ในวันนี้อาจกล่าวได้ว่า Cocktail คือหนึ่งในวงดนตรีร็อกแถวหน้าของเมืองไทย ที่ยืนหยัดพิสูจน์ตนเองอยู่ในวงการดนตรีมาเกือบ 20 ปี มีผลงานตั้งแต่ยุคอินดี้จนถึง Genie Records ทั้งสิ้น 6 อัลบั้ม 3 อีพี รวมแล้วมากกว่า 70 เพลง โดยล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลงฮิตอันเป็นที่นิยมทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็น เธอ, คุกเข่า, คู่ชีวิต เป็นต้น

ตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นมาจนถึงวันนี้ มีสมาชิกเพียงคนเดียวที่เป็นเดินหน้ามากับ Cocktail จนถึงวันที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เขาคือผู้ริเริ่ม ผู้สร้างสรรค์ ผู้มีไฟฝัน และทำมันให้เป็น ‘แผน’ ที่สามารถเดินตามเป็นขั้นเป็นตอนได้ เขาคือ โอม ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำและผู้สร้างสรรค์บทเพลงทั้งหมดของ Cocktail อีกทั้งยังพ่วงไว้ด้วยการเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหลากหลายศิลปิน และเป็นผู้บริหารค่ายเพลง ยีนแลบ (Gene Lab) ที่เป็นเสมือนค่ายลูกของ Genie Records

มาสัมผัสกับเรื่องราวของ Cocktail จากวงอินดี้ที่ไม่อินดี้ ไม่ค่อยได้ไปเล่นงานแฟต สู่วงแมสที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญ และเรื่องราวชีวิตของโอมที่เจ้าตัวบอกว่า ‘จืด’ กับการพาวง Cocktail ผ่านความเปลี่ยนแปลงการโดนปฎิเสธ และการเปลี่ยนความ ‘ฝัน’ ให้กลายเป็น ‘แผน’ ที่ทำให้เขาและ Cocktail เดินมาจนถึงทุกวันนี้

[บทความนี้เรียบเรียงจาก EP.26 โอม ค็อกเทล | OHM COCKTAIL | ป๋าเต็ดทอล์ก (ตอนที่ 1)]

บทสนทนาเริ่มต้นด้วยการพูดถึงสถานที่สนทนากันในครั้งนี้นั่นคือ ร้าน Analox Film Cafe ร้านกาแฟที่จำหน่ายและรับล้างฟิล์ม (อยู่บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร) ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยโอม และทีมงานวง Cocktail ซึ่งเริ่มต้นจากวันที่โอมได้ไปบรรยายเรื่องการศึกษาต่อให้นักเรียนที่มีความประสงค์จะศึกษาต่อในต่างประเทศ ทำให้โอมและหมี พณิช ฉ่ำวิเศษ ผู้จัดการวงได้พบกับ ‘ลุงโจ’ ช่างภาพในงานนี้และได้พูดคุยกันจนถูกคอและชักชวนมาร่วมงานกับ Cocktail  ต่อมาทั้งสามได้มีไอเดียที่จะลงทุนสร้างรายได้เพิ่มเติมจึงได้ตัดสินใจเปิดร้านนี้โดยเป็นการควบรวมระหว่างการให้บริการจำหน่ายและรับล้างฟิล์มกับการเป็นร้านกาแฟ เพื่อที่ลูกค้าที่มารอล้างฟิล์มจะได้ทานกาแฟ นั่งทำงานหรือพักผ่อนในระหว่างที่รอ

“ฟิล์มมันเป็นศิลปะของการรอ ที่ทุกวันนี้มันย้อนกลับเหมือนไวนิล เหมือนอะไรแบบนี้ เพราะคนเราต่างแสวงหาการรอคอยอะไรสักอย่าง”

สำหรับเมนูกาแฟในร้านก็มีการสร้างสรรค์ให้แปลกต่างและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองทั้งในการตั้งชื่อและสูตรในการทำ เช่น เมนูที่ชื่อ ‘ซีเปีย’ ก็เป็นการนำเอากาแฟมาผสมกับเกรปฟรุตให้ผสมผสานกันจนมีรสชาติกลมกล่อม

‘โอม ค็อกเทล’

โอมเติบโตมาในครอบครัวที่เป็น ‘ชนชั้นกลางที่มีรากฐานที่ทำให้ปลอดภัย’ คุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คุณแม่เป็นอินทีเรีย ดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของตนเอง มีบรรพบุรุษที่เป็นข้าราชการมาหลายชั่วอายุคน มีทรัพย์สินและที่ดินที่ได้รับจากตำแหน่งและสามารถนำไปสร้างดอกผลเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวให้อยู่ได้โดยไม่ลำบากนัก อีกทั้งยังมีคุณตาที่เป็นสถาปนิกมากฝีมือผู้ออกแบบสำนักงานกรมประชาสัมพันธ์อันเป็นสถานที่เกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ทางการเมืองหลายครั้งและได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนักหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ถึงแม้จะมีหลายอย่างในชีวิตที่อาจเรียกโอมได้ว่าเป็น ‘ลูกคุณหนู’ แต่โอมก็บอกว่าตนเองไม่ได้มีชีวิตแบบ ‘คุณหนู’ มาตั้งแต่วันแรก และเรียนรู้ที่จะอยู่ตามวิถีการเติบโตของครอบครัว ความเป็นผู้มีวินัยและหลักคิดในแบบของข้าราชการตำรวจของพ่อกับความเป็นศิลปินของแม่ได้ผสมผสานและหลอมรวมกลายเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตที่สถิตย์อยู่ในตัวของโอม แรกเริ่มเดิมทีโอมอาจรู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นศิลปินของแม่ได้มากกว่าเพราะมันสนุกและตื่นตา แต่เมื่อเติบโตมาจึงได้รู้ว่าแนวคิดและวิถีของพ่อนั้นมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมากเช่นกัน สิ่งที่คุณพ่อและคุณแม่ของโอมให้ความสำคัญและหมายมั่นตั้งใจจะมอบให้แก่ลูกก็คือ ‘การศึกษา’

“สิ่งที่แพงที่สุดและมีคุณค่าที่สุดที่จะให้ได้ก็คือ การศึกษา”

โอม และ ครอบครัว

คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนการเรียนของโอมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โอมได้เรียนพิเศษจากครูที่มาสอนในหลากหลายสาขาความรู้ ได้ออกไปสู่โลกกว้าง หากได้ไปต่างประเทศสถานที่ที่จะได้ไปก็คือพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ชีวิตวัยเด็กเป็นอะไรที่สนุกสำหรับโอม ของเล่นทั้งหลายมักได้มาจากการประดิษฐ์ของแม่ เช่น หน้ากากเต่านินจา หรือว่าหัวโขนที่ทำจากดินและกระดาษเปเปอร์มาเช่

หน้ากากเต่านินจา ของเล่นสุดประทับใจในวัยเด็ก

บางครั้งการมีชีวิตที่เรียกได้ว่า ‘ลูกคนหนู’ อาจทำให้ใครคนนั้นรู้สึกอิจฉาคนที่มีชีวิตแตกต่างจากตน คนที่ต้องฟันฝ่า คนที่ต้องเผชิญปัญหาหนักหนาและสู้ชีวิต นั่นหมายถึงการได้มาซึ่งเรื่องราวและเรื่องเล่าเคล้าน้ำตาหรือว่าเรื่องราวชวนประทับใจ สำหรับลูกคุณหนูอย่างโอมมุมหนึ่งเขาก็รู้สึกอิจฉาคนเหล่านั้นที่มีเรื่องราวมากมายให้ได้เล่า ให้ได้ถ่ายทอด อย่างเรื่องเล่าความเกเรในวัยเยาว์ของโอมที่เคยเล่าไว้ในรายการเจาะใจ ดูเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันเป็นเพียงแค่ความเกเรของเด็กที่ไม่มีอะไรให้กังวล ไม่เคยมีวันไหนที่ต้องทานมาม่าหนึ่งห่อแล้วแบ่งกันสี่คน และมีคนที่บ้านคอยซัปพอร์ตเสมอ โอมเองก็ไม่ได้ภูมิใจอะไรกับมัน ในตอนที่มีคอนเสิร์ต G16 และศิลปิน Genie ต้องนั่งล้อมวงกันเล่าเรื่องส่วนตัวของตนเอง เรื่องราวหลายคนไม่ว่าจะเจ๋ง Big Ass พี่ตูน Bodyslam พลพล หรือ ปาล์ม Instinct ล้วนแล้วแต่มีสีสัน ความหนักหน่วง และสะท้อนถึงการฟันฝ่า ส่วนโอมทำได้เพียงบอกว่า ‘อยากมีเรื่องราวชีวิตแบบพี่ ๆ เค้าเหมือนกัน’ และนี่คือที่มาของทัศนคติของโอมที่มองว่าชีวิตตนเองนั้นมัน ‘จืด’

แต่ในความจืดนั้นก็มีรสชาติของมันเหมือนกัน บนชีวิตที่ดูดี มีขั้นตอน จากสาธิตจุฬา ฯ (ที่คุณแม่เป็นอาจารย์อยู่) สู่เตรียมอุดมศึกษา และ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทุกอย่างดูสมบูรณ์พร้อมไปหมด แต่ในนั้นก็แฝงไว้ด้วยเรื่องราวความ ’มึน’ ของโอมอยู่เหมือนกัน ในช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยนั้นโอมต้องการจะเรียนต่อ นิติศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่แม่อยากให้เรียนนิเทศศาสตร์ แต่รั้นอยากฝืนความต้องการของแม่ และใจตัวเองก็ชอบในศาสตร์นี้ที่มีหลักตรรกะและเหตุผลในตัวของมันเอง แต่ตอนที่สอบตรงเข้าไปนั้นโอมฝากเพื่อนซื้อใบสมัคร และให้ทำธุระต่าง ๆ แทนตนจึงลืมดูไปว่าที่ซื้อมามันคือใบสมัครรัฐศาสตร์ จนวันสอบถึงได้รู้แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสอบติด จนปล่อยตามเลยมาเรียนรัฐศาสตร์ในที่สุด

ด้วยความที่ไม่ได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะมาในทางนี้เลยทำให้โอมใช้ชีวิตในช่วงแรกในรั้วมหาวิทยาลัยไปอย่างเพลิดเพลินเจริญใจไปกับชีวิตวัยรุ่น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็หาได้  ‘ไร้แก่นสาร’ ไปเสียทีเดียว เพราะในช่วงเวลานั้นโอมกำลังจะทำสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งออกดอกผลได้อย่างงดงามในเวลาต่อมา

From Silly Mistake..To The Beginning จุดเริ่มต้นของค็อกเทล

โอมเริ่มต้นเล่นดนตรีตั้งแต่ตอนเรียนที่เตรียมอุดมช่วงม. 6 เทอม 2 ช่วงที่รู้ว่าตัวเองเอนทรานซ์ติดแล้ว เหตุเริ่มต้นที่เป็นตัวจุดประกายความสนใจในดนตรีของโอม เกิดจากการได้เห็นนักเรียนในสายวิทย์-ดนตรีมาแสดงดนตรีสด ๆ ครั้งหนึ่งในคาบวิชาพระพุทธศาสนาเพื่อโปรโมทคอนเสิร์ตของเด็กวิทย์-ดนตรีซึ่งมีต็อง วิตดิวัต พันธุรักษ์ ลูกของคุณวินัย พันธุรักษ์ อยู่ด้วย โอมรู้สึกประทับใจในความ ‘เท่’ ของการเล่นดนตรีขึ้นมาในทันที ประกอบกับ บู๊ วิศรุต เตชะวรงค์ (ผู้ที่จะกลายเป็นนักร้องนำวง Skykick Ranger ในอนาคต) ทำเพลงเองและทำเป็น CD ขายเพื่อนในโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่ทำให้โอมประทับใจ

บู๊ วิศรุต เตชะวรงค์

โอมเลยเกิดไอเดียว่าควรรวมคนที่มีใจรักในเสียงดนตรีทำอัลบั้มขึ้นมาสักอัลบั้มแล้วขายเพื่อน ๆ ในโรงเรียนซึ่งก็สามารถมั่นใจได้ว่าไม่ขาดทุนแน่นอนอีกทั้งยังเป็นของที่ระลึกก่อนเรียนจบได้อีกด้วย ในที่สุดผลงานชิ้นนั้นก็สำเร็จออกมาเป็นอัลบั้มที่ชื่อว่า ‘Cocktail’ (2545) และออกขายให้กับนักเรียนเตรียมอุดมในวันกีฬาสีวันที่ 24 ธันวาคม ปี 2545 ในอัลบั้มนี้มีผลงานที่โอมร้องและแต่งเองเอาไว้ 3 เพลง ซึ่งมีบท ‘ซ้ำซ้อน’ และ ‘เศษซากความฝัน’ ที่ภายหลัง Cocktail ได้นำกลับมาทำใหม่เป็นซิงเกิลพิเศษประกอบคอนเสิร์ต The Heartless Live

และอีกหนึ่งบทเพลงคือ ‘คิดถึงฉันหรือเปล่า’ ที่ถูกนำมาทำใหม่และใส่ไว้เป็นแทร็กสุดท้ายในอัลบั้มชุดล่าสุด ‘Cocktail’ (2562)

ผลงานอัลบั้ม ‘Cocktail’ นับได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งมีคนจดจำกันได้ และคนส่วนใหญ่จะเข้าใจไปว่านี่คือผลงานของวงที่ชื่อ Cocktail แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ชื่อวง แต่เป็นชื่อโพรเจกต์และชื่ออัลบั้มที่เสนอขึ้นโดยบู๊ วิศรุต เตชะวรงค์ เนื่องจากเป็นชื่อที่มีความหมายของการผสมกันของเครื่องดื่ม เปรียบเหมือนกับงานดนตรีของวงที่เป็นการรวมตัวของนักเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท และด้วยอีกเหตุหนึ่ง คือ ข้อสอบภาษาอังกฤษที่โรงเรียนออกในช่วงนั้น ออกเกี่ยวกับเรื่องค็อกเทล

ด้วยเหตุที่ทุกคนจดจำชื่อนี้ได้โอมจึงนำชื่อนี้มันมาใช้เป็นชื่อวงจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเห็นแผ่นถูกนำไปวางขายที่ร้านดีเจสยามและร้านน้องท่าพระจันทร์ อีกทั้งยังอยู่ในช่วงที่กระแสอินดี้กำลังบูม โอมจึงเห็นได้ถึงศักยภาพที่เป็นไปได้ในอนาคตที่เติบโตไปมากกว่านี้ จึงเริ่มออกเล่นในงานเทศกาลดนตรี โดยเริ่มที่ ‘แฟตเฟส ครั้งที่ 3’

จากนั้นโอมจึงเริ่มคิดฝันและจริงจังกับการทำวงมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการสมัครพรรคพวกที่ตั้งใจจะไปด้วยกันต่อจริง ๆ หลังจากนั้น Cocktail ได้ออกอีพี อินไซด์ (Inside) ในปี พ.ศ. 2546 ด้วยสมาชิกที่ยังเหลืออยู่ 4 คน ได้แก่ โอม ปัณฑพล ประสารราชกิจ (ร้องนำ) บู๊ วิศรุต เตชะวรงค์ (กลอง) หลง วิทวัศ หลงชมบุญ (เบส) และ ธิป ธิปรัชต์ โชติบุตร (กีตาร์) และเริ่มต้นทำงานเพลงอัลบั้มที่ 2 ต่อมา ธิป มือกีตาร์ ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ จึงต้องหามือกีตาร์คนใหม่ ซึ่งได้ เอกซ์ ปาริวัฒน์ สุวรรณชัย เข้ามาแทน

จนในที่สุดอัลบั้มเต็มชุดที่ 2 ของ Cocktail ก็ได้ถูกปล่อยออกมาโดยใช้ชื่อว่า 36,000 Miles Away from Here ในปี พ.ศ. 2547 เป็นอัลบั้มที่แนวทางของวงเปลี่ยนแปลงมาเป็นร็อกอย่างเต็มตัว และมีบทเพลงที่โอมได้ทำไว้ในอัลบั้มแรกอย่าง บท ‘ซ้ำซ้อน’ ‘เศษซากความฝัน’ และ ‘คิดถึงฉันหรือเปล่า’ รวมอยู่ด้วย จากนั้น Cocktail จึงได้เข้าไปออดิชั่นที่แกรมมี่ ตอนนั้นทางค่ายประทับใจในบทเพลงแต่ไม่ได้ต้องการวงจึงยื่นข้อเสนอที่จะขอซื้อแต่เพลงไป ซึ่งโอมและเพื่อน ๆ ตัดสินใจไม่ขายเพราะอยากรู้ว่าพวกเขาจะไปได้ถึงไหนต่อจากนี้ด้วยศักยภาพที่พวกเขามี

ปกอัลบั้ม 36,000 Miles Away from Here

ในวันนี้ที่โอมมีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นโปรดิวเซอร์ทำให้เขาสามารถมองย้อนกลับไปวิเคราะห์งานเพลงของตัวเองในตอนนั้นได้เป็นอย่างชัดเจน โอมมองว่าการที่ในวันนั้นถึงแม้ผลงานจะมีกลุ่มผู้ติดตามอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างอยู่กลางสปอตไลท์งานแฟตก็ไม่ค่อยถูกเลือกไปเล่น ซึ่งป๋าเต็ดเองก็บอกว่าจำงานของ Cocktail ในตอนนั้นไม่ได้เหมือนกัน (ป๋าเต็ดเพิ่งมาฟังงานของวง Cocktail ครั้งแรกตอนที่มาอยู่ Genie และมีเพลง ‘คุกเข่า’) เพราะวงที่จะถูกเลือกไปเล่นในงานแฟตส่วนใหญ่มักเป็นวงที่มีผลงานเพลงถูกเปิดอยู่ในคลื่น นั่นหมายความว่ามันต้องโดดเด่นและเป็นที่นิยมอยู่ในระดับหนึ่ง โอมมองว่างานของตัวเองนั้น ‘จืด’ และเป็น ‘วงอินดี้ที่ทำเพลงเมนสตรีม’ เป็นวงอินดี้ที่ตัวเนื้องานเหมือนวงเมนสตรีมแบบแกรมมี่ อาร์เอส มากกว่าที่จะแปลกแหวกแนวแบบวงอินดี้ในยุคนั้น เลยเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่างสองทาง

การแสดงของ Cocktail ในงานแฟตเฟสครั้งที่ 6

มีแฟตเฟสอยู่เพียงสองครั้งที่ Cocktail ได้ไปเล่นคือครั้งที่ 3 และครั้งที่ 6 ซึ่งในครั้งหลังนี้มีกลุ่มแฟนเพลงตามมาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้นวงก็ยังไม่ได้เติบโตไปมากกว่านั้น ส่วนครั้งไหนที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้ไปเล่น วงก็ยังเลือกที่จะมาตั้งบูธขายแผ่นอยู่ดี พอมีแฟนเพลงถามว่าพี่เล่นเวทีไหน โอมก็กระอักกระอ่วนใจเหมือนกันที่จะตอบว่า ‘ไม่มี’ ‘ไม่ได้เล่น’ ทางฝั่งป๋าเต็ดเองก็พูดถึงความรู้สึกทางฝั่งของคนจัดงานว่าก็ลำบากใจไม่แพ้กัน เพราะการจะเลือกว่าวงใดจะได้เล่นหรือไม่ จะไปเล่นตรงจุดไหน เวทีไหน ถือเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ และการที่มีวงเป็นจำนวนมากทำให้อย่างไรเสียก็ต้องตัดบางวงออกไป อาจไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าวงนั้นไม่ดี แต่จังหวะที่จะได้เล่นในเวทีที่เหมาะสมในวันเวลาที่เหมาะสมนั้นยังหาไม่ได้ จึงต้องจำใจตัดออกไป และทุกครั้งที่ป๋าเต็ดเดินผ่านบูธของวงที่ตนเองจำได้ว่าตัดออกไปก็รู้สึกเสียดายอยู่เหมือนกัน ซึ่งในเรื่องแบบนี้โอมเองเข้าใจดี ไม่คิดโทษใคร และไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มีเส้นสาย หรือลับลมคมในอะไร

“เราโดนสอนมาแต่เด็กว่า Everything comes with the reason”

Facing Reality เผชิญโลกความจริง

ในช่วงเวลานั้นนอกจากเรื่องทำเพลงแล้ว ยังมีสิ่งที่โอมต้องรับมือและเผชิญหน้า นั่นคือ การเรียน โอมพบกับช่วงวิกฤติจากความเหลวไหลที่ได้ทำไว้จนเกือบถูกไล่ออกและอาจารย์เชิญคุณพ่อเข้ามาคุยด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดวิสัยสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกเรียกผู้ปกครองเข้ามาพบเพราะถ้าเกรดไม่ถึงก็จะถูกรีไทร์โดยอัตโนมัติอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องเรียกผู้ปกครองมา แต่ในกรณีนี้โอมเชื่อว่าอาจารย์เห็นถึงศักยภาพของตนเองและต้องการให้โอมรู้สึกอายเพื่อจะได้ ‘คิดได้’ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะตั้งแต่นั้นมาโอมก็ขยันและตั้งใจเรียนอย่างหนักและเหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อเรียนให้จบภายในเวลาสี่ปี ในตอนนั้นคุณแม่ได้แนะนำหนทางหนึ่งให้โอมนั่นคือการไปศึกษาที่ นิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ที่จุฬา ฯ ซึ่งหลังจบการศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์แล้ว โอมสามารถไปเทียบโอนและศึกษาต่อในสาขานิติศาสตร์เป็นปริญญาตรีใบที่สอง เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่โอมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่อโอมเรียนจบรัฐศาสตร์ โอมจึงได้ตัดสินใจมุ่งหน้าศึกษาต่อที่ นิติศาสตร์ จุฬา ฯ และตั้งใจไว้ว่าจะต้องทำให้ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ให้ได้ จากนั้นโอมจึงมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องผิดหวังและเดือดร้อนเพราะตัวเขาเองอีกต่อไป เพราะท่านทั้งสองได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อโอมแล้ว ในช่วงเวลานี้โอมจึงมองคำว่า ‘ฝัน’ เปลี่ยนไปไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยความคิดฝันแต่เปลี่ยนจากคำว่า ‘ฝัน’ เป็นคำว่า ‘แผน’ และมุ่งหน้าตามแผนนั้นให้สำเร็จ 

“ฝันนั้นต่างจากแผนตรงที่ว่า ฝันมันคือการตั้งเป้าโดยที่ไม่ได้กำหนดทางไป แต่แผนคือการตั้งเป้าและกำหนดว่าจะไปอย่างไร”

โอมเปรียบเทียบการวางแผนของเขาเหมือนกับกฎหมาย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ และ กฎหมายลูกอื่น ๆ ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายแม่ที่ได้วางไว้ ซึ่งสำหรับโอมแล้วรัฐธรรมนูญของเขานั้นคือ ‘จะต้องพึ่งตนเองให้ได้’ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ หรือ รบกวนคนอื่นให้น้อยที่สุด ในตอนนั้นโอมคิดกับตัวเองว่าความรักในการเล่นดนตรียังคงอยู่ แต่มันอาจเปลี่ยนรูปแบบไป จากการพยายามไล่คว้าความฝัน ให้มันมาอยู่กับชีวิตจริง ซึ่งมันอาจกลายเป็นงานอดิเรก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตลอดไป มีอาชีพหลักเป็นอาจารย์และมีดนตรีเป็นงานอดิเรก แต่งเพลง เล่นดนตรีไป อัดคลิปลงยูทูบไป ไม่ได้คิดว่าตนเองต้องมีชื่อเสียงหรือยิ่งใหญ่อะไร แต่ก็มีความสุขใจที่ได้เล่นดนตรี แต่ก่อนหน้าที่จะมาสู่โหมดนี้โอมได้ตั้งใจทำผลงานชิ้นสุดท้ายทิ้งทวนไว้ให้สุดกำลัง และนั่นก็คืออัลบั้มที่มีชื่อว่า ‘In the Memory of Summer Romance’ ซึ่งเป็นผลงานในยุคอินดี้ชิ้นสุดท้าย และ เป็นอัลบั้มที่หลายคนบอกว่า มันคือมาสเตอร์พีซและอัลบั้มที่ดีที่สุดของ Cocktail บทเพลงดังจากอัลบั้มนี้ก็มี อาทิ ดาราดับแสง (ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสีสันอวอร์ด ประจำปี 2551 สาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม), ความทรงจำในค่ำฤดูร้อน, อาจเพราะ และ พันธนาการ โดยในช่วงที่ทำอัลบั้มนี้มีสมาชิกออกไปสองคนคือ บู๊ กับ เอกซ์ และมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาสองคนคือ อายุ จารุบูรณะ อดีตมือกลองจาก Saliva Bastard (อยู่กับวงจนถึงอัลบั้ม Ten Thousand Tears) และ เชา ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย มือกีตาร์ที่อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้

อัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มที่ความเป็น Cocktail เริ่มมีความชัดมีการใช้เครื่องดนตรีคลาสสิกมาผสมผสานกับท่วงทำนองในแนวต่าง ๆ ได้อย่างลงตัวและกลมกล่อม และได้ทำให้โอมได้รู้จักกับ ‘หมี พณิช ฉ่ำวิเศษ’ ที่เห็นถึงศักยภาพของ Cocktail และจะเป็นผู้จัดการวงตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ในตอนนั้นหมีซึ่งเรียนการละครที่ม.กรุงเทพ ฯ ทำละครเรื่อง The Castle และอยากได้เพลงธีมจึงขอให้โอมแต่งให้และนั่นก็คือตอนที่บทเพลงอันงดงามที่มีชื่อว่า ‘งานเต้นรำในคืนพระจันทร์เต็มดวง’ บทเพลงที่ถือได้ว่าเป็น iconic ของความเป็น Cocktail ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาบทเพลงนี้ได้ถูกรวมไว้ในอัลบั้มแรกที่ Cocktail ออกกับทางGenie Records นั่นคือ ‘Ten Thousand Tears’

ถัดจากอัลบั้ม ‘In the Memory of Summer Romance’ Cocktail ได้ทำอีพีที่ชื่อว่า ‘วัย’ ในอัลบั้มประกอบด้วยเพลง “วัย” ในเวอร์ชันต่าง ๆ ซึ่งอัลบั้มนี้ผลิตจำกัด 1,000 แผ่นเท่านั้น วางจำหน่ายวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ทุกแผ่นหักเป็นค่าทำบุญหนังสือเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดโพธ์ศรี จังหวัดสิงห์บุรี และต่อมาบทเพลงนี้ก็ถูกรวมเข้าไว้ในอัลบั้ม ‘Ten Thousand Tears’ เช่นกัน

ในตอนนั้นโอมได้บอกกับหมีว่าหลังเสร็จเพลงนี้ ดนตรีก็จะกลายเป็นงานอดิเรกสำหรับเขาแล้ว แต่หมีกลับเชื่อมั่นว่าโอมและ Cocktail จะไปได้ไกลอย่างแน่นอน จึงแอบเอางานนี้ไปยื่นที่แกรมมี่ และในที่สุดพี่โน่ ดนัย ธงสินธุศักดิ์ โปรดิวเซอร์ผู้ปลุกปั้นศิลปินดังของแกรมมี่มากมายก็เรียก Cocktail ไปคุย จากนั้นหนึ่งสัปดาห์พวกเขาก็ได้พบกับ พี่นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล อดีตผู้บริหาร Genie Records และจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ก็เซ็นสัญญาทันที และ อีกหนึ่งเดือนก็ได้ออกผลงานกับทางแกรมมี่

ในตอนนั้นโอมมีแผนที่จะไปเรียนต่อเมืองนอกอยู่แล้ว (นิติศาสตร์มหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง) จึงตั้งใจว่าจะออกผลงานแค่เพียงอัลบั้มเดียว จึงได้บอกกับทางค่ายไปตรง ๆ ซึ่งพี่นิคก็ไม่ได้ว่าอะไรและตัดสินใจให้เซ็นสัญญาอยู่ดี เพราะมองว่านี่เหมือนกับการเซ็นสัญญากับพาราดอกซ์อีกครั้ง หมายความว่า Cocktail จะเป็นสีสันที่แปลกใหม่จากศิลปินที่ค่ายมีอยู่ และถึงแม้จะไม่ได้ผลกำไรอะไร ก็ยังได้สร้างภาพลักษณ์ที่มีสีสันให้กับทางค่ายอยู่ดี จนในที่สุด Cocktail จึงได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 ของวงแต่เป็นชุดแรกกับ Genie Records นั่นคือ ‘Ten Thousand Tears’ โดยมีสมาชิกเพียงสามคนคือ โอม อายุ และเชา ชื่อของอัลบั้มมีที่มาจากชื่อเพลง “ฉันร้องไห้เป็นหมื่นครั้งเพื่อมาเจอเธอ” และงานในอัลบั้มนี้ ถึงแม้ว่าค็อกเทลจะมีสมาชิกเพียง 3 คน แต่ในอัลบั้มมีนักดนตรีเข้าร่วมบันทึกเสียงด้วยถึงกว่า 40 ชีวิต เพื่อสร้างสีสันผสมผสานแนวดนตรีให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยทำการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีสดทุกชิ้น มีบทเพลงที่น่าประทับใจมากมายอาทิ ‘เวลา’ ‘เธอทำให้ฉันเสียใจ’ ‘วัย’ และ ‘งานเต้นรำในคืนพระจันทร์เต็มดวง’ เป็นต้น

ปกอัลบั้ม ‘Ten Thousand Tears’

หลังจากนั้น Cocktail ได้มีการเปลี่ยนสมาชิกวงอีกครั้ง เพราะอายุ จารุบูรณะ ได้ขอลาออกไปทำตามคำสัญญากับเพื่อนมัธยมที่จะสร้างวงดนตรีด้วยกันนั่นคือวง ‘KOBE’ และมีสมาชิกใหม่เข้ามาสองคนคือ ปาร์ค เกริกเกียรติ สว่างวงศ์ มือเบส และ ฟิลิปส์ ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์ มือกลอง กลายเป็นมีสมาชิก 4 คนที่อยู่ด้วยกันมาจนถึงปัจจุบัน และสมาชิกชุดนี้ได้ออกผลงานด้วยกัน 2 อัลบั้ม คือ ‘The Lords of Misery‘ ในปี 2557 อันมีบทเพลง ‘คุกเข่า’ บทเพลงที่ทำให้หลายคนที่ไม่เคยรู้จัก Cocktail มาก่อนได้สัมผัสกับท่วงทำนองของพวกเขาเป็นครั้งแรก  ‘โปรดเถิดรัก’ เพลงแรกที่ได้ร่วมงานกับวงออเคสตราเต็มวง และเป็นเพลงที่ตัดออกมาจากประโยคเล็ก ๆ ในเพลง ‘เธอทำให้ฉันเสียใจ’ ในสตูดิโออัลบั้มชุดที่แล้วของวง เท็นเทาซันด์เทียส์ และนำมาขยายความ และเป็นเพลงแรกที่ทำมิวสิกวิดีโอเนื้อเรื่อง และเพลง ‘เธอ’ เป็นการกลับมากำกับมิวสิกวิดีโอครั้งแรกในรอบ 20 ปีของ นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการของค่าย โดยได้ภรรยาของโอมมาร่วมแต่งเพลงนี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเพลง ‘คู่ชีวิต’ บทเพลงสุดซึ้งที่โอมได้แต่งให้กับภรรยาเพื่อบรรเลงในวันแต่งงานของทั้งคู่ และถูกนำมาทำใหม่ใส่ไว้ในอัลบั้มนี้จนกลายเป็นบทเพลงประจำงานแต่งงานของใครอีกหลายคน

อัลบั้ม ‘The Lords of Misery’

และอัลบั้มล่าสุดคือ ‘Cocktail’ (2562) เป็นครั้งแรกของวงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในการออกอัลบั้มใหม่ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ของวงเป็นสัญลักษณ์ตัวซี ที่ทับอยู่บนไม้กางเขน มีซิงเกิลโปรโมตเพลงแรกคือ เพลง ‘ช่างมัน’ อัลบั้มชุดนี้ประกอบไปด้วย 11 บทเพลงซึ่งก่อนหน้าการออกจำหน่ายได้มีเพลงที่ได้เผยแพร่ทางออนไลน์แล้ว 7 เพลงและเพลงที่เหลือได้ถูกเผยแพร่บนช่องทางออนไลน์หลังจากจำหน่ายอัลบั้มแล้วในเวลาต่อมา ประกอบไปด้วยบทเพลงที่น่าประทบใจมากมาย อาทิ ‘ปรารถนาสิ่งใดฤๅ’ , “โปรดฟังอีกครั้ง” (ร่วมกับ เจ๋ง Big Ass), ‘กาลเวลาพิสูจน์คน’ (ร่วมกับ ไมค์ ภิรมย์พร), ‘เรา’ และ ‘ในเงา’ เป็นต้น

อัลบั้ม ‘Cocktail’ เป็นอัลบั้มแรกที่มีการผลิตเทปขายด้วย

The Reality of Being an Artist ความเป็นจริง – ของการเป็นศิลปิน

Cocktail คือวงที่โตมากับคำว่า ‘ไม่เชื่อ’ อาจเพราะเคยโดนปฏิเสธมานักต่อนัก หรือแม้กระทั่งฝีไม้ลายมือของคนในวง ก็กลับถูกมองข้ามไปเสียดื้อ ๆ ทั้ง ๆ ที่นักดนตรีแต่ละคนในวงนั้นมีฝีมือมาก ไม่ว่าจะเป็น เชาว์ ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย มือกีตาร์ หรือว่า ฟิลิปส์ ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์ แต่ก็ไม่ได้มีใครพูดถึงในด้านฝีมือการเล่นดนตรีนัก อีกทั้งบางครั้งยังมีกลุ่มคนฟังมองว่าวงนี้อาจเป็นวงจัดตั้ง ไม่ได้เล่นจริงหรือมีฝีมือจริง ตลอดมาหลายครั้งเวลาโอมฝันหรือมีแผนตั้งใจจะทำอะไร มักมีคนมองว่า ‘เกินตัว’ หรือ ‘ทำไม่ได้’ แต่โอมนั้นเวลาคิดจะทำอะไรหรือตั้งเป้าอะไรไว้ เขาจะมี criteria หรือเกณฑ์ที่เอาไว้วัดความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอน หากทำสิ่งนี้ได้ ก็จะทำสิ่งต่อไปเรื่อย ๆ จนครบจึงเชื่อมั่นว่าจะทำเป้าหมายใหญ่ให้สำเร็จได้ แต่พอเวลาเล่าความฝันหรือแผนของตัวเองให้ใครฟังมักโดนขัดอยู่เสมอ ในระยะหลังโอมจึงเลือกที่จะไม่เล่าแต่เลือกที่จะทำมันออกมาเลยดีกว่า

อ่านต่อ : OHM COCKTAIL (ตอนที่ 2) ปัญญา ตัวตน และความรู้สึกของ ‘โอม ค็อกเทล’

Source

ป๋าเต็ดทอล์ก EP.26 โอม ค็อกเทล

Cocktail wikipedia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส