[รีวิว] When They See Us: อยุติธรรมโดยรัฐ คืออาชญากรรมที่โหดเหี้ยมที่สุด
Our score
9.3

When They See Us

จุดเด่น

  1. สร้างจากเรื่องจริง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้น่าติดตามสุด ๆ
  2. สะเทือนใจ และให้ข้อคิดในการมองสังคมดีมาก
  3. งานสร้าง งานแสดง คุณภาพระดับออสการ์

จุดสังเกต

  1. คงมีล่ะ แต่นึกข้อไม่ดีหลัก ๆ ไม่ออก
  • ความสมบูรณ์ของบท

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    9.5

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • ความน่าติดตาม หยุดดูไม่ได้

    9.0

  • คุ้มเวลาดู

    10.0

เรื่องย่อ

“สายตาแห่งอคติ (When They See Us)” สร้างจากเรื่องจริงที่สะเทือนใจไปทั้งประเทศ ตีแผ่คดีจับกุมวัยรุ่นหลากผิวสีที่เรียกกันว่า “เซ็นทรัลพาร์คไฟฟ์” ซึ่งถูกตัดสินคดีข่มขืนที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ลิมิเต็ดซีรีส์ 4 ตอนเรื่องนี้จะมุ่งประเด็นไปที่กลุ่มวัยรุ่น 5 คนจากฮาร์เล็ม ประกอบไปด้วย แอนทรอน แม็คเครย์, เควิน ริชาร์ดสัน, ยูเซฟ ซาลาม, เรย์มอนด์ ซานแทนา และคอรี่ย์ ไวส์ เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1989 เมื่อวัยรุ่นกลุ่มนี้ถูกนำตัวไปสอบสวนคดี และดำเนินเรื่องต่อไปอีก 25 ปีจนถึงการพ้นความผิดในปี 2002 และการระงับคดีในนครนิวยอร์กปี 2014

Play video

ลิมิเต็ดซีรีส์สุดหดหู่ของเน็ตฟลิกซ์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและร่วมเขียนบท ของ เอวา ดูเวอร์เนย์ ผู้กำกับสาวผิวสีมากฝีมือที่เคยส่งหนัง Selma เข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมออสการ์ปี 2015 และเธอเองก็มีชื่อเข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำในปีเดียวกันมาแล้ว และสำหรับคอหนังตลาดหนังฮีโร่ หนังเรื่องนี้จะช่วยพิสูจน์ว่าเธอจะมีฝีมือการนำเสนอเรื่องราวสุดมืดมนได้ดีขนาดไหน เพราะเร็ว ๆ นี้เธอยังจะได้กำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่แบบดาร์ค ๆ ของค่ายดีซีอย่าง The New Gods ด้วย (แม้จะแป้กกับเรื่องก่อนหน้าที่ไปทางสดใสอย่าง A Wrinkle in Time (2018) ก็ตาม)

ซีรีส์ยังรวมดารามากฝีมือที่ใส่พลังดราม่ากันไม่ยั้งทั้งสีหน้าแววตา จนเราสั่นสะเทือน อิน ไปกับตัวละคร ทั้งยังเป็นการแจ้งเกิดให้ดาราเด็กหลายคน ทั้ง คาลีล แฮริส, อีธาน เฮริส, มาร์คิส โรดริเกซ โดยเฉพาะ อซานเต้ แบล็คค์ ที่แม้เล่นเป็นเรื่องแรกแต่น่าจดจำมาก และอีกคนคือ จาร์เรล เจโรม ที่เคยแสดงประกอบหนังออสการ์อย่าง Moonlight ก็โชว์ฉากขายของตัวเองที่เล่นให้เห็นพัฒนาการตั้งแต่เด็กยันโตได้โดดเด่นมาก ดารารุ่นเก๋าก็อัดมาตั้งแต่ ไมเคิล เค. วิลเลียมส์ (เข้าชิงรางวัลเอมมี) เวรา ฟาร์มิกา (เข้าชิงรางวัลออสการ์) จอห์น เลอกิซาโม่ (เจ้าของรางวัลเอมมี) เฟลิซิตี้ ฮัฟฟ์แมน (เข้าชิงรางวัลออสการ์และได้รับรางวัลเอมมี) นีซี่ แนช (เข้าชิงรางวัลเอมมี) แบลร์ อันเดอร์วูด (เจ้าของรางวัลเอมมีและเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 2 ครั้ง) คริสโตเฟอร์ แจ็คสัน (เจ้าของรางวัลเอมมี รางวัลแกรมมี และรางวัลโทนี) เรียกว่าล้นหลามหายห่วงเรื่องคุณภาพการแสดง

นี่เป็นซีรีส์ที่ต้องยอมรับว่าไม่ได้ตั้งตัวตั้งใจมารับความหดหู่หนัก ๆ เลย ทราบเพียงว่าสร้างมาจากเรื่องจริงที่ดังมาก ๆ ที่อเมริกา แต่ก็ไม่ได้ลองหาข้อมูลก่อนดูกะว่าค่อย ๆ รู้ไปก็ดี นั่นจึงทำให้ได้รับประสบการณ์เดียวกับเหล่าตัวละครที่ชีวิตมีไปแบบมืดบอดไม่รู้สี่รู้แปดกับอนาคตของตัวเอง กลายเป็นความอินแบบเกือบหยุดดูกลางคันเพราะรู้สึกจิตตกไปกับเรื่องราวของพวกเขามาก ๆ แต่ก็ดูจนจบและพบว่านี่เป็นซีรีส์ขนาดสั้นที่ควรคู่แก่คะแนน 9/10 จากเว็บ imdb และ 94% มะเขือเทศสด ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ 8.35/10 จากเว็บ Rotten Tomatoes โดยแท้จริง

ความงามของซีรีส์ คือ เรื่องราวที่เรียงร้อยมาแบบพอดี 4 ตอนคือแทบไม่มีช่วงตก โอเคยอมรับว่าตอนที่ 1 ใช้เวลาปูเรื่องภูมิหลังของแต่ละตัวละครพอสมควร แต่พอเข้าเรื่องราวคดีความเท่านั้นล่ะ เราก็แทบหยุดความอยากรู้ไม่ได้เลย เมื่อเด็กชายผิวสี 5 คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนถูกตำรวจเรียกมาสอบสวนหลังคดีข่มขืนและพยายามฆ่าสาวแบงค์ผิวขาวกลางสวนสาธารณะเซ็นทรัลปาร์คเมืองนิวยอร์ค ในวันที่ 19 เมษายน 1989 กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญผู้คนทั่วอเมริกา เราได้ติดตามผ่านสายตาของพวกเด็ก ๆ แต่ละคนมาแต่ต้นว่าพวกเขาเพียงตามเพื่อน ๆ มาเดินเล่น และได้พบกับพวกวัยรุ่นผิวสีบางกลุ่มที่จงใจก่อกวนประชาชนที่มาใช้สวนสาธารณะยามค่ำ ทว่าหลังจากนั้นก็เกิดเหตุร้ายขึ้น ตำรวจที่จับกุมพวกก่อกวนได้พยายามกดดันซัดทอดหาคนผิด และชื่อของเด็ก ๆ ทั้ง 5 คนนี้ก็ถูกกล่าวถึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดกลายเป็นแพะรับบาปความรุนแรงที่สะสมมาจนกลายเป็นความกลัวของพวกเจ้าหน้าที่ผิวขาวที่ “มอง” พวกผิวสีราวปีศาจร้ายแม้พวกเขาจะอายุเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น

ความสะเทือนใจถูกบอกเล่าอย่างมีที่มาที่ไป เราได้เห็นความคิดและวิธีการมองโลกของคนที่เชื่อว่าตนกระทำความดีอยู่โดยไม่สนวิธีการ และนั่นกลายเป็นเรื่องโคตรน่าหดหู่ที่สุดในเรื่องราวนี้ อัยการสาวผิวขาวต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อกำราบคดีใช้ความรุนแรงและการข่มขืนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงผิวขาวกว่า 2 พันคดีในปีที่ผ่านมา เธอปักใจอย่างแน่นหนักว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้คือผู้ลงมือก่อเหตุ ยิ่งสภาพของเหยื่อสาวรายล่าสุดนี้ที่ถูกทุบจนศีรษะเหวอะหวะปางตาย ก็ยิ่งตอกย้ำจิตใจอันบอบช้ำของเธอว่าไอ้พวกฆาตกรผิวสีพวกนี้ต้องถูกลงโทษให้หนักที่สุด เธอและเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างเชื่อแบบเดียวกันและใช้วิธีการสอบสวนเชิงบังคับให้พวกเด็ก ๆ สารภาพและซัดทอดคนอื่น ๆ โดยที่แต่ละคนเพิ่งจะเคยได้ยินชื่อของคนที่ตนต้องซัดทอดเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ตาม แต่ทั้งหมดก็ต้องยอมเพราะเชื่อว่าตนจะถูกกันเป็นพยานและถูกปล่อยกลับบ้าน ฉากน่าสะเทือนใจสุด ๆ คือครอบครัวของพวกเขาล้วนแต่มีฐานนะปานกลางจนถึงยากจน ฉากที่พ่อของหนึ่งในเด็กชายถึงกับตบหน้าลูกตัวเองด้วยความเจ็บปวดเพื่อให้ลูกยอมโกหกรับสารภาพไปเสียเพราะเชื่อตำรวจว่าจะทำให้ลูกรอดคุก เป็นภาพสะท้อนที่หดหู่มาก ๆ เพราะเขาขาดทั้งความรู้และโอกาส ยอมหลงเชื่อลมปากอันชั่วร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มากความรู้จนยอมขู่เข็ญลูกชายด้วยความรักให้โกหกในสิ่งที่ไม่ได้ทำ และนี่คือตราบาปใหญ่ที่ติดตัวเขาไปจนวันตายได้เลย

“ฉันขอโทษที่ใส่ร้ายพวกนาย” – การพบกันครั้งแรกของเด็กหนุ่มหลังโดนบังคับให้สารภาพซัดทอดกัน หนึ่งในฉากสะเทือนใจของซีรีส์

หนังยังสอดแทรกเรื่องราวแบบนี้ในแต่ละครอบครัวออกมา ให้เราเห็นว่าการที่รัฐก่อความอยุติธรรมอย่างจงใจ โดยเชื่อบริสุทธิ์ใจว่าตนกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแม้พยานหลักฐานต่าง ๆ จะออกมาขัดแย้งกับความเป็นจริงอย่างไรก็ตาม อย่างเด็กคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาเพียงเพราะมาเป็นเพื่อนของเด็กที่ถูกจับคนหนึ่งเท่านั้น และตำรวจกำลังต้องการคำสารภาพที่เชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดให้สมเหตุสมผลเท่านั้นเอง

คือยอมรับว่าหลุดคำว่า ทุเรศ ในหัวบ่อยมากตลอดการรับชมเรื่องนี้

อยุติธรรมโดยรัฐ มันคืออาชญากรรมที่โหดร้ายโหดเหี้ยมอย่างที่สุดที่จะพึงเกิดขึ้นได้ หนังยังมีมุมสะท้อนว่าความเชื่อว่าตนทำดีโดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ นั้นน่ากลัวเพียงใด และความชั่วร้ายนี้ยังคงสืบสานมาถึงปัจจุบันอย่างไม่เคยได้รับการทบทวนหรือสำนึกตนด้วย โดยในปีที่เกิดเหตุ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีเจ้าของสื่อดังในขณะนั้นถึงกับซื้อสื่อโฆษณาเรียกร้องให้ประหารพวกเด็ก ๆ โอเคว่าส่วนหนึ่งมันก็ต้องการเสียดสีโจมตีภาพลักษณ์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนี้และมีนัยยะทางการเมืองอย่างเปิดเผย แต่ก็อย่างที่เราเห็นนั่นล่ะว่าในปี ค.ศ. นี้ ทรัมป์ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าคนขาวคือผู้ที่ถูกต้องและควรใช้การตอบโต้อย่างรุนแรงกับความชั่วร้ายเท่านั้นอยู่เลย คนบางคนในสังคมไม่เคยเรียนรู้อะไรอีกเลยเมื่อคนชื่นชมว่าเขาเป็นคนดี เช่นเดียวกับตัวทนายสาวที่เมื่อรู้ความจริงในภายหลังว่ามีคนร้ายอื่นที่ก่อเหตุนี้ แต่ก็พยายามหลอกตัวเองและยังคงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าเธอไม่ได้คิดผิด-ทำผิดแต่อย่างใดในตอนนั้น

ดูเรื่องนี้ก็พาลให้เข้าใจพวกคนในสังคมบางกลุ่มที่ปักธงความดีในใจ และไม่คิดตั้งคำถามใด ๆ อีกต่อไปกับการทำดีด้วยความไม่ถูกต้อง หรือด้วยรุนแรงต่อฝั่งตรงข้ามไม่ว่าจะด้วยคำด่าทอในโซเชี่ยลมีเดีย สร้างข่าวหรือแชร์ข่าวลวงข่าวหลอกทำลายฝั่งตรงข้ามด้วยข้อหาที่ไม่เป็นจริง หรือมีมูลเพียงครึ่งเดียว หรือแม้แต่ลงไม้ลงมือในชีวิตจริงเลยก็มี มันน่าหดหู่ใจตรงที่เรารู้ว่าเขาทำลงไปด้วยเชื่อว่ากำลังทำดีอย่างบริสุทธิ์ใจอยู่นั่นล่ะ แล้วยิ่งคนที่ลงมือทำนั้นทำด้วยตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยแล้ว ยิ่งโคตรหดหู่ครับ ไม่ว่าจะการพลิกลิ้นเล่นคำกฎหมายให้เป็นไปตามประโยชน์ฝั่งตัวเอง หรือการโกงแบบโจ่งแจ้งต่อหน้าประชาชน แต่ก็ไม่รู้สึกผิดบาปใด เพราะเขาเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ดี ใครเข้าข่ายแบบนี้อยากให้ลองดูซีรีส์ชุดนี้ครับ เผื่อเราจะได้ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูใหม่ว่า

การทำความดีด้วยการกระทำที่ไม่ดีมันคือสิ่งดีจริง ๆ หรือ

อนาคตและความฝันที่สิ้นสุดลงของเด็กวัยสิบกว่าปี เพราะความปักใจเชื่อที่ไร้ความยุติธรรม 

รับชมซีรีส์นี้ได้ที่นี่เลยครับ https://www.netflix.com/watch/80200643