ปี 1994 ปีแห่งความทรงจำของฮอลลีวูดที่เต็มไปด้วยหนังคลาสสิกระดับรางวัลออสการ์ อย่าง PulpFiction, Forrest Gump, The Lion King, ShawShank Redemption แล้ว ก็ยังมี Speed หนังแอ็กชันสุดมันส์ในดวงใจหลาย ๆ คน ที่เข้าฉายในปีนั้นด้วยอีกเรื่อง เชื่อว่านี่คือหนังอีกเรื่อง ที่หลายคนต้องดูเกินหนึ่งรอบเป็นแน่ แทบไม่น่าเชื่อว่ามาถึงวันนี้ หนังจะมีอายุครบ 25 ปี ไปแล้ว ทำเอาใคร ๆ ที่ได้ชมในโรงภาพยนตร์ ต่างรู้สึกแก่ตัวไปตาม ๆ กันเลยเชียว ณ ตอนนี้ เรายังนึกภาพ คีอานู รีฟส์ ในบท แจ็ก ทราเว็น ที่ปรากฏตัวด้วยทรงผมเกรียนกันได้ดีอยู่เลย ทำเอาช่วงนั้นหนุ่ม ๆ ฮิตตัดผมเกรียนกันเป็นแถว

แม้ Speed จะมาในภาพลักษณ์ของหนังเอาใจผู้ชมหวังรายได้ทางการตลาด แต่เห็นแบบนี้หนังเข้าชิงออสการ์ถึง 3 รางวัล แล้วก็คว้าออสการ์ไปถึง 2 ตัวเลยนะครับ ในสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม และเทคนิคพิเศษทางด้านเสียงยอดเยี่ยม ในขณะเดียวกันหนังยอดเยี่ยมในดวงใจหลาย ๆ คนอย่าง ShawShank Redemption เข้าชิงถึง 7 รางวัล กลับไม่ได้ออสการ์เลยแม้แต่ตัวเดียว

Speed จัดเป็นหนังม้ามืดที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในวันที่เข้าฉาย เพราะหนังกำกับโดย ยาน เดอ บองต์ ผู้กำกับชาวดัทช์ ที่ยกระดับตัวเองมาจากผู้กำกับภาพที่คร่ำหวอดในวงการมากว่า 30 ปี เคยผ่านหนังระดับคลาสสิกมามากมายแล้ว Die Hard, Basic Instinct, Lethal Weapon 3 แล้วก็เลื่อนขั้นมาเป็นผู้กำกับในเรื่องนี้เรื่องแรก หนังขายชื่อได้เพียง คีอานู รีฟส์ ที่ตอนนั้นเป็นที่รู้จักพอควรแล้ว เพราะมีหนังดังในเครดิตมาหลายเรื่องแล้วเช่น Bill & Ted ทั้ง 2 ภาค My Own Private Idaho, Point Break แล้วก็เล่นเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาแล้วด้วยใน Little Buddha ส่วนนางเอก แซนดร้า บูลล็อก ในวันนั้นมาในฐานะโนเนมสุด ๆ

กลายเป็นว่า Speed ประสบความสำเร็จเกินคาด หนังใช้ทุนสร้างไปแค่ 30 ล้าน แต่ทำรายได้ทั่วโลกไปสูงถึง 350 ล้านเหรียญ ถ้าเทียบอัตราเงินเฟ้อในวันนี้จะเท่ากับ 606 ล้านเหรียญ ผู้มีส่วนร่วมทุกรายล้วนได้รับอานิสงส์จากหนังไปล้วน ๆ ผู้กำกับ ยาน เดอ บองต์ กลายเป็นผู้กำกับขายดี ได้ไปทำหนังทุนสูงขึ้นอย่าง Twister (1996) ซึ่งทำรายได้เกือบแตะ 500 ล้าน แล้วก็ไปสะดุดขาตัวเองล้มกับ Speed 2: Cruise Control (1997) ที่ คีอานู รีฟส์ ก็กำลังขาขึ้นเช่นกัน ไม่ขอกลับมาในภาคต่อ ทำให้หนังเจ๊งเละเทะ ทุนสร้างสูงไปถึง 160 ล้านเหรียญ แต่ทำรายได้ทั่วโลกแค่ 164 ล้านเหรียญ ผู้กำกับ ยาน เดอ บองต์ ตอกฝาโลงในฐานะผู้กำกับด้วย Lara Croft Tomb Raider: The Cradle of Life (2003) ที่กลายเป็นหนังเจ๊งอีกเรื่อง เป็นคนที่แพ้อาถรรพ์หนังภาคต่อของจริง กลับไปสู่อาชีพผู้กำกับภาพอย่างเดิมดีกว่า

ภาพน่ารัก หลังกองถ่าย คีอานู รีฟส์, ยาน เดอ บองต์ และ แซนดร้า บูลล็อก

ภาพน่ารัก หลังกองถ่าย คีอานู รีฟส์, ยาน เดอ บองต์ และ แซนดร้า บูลล็อก

ส่วนความสำเร็จของ คีอานู รีฟส์ นี่ไม่ต้องพูดถึง คือเดิมก็ดังอยู่แล้ว มาเจอ Speed ช่วยส่งยิ่งฮอตขึ้นไปอีก ทำให้ตั้งแต่นั้นหนัง คีอานู ที่เข้าฉายในบ้านเราจึงต้องมีคำว่า “นรก” ในชื่อไทย เพื่อให้อิงถึงชื่อไทยของ Speed “เร็วกว่านรก” นั่นแหละ หลังจาก Speed เขามีหนังเล่นปีละ 2 เรื่อง ทำให้เขาไม่มีคิวว่างกลับมาร่วมงานใน Speed 2 แถมยังฮิตติดลมบนสุด ๆ กับ The Matrix ไตรภาค หนทางซูเปอร์สตาร์มาเริ่มแผ่วลงหลังจากไตรภาค The Matrix หนังของเขาเริ่มเจ๊งติดต่อกันหลายเรื่อง ตั้งแต่ Constantine (2005) ไปจนถึง 47 Ronin (2013) จากนั้นชื่อ คีอานู ก็หมดความศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ไม่สามารถดึงคนดูในวงกว้างได้อีกต่อไป จนกลับมาสร้างปรากฏการณ์ keanusaunce ที่มีคนตั้งชื่อให้เพราะ เขากลับมาฮอตได้ในวัย 54 ปี หลัง John Wick 3 เกิดฮิตสุด ๆ ทำรายได้ทั่วโลกกว่า 300 ล้าน

ส่วนเจ๊แซนดรา บูลล็อก นี่แจ้งเกิดจากเรื่องนี้ของจริง เพราะก่อนหน้านั้นเธอมีงานแสดงทีวีซีรีส์แค่ไม่กี่เรื่อง โนเนมสุด ๆ แต่หลังจากประสบความสำเร็จจาก Speed แล้ว ก็ต้องชื่นชมจริง ๆ ว่าเธอวางกลยุทธ์ในการเลือกเล่นหนังได้ฉลาดและระมัดระวัง พลาดน้อย แล้วเล่นหนังได้หลากหลายรสชาติ ทั้งทริลเลอร์, โรแมนติก, คอมเมดี้ ไปจนถึงหนังขายการแสดง ถึงขั้นมีออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงจาก The Blind Side (2009) ไว้ประดับบารมีอีกด้วย พอยุคหนังสตรีมมิงฮิต เจ๊ก็ยังไปแสดงนำใน Bird Box กลายเป็นหนังสุดฮิตทางช่อง Netflix กะเขาอีกด้วย ทุกวันนี้ชื่อ แซนดร้า บูลล็อก แม้ไม่ฮอตเหมือนตอนสาว ๆ ก็ยังเป็นชื่อที่แปะหัวหนังเรียกคนดูได้อยู่

เอ้า! ย้อนมาที่ Speed เรามาอ่านเกร็ดน่ารู้น่าทึ่งจากหนังแอ็กชันสุดฮิตในอดีตเรื่องนี้กันดีกว่า อ่านแล้วอาจจะทำให้อยากกลับไปดูอีกรอบก็ได้นะ

จอส วีดอน

จอส วีดอน

1.ความสำเร็จส่วนหนึ่งของ Speed ต้องขอบคุณคนนี้เลยครับ จอส วีดอน บางคนอาจยังไม่อ๋อ ต้องขยายต่อว่า เขาคือผู้กำกับ Avengers (2012) ภาคแรกนั่นแหละ แล้วเป็นคนที่ไปช่วยกำกับ Justice League ต่อจาก แซค ชไนเดอร์ อีกด้วย แล้ว จอส วีดอน มาเกี่ยวข้องกับ Speed อย่างไร ไม่เห็นมีชื่อในเครดิตเลย ต้องย้อนความไปในยุค 90s ช่วงนั้น จอส ยังไม่เป็นผู้กำกับชื่อดัง เขาเป็น “นักเกลาบท” มือฉมัง ต้องใช้คำว่า “เกลา” เพราะเขาทำหน้าที่เหมือนเป็น Ghost Writer ที่ทำหน้าที่แก้ไขบทที่เจ้าของหนังยังไม่พอใจ เช่นเดียวกับใน Speed ที่จอสรับหน้าที่แก้ไขบทของ เกรแฮม ยอสต์ โดยตัวเขาไม่ได้รับเครดิต เกรแฮม ยอสต์ ยังคงได้รับเครดิตในฐานะผู้เขียนบท Speed เหมือนเดิม แม้ เกรแฮม จะออกมาสารภาพภายหลังว่า บทสนทนา เกือบทั้งหมดในเรื่อง เป็นฝีมือของ จอส ทั้งสิ้น ส่วนจอส ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในปี 2001 ว่า “Speed คือหนึ่งในผลงานไม่กี่เรื่องของผม ที่ผมชอบจริง ๆ”

อลัน รักส์ ในบท สตีเฟน

อลัน รักส์ ในบท สตีเฟน

2.หนึ่งในบทที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยมือของ จอส วีดอน ก็คือ สตีเฟน ในเรื่องเขาคือ นักท่องเที่ยวจอมเซ่อ ที่ต้องพบจุดจบอย่างน่าอนาถ เดิมที เกรแฮม ยอสต์ เขียนบทให้ สตีเฟน เป็นทนายจอมกวนบาทา แต่ก็โดนปรับเปลี่ยนโดย จอส วีดอน แต่จุดจบของสตีเฟน นั้นยังคงเดิมตามไอเดียของ เกรแฮม เช่นเดิม อีกจุดหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนคือ บทของเกรแฮม ยอสต์ เขียนให้คนขับรถเมล์นั้นหัวใจวาย แล้วแอนนี่ เลยต้องมาขับแทน แต่ จอส วีดอน ก็แก้ให้เป็นคนขับโดนยิง

รถแรงเกิน เหินจนหลุดเฟรม

รถแรงเกิน เหินจนหลุดเฟรม

3.ฉากสุดระทึกที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ ฉากรถเมล์โดดข้ามทางด่วนขาด ต้องเฉลยกันว่ารถเมล์น่ะเหินลอยตัวจริง แต่ถนนน่ะไม่ได้ขาด ทีมงานมาใช้เทคนิคซีจีลบออกภายหลัง แล้วใส่นกบินไปตรงช่องว่างหน่อยนึง ส่วนรถเมล์ที่ใช้ในฉากนี้ ถูกดัดแปลงเพื่อถ่ายทำฉากนี้โดยเฉพาะ ให้ตำแหน่งคนขับถอยหลังไปจากหน้ารถถึง 5 เมตร เวลารถเมล์กระแทกพื้น ตัวเขาได้ไม่โดนเหวี่ยงออกมาหน้ากระจกรถ ตอนถ่ายทำฉากนี้ รถเมล์วิ่งมาด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. พอถึงแท่นเหิน รถเมล์ก็ลอยตัวกลางอากาศไปในระยะทาง 33 เมตร แต่ก็เกิดข้อผิดพลาดในเรื่ององศาการลอยตัว เพราะรถเมล์เหินไปสูงกว่าที่คาด ทำให้ภาพในหนังที่ออกมานั้นรถเมล์เหินสูงหลุดกรอบภาพไปหน่อยนึง ดูภาพเบื้องหลังการถ่ายทำที่นี่เลย ที่ขำคือผู้กำกับ ยาน เดอ บองต์ หนีไปนั่งเครียดอยู่คนเดียว ยังกับเป็นผู้ควบคุมการกดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์อย่างนั้นแหละ

Play video

 

4.ไอเดียของฉากรถเมล์เหินข้ามทางด่วนขาดนี่มาจากมันสมองของผู้กำกับ ยาน เดอ บองต์ เองเลย เพราะระหว่างที่ถ่ายทำเรื่องนี้ ยาน ไปเห็นทางด่วนหมายเลข I-105 ใน ลอส แอนเจลิส มีทางวิ่งช่วงหนึ่งแหว่งไป เขาเลยพัฒนามาเป็นฉากระทึกในหนัง ที่เห็น ยาน ไปนั่งลุ้นเงียบ ๆ คนเดียวนั่นก็เพราะ กว่าจะได้มาซึ่งฉากนี้ มันผิดพลาดมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกสตันท์แมนขับรถตกทางเหิน รถพังไปฟรี ๆ 1 คัน ครั้งที่สองรถพุ่งชนกล้องพังไปอีก ทั้งสองครั้งกองถ่ายปิดกันเงียบกริ๊บ ไม่รายงานไปที่สตูดิโอ

ฉากรถไฟใต้ดิน ทะลุขึ้นมาบนถนน

ฉากรถไฟใต้ดิน ทะลุขึ้นมาบนถนน

5.ฉากท้ายเรื่องที่รถไฟใต้ดินพุ่งทะลุมาบนถนนนั้น แท้จริงแล้วคือรถบัสที่ตกแต่งภายนอกให้ดูเหมือนรถไฟใต้ดิน ที่จริงฉากนี้ไม่ได้มีอยู่ในหนัง เหตุเพราะทุนสร้างหมดเกลี้ยงก่อน พอฉายในรอบทดลองให้ผู้ชมดู ฉากนี้ก็ถูกใส่เข้าไปแทนที่ด้วยภาพแอนิเมชัน แต่ผลปรากฏว่าคนดูชอบมาก ทางสตูดิโอเลยยินยอมอนุมัติงบเพิ่ม ให้ไปถ่ายมาเพิ่มเติมให้จบ ๆ ซะ

Pacific Courier Flight ที่โผล่มาในหนังหลายเรื่อง

Pacific Courier Flight ที่โผล่มาในหนังหลายเรื่อง

6.ฉากที่รถเมล์วิ่งชนเครื่องบินระเบิดนั้น เป็นเครื่องบินของสายการบิน Pacific Courier Freight (ภาพล่างสุด)

เราจะเห็นชื่อของ Pacific Courier Freight ปรากฏในหนังอีก 2 เรื่องคือ Die Hard (1988) รถที่ผู้ก่อการร้ายใช้แฝงตัวเข้ามายึดอาคารระฟ้าก็เป็นรถของบริษัท Pacific Courier Freight (ภาพบนสุด)

และใน Die Hard: With A Vengeance (1995) ก็จะมีรถส่งของ Pacific Courier Freight จอดอยู่ข้างทางแล้วโดนระเบิด (ภาพกลาง)ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ หนังทั้ง 3 เรื่องนี้ใช้บริการของ แจ็กสัน เดอ โกเวีย ในตำแหน่งผู้ออกแบบงานสร้าง ซึ่งบริษัท Pacific Courier Freight เป็นบริษัทที่เขาอุปโลกขึ้นมาเอง

คีอานู รีฟส์ มาในลุคผมเกรียน

คีอานู รีฟส์ มาในลุคผมเกรียน

7.ผมเกรียนของ คีอานู รีฟส์ นี่เป็นเรื่องใหญ่มากตอนเริ่มต้นถ่ายทำ เป็นไอเดียของผู้กำกับ ยาน เดอ บองต์ อีกเช่นกัน ที่ออกคำสั่งให้ตัดผมคีอานู จนสั้นเกรียน เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ของตำรวจที่เอาจริงเอาจังกับงาน แต่พอผู้บริหารสตูดิโอได้เห็นต่างก็ร้องกรี๊ด กลัวว่าภาพลักษณ์ของคีอานู จะผิดหูผิดตาผู้ชมเกินไป เดี๋ยวคนดูไม่ชอบแล้วหนังจะขายไม่ได้ กลายเป็นคำสั่งเด็ดขาดให้กำหนดเปิดกล้องเลื่อนออกไปอีกสักระยะ เพื่อรอให้คีอานูผมยาวขึ้นอีกหน่อย สร้างความขุ่นเคืองให้กับยานอย่างมาก จนออกมาสบถใส่สตูดิโอภายหลัง “ทุกคนที่สตูดิโอจะกลัวบ้าอะไรกันนักหนาไม่รู้ ตอนที่เค้าเห็นผมของคีอานู ทั้งที่ตอนที่หนังถ่ายทำจริง มันก็ยาวขึ้นมาได้อีกแค่มิลเดียวเองมั้ง”

เดนนิส ฮอปเปอร์ ในบท โฮเวิร์ด เพย์น

เดนนิส ฮอปเปอร์ ในบท โฮเวิร์ด เพย์น

8.เห็นรายชื่อดาราที่ถูกทาบทามให้มารับบท แจ็ก ทราเว็น แล้วนี่ น่าจะหมดทั้งฮอลลีวูดแล้วมั้ง ผู้ที่ถูกติดต่อไปแล้วมีดังนี้ ทอม ครูซ, ไมเคิล คีตัน, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์, จอร์จ คลูนีย์, สตีเฟน บอล์ดวิน, จอห์นนี่ เด็ปป์, บรู๊ซ วิลลิส และแม้กระทั่ง ทอม แฮงก์ เนี่ยนะ ซึงตอนนั้นก็ยังไม่มีภาพของ คีอานู รีฟส์ อยู่ในหัวของทีมงานเลยนะ แม้กระทั่ง เกรแฮม ยอสต์ คนเขียนบทเรื่องนี้ ก็ตั้งใจให้ เจฟฟ์ บริดเจ็ส มารับบท แจ็ก ทราเว็น แล้ว เอ็นเลน เดเจเนริส มาเป็นแอนนี่ บรู๊ค คงออกมาพิลึกน่าดูล่ะ เห็นรายชื่อแบบนี้แล้ว ต้องบอกว่า คีอานู นี่มากับดวงจริง ๆ บทดัง ๆ ของเขา ล้วนเป็นบทที่ถูกดารามากหน้าปฏิเสธมาแล้วทั้งนั้น ส่วนบท โฮเวิร์ด เพย์น ตัวร้ายของเรื่องนั้น ถูกเสนอให้กับ โรเบิร์ต เดอนีโร และ แจ็ก นิโคลสัน มาก่อนจะตกเป็นของ เดนนิส ฮอปเปอร์

บท แอนนี่ พอร์ตเตอร์ กว่าจะมาลงตัวที่ แซนดร้า บูลล็อก

บท แอนนี่ พอร์ตเตอร์ กว่าจะมาลงตัวที่ แซนดร้า บูลล็อก

9.ถ้าคิดว่าดาราชายทั้งฮอลลีวูดได้รับการเสนอบท แจ็ก ทราเว็น แล้วล่ะก็ มาดูรายชื่อดาราหญิงที่ได้รับการเสนอบท แอนนี่ พอร์เตอร์ ให้พิจารณาแล้วล่ะก็ ต้องร้อง โอ้วววว นี่หมดฮอลลีวูดหรือยังเนี่ย รายชื่อดาราหญิงที่ได้รับการเสนอบท “แอนนี่” ให้ มีดังนี้ เกล็น โคลส, เดมี่ มัวร์, บรู๊ค ชิลด์, แอลลี ชีดี้, จูเลีย โรเบิร์ต, วิโนนา ไรเดอร์, เจสซิก้า แลงจ์ , เมอรีล สตรีป (แม่ได้รับการทาบทามด้วยเหรอเนี่ย), เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์, เม็ก ไรอัน, ซิกรูนีย์ วีเวอร์, เดบร้า วิงเกอร์, จีน่า เดวิส, มิเชลล์ ไฟเฟอร์, แครี ฟิชเชอร์ (โอ้ว เจ้าหญิงเลอา ไม่มีงานแสดงยังได้รับทาบทามด้วยนะ), แดรีล ฮันนาห์, โรแซนนา อาร์เคว็ต, เม็ก ทิลลี, เจน ซีมัวร์, แอนเจลิกา ฮุสตัน, คิม บางซิงเจอร์ , ฮัลลี เบอร์รี, แคทเธอรีน เทอร์เนอร์, เอ็มมา ธอมป์สัน, โจดี้ ฟอสเตอร์, บริเจ็ต ฟอนด้า, มาริสา โทเม, ไดแอน เลน, คาเมรอน ดิแอซ, อลิซา มิลาโน, ทาทัม โอนีล และ ซาราห์ เจสซิกา พาร์กเกอร์ นี่ขนาดว่าตัดรายชื่อที่ไม่รู้จักออกไปบ้างแล้วนะ ทำไมเหรอ บทนี้มันไม่ดียังไง ทำไมเจ๊ ๆ บอกปัดกัน

เจฟฟ์ แดเนียล ที่ดูยังไงก็ไม่ร้าย

เจฟฟ์ แดเนียล ที่ดูยังไงก็ไม่ร้าย

10.ในบทหนังร่างแรกนั้น ได้ เอ็ด แฮร์ริส มารับบทเป็น แฮร์รี เพื่อนคู่หูของ แจ็ก ทราเว็น แล้วภายหลังเผยตัวออกมาว่าเขาคือมือระเบิดเสียเอง แต่ในระหว่างช่วงเตรียมการสร้าง เอ็ด แฮร์ริส เกิดถอนตัวไป แล้วได้ เจฟฟ์ แดเนียล มารับช่วงต่อแทน แต่ปัญหาติดตรงที่ว่าภาพลักษณ์ของ เจฟฟ์ แดเนียล ดูเป็นคนดีเกินไป ไม่สามารถทำให้คนดูคล้อยตามได้ว่าไอ้นี่มันร้ายจริง ก็เลยต้องแก้ไขบทกันยกใหญ่ ปล่อยให้แฮรี่ เป็นคนดีต่อไป แล้วสร้างตัวละครที่เป็นตัวร้ายจริง ๆ ขึ้นมาใหม่

ถ้า เควนติน ทาแรนติโน กำกับ Speed จะออกมามันส์แบบนี้มั้ยนะ

ถ้า เควนติน ทาแรนติโน กำกับ Speed จะออกมามันส์แบบนี้มั้ยนะ

11.เควนติน ทาแรนติโน ได้รับการทาบทามให้มากำกับ Speed ต่อเขาบอกปฏิเสธไป แต่ เควนติน ก็จัดให้หนัง Speed เป็น 1 ใน 20 หนังโปรดของเขาที่ได้ชมหลังจากปี 1992 เป็นต้นมา ” ถ้าคุณจำความรู้สึกตอนที่ Speed ออกฉายได้นะ ทั้ง ๆ ที่ตัวเรานั่งอยู่ในโรงหนังนะ แต่ความรู้สึกเหมือนว่านั่งอยู่ในรถเมล์คันนั้นที่กำลังวิ่งไปตามถนนด้วยเลย มันมีหนังน้อยเรื่องมากที่จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับหนังได้เพียงนี้”

ใช้รถบัสถึง 14 คันเชียวนะ

ใช้รถบัสถึง 14 คันเชียวนะ

12.ใช้รถเมล์ถึง 14 คัน ในการถ่ายทำเรื่องนี้ สองคันแรกไม่ต้องถามถึง โดนระเบิดเละไปแล้ว หนึ่งคันใช้เฉพาะฉากที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง อีกคันโดนตัดหัวรถออกเพื่อใช้ถ่ายทำฉากภายในรถ อีกคันใช้ถ่ายทำฉากใต้ท้องรถ อีกคันใช้ฉากรถเหาะ อีกคันใช้ฉากที่รถเข้าโค้งแล้วเอียงข้างยกสองล้อ เหลือแค่ 2 คัน มีคันหนึ่งเอาออกมาประมูลขายเมื่อปีที่แล้ว เปิดราคาที่ 640,000 บาท ไม่ได้มีรายงานต่อว่า มีคนสู้ราคาไหม จบไปที่ราคาเท่าไหร่

13.สนามบินลอส แองเจลิส LAX ไม่อนุญาตให้กองถ่ายใช้สถานที่ในการถ่ายทำฉากรถเมล์พุ่งชนเครื่องบินระเบิด เพราะเป็นสนามบินที่พลุกพล่านจอแจเกินไป ทีมงานเลยต้องไปใช้สนามบินเล็กถ่ายกันที่ทะเลทรายโมฮาวี ในแคลิฟอร์เนีย สนามบินนี้เป็นที่นิยมกันมากในหนังฮอลลีวูด หนังหลาย ๆ เรื่องก็มาใช้สนามบินนี้กันเช่น Die Hard 2, Flightplan, Hot Shots, Dragnet, S.W.A.T., The Rookie

Runaway Train แรงบันดาลใจให้เกิดหนัง Speed

Runaway Train แรงบันดาลใจให้เกิดหนัง Speed

14.เกรแฮม ยอสต์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ เผยภายหลังว่าเขาต้องขอบคุณอภิมหาผู้กำกับ อากิระ คูโรซาวา ผู้เขียนบทหนัง “Runaway Train” ปี 1985 ออกมา ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกรแฮมเอามาประยุกต์เป็นบทหนัง Speed , Runaway Train เป็นหนังอีกเรื่องที่สนุกและระทึกมาก ผู้เขียนก็เพิ่งรู้นะเนี่ยว่า บทภาพยนตร์ต้นฉบับเป็นของอากิระ คูโรซาวา

แอนนี่ พอร์ตเตอร์ เคยทำงานขับรถพยาบาลมาก่อน

แอนนี่ พอร์ตเตอร์ เคยทำงานขับรถพยาบาลมาก่อน

15.เหตุผลที่ แอนนี่ พอร์ตเตอร์ เธอสามารถขับรถเมล์ได้อย่างคล่องแคล่วนั้น ในบทร่างแรกได้กล่าวถึงอดีตของเธอว่าเคยขับรถพยาบาลมาก่อน แต่ถูกตัดออกไปในบทเวอร์ชันถ่ายทำจริง

 

อ้างอิง