Taitosmith (อ่านว่า ‘ไททศมิตร’) เริ่มต้นจากการเป็นวงดนตรีอินดี้ที่เริ่มมีชื่อเสียงจากงานเพลงที่ทำเอง เล่นเอง เผยแพร่เองด้วยความรักและตั้งใจ “Pattaya Lover” และ เป็นตะลิโตน คือสองซิงเกิลในช่วงแรกที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แปลกแตกต่างด้วยการใช้ภาษาท้องถิ่นกับแนวดนตรีอันหลากหลายที่มีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนอุดมการณ์เพื่อชีวิต วิพากษ์สังคม ชีวิต ความรัก การเมือง และ เศรษฐกิจ กลายเป็น ‘เพื่อชีวิต’ที่สะท้อนผ่านในวิถี ไม่ใช่แนวดนตรี (แนวดนตรีจะเป็นแนวใดก็ได้แต่เนื้อหานั้นต้องเพื่อชีวิต) จากนั้น คางคก ซิงเกิลต่อมาก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงสืบต่อจากสองซิงเกิลก่อนหน้าจนมาถึงการเข้าสู่ค่าย Gene Lab ซึ่งบริหารโดย โอม ปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ โอม Cocktail จนปล่อยซิงเกิลแรกกับทางค่ายออกมาคือ แดงกับเขียว ที่สะท้อนปัญหาสังคมของวัยรุ่ยที่นิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เป็นเพื่อชีวิตในทางร็อกที่เข้มข้นโดนใจมหาชนจนกลายเป็นวงที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง ก่อนที่จะต่อด้วยซิงเกิลต่อมาคือ AMAZING THAILAND กับแนวคิด ‘ความพ่ายแพ้ของสังคม ที่ชอบหมกปัญหาไว้ใต้พรม’ สะท้อนปัญหาสังคม การเมือง ได้อย่างถึงลูกถึงคน !! จนมาถึงซิงเกิลล่าสุด “Hello Mama” ที่มีเนื้อเพลงผสมผสานระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาอีสาน บทเพลงแห่งน้ำตาของคนที่ต้องจากบ้านมาไกล คือน้ำตาแห่งความกระหาย ที่จะเอาชนะความลำบาก ความยากจน ความเหน็ดเหนื่อย และความคิดถึง

วง TAITOSMITH

ในทุกบทเพลงของ ‘ไททศมิตร’ มีเรื่องเล่า และในทุกเรื่องเล่ามีเรื่องราวของผู้เล่าซ่อนอยู่ และนี่คือเรื่องราวเหล่านั้นของผู้ถ่ายทอดบทเพลงทั้งหลายของ ‘ไททศมิตร’ เจ้าของเสียงร้องและท่วงทำนองอันเข้มข้น จ๋าย – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี หรือ ‘จ๋าย ไททศมิตร’  พี่ใหญ่แห่งวงไททศมิตร

ป๋าเต็ดทอล์กใน EP ที่ 25 จะพาคุณไปสัมผัสเรื่องราวของชีวิต จากบาดแผลในวัยเด็กสู่การเปลี่ยนแปลงและการเติบโตสู่การเป็นฟรอนท์แมนของวงดนตรีเพื่อชีวิตแห่งยุคสมัย ‘ไททศมิตร’ !!

[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP.25 จ๋าย ไททศมิตร | JAII TAITOSMITH ]

บทสนทนาในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยคำถามที่ว่า ‘คุณกลัวอะไรมากที่สุด’

“ผมกลัวความโดดเดี่ยว กลัวความรู้สึกว่าโดดเดี่ยว  กลัวว่าจะสัมผัสถึงใครไม่ได้ สัมผัสถึงความรักของใครไม่ได้ สัมผัสถึงความห่วงใยของใครไม่ได้ รู้สึกเหมือนเราถูกทอดทิ้งหรือโดดเดี่ยวอยู่ตัวคนเดียว”

ตอนเด็ก ๆ จ๋ายโตมากับยาย มีชีวิตปานกลางไม่ได้ลำบากอะไรมาก ยายเป็นคนติดการพนัน ติดเหล้าขาววันละขวดกินเป็นกิจวัตร อยู่กับยายมาจนถึงป.4-5 เวลานั่งรถกลับกับเพื่อนจะเห็นยายที่เมาเดินรำไปเรื่อยอยู่เสมอ จ๋ายมีรู้สึกอายบ้างแต่ต่อมาก็ชิน ยายชอบทาแป้งหน้าขาวให้จ๋าย ชอบทำให้รู้สึกอายตลอด ยายไม่เคยสอน ไม่เคยตอบอะไรจ๋ายเวลามีคำถาม ทำให้จ๋ายกลายเป็นเด็กที่ต้อง ‘หาคำตอบเอง’ ให้กับทุกเรื่อง ถึงแม้ว่ายายจะไม่ได้สอนอะไร แต่ยายก็เป็นคนดีสำหรับจ๋าย และไม่เคยบังคับหรือสั่งให้จ๋ายทำอะไรอย่างที่ตัวเองต้องการ จึงทำให้จ๋ายเติบโตมาเป็นเด็กที่มีอิสระทางความคิด

จ๋ายกับคุณยาย

ในตอนที่ยายยังอยู่กับจ๋าย เขาไม่เคยฝันที่จะเป็นอะไรเป็นเรื่องเป็นราว อาจเพราะยังเด็กเกินไป หรือ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อม จ๋ายโตมากับยายที่จังหวัดสกลนคร พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่จ๋ายยังไม่เกิด คุณแม่ร้องเพลงกลางคืนไม่มีเวลาดูแลก็เลยเอาจ๋ายมาให้ยายเลี้ยง จ๋ายเลยโตมาโดยคิดว่ายายนั้นคือแม่ จึงเรียกยายว่า ‘แม่’ มาโดยตลอด เมื่อโตขึ้นถึงได้รู้ความจริง และนานครั้งถึงจะได้เจอคุณพ่อคุณแม่ 

ต่อมายายผู้เป็นเหมือนโลกทั้งใบของจ๋ายได้เสียชีวิตลง มันทำให้จ๋ายรู้สึกอ้างว้างและเรียกหา ‘ความอบอุ่น’ จากทุกคน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำจิตใจให้เข้มแข็งและหยัดยืนต่อไปให้ได้

“ต่อไปนี้เราล้มไม่ได้แล้ว เพราะจะไม่มีใครคอยมาดึงเรา มาโอ๋เราแน่นอน ดังนั้นเราห้ามร้องไห้ เราห้ามแพ้เด็ดขาด”

Turning Point : จุดเปลี่ยนของจ๋าย

จ๋ายกับคุณแม่

จากนั้นจ๋ายจึงย้ายไปอยู่กับคุณแม่ที่ภาคใต้ ซึ่งต้องปรับตัวพอสมควรเพราะจ๋ายไม่ได้โตมากับแม่ มีเรื่องขัดใจกันตลอด ทะเลาะกันตลอด เพราะเป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นด้วย ยิ่งเรียกร้องก็ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ ทำให้ต้องหาที่พึ่งทางอื่นคือ ‘เพื่อน’  แต่การหาเพื่อนสำหรับจ๋ายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยการที่จ๋ายเป็นเด็กอีสานที่ย้ายไปอยู่ใต้ ทำให้พูดไม่ชัดทั้งกลางและใต้ทำให้โดนล้อจนมีปัญหากับเด็กถิ่น เลยทำให้จ๋ายต้องสร้างโลกของตัวเอง กลุ่มของตัวเองเพื่อให้อยู่ได้อย่างมีความสุข เป็นคนมีเพื่อนเยอะ ใครโดนรังแกจะดึงมาเข้ากลุ่ม มีเรื่องมีราวบ้าง แต่ไม่เคยรังแกใครก่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเรื่องสู้รบปรบมือเกือบทุกวัน และมันได้ส่งผลให้จ๋ายตัดสินใจไปเรียนต่อ ปวช. สืบต่อเส้นทางสายเดือด

ส่วนเรื่องที่เดือดที่สุดที่เคยเจอคือ ‘เกือบโดนอุ้ม’ เนื่องด้วยไปมีเรื่องกับเพื่อนของหลานผู้มีอิทธิพลในจังหวัด ด้วยกลัวคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงเดือดร้อนจ๋ายจึงออกตัวไปจัดการเรื่องราวโดยลำพัง เรื่องราววุ่นวายจนดูเหมือนจะเคลียไม่ได้ ในขณะที่จ๋ายพยายามยื้อเวลา คนรู้จักของพ่อก็ผ่านมาพอดี จึงมีคนช่วยเคลียร์ให้เรื่องถึงได้จบไป แต่หลังจากนั้นไม่นานจ๋ายก็คิดขึ้นมาได้ว่านี่ไม่ใช่ชีวิตแบบที่เขาต้องการ นี่ไม่ใช่วิถีที่เขาอยากให้คนจดจำ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่และย้ายถิ่นฐานมาอยู่กรุงเทพ ฯ

“นี่มันไม่ใช่ชีวิตที่กูต้องการ นี่มันไม่ใช่กู กูทำอะไรอยู่วะเนี่ย โลกต้องไม่จำกูแบบนี้”

The Beginning : สู่จุดเริ่มต้น

ก่อนหน้าที่จ๋ายจะย้ายมากรุงเทพ ฯ จ๋ายได้ไปขออนุญาตพ่อ ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์ไม่ค่อยลงรอยกับตนเองนัก ตามประสาพ่อกับลูกชายที่ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกันเท่าไหร่ พ่อว่ามาจ๋ายก็สวนไปเป็นแบบนี้ตลอด ชีวิตช่วงนั้นเหมือนกดดัน มืดหม่น มีแต่คำถามที่ไร้ซึ่งคำตอบ ถึงแม้ประสบการณ์ในช่วงวัยนี้ของจ๋ายจะดูเหมือนว่ามันคือสิ่งพิเศษที่ทำให้จ๋ายได้เป็น ’จ๋าย ไททศมิตร’อย่างในทุกวันนี้ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้มันต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า ‘การปลดล็อก’ เสียก่อน

สำหรับจ๋ายแล้วการปลดล็อกนั้นเกิดขึ้นในตอนเรียนมหาวิทยาลัย ที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำให้จ๋ายได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดง การเรียนรู้ผู้อื่น และการเรียนรู้ตนเอง การได้สวมบทบาทเป็นคนอื่นผ่านการแสดงทำให้จ๋ายได้เรียนรู้ทั้งการทำความเข้าใจผู้อื่นและการขุดค้นเข้าไปในปมในจิตใจของตนเองโดยมีเพื่อนและครูคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ จนจ๋ายได้พบว่าปัญหาทั้งหลายนั้นหาได้มาจากภายนอกแต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีรากมาจากภายในทั้งนั้นเลย ความสัมพันธ์อันห่างเหินระหว่างเขากับพ่อก็คลี่คลายด้วยการ ‘ให้อภัย’ จากภายในทั้งที่มีต่อพ่อและต่อตนเอง

ป๋าเต็ดเคยแสดงละครเวทีของม.กรุงเทพร่วมกันกับจ๋ายเรื่อง ‘ชายกลาง’

จากการเป็นเด็กกิจกรรมในวัยมัธยมผสมด้วยความตั้งใจอยากเป็น ‘ผู้กำกับ’ อยากสร้างผลงานของตนเอง จึงเป็นเหตุให้จ๋ายตัดสินใจเลือกเรียนในด้านนี้ซึ่งในตอนแรกจ๋ายเกือบตัดสินใจเรียนด้านภาพยนตร์แต่ได้ไปเจอบทสัมภาษณ์พี่บอย ถกลเกียรติเสียก่อนเลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า ผู้กำกับละเครเวทีน่าจะต้องเก่งกว่าผู้กำกับภาพยนตร์สิ เพราะละครนั้นคัทไม่ได้ต้องปล่อยยาวไปจนจบ ด้วยความอยากเก่งจึงตัดสินใจเรียนศิลปะการแสดงในที่สุด ซึ่งพอเข้ามาเรียนแล้วด้วยความที่จ๋ายมีหนวดเครามาตั้งแต่มัธยมทำให้เป็นคนดูมีเอกลักษณ์จึงถูกจับไปแสดงละครหลายต่อหลายครั้งจนมีประสบการณ์มากมาย และด้วยสภาพแวดล้อมบริบทที่ดีทั้งการมีครูที่ใส่ใจในลูกศิษย์ทั้งการสอนและการใช้ชีวิต การมีเพื่อน พี่น้อง ทุกเพศ ทุกรูปแบบ ในช่วงเวลาสำคัญของการเป็นวัยรุ่นทำให้ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ บ่มเพาะ จนก่อเกิดความเข้าใจในตนเอง ผู้อื่น และมีอิสระทางความคิด เป็นตัวของตัวเองสูง

เนื่องด้วยศาสตร์ของศิลปะการแสดงเป็นการขุดค้นลงลึกเข้าในจิตใจ ในช่วงเริ่มต้นผู้ที่จะเล่นละครอาจมีกลไกการป้องกันตนเอง ไม่ยอมให้การ ‘ขุดค้น’ นั้นลงลึกไปถึงกลางใจ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การจะไปให้ถึงที่สุดได้นั้น ผู้เล่นต้อง ‘ยอม’ ยอมที่จะถูกขุดค้นลงไปในจิตใจ ยอมที่จะเปิดเปลือยและจ้องมองตนเองให้ลึกซึ้งถึงภายใน และนั่นจึงนำไปสู่กระบวนการ ‘ปลดล็อก’ และ ‘ปลดเปลื้อง’

“เหมือนครูเค้าทำให้ผมเชื่อใจเค้าได้ พอผมเชื่อใจแล้วผมจะรู้สึกปลอดภัย จากนั้นในห้องแอ็กติ้งผมก็จะกล้าแอ็ก จากนั้นผมก็แค่ทำให้สบายใจบนเวที และเมื่อผมได้ไปเจอพื้นที่บนเวที พื้นที่ที่ผมจะเป็นใครก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ โดยที่คนทั้งโลกทำร้ายผมไม่ได้ ตัดสินผมไม่ได้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่มหัศจรรย์และมีความสุข”

จ๋ายมุ่งมั่นและตั้งใจในการเรียนการแสดงมาก เมื่อรู้ว่ารุ่นพี่คนไหนคือคนที่เก่งที่สุด ครูคนไหนเก่งที่สุด ก็จะเข้าไปตีสนิทและเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และกลับมาฝึกฝนตนให้หนักหน่วงกว่า เข้มข้นกว่า จนผลงานการแสดงของจ๋ายเป็นที่ติดตาต้องใจคนในคณะทำให้ได้เล่นละครภาคทุกเรื่อง ธีสิสรุ่นพี่ทุกเรื่อง ลามไปถึงการแสดงนอกคณะในมหาวิทยาลัยอื่นเช่น จุฬา หรือ มศว.

ห้องสตูดิโอการแสดงที่คณะ
บทบาทการแสดงของจ๋าย
บทบาทการแสดงของจ๋าย

พอมาถึงงานธีสิสตัวเองจ๋ายก็ตั้งใจทำมันให้เป็น ‘มาสเตอร์พีซ’ เขาตัดสินใจทำเรื่อง “เยรูซาเล็ม” เป็นเรื่องเกี่ยวกับพ่อค้ายาชาวอังกฤษอดีตนักแข่งรถผาดโดนนาม ‘จอห์นนี ลูสเตอร์ ไบรอน’ ผู้เป็นที่พักพิงให้แก่เด็กหนุ่มสาวผู้หลงทางทั้งหลาย ซึ่งงานชิ้นนี้ก็ได้เป็นมาสเตอร์พีซสมใจเพราะได้แสดงสองรอบ รอบแรกในฐานะงานธีสิส รอบที่สองทางคณะออกเงินให้เปิดการแสดงเป็นละครภาคอีกครั้งหนึ่ง

การแสดงธีสิสของจ๋ายเรื่อง ‘เยรูซาเล็ม’

หลังจบการศึกษาจ๋ายก็ไปทำงานรับจ้างทำฉากให้กับงานอีเวนต์ ก่อนที่จะพบกับ ‘เป๋ง ชานนท์ ยอดหงส์’ Designer มากฝีมือ และ อดีต Art Director ที่ Genie Records ชักชวนมาทำฉากในงานเทศกาลดนตรี Big Mountain หลังเสร็จงานจ๋ายจึงมีเวลาว่างเดินเล่น ตั้งใจจะไปดูการออกแบบฉากของเวทีต่าง ๆ จนมาสะดุดกับการแสดงของ ‘โมเดิร์นด็อก’ บนเวที Blackstage เมื่อเห็นคนดูตกอยู่ในมนต์ขลังจากเสียงดนตรีและการแสดงของวง จ๋ายเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจเหมือนเมื่อครั้งตั้งปณิธานว่าจะเก่งแบบรุ่นพี่ในคณะให้ได้ จึงคิดขึ้นมาในใจว่าตนเองก็น่าจะขึ้นไปอยู่บนเวทีและมีการแสดงที่สุดยอดแบบนั้นได้เหมือนกัน

งานของจ๋ายที่ Big Mountain

“ผมรู้สึกว่าผมสามารถขึ้นไปบนบนเวทีนั้นแล้วก็ทำหน้าที่นั้นได้เลย”

Birth of Calling : เสียงเรียกจากภายใน

จากนั้นจ๋ายจึงกลับมาถามตัวเองว่าอยากจะทำจริงไหม ถ้าทำแล้วทำทำไม ชีวิตช่วงนั้นของจ๋ายไม่ได้เดือดร้อนอะไร เงินทองก็มี ฐานะทางบ้านตอนนี้ก็โอเค ดังนั้นคำตอบของจ๋ายจึงย้อนกลับไปในจุดที่คิดถึง ‘คนอื่น’ เหมือนที่เคยดูแลน้อง ๆ ในคณะหรือเมื่อครั้งปกป้องเพื่อน ๆ ที่โดนรังแกในวัยเด็ก การแสดงนั้นจ๋ายรู้สึกว่าหากสำเร็จมันเป็นความสำเร็จของเขาแต่เพียงผู้เดียว แต่งานดนตรีมันจะมีผลต่อคนหมู่มาก อีกทั้งยังสามารถเติบโตได้มากกว่าอีกด้วย

“ลุคผมมันเป็นแบบนี้ ผมสัก ผมมีเพดานของการเป็นนักแสดงอยู่ ผมคงไม่อาจเป็นพระเอกแนวหน้าของประเทศได้ แต่ผมสามารถเป็นศิลปินแนวหน้าของประเทศได้”

ด้วยความตั้งใจที่อยากทำเพลงเพื่อช่วยวัยรุ่น ช่วยผู้อื่น จ๋ายจึงวางแนวทางเพลงของตัวเองว่าต้องเป็นเพลง ‘เพื่อชีวิต’

“เพลงเพื่อชีวิตสำหรับผมมันไม่ใช่แนวดนตรี สำหรับผมมันคือวิถี มันคือการเล่าเรื่อง”

รอยสัก ‘จงเป็นมนุษย์’ที่แขนซ้ายของจ๋าย

และด้วยความที่เพื่อชีวิตของจ๋ายคือวิถี งานดนตรีจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป อย่างสองซิงเกิลแรก ‘Pattaya Lover’ และ ‘เป็นตะลิโตน’ ก็มีลักษณะเป็นงานเพลงอินดี้เสียมากกว่า

“Pattaya Lover” เป็นเรื่องลุงวิชัยจากสกลนครที่มาขายส้มตำที่พัทยาจนไปแอบชอบแหม่มสาวนางหนึ่งเข้าเลยต้องส่งภาษาจีบซะหน่อย  ด้วยดนตรีโฟล์คเรกเก้สดใส บวกเนื้อร้องที่ผสมกันระหว่างภาษาอังกฤษแบบบ้าน ๆ และภาษาถิ่นอีสาน จึงทำให้บทเพลงนี้มีความโดดเด่นเป็นที่ประทับใจ

เป็นตะลิโตน คือการเอาคำว่า “ตะลิโตน” จาก “Pattaya Lover”  มาขยายต่อ เป็นเพลงรักหวานละมุม โรแมนติกที่มีเนื้อร้องท่อนฮุกเป็นภาษาอีสานว่า “เป็นตะลิโตนเด้ เป็นตะลิโตน”  อันแปลว่า ‘โอ๊ย น่าสงสารจังเล้ย’

จ๋ายเริ่มต้นตั้งวงจากการชักชวน ‘โฟโมส’ นักร้องนำและมือกีตาร์อีกคน จากนั้นจึงชักชวนเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ที่เล่นดนตรีเป็นมารวมตัวกัน

สมาชิกไททศมิตรทั้ง 6

การที่วงมีนักร้องสองคนนั้นจ๋ายมองว่าทำให้มีเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง และทำให้ไม่น่าเบื่อ สามารถทำเพลงตอบโต้กันได้ สามารถสื่อสารผ่านหลายมุมมองได้ จ๋ายคิดว่าวงฟิกส์แบนด์ (หมายถึงวงที่มีนักร้องคนเดียวและต้องเล่นอยู่กับที่) ทำให้ไม่สามารถดึงโฟกัสคนดูได้ แต่การที่มีนักร้องสองคนทำให้สลับร้อง สลับเล่น หรือเน้นเสริมส่ง อีกทั้งยังสามารถออกแบบการแสดงให้ดึงดูดผู้ชมได้ ‘อย่างไม่ละสายตา’ และใช้พลังที่คนดูส่งมาให้บนเวทีเปลี่ยนเป็นพลังในการบรรเลงดนตรีอย่างเต็มที่

“ยิ่งคนดูเค้าส่งมามากแค่ไหน ผมก็ยิ่งไปสุดมากแค่นั้น ทั้งความสุข ทั้งความเศร้า ความเจ็บปวดที่จะถ่ายทอดออกไปมันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น”  

ก่อนนี้ต่อให้ขอไปเล่นฟรี ที่ไหน ๆ ก็ไม่ยอมให้เล่น แต่พอได้มีเพลงของตัวเอง ได้ปล่อย ‘Pattaya Lovers’ และ ‘เป็นตะลิโตน’ จนมียอดวิวเป็นจำนวนมาก  นี่เหมือนเป็นหลักไมล์ของความสำเร็จแรกของวง และทำให้วงได้รับโอกาสเล่นในที่ต่าง ๆ และสามารถเล่นโดยใช้แต่เพลงตัวเองทั้งหมด

Chance to Success : โอกาสสู่ความสำเร็จ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ไททศมิตร’ ได้มาอยู่ ‘Gene Lab’ ค่ายเพลงที่เป็นเสมือนค่ายลูกของ ‘Genie Records’ ที่ดูแลโดย โอม ปัณฑพล ประสารราชกิจหรือ โอม Cocktail นั้นเกิดขี้นจากการที่โอมได้ชมคลิปการแสดงเพลง ‘แดงกับเขียว’ จึงเกิดความสนใจติดต่อให้วงมาคุยกัน ในตอนนั้นจ๋ายมีความกังวลใจพอสมควรเนื่องจากทัศนคติที่มีต่อคำว่า ‘ค่ายเพลง’ (ยิ่งเป็นค่ายใหญ่แบบนี้ด้วย) นั้นไม่ค่อยดีนัก ด้วยกลัวว่าจะสูญเสียอิสระและถูกบังคับให้ทำตามทิศทางของค่าย แต่การคุยกันครั้งนี้จ๋ายพยายามล้างความคิดนั้นออกไปก่อนและมาฟังจากปากของโอมด้วยตัวเอง

https://www.youtube.com/watch?v=u6DheZTbuww

ในตอนที่ป๋าเต็ดได้ไปคุยกับโอม (อยู่ใน EP.26) โอมบอกว่าการคุยกับจ๋ายและวงในวันนั้นไม่ได้เหมือนว่าตนเองจะมาเลือกวงเข้าค่าย แต่เหมือนวงกำลังจะมาเลือกว่าจะอยู่กับใคร จะให้ใครมาดูแลวงเสียมากกว่า ในวันนั้นคำถามแรกที่โอมถามกับจ๋ายและวงนั้นคือ ‘มีอะไรจะคุยกับพี่’ จ๋ายตอบว่า ‘วันนี้คุยกันสบาย ๆ ก่อนได้ไหมครับ’  โอมจึงตอบกลับมาว่า ‘พี่คุยสบาย ๆ ไม่เป็นน่ะสิ‘ จากนั้นคำถามแรกของจ๋ายจึงออกมา

“ผมอยากจะรู้ว่าที่พี่มาวันนี้พี่เป็นคนดีรึเปล่า”

โอมอึ้ง‘…หมายความว่าอะไรครับ’

“แต่พี่ไม่ต้องตอบผมนะครับ เดี๋ยวเราคุยกันไปเรื่อย ๆ แล้วผมจะรู้เอง ว่าพี่เป็นคนดีรึเปล่า เพราะว่าผมไม่ได้กลัวคนไม่ดี ผมเจอคนไม่ดีมาเยอะเหมือนกัน แต่ว่าผมไม่อยากเสียเวลากับคนไม่ดี”

จากนั้นคำถามที่สองจึงตามมา

“ผมอยากรู้ว่าสิ่งที่แย่ที่สุดกับในการอยู่กับแกรมมี่คืออะไรครับ”

ซึ่งคำตอบของโอมก็คือ “สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ ‘เพลงเป็นของแกรมมี่’”

จ๋ายและเพื่อน ๆ รู้สึกตกใจกับคำตอบนี้อยู่เหมือนกัน แต่จากนั้นโอมก็ได้อธิบายถึงความหมายของ ‘การเป็นเจ้าของ’ ว่าเป็นเจ้าของในการจัดการ ในการเก็บเงิน เก็บค่าตอบแทนผลประโยชน์จากเพลงนั้น ๆ แต่ความเป็น ‘เจ้าของ’ ชิ้นงาน ผู้ฟังทุกคนย่อมจดจำว่ามันเป็นเพลงของไททศมิตรมากกว่าที่จะจำว่ามันเป็นของแกรมมี่แน่นอน และถึงแม้วันใดที่วงจะไม่ได้อยู่กับแกรมมี่อีกเรื่องของ ‘ความเป็นเจ้าของ’ นั้นก็เป็นสิ่งที่ตกลงกันได้ นั่นจึงทำให้จ๋ายและเพื่อน ๆ ตัดสินใจร่วมงานกับ Gene Lab ตั้งแต่นั้นมา (แต่ก็ใช้เวลาคิดทบทวนนานกว่า 5 เดือนถึงจะตัดสินใจเซ็นสัญญา) จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบปี ซึ่งจ๋ายก็บอกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

“ผมมักจะบอกกับเพื่อน ๆ  เสมอว่ามันเป็นสะพานที่จะต้องข้ามไป เหมือนเราจะมาเอามะม่วง นี่คือสะพานที่จะเชื่อมเราไปถึงต้นมะม่วง”

และสุดท้ายไททศมิตรก็ได้มาเล่นบนเวที Black Stage เวทีเดียวกันกับที่จ๋ายได้ชมการแสดงของโมเดิร์นด็อกโดยใช้เวลาเพียงสองปีนับจากวันนั้น และนับเป็นการแสดงที่ดีที่สุดบนเวทีนี้ในปีนั้นเลย

การแสดงของไททศมิตรที่ Big Mountain

“ผมเคยคิดมาตลอดว่าการยืนอยู่ตรงนี้จะรู้สึกว่าตนเองยิ่งใหญ่มาก ๆ  ‘กูทำได้แล้ว’ แต่ไม่เลยผมกลับยังรู้สึกเหมือนวันแรกตอนที่เพิ่งตั้งวง ผมอยากให้คนฟังรู้สึกว่าเค้าเองก็ยิ่งใหญ่เหมือนกัน แล้วเค้าเองก็สามารถทำอะไรก็ได้เช่นกัน”

สิ่งที่ทำให้จ๋ายไททศมิตรทำได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ในเวลาเพียงไม่นาน อย่างแรกจ๋ายบอกว่ามันคือ ‘ความอดทน’ โดยจ๋ายเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเข้าใจได้ง่าย ๆ อย่าง ‘การวิ่ง’ ที่เมื่อเราออกวิ่งไปเรื่อย ๆ อย่างไรเสียวันพรุ่งนี้ เราต้องวิ่งได้มากกว่าวันนี้ มันต้องวิ่งได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว แต่หากเรายังวิ่งอยู่ที่เดิม ได้เท่าเดิม นั่นอาจเป็นเพราะเราทำอะไรผิดพลาดไป ควรกลับมาทบทวน แก้ไข และออกวิ่งใหม่ มันก็จะไปได้ไกลอย่างแน่นอน เฉกเช่นเดียวกับการทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

จ๋ายพบว่าการเป็นศิลปินนั้นมีข้อดีตรงที่สิ่งที่ทำนั้นมีเอฟเฟกต์ (จ๋ายยกตัวอย่างโครงการก้าวคนละก้าว ฯ ของพี่ตูน ที่มีผลกระทบในวงกว้างอย่างยิ่งใหญ่) มันมีพลังในการขับเคลื่อนมวลชนได้ แต่เมื่อมาอยู่ตรงจุดนี้ก็ทำให้จ๋ายต้องกลับมาตั้งคำถามถึงจุดยืนของตัวเองและการรับมือกับชื่อเสียงที่เข้ามา จ๋ายมีความตั้งใจว่าอยากเป็นวงดนตรีที่ยืนอยู่ในจุดเดียวกับผู้ชม ไม่ได้วางตนอยู่เหนือกว่าหรือต้องมายกย่องเชิดชู

“มันเหมือนกับผมอยากยืนเท้าแตะพื้น แต่ตัวผมมันกำลังลอยขึ้น มันเลยทำให้ผมแพนิก”

แต่สุดท้ายความรู้สึกนี้ก็คลี่คลายได้ด้วยข้อสรุปที่ว่าหากสิ่งไหนเป็นความสุขของแฟนเพลง เขาก็จะรับบทบาทนั้น หากแฟนเพลงจะมองเขาด้วยการเชิดชู เขาก็จะรับบทบาทนั้นให้ดีที่สุด ให้ในสิ่งที่แฟนเพลงคาดหวังและมีความสุข ด้วยความจริงใจและยังเป็นตัวเองอยู่

นอกจากนี้จ๋ายยังตั้งรับกับเสียงวิจารณ์ หรือกระแสต่อต้านที่อาจมีได้ในอนาคตเพราะบทเพลงของไททศมิตรนั้นมีสารที่สะท้อนสังคม การเมือง วิถีชีวิต ความเชื่อ และอะไรหลายอย่างที่อ่อนไหวและอาจเป็นประเด็นขึ้นมาได้

ศิลปินที่ทำแนวเพลงเพื่อชีวิตเปรียบเหมือน ‘คนขี่หลังเสือ’ คือเมื่อขึ้นไปแล้วจะลงมันลงได้ยาก หากแสดงทัศนคติอะไรไป พูดเรื่องอะไรไป ก็ต้องทำตามให้ได้อย่างนั้น ประเด็นแบบนี้มีให้เห็นมาแล้วอย่างในกรณีของแอ๊ด คาราบาว ที่หลายครั้งผู้คนมักย้อนถามกลับไปที่พี่แอ๊ดว่าแต่ก่อนเคยเขียนเพลงไว้แบบนี้ แต่ทำไมวันนี้ถึงเป็นอีกแบบหนึ่ง ในกรณีนี้จ๋ายมองต่างออกไปด้วยเชื่อว่า คนเราย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราย่อมมีการพัฒนาในความเป็นมนุษย์ของเรา

“สมมติไททศมิตรตั้งเป้าว่าเราเขียนเพลงเพื่อคนจนเป็นหลัก แล้ว 40 ปีเราก็ยังจนอยู่ เขียนเพลงเพื่อคนจนอยู่ ป๋าจะอยากฟังเพลงผมหรอ 40 ปีผมยังย่ำอยู่ที่เดิม ชุดความคิดเดิม ภาษาเดิม ในเพลงแบบเดิม”

Being JAII : ความเป็นจ๋าย

สำหรับสิ่งที่เป็น ‘ความสุข’ และ ‘ความไม่สุข’ ของจ๋าย จ๋ายบอกว่า ความสุขของเขา ณ ตอนนี้คือ ‘การให้’ ให้อย่างเดียวซึ่งบางครั้งอาจมีผลกลับมาทันทีหรือบางทีอาจนานกว่านั้นเป็น 10 ปีก็ได้ แต่จ๋ายค้นพบแล้วว่า

“การมุ่งหน้าสู่วิถีคิดดีทำดีทุกวัน พยายามต่อสู้กับกิเลสพอที่สติปัญญาจะสำนึกได้ และให้คนอื่น นี่คือความสุขที่สุดแล้ว ณ ตอนนี้”

สำหรับ ‘อุดมการณ์ ความรัก ครอบครัว’ จ๋ายเลือก ‘อุดมการณ์’ เป็นอันดับแรก และความรัก กับ ครอบครัวเป็นอันดับต่อมาตามลำดับ สำหรับอุดมการณ์จ๋ายยังเดินหน้าต่อไปด้วยการตั้งเป้าหมายระยะสั้นและทำมันให้สำเร็จโดยวัดผลปีต่อปี

ส่วนในด้านความรัก จ๋ายคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เร่งไมได้ พยายามเร่งแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ จ๋ายพูดถึงบทพูดหนึ่งในละครที่ว่า ‘ความรักมันเป็นเรื่องกรรมพันธุ์’ เขาเลยทำใจไว้ประมาณหนึ่งว่าเรื่องราวความรักของเขาอาจเป็นเหมือนกับยาย-ตา พ่อ-แม่ ที่ไม่มีใครประสบความสำเร็จเรื่องความรักเลยก็เป็นได้ เพราะสำหรับตัวเขาทั้งชีวิตการทำงานและทัศนคติเรื่องชีวิตคู่อาจทำให้หาใครที่เข้าใจได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นจ๋ายก็เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความรัก’ ซึ่งหากไม่สามารถได้รับจากคู่รัก ก็คงต้องไปหาจากความสัมพันธ์อื่น

ในเรื่องครอบครัว จ๋ายพบว่าถึงแม้จะได้มันมาช้ากว่าคนอื่น แต่ก็โชคดีตรงที่เป็นครอบครัวที่พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเขาเสมอ ให้เวลาและไม่เป็นเจ้าของชีวิต การที่จ๋ายไม่ต้องมีภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัวจึงทำให้เขาสามารถไปเหนื่อยเพื่อคนอื่นและทำในสิ่งที่รักได้อย่างเต็มที่

และก็เรื่องครอบครัวนี่เองที่เป็น ’บาดแผล’ หรือ ‘เรื่องที่ทำให้เจ็บปวดที่สุด’ สำหรับจ๋าย ถึงแม้วันนี้มันจะคลี่คลายไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่จ๋ายก็ยังเก็บมันไว้ในจิตใต้สำนึกไม่ปล่อยให้มันจางหายไป เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์งาน ความรู้สึกโดดเดี่ยวและการโหยหาเหล่านั้นยังคงอยู่ แต่อยู่ด้วยความเข้าใจ และเรียกมันมาใช้ในยามจำเป็น

เมื่อถามว่า สุดท้ายอยากมีความตายแบบไหน จ๋ายบอกว่าอยากนอนตายอยู่บนเตียงแล้วหัวเราะอย่างสะใจได้ สะใจในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าใครจะจดจำเขาแบบไหน

“กูไม่สนใจแล้วว่าใครจะจำกูยังไง หรือใครที่กูเคยทำอะไรไว้บ้าง แต่กูสะใจว่ะ ชีวิตนี้มันสะใจจริง ๆ “

เมื่อถูกถามว่ากลัว ‘วงแตก’ หรือไม่ จ๋ายบอกว่าไม่ได้กลัวอะไร เพราะเตรียมใจไว้เสมอว่ามันอาจเป็นไปได้ในอนาคต เพราะวันหนึ่งชื่อเสียงที่เข้ามาอาจทำให้อัตตาพอกหนาและนำไปสู่จุดแตกหักในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ได้เคยทำไว้ร่วมกันมันก็จะยังอยู่ เป็นตำนานบทหนึ่งอยู่ และจ๋ายเองก็ยังคงมุ่งหน้าในอุดมการณ์ของตัวเองต่อไป แม้อาจจะเปลี่ยนบทบาทไป ส่วนในทุกวันนี้ความสัมพันธ์ภายในวงก็เป็นไปด้วยดี วงจะมีการรีเช็กพุดคุยกันถึงความรู้สึกที่แต่ละคนมีต่อกันอยู่เสมอ หากรู้สึกไม่ดีต่อกันเมื่อไหร่ก็ให้คุยกันเลยทันที ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก  ๆ

และสำหรับคำถามสุดท้ายถึงบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิต จ๋ายใช้เวลาคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะให้คำตอบว่า

“เราต้องเคารพตัวเอง เคารพในความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ถ้าเกิดข้อนี้เมื่อไหร่ เราจะเริ่มเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนอื่น”

ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเราเรียนรู้ได้อยู่เสมอ แม้ในคนที่ไม่สนใจคนอื่นและชอบอยู่แต่กับตัวเอง ก็ให้ใช้เวลาที่มีในการศึกษาตัวเองทำความเข้าใจตัวเอง เมื่อนั้นเราจึงจะเข้าใจ เห็นในคุณค่าของตัวเอง และเกิดความเคารพในตัวเอง จนนำไปสู่การให้เกียรติผู้อื่นในที่สุด

Source

ป๋าเต็ดทอล์ก EP.25 จ๋าย ไททศมิตร | JAII TAITOSMITH

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส