‘OK Computer’  อัลบั้มชุดที่สามจากวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกจากอังกฤษ ‘Radiohead’ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 23 ปีแล้ว คืองานเพลงที่ได้รับยกย่องว่าเป็น ‘อัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล’ จากหลายสำนัก และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผลสำรวจจากผู้ฟังรายการวิทยุของ BBC ก็ได้ตอกย้ำอีกครั้งด้วยตำแหน่ง ‘อัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทศวรรษที่ 90s’ เฉือนชนะอัลบั้มเจ๋ง ๆ ของยุคนั้นมากมายไม่ว่าจะเป็น ‘Nevermind’ ของ Nirvana หรือว่า  ‘(What’s The Story) Morning Glory’ ของ Oasis ยิ่งเป็นการการันตีถึงคุณภาพและความคลาสสิกของงานเพลงในอัลบั้มนี้ที่ยืนหนึ่งโดดเด่นเหนือกาลเวลา

อัลบั้มชุดนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวง Radiohead ที่เริ่มหันเหทิศทางดนตรีจากงานดนตรีที่มีกีตาร์โดดเด่นเป็นหลักไปสู่งานดนตรีเชิงทดลองอันมีรายละเอียดดนตรีที่มีชั้นเชิงและแปลกใหม่ด้วยการเอาอุปกรณ์ดนตรีที่หลากหลายมาช่วยสร้างเสียงแปลก ๆ มากมาย รวมไปถึงเนื้อหาของเพลงที่มีความนามธรรมล้ำลึกมากยิ่งขึ้น โดยหนีห่างจากการเขียนเพลงที่พูดถึงเรื่องราวภายในของตัวเอง มาสู่ความเป็นไปของโลกและชีวิตภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกังวลต่อการเข้ามาของเทคโนโลยี ลัทธิบริโภคนิยม โลกาภิวัฒน์ รวมไปถึงเรื่องกฏแห่งกรรมด้วย อัลบั้มนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในสาขา Album of the Year และได้คว้ารางวัลในสาขา Best Alternative Music Album ในปี 1998 มีเพลงเด่น ๆ อย่าง  ‘Paranoid Android’, ‘Karma Police’, ‘Let Down’, ‘Lucky’, และ ‘No Surprises’ 

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้งานชุดนี้มีความแปลกใหม่ทั้งจากงานของ Radiohead เอง หรืองานเพลงของศิลปินคนอื่น ๆ  ก็คือการนำเอาอุปกรณ์ทางดนตรีที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นมาสร้างสีสันให้กับงานเพลงในรูปแบบที่แปลกใหม่ ล้ำสมัย แม้กระทั่งในทุกวันนี้ที่เราได้ย้อนกลับไปฟังก็ยังรู้สึกทึ่งและเพลิดเพลินใจไปในพรมแดนแห่งเสียงอันสร้างสรรค์เหล่านี้จริง ๆ  

และในบทความนี้เราจะมาสำรวจ 7 อุปกรณ์ทางดนตรีที่ช่วยสร้างเสียงอันแปลกใหม่ล้ำสมัยจากบทเพลงในอัลบั้ม ‘OK Computer’ กันครับ

Marshall ShredMaster ในเพลง ‘Airbag’

เปิดอัลบั้มมาด้วยบทเพลงนี้และเสียงกีตาร์ที่ฟังดูห้าวราวกับเสียงเร่งเครื่องยนต์จากเพลง ‘Airbag’ คือสิ่งหนึ่งที่สร้างความเร้าใจให้กับอัลบั้มนี้มาก ซึ่งเสียงแหบร้าวราวปีศาจคำรามนี้ถูกสร้างขึ้นมาจาก กีตาร์ Fender Telecaster ของ จอนนี่ กรีนวูด ที่ต่อพ่วงกับแผง pedal board ที่มีอุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือ ‘Marshall ShredMaster’ อันเป็นเอฟเฟคกีตาร์ที่ผลิตขึ้นในช่วงต้นยุค 90s มันคือเอฟเฟกต์เสียงแตกที่ให้เนื้อเสียงที่หนักแน่นดุดัน ซึ่งถูกใช้ในเพลง ‘Song 2’ ของวง Blur และ สุ้มเสียงแห่งดนตรีชูเกซอันแสบซ่านในงานของ My Bloody Valentine ด้วย ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้บางคนก็บอกว่ามันขาดเสียง gain ไป แต่ด้วยการใช้ Digitech WH1 Whammy เพิ่มเข้ามาของกรีนวูด ทำให้ได้เสียงที่น่าประทับใจอย่างที่เราได้ยินกัน

สำหรับเจ้า ShredMaster ตัวนี้เลิกผลิตไปหลายปีแล้ว หากใครอยากลองหามาใช้คงต้องเป็นมือสอง ในบ้านเรารู้สึกว่าจะมีร้านที่ขายเจ้าตัวนี้อยู่เหมือนกันราคาประมาณ 4 พันกว่าบาทครับ  

Akai S3000 sampler ในเพลง ‘Airbag’

หากคุณกำลังสงสัยว่าทำไมเสียงกลองที่ดังขึ้นมาตอนต้นเพลง ‘Airbag’ มันฟังดูแตก ๆ แปลก ๆ ยังงัยชอบกล ลำโพงเราแตกรึเปล่าอะไรแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วอุปกรณ์เราไม่ได้มีปัญหา และ Radiohead ก็ไม่ได้ทำอะไรพลาดไป หากแต่เสียงที่เราได้ยินนั้นเกิดจากความตั้งใจล้วน ๆ ฟิลิป เซลเวย์ บอกว่าเขาใช้ rack ของAkai S3000 ที่ผลิตขึ้นในปี 1996 ในการแซมเปิลเสียงแล้วมาปรับแก้ต่อใน Mac

ซึ่งแรงบันดาลใจนี้ได้มาจากอัลบั้มแรกของ DJ Shadow  ‘Endtroducing’ ที่วางจำหน่ายในเดือนกันยายนปี 1996 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ Radiohead เริ่มบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ที่ St. Catherine’s House ซึ่งใช้เวลากว่า 6 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ ถึงแม้ว่างานเพลงในอัลบั้มนี้ทางวงจะไม่ได้ก้าวไปสู่พรมแดนของซาวด์อิเล็กทรอนิกส์แบบเต็บสูบเหมือนอัลบั้มต่อมาคือ ‘Kid A’ แต่การใช้เสียงลูปกลองในเพลงนี้ก็เหมือนเป็นสัญญาณที่ทำให้เราได้เห็นถึงทิศทางที่กำลังเปลี่ยนไปของวง

Akai S3000 นั้นเลิกผลิตไป 10 กว่าปีแล้ว แต่หากใครอยากได้อุปกรณ์ที่คล้ายคลึงกันก็สามารถใช้ Simpler ของ Ableton Live ได้ และสามารถเข้าไปโหลด Live pack ฟรีของ Ableton ได้ ที่นี่ ซึ่งจะมีกรูฟจากเพลงของ Radiohead ให้ได้ลองใช้กันดูครับ

https://www.youtube.com/watch?v=YeLlg-QIn28

Mutronics Mutator ในเพลง ‘Paranoid Android’

เสียงโซโลกีตาร์ของ จอนนี่ กรีนวูด ในท้ายเพลง ‘Paranoid Android’ คือเสียงกีตาร์ที่ล้ำเลิศที่สุดท่อนหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรี ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ กรีนวูด บันทึกเสียงโซโล่กีตาร์ก่อนแล้วผ่านเสียงไปทำเอฟเฟกต์ต่อที่ Mutronics Mutator ซึ่งเป็น rack ที่ผลิตขึ้นมาในต้นยุค 90s ซึ่งศิลปินอย่าง Daft Punk หรือ Beck ก็ใช้มันด้วยเหมือนกัน

เสน่ห์ของเจ้าตัวนี้ก็คือการสร้างเสียงที่คล้ายกับเสียงสังเคราะห์จากซินธิไซเซอร์ในยุค 60s ซึ่งมันช่วยให้เราสามารถสร้างเสียงกีตาร์ที่ฟังดูราวกับมาจากเสียงซินธ์ได้

และเช่นกันเจ้าตัวนี้ก็เลิกผลิตไปแล้ว และมือสองก็น่าจะมีราคาที่แพงพอสมควร แต่สามารถดาวน์โหลด emulation จาก Softube ไปใช้ได้ในราคา 89 เหรียญ ครับ

Roland RE-201 ‘Space Echo’ ในเพลง ‘Subterranean Homesick Alien’

ในเพลงนี้ที่ ทอม ยอร์ก ร้องเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ถ่ายโฮมวิดีโอ คงไม่แปลกหากมันจะมีเสียงกีตาร์ที่กรุ๊งกริ๊ง วุ้งวิ้ง ล่องลอย ราวกับเรากำลังลอยอยู่ในอวกาศ ท่ามกลางประกายแสงจากดวงดาว ตลอดเพลงเราจะได้เสียงของยอร์กละล่องไปกับเสียงกีตาร์ที่ผสานเอฟเฟกต์ดีเลย์จาก กรีนวูด ซึ่งเกิดขึ้นจากอุปกรณ์เทปดีเลย์ที่มีชื่อว่า ‘Space Echo’ ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1974 ที่นำมาพ่วงเข้ากับเอฟเฟกต์รีเวิร์บ Boss RV-3

ด้วยความเป็นอุปกรณ์อนาล็อก จึงทำให้เสียงดีเลย์ของ ‘Space Echo’ มันฟังดูเวิ้งว้างอวกาศได้ใจมากและมีเนื้อเสียงที่แตกต่างจากอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างแน่นอน  ถือได้ว่าเจ้าตัวนี้เป็นอีกตัวที่เนื้อหอมในตลาดมือสองและมีราคาแพงพอสมควร แต่ถ้าเป็นรุ่น recreation โดย Boss ‘Boss RE-20 Space Echo’ จะมีราคาที่ถูกลงไปมากมายเลย ซึ่งแน่นอนว่าราคาที่ถูกลงย่อมหมายถึงความแตกต่างจากเสียงรุ่นต้นฉบับแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้น กรีนวูด เองก็ใช้ตัวเวอร์ชันใหม่นี้ในการออกทัวร์ช่วงหลัง ๆ ด้วยเหมือนกัน สำหรับในบ้านเราก็จะมีขายเป็น Boss RE-20 Space Echo นี่ล่ะ สนนราคาประมาณ 7 พันกว่าบาทครับ

Mellotron M400 ในเพลง ‘Exit Music (For A Film)’

‘Exit Music (For a Film)’ เป็นเพลงที่ถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์และซีรีส์เป็นจำนวนมาก (สมดังที่ชื่อมันได้บอกไว้) อาทิในซีรีส์ไซไฟสุดล้ำอย่าง Westworld หรือBlack Mirror  แรกเริ่มเดิมทีเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบเครดิตจบของภาพยนตร์เรื่อง Romeo + Juliet ของ บาซ เลอห์มานน์ ซึ่งในเพลงนี้มีเสียงร้องประสานที่ดังอู้อี้ขึ้นมาตรงกลางเพลง ที่เหมือนจะเป็นเสียงจากซินธ์แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเสียงนั้นเกิดขึ้นจาก กรีนวูด ที่ใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า Mellotron อันเป็นคีย์บอร์ดที่ผลิตขึ้นในทศวรรษที่ 60 ซึ่งเป็น sampler รุ่นแรก ๆ ซึ่งไม่ได้ใช้ระบบออสซิลเลเตอร์แต่จะใช้เสียงที่บันทึกลงบนออดิโอเทปลูป

ในทุกวันนี้ยังสามารถหาซื้อเจ้าตัวนี้ได้อยู่ แต่ราคานั้นแพงหูฉี่ ถ้าสนใจใช้เวอร์ชันที่ถูก อาจหนีไปใช้ซอฟต์แวร์ของ Redtron400 ได้ครับ https://sites.google.com/site/artifakelabs/

AMS DMX 15-80S digital delay ในเพลง ‘Karma Police’

ในช่วงท้ายของเพลง ‘Karma Police’ เราจะได้ยินเสียงนอยซ์หึ่ง ๆ อู้ ๆ ซึ่งเหมือนจะเกิดจากความตั้งใจให้พ้องกับท่อนที่ร้องว่า “He buzzes like a fridge / He’s like a detuned radio” ซึ่งเสียงที่ว่านี้มาจากดิจิทัลดีเลย์ AMS ของ เอ็ด โอ’ไบรอัน อีกหนึ่งมือกีตาร์ของวง โดยใช้วิธีการเล่นโน้ตแล้วปรับตัว feedback control หรือ regeneration ของดีเลย์ขึ้นจากนั้นจึงค่อย ๆ ลดสปีดมันให้ช้าลงนั่นเอง

เจ้า AMS DMX 15-80S ตัวนี้ออกวางจำหน่ายในยุค 80s ซึ่งถ้าซื้อมือสองตอนนี้ก็ราคาแพงหูฉี่เช่นกัน แต่ถ้าจะหา emulation ที่มีเสียงใกล้เคียงกันก็ต้องเป็นซอฟต์แวร์ AMS RX16 digital reverb ของ Universal Audio

Apple SimpleText ในเพลง ‘Fitter Happier’

มาที่อุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายที่ถึงแม้จะไม่ใช่อุปกรณ์ดนตรี แต่ก็ถูกนำมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์มาก เพราะเสียงพูดที่เราได้ยินในเพลงนี้ เกิดขึ้นจากการที่ทอม ยอร์กพิมพ์เนื้อเพลงใส่ลงไปในโปรแกรม SimpleText ของเครื่อง Macintosh ซึ่งเป็นโปรแกรม text editor สำหรับระบบ Mac OS รุ่นดั้งเดิม โดยมันทำงานเหมือนระบบ text to speech แบบในทุกวันนี้นี่ล่ะ

หลังจากที่ Mac ปรับระบบจาก OS มาเป็น OSX โปรแกรม SimpleText ก็ไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป แต่มี TextEdit มาแทน ถ้าเราเข้าไปปรับค่า Accessibility ใน System Preferences เราจะเจอกับชื่อของเสียงพูดจำนวนหนึ่งให้เลือก ลองเลื่อนไปที่ชื่อสุดท้ายดูแล้วคุณจะเจอกับ ‘Fred’ เจ้าของเสียงพูดเดียวกันกับในเพลง ‘Fitter Happier’ นั่นเอง

Source

factmag

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส