เป็นปีที่ 3 แล้ว สำหรับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” (Bangkok Design Week2020) ภายใต้ธีมของปีนี้คือ “Resilience : New potential for living” ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต

โดยนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนความคิด และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลอง ไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและสังคม ผ่านการจัดแสดงงานสร้างสรรค์ในพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ของกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย สามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย

โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน นักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย ระดมไอเดียในการสร้างศักยภาพใหม่ๆ ให้กับกรุงเทพฯ สำหรับรองรับประชากรที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างความปลอดภัยและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณะ เป็นเมืองที่มีความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์ พร้อมขานรับการเป็นหนึ่งใน ‘เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’ ด้วยการขยายพื้นที่จัดงานจากเจริญกรุง-ตลาดน้อย ไปยังสามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย

โดยมี 5 รูปแบบกิจกรรมหลัก ได้แก่

(1) Showcase & Exhibition กลุ่มผลงานจากนักสร้างสรรค์และภาคธุรกิจที่นำเสนอแนวทางของการพัฒนาคน ชุมชน ธุรกิจ และเมือง ที่ใช้กระบวนการออกแบบและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลากหลายแง่มุม โดยมีไฮไลท์สำคัญที่สะท้อนถึงการมีชีวิตอยู่ในยุคสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลงทุกวันอย่าง “หลุมหลบภัยทางอากาศ: Bangkok #Safezone Shelter” และ “Everlasting Forest by GC”

(2) Talk & Workshop จากนักคิดนักสร้างสรรค์ที่จุดประกายความคิดในการออกแบบอย่างยั่งยืน โดยการลด เลือกใช้ หรือหมุนเวียนทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคนในสังคม อาทิ “7 Wonders Of Business Resilience ประสบการณ์: ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต ของ 7 ธุรกิจ” และ Bangkok Design Week 2020 Powered by PechaKucha

(3) Creative District กิจกรรมส่งเสริมย่านเจริญกรุงสู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ทั้งด้านธุรกิจและคุณภาพชีวิตด้วยการจัดทำต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดการทดสอบและนำไปสู่การใช้งานจริง อาทิ “MADE IN CHAROENKRUNG”

(4) Event & Program กิจกรรมเฉลิมฉลองให้กับความสร้างสรรค์ของชาวกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะ การแสดง เวิร์คช้อป และกิจกรรมการเปิดบ้าน

(5) Creative Market ตลาดนัดสร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสในการขายสินค้าและการขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการเก่าและใหม่ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และพบกับ Pinkoi Market in Bangkok 2020 ที่รวบรวมงานดีไซน์จาก ไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ThaiGa Creative Market 2020 ตลาดสินค้าจากสตูดิโอออกแบบและนักสร้างสรรค์ไทย Meta Food market ตลาดอาหารกลายพันธุ์ การประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับอาหาร ตั้งแต่วิธีการคิด และผลิต

ไฮไลท์งานสร้างสรรค์ที่ห้ามพลาด

HUNDRED YEARS BETWEEN

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน


ผลงานคิวเรเตอร์ของ “ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน” ในนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์ม ที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา ได้ออกเดินทางเพื่อตามรอยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์เป็นเวลาหนึ่งเดือนในห้วงปลายรัชกาล เป็นการค้นหาร่องรอยแห่งการเวลาที่ถูกพิทักษ์ไว้ในอ้อมกอดของธรรมชาติ โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลการเดินทางที่สำคัญของประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ผ่านพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดา อย่างละเอียด พร้อมทั้งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในท่ามกลางภูมิทัศน์ของนอร์เวย์ไว้

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน คิวเรเตอร์นิทรรศการ Hundred Years Between

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมนิทรรศการ

แม้ว่าการเดินทางของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และท่านผู้หญิงสิริกิติยา จะเกิดขึ้นห่างกันนับศตวรรษ แต่ด้วยภูมิทัศน์ดินแดนไวกิ้งอันแสนงาม ขรึมขลังลึกลับและทรงพลัง ยังคงเป็นประจักษ์พยานให้มนุษย์ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ยืนหยัดข้ามกาลเวลา และกระตุ้นให้ครุ่นคิดถึงการดำรงอยู่ของตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล

โดยภาพุถ่ายทั้งหมดจัดแสดงใน “อาคารศุลกสถาน” หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม ที่มีอายุนับร้อยปี และมีความเชื่อมโยงไปถึงคราวที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงนิวัติกลับมายังสยาม ก็ได้เสด็จมายังที่นี่ด้วย ซึ่งเป็นการจัดแสดงภาพถ่าย และจดหมายที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้เขียนเรื่องราวที่เชื่อมโยงการเดินทางของสองช่วงเวลาเข้าด้วยกัน โดยไม่มีการดัดแปลงส่วนใดๆ ของอาคารเลยแม้แต่น้อย ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดอาคารเพื่อให้เข้าชมเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการปิดปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนเป็นโรงแรมในอีก 6 ปีนับจากนี้

สถานที่จัดงาน : อาคารศุลกสถาน

Bangkok #Safezone Shelter

Creative Economy Agency (CEA X SHMA X UNESCO, BANGKOK CITY OF DESIGN)

อากาศร้อน ฝุ่นเยอะ หมอกหนา ควันพิษ เราทำอะไรได้บ้าง? น่าจะเป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้ เพราะ “อากาศ” คือ ชีวิต คุณภาพอากาศที่ดีจึงจำเป็นสำหรับทุกลมหายใจ ปัญหาคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ เข้าขั้นวิกฤต จนถือเป็นภัยพิบัติ พื้นที่แห่งนี้จึงออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยพิบัติ เพื่อทดลองสร้าง #เซฟโซน สำหรับทุกคน โดยมีธรรมชาติเป็นพระเอก ไม่ว่าจะเป็นพืชสีเขียว ลม และ น้ำ ร่วมกับเทคโนโลยี การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ต้อนรับให้ทุกคนเข้ามานั่งพักให้สบาย สูดอากาศให้เต็มปอด #พักเหนื่อยให้หายหอบพาคนที่ชอบมาหายใจ ก่อนออกไปสู้กับสงครามทาง(คุณภาพ)อากาศในเมืองด้านนอก

ภายในหลุมหลบภัย มีเครื่องวัด PM2.5 วัดเปรียบเทียบค่าปริมาณ PM 2.5 เปรียบเทียบทั้งภายในและภายนอก

สถานที่จัดงาน : อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

Everlasting Forest by GC

PTT Global Chemical Public Company Limited

พื้นที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและธรรมชาติที่อยู่รอบตัวที่ต้องการความสมดุลด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกวัสดุที่มีกระบวนการผลิตและการติดตั้งที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การใช้วัสดุที่นำมาใช้ซ้ำได้ เพื่อลดปริมาณขยะ หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์ผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างสมดุลนั้นเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

สถานที่จัดงาน : อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

D17/20, DESIGN IN SOUTHEAST ASIA

โครงการด้านการออกแบบและงานฝีมือที่ริเริ่มโดยสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย ในบ้านพักตำรวจน้ำอายุเก่าแก่หลายสิบปี ที่ไม่เคยเปิดให้ใครเข้ามาก่อน เพื่อพัฒนาทักษะช่างให้เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์และกระบวนการผลิต ผ่านเวิร์กช็อปที่จัดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยนักออกแบบชาวฝรั่งเศสร่วมกับนักออกแบบท้องถิ่น

โดยเป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน นำมาปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ทั้งเสื้อผ้า ของประดับตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ และที่สำคัญคือ ของที่จัดแสดงทั้งหมดภายใน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่จริง

สถานที่จัดงาน : บ้านพักตำรวจน้ำ

E!CUBE : KUDOS

ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตกระแสไฟฟ้า แม้แต่ในน้ำที่เป็นอันตรายต่อกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เช่นกัน รวมถึงการต่อยอดไฟฟ้าจากดินที่ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกพัฒนาจนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากทุกสิ่งรอบตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเป็นการจัดแสดงนิทรรศการสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าจากปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผลิตจากขยะอาหารที่คนทิ้งขว้าง เพื่อสร้างความตระหนักต่อทั้งด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เข้าร่วม

สถานที่จัดงาน : โอ.พี.เพลส

Portrait of Charoenkrung

โรงเรียนสังเคราะห์แสง

หนังสือพิมพ์เฉพาะกิจ “Portrait of Charoenkrung” ของโรงเรียนสังเคราะห์แสง ภายในเป็นภาพถ่ายและเรื่องราวของย่านเจริญกรุง ความพิเศษของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์จีน “ซิงจงเอี๋ยน ” ซึ่งเป็นโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์จีนที่เหลืออยู่แห่งเดียวในเจริญกรุง

นิทรรศการภาพถ่ายเกิดขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากศาสตร์และวงการถ่ายภาพสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับย่านและชุมชน โดยจะบันทึกเรื่องราวของเจริญกรุงในปี 2563 นี้ ผ่านประสบการณ์ของ นาย/นาง/นางสาว/เด็กหญิง/เด็กชาย “เจริญกรุง” เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าของ “เจริญกรุง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ สังคม ครอบครัว วิถีชีวิต อาชีพ ธุรกิจ และวัฒนธรรมในแง่มุมที่มีคุณค่าแต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะที่จะคงอยู่ประจำบ้านเรือน ร้านค้า สถานที่สำคัญ เสมือนเป็นตัวแทนประจำย่านที่จะต้อนรับและเล่าเรื่องราวให้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชม

สถานที่จัดแสดง:

– พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย ท่าน้ำภาณุรังษี
– โรงพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน ซอยเจริญกรุง 24
– ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก
– ซอยเจริญกรุง 45 (กำแพงตรงข้ามร้านวัวทอง)
– pop up studio ร้านปุ๊ก อะไหล่

 

นอกจากงานสร้างสรรค์เหล่านี้ ใน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่จัดขึ้นใน 4 โซนทั่วกรุงเทพฯ และที่อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ก็มีกิจกรรมและมินิคอนเสิร์ตตลอดทั้ง 9 วัน

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” (BKKDW 2020) ได้ตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง และสถานที่จัดงานทั่วกรุงเทพฯ ทั้งสี่จุด ได้แก่ เจริญกรุง-ตลาดน้อย, สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่

www.bangkokdesignweek.com
facebook.com/bangkokdesignweek
instagram.com/bangkokdesignweek

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส