[สัปดาห์นี้มีอะไรฟัง]  มีอัลบั้มออกใหม่ที่น่าสนใจมาแนะนำให้เพื่อนๆได้ฟังกันเพลินๆในช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้ครับ แต่ต้องบอกว่าอัลบั้มออกใหม่ในสัปดาห์นี้ไม่มีอัลบั้มแบบเมนสตรีมเลย ส่วนใหญ่จะเป็นวงอินดี้ทั้งในระดับปานกลาง จนไปถึงอินดี้มาก ซึ่งบางคนฟังแล้วอาจจะไม่คุ้นอยู่บ้าง แต่ที่นำมาแนะนำเพราะเชื่อว่า งานเพลงทั้งสี่อัลบั้มในสัปดาห์นี้ล้วนแล้วแต่มีดีในทางของตัวเอง บางอัลบั้มถือว่าเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดอย่างยิ่งเลยครับ จะมีอัลบั้มอะไรบ้างนั้นไปดูกันครับ


“The Ceiling” – JAWS

The Ceiling” เป็นผลงานล่าสุดของวงดรีมป็อปทรีโอจากเบอร์มิ่งแฮม ที่ชื่อเหมือนหนังฉลามจอมโหดของสปีลเบิร์ก “JAWS”  เป็นอัลบั้มที่อาจกล่าวได้ว่าพีคที่สุดของพวกเขา ขณะนี้  มันมีส่วนผสมของทั้งความป็อป ความร็อค ความหลอน และความล่องลอย ที่มารวมกันอย่างลงตัวเพื่อถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของผู้คนในยุคนี้ทั้งความเหินห่างโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา ความกังวลแต่ไม่ไร้ซึ่งความหวัง และความแปลกแยกอันฉวยจับไว้ด้วยอารมณ์อันเข้มข้น

ต้องบอกว่า “The Ceiling” เป็นอัลบั้มที่ฟังเพลินมาก หากใครที่ชอบดนตรีลอยๆ ฟุ้งๆ แต่ไพเราะ รวมไปถึงไลน์กีตาร์ที่โดดเด่นในแบบฉบับของดรีมป็อปอยู่แล้วจะต้องชอบอัลบั้มนี้แน่นอน

“Driving At Night”  กับ “The Ceiling” เป็นสองแทร็คแรกที่แนะนำให้ฟัง  แทร็คแรกอาจจะมีความเข้มข้นของดนตรีร็อคมากหน่อย เหมาะแก่การเป็นเพลงเปิดอัลบั้ม ที่ขับดันพลังในใจให้พลุ่งพล่าน ส่วนแทร็คหลังมาในท่วงทำนองที่นุ่มนวลกว่า กับไลน์กีตาร์สวยๆ เสียงร้องสบายๆท่ามกลางบรรยากาศล่องลอย  ชวนผ่อนคลาย

“Feel” เป็นอีกเพลงหนึ่งที่น่าสนใจ การเรียบเรียงสัดส่วนทางดนตรีทำได้น่าสนใจ  ฟังแล้วสะใจมันมาก

ต่อด้วย “Do You Remember” ที่มีความเข้มข้น เร้าใจ ผลักดันอารมณ์ให้พลุ่งพล่านได้เป็นอย่างดี

แต่หากอยากได้อารมณ์หลอนๆหน่อยก็ต้อง “Fear” (ชื่อเพลงก็บอกอยู่แล้ว)

ต้องบอกว่าน่าสนใจทุกแทร็คเลยจริงๆ ซึ่งมันวาไรตี้มาก ไม่ซ้ำซากน่าเบื่อเลย เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ดีของปีนี้เลยครับ

Play video

ฟัง “The Ceiling”

Apple Music  

Spotify 


“Titanic Rising” – Weyes Blood 

นี่คืออัลบั้มที่หลายสำนักในยุทธจักรดนตรี ต่างยกย่องว่ายอดเยี่ยม แต่หากจะให้นิยามว่าTitanic Rising” ซึ่งเป็นงานเพลงสุดอินดี้อัลบั้มที่สี่จากศิลปินอินดี้สาว  Weyes Blood (ซึ่งมีชื่อจริงว่า Natalie Mering ) นั้นเป็นอย่างไร เรามาดูเธอให้คำตอบดีกว่า ซึ่งเธอบอกว่ามันคือ “The Kinks  ประทะสงครามโลกครั้งที่สอง Bob Seger ปะทะ Enya” นี่มันอะไรกันเนี่ย ?

คงต้องบอกว่างานเพลงชุดนี้แจ่มจรัสมาก  แรกสุดเลยคือน้ำเสียงของเธอที่ชวนให้เราคิดถึงศิลปินหญิงผู้ลุ่มลึกในห้วงอารมณ์อันน่าลุ่มหลงอย่าง   Kate Bush , Joni Mitchell  หรือ Julia Holter ได้เมื่อแรกฟังเลยทีเดียว ส่วนในด้านดนตรีนั้น  “Titanic Rising” ได้ก้าวไกลไปกว่างานเพลงในอัลบั้มก่อนๆด้วยองค์ประกอบที่มีความ cinematic ขึ้น ลุ่มลึกและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อันละเอียดอ่อน หนักแน่นแต่ชวนหวามไหว ซึ่งเธอตั้งใจให้เนื้อหาของเพลงในอัลบั้มนี้กระตุ้นให้ผู้คนครุ่นคิดถึงความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายที่พวกเรากำลังประสบอยู่แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องประกอบไปด้วยความรู้สึกของการมีอยู่ ความหวังและจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งเธอหวังว่าเราจะยิ้มได้แม้ในช่วงเวลาที่เลวร้าย และรู้สึกขอบคุณให้กับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะชีวิตยังคงสวยงาม” (นี่มันเพลง Bodyslam นี่ 555)

หากอยากรู้ว่า Weyes Blood ทุ่มเทให้กับการทำงานเพลงชิ้นนี้ขนาดไหน ดูแค่ปกอัลบั้มก็น่าจะเข้าใจ เพราะเธอเล่นจัดเซ็ตฉากเป็นห้องนอนที่ตกแต่งไว้สวยงามเรียบร้อย แล้วปล่อยน้ำเข้าไปจนเต็ม พร้อมเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย แถมยังมีผ้าม่านปลิวพลิ้วและแสงส่องสว่างใสมาจากหน้าต่างสร้างบรรยากาศที่ชวนฝันและฉงนฉงายไปในคราวเดียวกัน อีกทั้งชวนให้นึกถึงเรือไททานิคที่จมลงไปใต้ท้องน้ำ แถมเข้าคอนเซปของงานเพลงที่พูดถึงการมีแสงสว่างสดใสในยามประสบปัญหาใหญ่ในชีวิตอีกด้วย  มันช่างลุ่มลึกและสุดล้ำเหนือจินตนาการจริงๆ (ซึ่งความทุ่มเทและละเอียดอ่อนนี่ยังลามไปถึงการทำ MV ที่ต้อง 4K เท่านั้นด้วยแถมยังได้อารมณ์ ได้รสชาติราวกับชมภาพยนตร์สั้นดีๆ) 

ขอเชิญเสพย์ผลงานอันลึกลับ ลุ่มลึก ละเอียดอ่อน หนักแน่น นุ่มนวล พลิ้วไหว อันน่าประทับใจและใหลหลง ของ Weyes Blood  ได้เลยครับ

Play video

ฟัง  “Titanic Rising”

Apple Music 

Spotify   


What’s It Like Over There?” – Circa Waves

Circa Waves เป็นวงอินดี้ร็อคสี่ชิ้นจากลิเวอร์พูล ที่ออกผลงานมาแล้วถึง 3 อัลบั้ม ในช่วงเวลา 6 ปี พวกเขาเปิดตัวด้วย Young Chasers (2015) กับงานเพลงในแนวอินดี้ร็อคอันสดสว่าง ก่อนที่จะเริ่มหม่นมืดลงกับงานเพลงที่มีเนื้อหาที่หนักขึ้นในอัลบั้มที่สอง Different Creatures (2017) ก่อนที่จะมาสู่ความป็อปจ๋า ติดหูแต่แกรนด์ขึ้นในงานเพลงอัลบั้มล่าสุด  What’s It Like Over There?(2019) เรียกได้ว่า รสชาติไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละอัลบั้ม

 What’s It Like Over There? ได้  Alan Moulder ที่เคยโปรดิวซ์ให้กับ Foals, The Killers มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ให้  โดยจับเอาอิทธิพลทางดนตรีในยุคคลาสสิคร็อคมาผสานเข้ากับดนตรีป็อปแบบแกรนด์ๆภายใต้เอกลักษณ์ของ Circa Waves จนออกมาเป็นบทเพลงที่ป็อป ติดหู และฟังง่ายที่สุดในผลงานทั้งหมด 

งานเพลงทั้ง 10 เพลงในอัลบั้มนี้ (มีความยาวรวมแค่ 31 นาทีเท่านั้น เฉลี่ยเพลงละ 3 นาที สั้น กระชับ ตามสไตล์เพลงป็อปยุคนี้เลย) เกิดจากองค์ประกอบทางดนตรีจากหลากหลายแนว นู่นนิดนี่หน่อย มาผสมผสานกันในแนวทางหลักๆคือป็อป ดังนั้นคอป็อปทั้งหลายน่าจะถูกใจ แต่คออินดี้สายแข็งอาจรู้สึกเลี่ยนๆนิดๆ แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็คืออีกหนึ่งพัฒนาการของวงดนตรีที่มีคุณภาพอีกวงหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย แถมมีแววว่าปีนี้อาจจะมาเล่นคอนเสิร์ตในบ้านเราด้วย

Play video

ฟัง  “What’s It Like Over There?”

Apple Music

Spotify


“Laylet El Booree” – IFRIQIYYA ELECTRIQUE

อัลบั้มนี้เป็นอะไรที่ดุเด็ด เผ็ดมันมาก แปลกใหม่สุดๆ ไม่เคยเจออะไรแบบนี้เลย  ดูเหมือนว่าชื่อ “Ifriqiyya Electrique” จะได้บอกแล้วว่าแนวดนตรีของวงจะมุ่งไปยังทิศทางใด หนึ่ง “Ifriqiyya” นั้นเป็นชื่อของดินแดนในยุคกลาง ที่ปัจจุบันคือตูนิเซียส่วนคำว่า “Electrique” ก็คืออิเล็คทรอนิค ผลงานของ Ifriqiyya Electrique”  จึงเป็นส่วนผสมของดนตรีชนเผ่าโบราณ นั่นคือท่วงทำนองแห่งชาว Banga” ซึ่งคำว่า “Banga” ในภาษาตูนิเซียแปลว่าเสียงอันดังกึกก้องซึ่งไม่แปลกเลย หากเราจะรู้สึกได้ถึงเสียงอันครึกครามที่ทำให้ใจเราเต้นโครมครามเมื่อได้ฟังท่วงทำนองอันลี้ลับทรงพลังของชนเผ่าที่ผสมไว้ด้วยองค์ประกอบแห่งความร่วมสมัย นั่นก็คือ ซาวด์ดนตรีอิเล็คทรอนิคนั่นเอง อาจจะงงไปเลยว่าสองอย่างนี้มาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และดีงามมากเสียด้วย

วงดนตรีห้าชิ้นที่ชื่อว่า “Ifriqiyya Electrique” นี้เกิดขึ้นจากอุดมการณ์  ความตั้งใจของ Gianna Greco และ François R. Cambuzat  ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรีโพสต์พังค์มาก่อน ทั้งคู่มีความปรารถนาที่จะเดินทางไปยังทะเลทรายในแถบประเทศตูนิเซียได้แก่ Djerid และ ซาฮาร่า เพื่อศึกษาพิธีกรรมของชนเผ่า Banga ซึ่งเป็นชนเผ่าประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาได้เดินทางศึกษา ค้นคว้า  เรียนรู้ และบันทึกเป็นภาพยนตร์ไว้ พวกเขาได้ค้นพบความมหัศจรรย์มากมาย และสุดท้ายผลงานที่ออกมามันคือบทเพลงที่หลอมรวมทุกสิ่งไว้ด้วยกัน วิถีชีวิต ผู้คน ดนตรี จิตวิญญาณ

คำว่า “Laylet El Booree”  อันเป็นชื่ออัลบั้มที่สองของวง “Ifriqiyya Electrique”นั้นมีความหมายว่าค่ำคืนแห่งความบ้าคลั่งอันมีที่มาจากพิธีกรรมหนึ่งของชาว Banga ที่เสมือนหนึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิตคน เป็นค่ำคืนที่จิตวิญญาณจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับร่างเพื่อก่อกำเนิดชีวิตอันสมบูรณ์ เฉกเช่นเดียวกันกับงานเพลงทั้ง 10 ในอัลบั้มนี้ที่เกิดขึ้นจากการฟิวชั่นกันระหว่างท่วงทำนองของดนตรีในพิธีกรรมทางแถบทะเลทราย Djerid ,ซาฮาร่า และ ตูนิเซีย  กับ บีทอันหนักแน่น ซาวด์อิเล็คทรอนิค และ เสียงจากกีตาร์อันร้อนแรง อันมีส่วนผสมของแนวดนตรีอันหลากหลาย มีมาตั้งแต่นอยซ์มิวสิค ดนตรีแนวทดลอง อินดัสเทรียล เทคโน เวิร์ดมิวสิค ฮิปฮอป อิเล็คทรอนิคแดนซ์ จนมาถึงเมทัล (นี่มันอะไรกัน!!!) จนก่อกำเนิดเป็นบทเพลงอันมหัศจรรย์ที่หากใครได้ฟังจะรู้สึกราวกับผ่านพิธีกรรมอันลี้ลับ ที่จะนำพาเราไปสู่มิติใหม่ที่ไม่เคยพานพบมาก่อนเลยในชีวิต มันทั้งกระตุ้น เขย่า  ปลุกเร้าธาตุทั้งหลายในร่างกาย เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ในการฟังเพลงจริงๆ นี่มันช่างบ้าดีเดือดแท้ ลองเปิดฟังสักทีแล้วจะติดใจครับ รับประกันความมันและแปลกใหม่เลยครับอัลบั้มนี้

Play video

Play video

ฟัง  “Laylet El Booree”

Apple Music

Spotify