[รีวิว]Scary Stories to tell in the Dark : PG-13 ก็ลุ้นเกร็งได้นะ
Our score
6.8

scary stories to tell in the dark : คืนนี้มีสยอง

จุดเด่น

  1. ไอเดียในการออกแบบปีศาจแต่ละตัวแปลกใหม่และน่ากลัว
  2. ทำฉากย้อนยุค เสื้อผ้าหน้าผมได้สมจริง
  3. ฉากสยองทำได้ลุ้นสุด ๆ
  4. ตัวอย่างที่ดีของหนังที่สยอง ลุ้น ได้โดยไม่ต้องมีฉากรุนแรง

จุดสังเกต

  1. การดำเนินเรืองยังคงธรรมเนียมเดิม ตัวละครโดนกำจัดทีละราย คนที่เหลือต้องหาทางยุติวิกฤต
  2. เดาได้ง่ายว่าใครตายใครรอด
  3. ฉากที่ผีแต่ละตัวออกมาสั้นไปหน่อย
  • ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    6.0

  • คุณภาพนักแสดง

    6.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.0

  • ความสนุก

    8.0

  • คุ้มเวลา+ค่าตั๋ว

    7.0

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

ในอเมริกานี่หนังสือประเภทสยองขวัญสำหรับเด็กและเยาวชนดูจะเป็นที่นิยม มีนักเขียนที่ครองตลาดแนวนี้ก็คือ อาร์.แอล. สไตน์ ที่ฮอลลีวู้ดก็เคยหยิบ Goosbumps ของเขามาสร้างเป็นภาพยนตร์ไปแล้ว และอีกรายหนึ่งก็คือ อัลวิน ชวาร์ต เขามีผลงานตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า 50 เล่ม ผลงานของเขามีชื่อเสียงมากในยุค 70s – 80s และเรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือหนังสือชุด Scary Stories to tell in the Dark เป็นหนังสือชุด 3 เล่ม ออกมาในปี 1981,1984 และ 1991 ตามลำดับ เนื้อหาในหนังสือจะเป็นการรวมเรื่องสั้นที่อัลวินหยิบเอาความเชื่อของคนโบราณและตำนานพื้นบ้านมาดัดแปลงเป็นเรื่องราวสยองขวัญ

หน้าปกนิยายต้นฉบับ

ด้วยเนื้อหาที่น่ากลัวบวกกับภาพประกอบที่ชวนหลอนของสตีเฟน แกมเมล ทำให้หนังสือเป็นที่สนใจของกีเยร์โม เดล โตโร ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนัง Scary Stories to tell in the Dark ที่เขามอบหน้าที่กำกับให้ อันเดร โอเวอร์ดัล ผู้กำกับสัญชาตินอร์เวย์ ผู้เคยมีผลงานขนหัวลุกมาแล้วใน The Autopsy of Jane Doe ส่วนตัวกีเยร์โมนั้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้างและร่วมเขียนบทเองกับ แดน และ เควิน เฮกแมน 2 พี่น้องที่เคยผ่านมาแต่งานเขียนบทแอนิเมชัน The Lego Movie , Hotel Transylvania

ซ้าย : กีเยร์โม เดล โตโร อำนวยการสร้างและเขียนบท / กลาง : โซอี มากาเร็ต คอลเลตติ นักแสดงนำ/ ขวา : อันเดร โอเวอร์ดัล ผู้กำกับ

งานบทภาพยนตร์นั้นดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายต้นฉบับมาได้น่าสนใจ หนังย้อนยุคไปในปี 1968 เล่าเรื่องราวของ 3 เพื่อนซี้วัยมัธยม สเตลลา , ออร์กี้ และ ชัค ที่นึกคะนองในคืนวันฮาโลวีน 3 เกลอพา ราโมน เพื่อนใหม่ต่างถิ่นไปบุกบ้านผีสิงที่มีตำนานเล่าขานถึงความเฮี้ยนของ ซาราห์ เด็กสาวที่มีข่าวลือกันว่าเธอเสียสติ แล้วครอบครัวก็เอาเธอไปขังไว้ในห้องใต้ดิน สุดท้ายเธอก็แขวนคอตายด้วยผมตัวเองในบ้านหลังนี้ สเตลลา เจอสมุดบันทึกของซาราห์และเธอนำมันกลับมาด้วย ในสมุดบันทึกนี้ซาราห์เขียนเรื่องสั้นสยองขวัญไว้มากมาย แต่แล้วเรื่องราวไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น มีเรื่องราวใหม่ถูกเขียนขึ้นในสมุดและเรื่องราวนั้นเกี่ยวกับแก๊ง 3 เกลอ และวัยรุ่นในเมืองที่เคยบุกเข้าไปในบ้านหลังนั้น แล้วชื่อผู้โชคร้ายที่ซาราห์เขียนถึงก็จะเจอจุดจบที่ชวนสยองเช่นเดียวกับเรื่องราวที่เธอเขียนขึ้น 3 เกลอจึงต้องหาทางยุติความพยาบาทของซาราห์ก่อนที่เรื่องราวของตัวเองจะถูกเขียนขึ้น โดยเรื่องราวที่เขียนขึ้นใหม่นั้น ทีมเขียนบทก็คัดมาเฉพาะเรื่องที่น่ากลัวสุดมาจากนิยายต้นฉบับ

หลังจากถูกปีศาจรายแรกจู่โจม โทนเรื่องก็เริ่มเดินหน้าในแนวลึกลับปริศนา กับการสืบหาประวัติของซาราห์หาข้อเท็จจริงว่าแท้จริงแล้วเธอวิกลจริตตามตำนานจริงหรือไม่ แล้วจุดประสงค์ของเธอคืออะไร ตัดสลับกับฉากสยองที่ปีศาจตัวถัดไปทยอยออกมา โทนหนังเข้มข้นขึ้นพอกับเวลาที่น้อยลงที่แก๊งเพื่อนรักต้องรีบคลี่คลายปริศนาให้ได้ทันก่อนที่เรื่องต่อไปจะมาถึงคิวพวกเขา

ด้วยเหตุที่ต้นฉบับเป็นนิยายสำหรับเด็กและเยาวชนหนังก็เลยได้เรต PG-13 ซึ่งดูขัดกับภาพที่ได้เห็นจากตัวอย่างหนังอย่างมาก เพราะในตัวอย่างนั้นอัดแน่นไปด้วยปีศาจน่ากลัวหลายตัว แต่พอเห็นเรตก็นึกสงสัยว่าแล้วหนังจริงมันจะน่ากลัวหรือ แต่พอได้ดูแล้วก็ยอมรับได้ว่า PG-13 ก็ทำเอาลุ้นเกร็งไปได้เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าทีมงานมีไอเดียในการเรียงร้อยแต่ละเรื่องสั้นของอัลวินได้อย่างฉลาด ด้วยการเขียนเรื่องราวใหม่มาครอบเพื่อโยงใยแต่ละเรื่องสั้นเข้าหากัน โดยคงภาพลักษณ์ของปีศาจจากไอเดียของอัลวิน ชวาร์ต และ สตีเฟน แกมเมล ไว้ ปีศาจแต่ละตัวโผล่มาแค่ไม่กี่นาที แต่ทุกครั้งที่เป็นฉากขนหัวลุก ผู้กำกับอันเดร ก็คงมาตรฐานของบรรยากาศหนังสยองขวัญได้ครบถ้วน มีทั้งโผล่มาแวบ ๆ ฉากเงียบเคลื่อนกล้องช้า ๆ ให้ลุ้นว่าอะไรจะโผล่มา และตุ้งแช่พอประมาณ แต่เส้นจำกัดของ PG-13 ก็มีในจังหวะที่ปีศาจจัดการเหยื่อด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงเท่าบรรดาหนังเชือด ไม่มีเลือดให้เห็น ไร้ฉากแหวะ รุนแรงสุดที่เห็นในเรื่องนี้ก็คือฉากหักคอเหยื่อ

ซ้าย ภาพประกอบในหนังสือฝีมือของ สตีเฟน แกมเมล / ขวา ภาพในหนัง

ปีศาจทั้ง 4 ตัวคือสีสันของหนัง หุ่นไล่กาแฮร์โรลด์ ต่อให้ไม่ลุกมาเดินได้ก็โคตรน่ากลัวแล้ว , ปีศาจกูลตามหานิ้วเท้า ตัวนี้น่ากลัวสุด , ผู้หญิงผิวซีด ตัวนี้ออกแบบหน้าตาฉีกยิ้มดูน่ารักไปหน่อย และ รายที่ดุสุดโหดสุดก็คือ The Jangly Man ผีร่างหลุด เป็นปีศาจตัวเดียวที่ทีมงานออกแบบขึ้นมาเอง จุดเด่นของ The Jangly Man คือมาจากซากศพที่โดนหั่นเป็นชิ้น ๆ คอ ตัว แขน ขา แล้ววิ่งเข้าหากันประกอบเป็นร่าง แต่เป็นตัวที่ผิดรูปผิดร่าง หงายท้องยืนสี่ขาเหมือนหมาแล้ววิ่งเข้าหาเหยื่อ ใครดูฉากนี้ก็ต้องเข้าใจว่าทีมงานใช้เทคนิค CG สร้างภาพ The Jangly Man ขึ้นมา แต่ที่จริงแล้วใช้คนแสดงจริง และคนนั้นก็คือ ทรอย เจมส์ นักกายกรรมดัดตน ที่สามารถหงายท้องแล้วเดินสี่ขาได้จริง เขาเคยสร้างความฮือฮามาแล้วในรายการ America’s Got Talent

The Jangly Man ปีศาจสุดโหดในหนัง

มองในแง่ของหนังสยองขวัญ Scary Stories to tell in the Dark ตอบสนองแฟนหนังสยองขวัญได้ดี มีฉากให้ลุ้นเกร็งได้อย่างต่อเนื่อง ปีศาจแต่ละตัวมีไอเดียสร้างสรรค์แปลกใหม่ไม่ซ้ำซาก สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ฉากเด็ดโดนหยิบมาขายในตัวอย่างเสียหมดแล้ว เราได้เห็นผีทุกตัวครบถ้วนแล้ว มีเพิ่มเติมก็คือได้ลุ้นกันยาวขึ้นหน่อยเวลาปีศาจแต่ละตัวได้ฤกษ์ออกปฏิบัติการ ส่วนด้อยของหนังก็คือรูปแบบการดำเนินเรื่องที่ยังคงธรรมเนียมเดิม สร้างกลุ่มตัวเอกขึ้นมาแล้วเขียนให้โดนกำจัดไปทีละราย และรูปแบบนิยมที่สุดในหนังประเภทนี้ก็คือเด็กวัยรุ่นทุกคนเกิดมาโดยไร้ซึ่งความกลัว ชอบบุกเข้าบ้านผีสิงตอนกลางคืน เวลาได้ยินเสียงอะไรก็ชอบเดินเข้าไปหา ผิดวิสัยมนุษย์ ดูประหลาด แต่ถ้าขาดพวกนี้ไป หนังก็ไม่มีฉากให้ลุ้นเนอะ

 

Play video