจัดทำสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ในสังคมไทย โดยที่นี้เลือกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการก่อร่างความทรงจำหรือบันทึกเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือถ้าจะยกเหตุการณ์อื่นอย่าง เมื่อปี 2538 พ่อกำชับกับเปี๊ยกให้ไปบอกแม่ด้วยว่าเย็นนี้จะกลับบ้านดึกเพราะติดประชุม โดยมาใช้วิธีเล่าของหนังเรื่องนี้ก็จะได้ประมาณว่า

  • ปี 2560 จ๊อดหลานของเปี๊ยกเล่าเรื่องปี 2538 ให้ฟังโดยยกเหตุการณ์เมื่อปีกลายที่น้าแป้งข้างบ้านได้มาเล่าให้จ๊อดฟังว่า ป๊อดลูกของเปี๊ยกหรือก็คือพ่อของจ๊อดเคยเล่าให้น้าแป้งฟังว่าเมื่อตอนปี 2538 เกิดอะไรขึ้น โดยแป้งจินตนาการในหัวเวลาเล่า สมมติให้ออยคนขายลูกชิ้นปิ้งหน้าปากซอยเป็นแม่เปี๊ยกและลุงตู่คนขับแท็กซี่เป็นพ่อเปี๊ยก เพราะแป้งไม่เคยเจอพ่อและแม่เปี๊ยก ส่วนจ๊อดยิ่งแล้วใหญ่เขาต้องนึกเอาครูบังอรเป็นย่าทวดส่วนครูสมานก็เป็นปู่ทวดของตัวเอง เพราะเขาก็เกิดไม่ทันเห็นปู่ทวดย่าทวด

ซึ่งมาถึงตอนนี้คนที่ฟังจ๊อดมาตลอดก็จะพบว่าเราก็มีภาพในหัวของเรา โดยอาจยกเอาหน้าตาของใครสักคนในชีวิตมาจำลองในเหตุการณ์เมื่อปี 2538 ประเด็นเพราะว่าเราไม่เคยเจอพ่อแม่เปี๊ยกหรือแม้แต่เปี๊ยกเอง หนำซ้ำที่หนักข้อและเป็นประเด้นสำคัญหนึ่งในหนังคือบ้านของเปี๊ยกไม่มีใครถ่ายรูป หรือเขียนบันทึกแบบละเอียดไว้เลย เหมือนทุกคนอยากลืม ๆ ไปว่ามีเหตุการณ์วันนั้นเมื่อปี 2538 ไปเสีย ซึ่งจริง ๆ เราก็พอทราบมาบ้างว่าเพราะวันนั้นแม่เปี๊ยกจับได้ว่าพ่อซุกเมียน้อยจนหย่าขาดกันในที่สุดนั่นเอง

นั่นก็เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน ดาวคะนอง ที่ไม่ได้เล่าเรื่องอดีตโดยตรง แต่เล่าว่าตอนนี้จ๊อดหรือแม้แต่คนที่ฟังลำดับสุดท้ายมีการรับรู้เรื่องราวมาผ่านแต่ละลำดับมาอย่างไร แต่ละลำดับคนที่ฟังคิดอย่างไรเป็นอย่างไร และนำเสนอยั่วให้คิดว่าแล้วจะเชื่ออะไรดีไหมในเรื่องเล่าเหล่านั้นที่ไม่ได้มาจากพ่อกับแม่ของเปี๊ยกเองด้วยซ้ำ ซึ่งนี่คือการวิพากษ์การเขียนประวัติศาสตร์ของไทย ที่อาศัยการตีความของคนหลายรุ่นมากกว่าจะใช้หลักฐานทางโบราณคดีแบบที่สากลเขานิยมทำกัน

ฉากเปิดเรื่องที่ถ่ายทีมงานทำหนังซ้อนหนังบวงสรวงเปิดกล้องใน ดาวคะนอง

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่หนังเล่าเรื่องในแบบสามัญสำนึกของคนดูหนังทั่วไปที่มีพระเอกนางเอก ตัวร้าย อุปสรรค ความขัดแย้งหรือไคลแม็กส์แบบที่คุ้นชินนัก จะจัดประเภทเป็นหนังทดลองก็ยังดูเข้าเค้ากว่า ดังนั้นถ้าถามว่าหนังเล่าเรื่องอะไรเราคงเล่าแบบได้แค่เหตุการณ์ในภาพที่เราเห็น ส่วนถามว่าหนังบอกเล่าอะไร คงแล้วแต่การตีความประสบการณ์ของแต่ละคน ในที่นี้คือประสบการณ์ความเข้าใจต่อช่วงยุคมืดในการเมืองไทย ใครดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่องจึงไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด

และสำหรับใครที่ไม่รู้ว่า 6 ตุลาคม เกิดอะไรขึ้น หนังก็ได้เล่าบางส่วนของมันให้รับทราบกันในช่วงต้นของหนัง เมื่อผู้กำกับหนังสารคดีในเรื่องได้สัมภาษณ์อดีตผู้นำนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมในยุคนั้น จนในท้ายสุดเหล่านักศึกษาถูกกองกำลังจัดตั้งรวมทั้งทหารตำรวจกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วล้อมปราบยิงฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งเราไม่บันทึกเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากนี้ในประวัติศาสตร์ไทยอย่างเป็นทางการเช่นกัน

ฉากเบื้องหลังทีมงานในหนังซ้อนหนัง จำลองเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

และเพียงพาร์ทเดียวที่เล่าเรื่องอดีตในหนังนี้เองที่เป็นปัญหาให้ งานกิจกรรมชมหนังและเสวนาวิพากษ์ภาพยนตร์ โดย Doc Club Theater ถูกเจ้าหน้าที่สั่งยกเลิกไป ทั้ง ๆ ที่เป็นส่วนน้อยมากในหนัง ทั้งหนังทั้งเรื่องก็ยากจะหาคนดูเข้าใจแบบทั้งหมดได้ยากเพราะเต็มด้วยสัญญะ การตัดต่อเหตุการณ์ที่อิงกับโครงสร้างการเขียนประวัติศาสตร์ตามที่ได้เล่าไปมากกว่าลำดับเวลาด้วย แต่ในขณะเดียวกัน กิจกรรมรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ซึ่จัดฉายหนังเรื่องนี้ ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เช่นกัน กลับไม่ถูกสั่งห้ามฉายแต่อย่างใด ยิ่งว่าหนังเพิ่งจะได้ทำลงแผ่นดีวีดีวางขายทั่วประเทศในวันเดียวกันด้วยแล้ว

ทั้งนี้เดาได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ได้มีปัญหากับตัวหนังเป็นพิเศษอะไร เพราะหนังก็ผ่านการฉายมามากมายแล้วทั้งในโรงหนัง เทศกาลหนัง จนได้รับรางวัลมามากมายแล้วด้วย หากจะมีปัญหาอาจเป็นตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมงานของทาง Doc Club Theater เสียมากกว่าว่าอยู่ในกลุ่มที่เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความเคลื่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพียงการคาดเดาจากเราครับ

โดยตัวหนังเองส่วนตัวก็พูดยากว่าควรส่งไปชิงออสการ์หรือไม่ เพราะมันไม่ใช่หนังแนวออสการ์ที่เน้นเข้าใจง่ายกว่านี้แต่อย่างใด ทั้งยังเป็นเรื่องแบบที่คนไทยเท่านั้นถึงจะอินได้ด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าหนังมีคุณค่าในเชิงศิลปะอยู่มาก แม้จะเดินตามรอยของหนังแนวอินดี้ไทยในเรื่องฟอร์มมากไปก็ตาม

เอาเป็นว่าใครสนใจหนังแนวทดลองที่ใช้เซลล์สมองเราได้ครบทุกหยักก็ลองไปหาดูจากร้าน Boomerang ผู้ผลิตดีวีดีหนังเรื่องนี้เอาได้ครับ แต่ก็ต้องเตือนว่าหนังไม่ใช่หนังดูเอาสนุกหรือดูเอารู้เรื่องนะครับ 555

Play video