คุณจำได้มั้ยในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไร.เชื่อแน่ว่ามันคงเป็นเพียงวันอาทิตย์ธรรมดาๆวันหนึ่ง แต่สำหรับ ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ หรือ ปลื้ม เด็กหนุ่มจากอุตรดิตถ์ที่แลกเวลา 4 ปีไปกับสถานะนักศึกษาสาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์รุ่นสุดท้ายในภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ย่อมหมายถึงการนับก้าวแรกที่หนัง Homatagia  อัตภาวกาล หนังธีสิสของเขาจะออกสู่สายตาผู้ชมทั่วไปในงาน บางแสนรามา งานจัดแสดงผลงานของนิสิตสาขาวิชาภาพยนตร์และโทรทัศน์รุ่นสุดท้าย ที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอ โดยมีสักขีพยานระดับปรมาจารย์ภาพยนตร์อย่าง อ.แดง กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ที่ร่วมให้ความเห็นหลังหนังจบ และเมื่อคำชื่นชมและเสียงปรบมือค่อย ๆ ผ่านไปกับสายลมแห่งกาลเวลา อีกไม่กี่เดือนถัดมา ปลื้มก็ต้องแพ็กกระเป๋าเพื่อเดินทางไกลที่สุดในชีวิตนั่นคือ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปีนี้จัดระหว่าง 3 – 12 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาแต่โอกาสครั้งนี้ส่งผลต่อการเติบโตทางความคิดอย่างไรต่อคนที่เกิดที่อุตรดิตถ์ เรียนที่ชลบุรี แล้วพาตัวเองมาตรากตรำในกรุงเทพมหานคร WHAT THE FACT ได้โอกาสพิเศษในการสัมภาษณ์ปลื้ม อีกหนึ่งความหวังของวงการภาพยนตร์อิสระของไทย

HOMATAGIA หนังธีสิส..ใบเบิกทางสู่เทศกาลหนังปูซาน

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Homatagia อัตภาวกาล ผลงานหนังธีสิสที่ส่งปลื้มไปสู่ปูซาน

ตัวธีสิสผมเป็นหนังยาวครับ เป็นภาพยนตร์ฟิกชั่นกับภาพยนตร์สารคดีรวมกัน ตัวฟิกชั่นแบ่งออกเป็นสองพาร์ต ผมเขียนมันจากความทรงจำของผม พาร์ตแรกจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เล่าเกี่ยวกับชายแก่คนคนหนึ่งกำลังจะตายด้วยโรคร้ายลูกชายของเขากลับมาพบหลังจากที่หนีออกจากบ้านไป พาร์ตที่สองเป็นเรื่องการเดินทางของเด็กหนุ่มมหาวิทยาลัยที่ไปพบพ่อของเขาที่แยกจากครอบครัวและไม่พบกันมานาน ส่วนพาร์ตสุดท้ายมันเปลี่ยนภาพยนตร์สารคดีครับ ผมสัมภาษณ์ยายกับแม่ให้เล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังหน่อย

หากใครได้ดูตัวหนังเต็มๆจะพบเลยว่าหนังมีความเป็นเรื่องราวส่วนตัวสูงมาก เพราะเดิมทีปลื้มต้องการจะทำหนังเรื่องนี้ให้คุณตา แต่เนื่องจากคุณตาของเขาเสียไปก่อน เขาจึงแปลงร่างมันสู่การเป็น ปริญญาที่ไม่ใช่แค่กระดาษ ด้วยการผสมผสานเรื่องราวจากครอบครัว เข้ากับเรื่องแต่งที่แสดงถึงภาวะลักลั่นของคนไกลบ้าน และบ้านในความหมายของครอบครัวสมัยใหม่ที่ไม่ได้จำกัดความสัมพันธ์เพียงแค่ผู้ปกครองต่างเพศเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้เองได้กลายเป็นจุดเด่นให้งานของเขาเป็นที่สนใจจากบรรดานักวิจารณ์ภาพยนตร์ จนมันไปโดนใจทางทีมงานของ PURIN PICTURES เข้า

PURIN Pictures วีซ่าแรกสู่เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก

ปลื้ม ชนสรณ์ และเพื่อนๆที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมในโครงการ Busan Platform

โครงการที่เข้าร่วมคือ platform busan ครับโครงการนี้อยู่ใน busan international film เป็นโครงการที่ให้คนทำหนังมาแชร์ประการณ์การทำงานพูดคุยหาโอกาสการทำร่วมกันอะไรประมาณนั้นครับ โดยผมได้เข้าร่วมเพราะจาก purin pictures ครับเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ทุนสนับสนุนแก่คนทำหนังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขาเลือกผมจากธีสิสจบผมครับ คือ purin pictures เขาสนับสนุนนักศึกษาให้เข้าร่วม platform busan มา 3 ปีละครับ เขาก็จะตามดูธีสิสจากมหาวิทยาลัยต่างๆละก็คัดเลือกไป

โดยในปีนี้ทาง PURIN PICTURES ได้คัดเลือกผลงานภาพยนตร์ธีสิสของนักศึกษา 5 เรื่องซึ่งหากเราพิจารณาจากผู้ได้รับคัดเลือกแล้ว ผู้ร่วมทางของปลื้มอีก 4 คนล้วนแล้วแต่มีแต้มต่อจากสถาบันที่สอนภาพยนตร์ชื่อดังมากมาย ดังนั้นการเดินทางของปลื้มตัวแทนสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านการทำภาพยนตร์อย่างโดดเด่นนักจึงเหมือนการพาตัวเองออกเดินทางนับจากวันแรกในฐานะนักศึกษาภาพยนตร์ที่ต้องต่อสู้ทำหนังอย่างอัตคัด พาตัวเองสู่เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกจึงน่าสนใจว่ามันจะส่งผลต่อความคิดและการเติบโตในฐานะคนทำหนังต่อไปได้อย่างไร

Platform Busan โครงการบ่มเพาะอนุบาลความคิดคนทำหนัง

Platform Busan เวทีเพาะบ่มประสบการณ์ที่ปลื้มบอกเราว่าเป็นความรู้ที่หาไม่ได้ง่ายๆในระบบการศึกษาของไทย

โครงการนี้เหมือนสอนผมให้รู้จักโลกภาพยนตร์มากขึ้นเยอะเลย มันดีมากเลยนะครับการที่เราเรียนภาพยนตร์และไปเห็นอะไรที่มากกว่าการเรียนการสอนในสาขา ทำให้ผมคิดถึงงานของตัวเองเรื่องต่อไปว่าทำอย่างไรกับมัน ภาพยนตร์เรื่องเดียวมันมีอะไรมากกว่าการพรี โพ โพส มันมากกว่านั้นอีกไม่ว่าจะในทางก่อนสร้างหรือหลังสร้าง ผมได้เห็นจากการได้มาในโครงการนี้ทั้งหมดเลยครับ

ปลื้มกล่าวกับเราด้วยแววตาที่มีไฟลุกโชน เพราะตลอด 4 ปีกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยย่อมติดอยู่ในกรอบมากมายทั้งการเรียนวิชาที่ตัวเองไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือการต้องหาหนทางเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาที่อาจไม่ได้สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนเท่าที่อื่น

กิจกรรมส่วนใหญ่มันจะเป็นคล้ายๆการฟังเลคเชอร์น่ะครับ กับโปรแกรมเมอร์เทศกาลหนังว่าหนังของเราควรเลือกส่งเทศกาลไหน เทศกาลนี้เป็นยังไง หรือกับผู้กำกับภาพยนตร์อย่างปีนี้ก็จะเป็น kore-ed (ฮิโรคัตสุ โคริเอดะ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น) เขาได้รางวัลคนทำหนังแห่งปีก็จะทอล์กประสบการณ์ให้ฟัง ประมาณนั้นครับ ในแต่ละวันที่ไปทั้งหมด 5 วันในทุกวันก็จะมีทอล์กให้ฟังไม่ 1 ก็ 2 เราก็จะไปฟังเวลาที่เหลือก็จะไปดูหนังที่เราอยากดู

จากสิ่งที่ปลื้มกล่าวมา เราคิดว่านี่แหละคือองค์ความรู้ที่การศึกษาด้านภาพยนตร์ในเมืองไทยต้องการ เพราะในขณะที่เราติดกรอบกับทฤษฎีการทำหนังจากตำราที่อาจารย์เลือกมาสอนแล้ว ยังต้องเผชิญกฎเกณฑ์มากมายในการศึกษาภาคบังคับที่ไม่อาจตามโลกได้ทัน ดังนั้นการออกไปเผชิญโลกกว้างจึงจำเป็นมาก และนั่นก็นำมาสู่คำถามต่อไปของเรานั่นคือประสบการณ์ต่อวงการภาพยนตร์เกาหลีของปลื้มมันเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของเขาไปอย่างไรบ้าง

วงการภาพยนตร์เกาหลี…วงการที่เป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว

ด้วยแนวหนังที่หลากหลายก็พอบอกได้ถึงภาพรวมการเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้.

มันดีกว่าแน่นอนครับ ทั้งแมสและอินดี้ แค่ปีนึงมีเทศกาลภาพยนตร์นี่วิเศษมากเลยครับ มันมีตลาดของหนัง มันเน็ตเวิร์กในการพูดคุยกันจากหลายชาติเพื่อโอกาสในการร่วมงานกัน ผมว่าไทยน่าจะมีแบบนี่บ้าง ผมคิดว่าอุตสาหกรรมของเขาให้ความสำคัญกับหนังมากกว่า อุตสาหกรรมบ้านเรา แน่นอนว่าหนังมันเป็นสินค้าเพื่อความบันเทิง แต่ความบันเทิงของเขามันมีการใส่ใจในศิลปะและมีหลายรูปแบบมากกว่าบ้านเรา มันมีตัวเลือกให้เราเสพย์ให้เราชม ซึ่งสิ่งนี้ผมว่าในไทยมันยังดูขาดไป พื้นทางศิลปะสมดุลมันน้อยกว่าพื้นที่โฆษณายังไงก็ไม่รู้

ปลื้มกล่าวถึงสิ่งที่เขาได้พบเจอมา โดยต้องยอมรับความจริงว่ามันไม่ได้ผิดไปจากความรู้สึกของคอหนังบ้านเราแม้แต่น้อย เพราะตราบใดที่วงการหนังบ้านเรายังไม่สามารถเลี้ยงดูให้คนทำงานลืมตาอ้าปาก หรือได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงพอความหวังที่ปลื้มและพวกเราจะได้เห็นโครงการดีๆแบบนี้คงเป็นได้แค่วิมานในอากาศแน่ ๆ แต่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมหนังบ้านเขาแล้ว การที่ปลื้มได้แชร์ประสบการณ์กับเยาวชนนักทำหนังจากชาติอื่นๆย่อมมีสีสันไม่ธรรมดาแน่นอน

มุมมองการศึกษาภาพยนตร์จากอนาคตเพื่อนร่วมอาชีพ

ภาพของปลื้ม ชนสรณ์ กับเพื่อนต่างชาติที่ได้เป็นภาพข่าวบนเว็บไซต์ GukjeNews ของ เกาหลีใต้

เพื่อนต่างชาติที่เจอกลุ่มแรกก็เป็นชาวบังคลาเทศ 2 คนที่เป็นรูมเมตกัน ผมไม่ได้คัยอะไรกับเขามากนอกจากมักทายกัน เพราะภาษาอังกฤษผมค่อนข้างแย่ มีบ้างที่พวกเขาชวนไปปาร์ตี้ของคนทำหนัง จนมีโอกาสได้ไปจริง ๆ ก็ตลกดีครับ จนได้ลงข่าวอะไรสักอย่างที่พูดถึงงานปาร์ตี้นั้น ในปาร์ตี้ผมก็เจอคนในวงการหนังเยอะมาก แต่ไม่ได้คุยอะไร เพราะผมพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่พอฟังได้บ้างว่าพวกเขาเหล่านั้นคุยอะไรกันเลยสังเกตเอาจากหลายกลุ่มเผื่อได้อะไรกลับไปบ้างในด้านความคิด ผมรู้สึกว่าการมีปาร์ตี้แบบนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ในประเทศไทยเรายังขาดจุดนี้อยู่สำหรับวงการภาพยนตร์ มันอาจจะมีแต่ก็ถูกจัดการโดยงานแสดงโชว์อะไรก็ไม่รู้ซึ่งสำหรับผม ผมคิดว่ามันไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก จุดประสงค์ควรเป็นการแชร์กันถึงโพรเจกต์เพื่อหาคอนเนคชันในการร่วมงานร่วมทุนกันไป นี่คือสิ่งที่ผมได้จากที่นี่มาละลองมองย้อนมาที่บ้านเรา สำหรับผมการที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ทำให้ผมมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยและเรียนภาพยนตร์ ผมว่าเราเรียนกันว่า ‘ทำหนังอย่างไร’ มากกว่า ‘ทำอย่างไรถึงได้ทำหนัง’ เกินไปหน่อย การที่ผมได้มาที่นี่ก็เหมือนผมได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะได้ทำหนังต่อไป

ซึ่งที่ปลื้มพูดมา บางจุดอาจไกลตัวจากคนที่ไม่ได้เรียนภาพยนตร์นะครับ แต่หากเทียบในระดับทั่วไปเราต้องยอมรับในปัญหาด้านการศึกษาของบ้านเราจริงๆว่า การเรียนการสอนของอาจารย์ส่วนใหญ่มันจะเป็นการพยายามยัดความคิดความเชื่อวิธีการมากไปหน่อย แต่ไม่ได้ค่อยมีการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิดและเอื้ออำนวยให้สร้างผลงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพพวกเขาจริงๆ ดังนั้นคำถามหนัก ๆ และ ฟังแล้วต้องการคำตอบแบบ จุก ๆ จริง ๆ คือเมื่อไหร่ที่การศึกษาไทยจะไปถูกทางเสียที?

ที่มาภาพ

Gukjenews

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส