แน่นอนว่า เราทุกคนล้วนมีความรู้สึกต่อคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” ที่แตกต่างกันไป มันอาจเป็นปัญหาใหญ่ ของใครบางคน และอาจเป็นเรื่องที่ “รอไปก่อนได้” สำหรับใครบางคน แต่ไม่ว่าคนวัยไหนจะรู้สึกอย่างไร สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ในที่สุด สังคมก็จะผลักดันเราทุกคนเข้าไปสู่สังคมผู้สูงอายุจนได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเราต้องดูแลผู้สูงอายุ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้สูงอายุเสียเอง มันอาจเป็นวิกฤติที่สังคมจะมีคนทำงานได้น้อยลง และมีคนแก่ให้ดูแล (หรือต้องดูแลตัวเองยามแก่) เพิ่มขึ้น แต่ในอีกมุมก็แผ้วทางสู่โอกาสใหม่ ๆ โดยเฉพาะในแง่ของการตลาดสินค้าและบริการสำหรับวัยซิลเวอร์ที่ตอนนี้ดูมีแนวโน้มว่ากำลังจะเฟื่องฟูขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเตรียมพร้อมและรองรับสังคมที่ผู้สูงวัยกำลังจะครองเมืองในอีกไม่ช้าไม่นาน

เนื่องในวาระที่ #beartai กำลังจะผนึกกำลังกับ 3 เพจผู้สูงอายุชั้นนำอย่าง CountUp.life” “มนุษย์ต่างวัยและ Young Happy เพื่อรวมกันก่อกำเนิดโพรเจกต์พิเศษ “SILVERASTIC 4” เพื่อตอบสนองการตลาดและไลฟ์สไตล์ผู้สูงอายุ เราจึงเชิญผู้ก่อตั้งทั้ง 3 เพจมานั่งคุยกันเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ และมุมมองของผู้สูงอายุ 3 แบบ 3 สไตล์ ที่จะมาเล่าให้ฟังและยืนยันแบบไม่เกี่ยงอายุว่า “สังคมผู้สูงอายุ” ไม่ใช่แค่เรื่องของคนแก่ ที่ต้องรอให้แก่เองก่อนแล้วถึงจะเข้าใจ

แต่สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องของคนทุกคน และคนทุกวัยต่างหาก


“CountUp.Life” เพจสร้างแรงบันดาลใจของคนวัย 50+ ที่กำลังจะ Count Up ไม่ใช่ Count Down 

มีมี่ – หทัยดิส มุ่งถิ่น


• จุดเริ่มต้นของเพจ เริ่มต้นมาจากเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอายุเข้าเลข 5 ซึ่งเราก็มองกันว่าเป็นจุดเริ่มต้น หรือที่เรียกว่า Count Up ซึ่งเรามองว่าสังคมบ้านเมืองไทยเนี่ย ตลาดของคนสูงวัยจะเริ่มกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ เราก็เลยเรียกกลุ่มอายุ 50 แบบพวกเราว่าเป็น 50+ Start Up พอเพื่อนว่าง ๆ ก็เลยมารวมตัวกัน มีทั้งนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ มาคิดร่วมกันเพื่อที่จะคิดแพลตฟอร์มสื่อสารกับคนวัย 50 ปีขึ้นไป ตอนที่เรามานั่งคิด ภาพของผู้สูงอายุที่เราคิดก็คือ เป็นคนแก่ ๆ นั่งอยู่บ้าน เลี้ยงลูก ทำตัวเฉื่อย ๆ ชา ๆ ช้า ๆ เป็นภาระ  ก็เลยจะคิดไปเองว่า คงไปทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้แล้ว 

• ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าเรามองรอบตัวไปตอนนี้เนี่ย จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ผู้สูงวัยหลายคนลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่ มีความแอกทีฟ ใช้ชีวิตไปไหนไปกัน ไปลุย ไปกิน ออกกำลังกาย เที่ยว ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสนุก ก็เลยมองว่า นี่แหละคืออนาคตของคนวัยห้าสิบขึ้นไป ที่ต่อไปมันจะเป็นลักษณะแบบนี้มากกว่า ก็เลยมามองกันว่า จะทำแพลตฟอร์ม

• เคยคิดว่าจะตั้งชื่อเพจว่า Sliver อะไรสักอย่าง แต่เราก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่น่ะ ยังไงเราก็ไม่ยอมรับหรอกว่าเป็นซิลเวอร์ เรารู้สึกว่าวัยห้าสิบคือวัยที่กำลังจะเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้าต่างหาก ก็เลยตัดสินใจจะใช้ชี่อว่า Count Up ซึ่งแปลว่าการก้าวไปข้างหน้า เต็มที่กับชีวิตไม่คิดถอยหลัง 

• ที่เป้าหมายของเราต้องการอยากจะสื่อสารกับคนอายุ 50 มันเป็นเพราะ Insight ของผู้ก่อตั้งทั้งหมดนี่แหละ เพราะว่าสังคมตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ผู้สูงอายุต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นช่วงเวลาของการเกษียณ ซึ่งก็เหมือนกับว่าเขากำลังก้าวเข้าสู่วัยชราแล้ว พอเลข 5 มาถึงกับตัว ก็ต้องมองแล้วว่า จะเอายังไงต่อไป ซึ่งก็คงไม่ปฏิเสธหรอกค่ะว่าเรากำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว พอถึงตอนนั้น ก็ต้องเสื่อมสภาพไปตามวัยเป็นธรรมดา เราก็เลยเลือกที่จะโฟกัสไปที่คนวัย 50 มากกว่า 

• คนวัยห้าสิบยุคนี้กับยุคที่แล้วมันไม่เหมือนกัน มันเหมือนว่ายุคนี้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์เอื้อให้เรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น สุขภาพดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น ประชากรผู้สูงอายุในตอนนี้ ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เขายังอยู่ในวัยทำงาน เชาเป็นผู้บุกเบิกในเกือบทุกสิ่งทุกอย่างนะ แล้วพอมาถึงตอนนี้ จะให้เขาเตะปลั๊กตัวเอง อยู่บ้านเลี้ยงหลาน อยู่เฉย ๆ มันก็คงไม่ใช่ เพราะเขาก็ยังมีแรง มีพลัง มีความคิดที่จะทำอะไรได้อีกเยอะแยะ 

• ถ้าพูดกันในแง่ของสถิติอายุขัยของคนไทยในปีนี้เลยนะ ผู้ชายจะมีค่าเฉลี่ยของการจากไปในอายุ 73 ปี ผู้หญิงจะอยู่ที่ 80 ปี ถ้าถามถึงตัวพี่ ที่ตอนนี้อายุ 50 กว่าแล้ว ถ้าพี่จะมีอายุได้ถึง 80 ปี พี่รู้สึกว่า พี่จะต้องไปให้สุด ยังทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้าพูดในแง่สุขภาพก็คือ ยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งดี ไม่ใช่ไปเริ่มตอนปลาย มันทำไม่ทันหรอก เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มพูดกันตอนต้น ๆ เลย เพราะนี่มันคือ Wake Up Call ของคุณแล้ว แบบว่า “นี่ ตื่น ๆๆๆ ห้าสิบแล้วนะ ไม่คิดจะทำอะไรหน่อยเหรอ จะยังทำงานดึกดื่นแล้วก็น็อกไปถึงตอนเช้าแบบตอนหนุ่ม ๆ สาว  ๆ  กันอีกเหรอ” ไม่ใช่แล้วนะ 

• เคยได้ยินคำนี้ไหมว่า “คนแก่คือเด็ก เด็กคือคนแก่” เขาต้องการการดูและและใส่ใจ เพราะผู้สูงอายุจะกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง ถ้าถามเรื่อง Research คนวัย 50 ด้วยกัน เขาจะมองว่าคนอายุ 50 มีความเด็กกว่าอายุจริง ด้วยความที่วิทยาการเปลี่ยนไปเหมือนที่บอกไปตอนแรก และความที่เราทำงานอยู่ตลอด ดูแลตัวเองมากขึ้น ทัศนคติของคนวัย 50 ที่เราไปสัมภาษณ์มา เขาจะบอกกันว่าเขารู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริง ๆ และก็อยากจะมีอายุยืนยาว พอเขามีความคิดแบบนั้น เขาก็อยากจะปรับทัศนคติของตัวเขาเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์พวกนี้ อยากให้คนอื่นทายไม่ถูกว่าอายุเท่าไร ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเอง มีกำลังใจ รู้สึกว่ามีค่า

• มันมีการศึกษาจากเมืองนอกนะ เรื่อง Happiness Curve ของคนในช่วงอายุต่าง ๆ เขาบอกว่าเส้นกราฟมันจะเป็นรูปกราฟพาราโบลาหงาย (Parabola) คือตอนที่เรายังเด็ก เราแฮปปี้ ไม่ได้คิดอะไรมากใช่มั้ย กราฟก็จะอยู่แถวบน ๆ พอ 20 ปุ๊บ เริ่มลงแล้วทีนี้ พอ 30 – 40 เริ่มมีปัญหาภาระที่เพิ่มเข้ามา จุดที่ต่ำที่สุดของกราฟจะอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 นี่แหละ ชีวิตเราจะพีคที่สุดตอนนั้นแหละ ตอนที่หน้าที่การงาน ครอบครัว ลูกอาจจะอยู่ ม.ปลายหรือเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ตำแหน่งงานก็อาจจะอยู่ประมาณระดับกลางถึงระดับสูงแล้ว พ่อแม่ก็ต้องดูแล ความสุขที่อยู่กับตัวก็เลยจะมีอยู่น้อยมาก 

• แต่พออายุ 50 ขึ้น Curve มันจะเริ่มขึ้น เพราะถ้ามองที่หน้าที่การงาน คุณก็จะถึงจุดสูงสุดในชีวิต คุณไปได้อีกไม่ไกลกว่านี้แล้ว เงินเดือนก็อยู่ในระดับสูงสุดแล้ว ภาระเริ่มน้อยลง ลูกเริ่มโตขึ้น คุณเริ่มมีอิสระมากขึ้น ความมั่นคงในจิตใจเริ่มนิ่ง คุณเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เวลานี้แหละที่ฉันจะเอาความสุขของฉันกลับคืนมา อยากทำอะไรเพื่อตัวฉันเองบ้าง เริ่มกลับมาเป็นเด็ก มีความมั่นใจ อยากกระโดดโลดเต้นได้ในแบบของคนวัย 50 เพจของเราก็เลยอยากจุดประกาย อยากเชียร์ให้คุณได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวคุณเอง คุณเองก็ทำแบบนี้ได้ ลองทำดูสิ ถ้าเขาทำได้ คุณก็ทำได้ 

• คือพอถึงวัย 50 คนจะมองว่ามันเป็น Count Down ซึ่งเรามองว่ามันไม่ใช่ ทำไมคุณจะต้องนั่งเฉย ๆ แล้วรอ แทนที่คุณจะทำอะไรให้มันเต็มที่เลยล่ะ วันนั้นมันมาไม่ไกลหรอก แต่วันที่คุณยังมีเวลาตอนนี้ คุณทำมันให้ดีที่สุด 

• สังคมผู้สูงอายุในความคิดของพี่ คือ ถ้ามองแบบ Count Up นะ เรามองว่ามันเป็นสังคมของกลุ่มที่มีการ Disrupt มีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไป เราจะมองว่ามันเป็นอีกมุมหนึ่งของการใช้ชีวิตหลังวัย 50 ให้เต็มที่ ให้สนุก ใช้ชีวิตให้คุ้ม แล้วก็ไม่เป็นภาระต่อสังคม หลาย ๆ สื่อ หลาย ๆ ธุรกิจก็จะต้องเริ่มมองเห็นและให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น ต้องเป็นสังคมที่ได้รับการดูแล ถ้าเราทำให้สังคมผู้สูงอายุมีชีวิตที่ดีขึ้น มันทำให้ลดภาระของทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้อง ตัวเขาเองก็มีความสุข รอบตัวก็มีความสุข ประเทศชาติก็มีความสุข 

• เมืองไทยพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุไหม ถ้าถามความคิดพี่ ถ้าถามในมุมของสวัสติการแห่งรัฐ มันคงไม่น่าจะเพียงพอนะ แก่ตายได้ แต่ต้องมีเงิน ไม่มีเงินก็อาจจะแก่ตายข้างถนน คือต่อไป ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จะมีเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก แล้วใครจะมาดูแลคนกลุ่มนี้ ที่ยังอ่อนแอทั้งกำลังและเงินทองที่จะมาดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิต ที่ประเทศอื่นเขามีมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่นการขยับอายุการเกษียณ เพื่อที่จะได้ทำงานต่อไป ให้เขารู้สึกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นมา และรู้สึกมีคุณค่าในชีวิต ให้เขาดูแลตัวเองได้ในบางส่วน ไม่งั้นผู้สูงอายุก็จะกองรวมกันโดยที่ก็ช่วยตัวเองไม่ได้ 

• พี่ไม่คิดว่าตัวเองแก่ เอาตรง ๆ นะ พี่ไม่กลัวแก่ แต่พี่กลัวป่วย ขั้นแรก เราต้องยอมรับก่อนว่าสังขารคือสังขาร เพราะฉะนั้นวันนี้ที่พี่อายุ 50 กว่าขนาดนี้ พี่ยอมรับว่า ด้วยอายุของพี่ พี่แก่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการเจ็บป่วยซึ่งเกิดจากสังขารที่มันเป็นไปตามอายุขัย ซึ่งถามความรู้สึกว่าแก่ไหม พี่ไม่ได้รู้สึกว่าแก่

• อย่าคุยเรื่องแก่… (หัวเราะ) พี่ว่ามันเป็นคำที่เซ็นซิทีฟจริง ๆ นะ ถ้ามีคนมาเรียกพี่ว่าป้าหรือเจ๊นี่นะ โอ้โห… (หัวเราะ) 

• ถ้าตามสถิติผู้หญิงจะมีอายุถึง 80 พี่ว่าของพี่ สัก 75 กำลังสวย ๆ เลยนะ เพราะถ้าเกินไปกว่านี้ก็จะเริ่มช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว พี่ไม่อยากได้สายยาง ไม่เอาอุปกรณ์เสริม พี่ไม่ชอบ  

• สิ่งที่พี่หวังเมื่อพี่แก่มากกว่านี้ มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา กับร่างกายของเรา มาถึงจุดนี้แล้ว ร่างกายของเราสำคัญที่สุด ซึ่งอย่างที่บอกก็คือ มันก็จะเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ตอนนี้ให้พี่ไปเที่ยวเมืองนอก พี่ไปได้ แต่ถ้าถึงวัยชราจริง ๆ พี่คงเที่ยวตลาดน้ำ ใกล้ ๆ แถว ๆ นี้แหละ ไม่อยากไปไกล ๆ มันก็ขึ้นอยู่กับสังขารที่จะพาเราไปได้ แล้วก็อยากมีสุขภาพที่ดี มีครอบครัวที่รักเรา และจากโลกนี้ไปอย่างสงบ 

• เพราะว่าเราเองก็มีทุกอย่างแล้ว เงินก็มีแล้ว หรือต่อให้ไม่มีเงินมาก เราก็พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ เพราะเราเองก็ผ่านมามากซะจนไม่มีอะไรจะให้ตื่นเต้นอีกแล้ว 

• วันหนึ่งน้อง (ผู้สัมภาษณ์) ก็จะได้อยู่แถว ๆ นี้แหละ (หัวเราะ)


(อ่านบทสัมภาษณ์ต่อได้ที่หน้า 2 และ หน้า 3)

“มนุษย์ต่างวัย” เพจที่อยากลดช่องว่างระหว่างวัย ด้วยการทำให้คนทุกวัย “เข้าใจ” กันมากขึ้น 





ประสาน อิงคนันท์


• จุดเริ่มต้นของ “มนุษย์ต่างวัย” เริ่มต้นมาจากที่พี่ทำบริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย เป็นบริษัททำคอนเทนต์นี่แหละ แต่ว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คอนเทนต์ที่เราทำมากที่สุดเลยคือ คอนเทนต์เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เราจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของผู้สูงอายุค่อนข้างมาก รวมถึงผู้สูงอายุในเมืองและในชนบทด้วยนะ เพราะว่าผู้สูงอายุทั้งในเมืองและในต่างจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน จนกระทั่งปีที่แล้วนี่แหละ เราก็เลยคิดว่าอยากจะทำงานที่เราเชี่ยวชาญลงในสื่อออนไลน์ ก็เลยกลายมาเป็นเพจชื่อ “มนุษย์ต่างวัย” ซึ่งมีม็อตโตว่า “แค่ต่างวัย ไม่ได้มาจากต่างดาว” 

• เป้าหมายที่เราทำเพจนี้ก็คือ เรามองเรื่องของสังคมผู้สูงอายุว่า ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนแก่ บางคนเข้าใจว่าพอทำเพจผู้สูงอายุ ก็จะ อ๋อ…เป็นเพจคนแก่ เป็นเพจของคนอายุ 50 60 70 จริง ๆ เราสื่อสารประเด็นนี้ แต่เราไม่ได้เล่าเรื่องเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะเรามองว่า เมื่อสังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นในสังคมไทยแล้วเนี่ย เราจะพูดถึงแต่ผู้สูงอายุไม่ได้ เราต้องพูดถึงเรื่องของคนในวัยอื่น ๆ ด้วย เราเลยทำเพจนี้มาเพื่อเป็นเพจที่จะทำให้ผู้สูงอายุและคนในวัยอื่น ๆ มีความเข้าใจกัน 

• ถ้าจะคุยเรื่องของผู้สูงอายุ เราต้องคุยกันเรื่องทัศนคติของคนวัยอื่น ๆ ที่มีต่อผู้สูงอายุด้วย ฉะนั้นเนื้อหาในเพจที่เราพูด เราพูดแค่สองประเด็นหลัก ๆ เลย หนึ่ง เราพูดให้เห็นว่า ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่ยังมีพลังในการใช้ชีวิตนะ มี Active Lifestyle เช่น อายุ 90 แล้วแต่ยังวิ่งร้อยเมตรได้ เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ๆ ออกไปท่องโลก ไปปีนเขา อะไรแบบนี้ นี่เป็นกลุ่มที่เราเรียกว่า Active Aging ทำไมเราต้องสื่อสารประเด็นนี้ เพราะเราต้องการทำให้ผู้สูงอายุมองด้วยกันเองเห็นว่า นี่แหละคือโมเดลที่กลุ่มผู้สูงอายุน่าจะไปเป็น ดูเสร็จทำให้เขาจินตนาการว่า ถ้าเขาต้องแก่ตัวไป เขาอยากจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่คนแก่เลี้ยงหลาน

• ประเด็นที่สองที่ต่างออกมาก็คือ เราเล่นกับความเป็น Two Generations นั่นก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ของคนต่างวัย เช่นอาม่ากับหลาน อายุไม่เท่ากัน แต่สามารถจับมือกันทำธุรกิจอาหารขึ้นมาได้ โดยใช้ความเชี่ยวชาญคนละแบบ หรือคนหนุ่มสาวที่กลับไปในชุมชนแล้วมองเห็นว่าผู้สูงอายุสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ พูดถึงลูกที่สามารถอยู่ร่วมกับพ่อแม่ได้ มีกิจกรรมร่วมกันได้ มีความต่างและความเหมือนร่วมกันได้ เราพูดถึงหลานที่อยู่กับอากงวัย 80 กว่าได้โดยที่ไม่ได้มีชีวิตน่าเบื่อ แต่ว่าสามารถชวนอากงไปถ่ายรูปทำแฟชั่นได้ นี่คือสองประเด็นหลัก ๆ ที่เรานำเสนอในเพจ 

• เมื่อวัยต่าง ประสบการณ์ก็จะต่าง บางทีความเห็นก็จะต่าง อย่างเช่นคนวัยรุ่นหน่อยก็จะเห็นโลกมาประมาณหนึ่ง ก็จะคิดว่าเป็นแบบนี้ ในขณะที่คนแก่อาจจะมองโลกเยอะกว่า ก็จะมองโลกไปอีกแบบ แต่บางทีจะมีปัญหาตรงที่ เด็กก็จะมองว่าคนแก่เชย ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนแก่ก็จะมองว่าวัยรุ่นรู้น้อย  ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนแก เราคิดว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมนะ ที่จะเกิดความขัดแย้งในลักษณะนี้ขึ้น 

• แต่สิ่งที่เราพยายามจะบอกในเพจก็คือ เราแตกต่างกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องโจมตีกัน หัวใจที่เรากำลังจะบอกก็คือว่า เราแตกต่างกันก็จริง แต่เราก็สามารถที่จะผสานความสามารถของคนแต่ละวัยเข้าด้วยกันได้ ยกต้วอย่างเรื่องอาม่ากับหลาน หลานเก่งไอที อาม่าทำอาหารเก่ง มาจับมือกันแล้วกลายเป็นธุรกิจส่งข้าวกล่อง กล่องละ 50 วันละพันกล่อง รายได้มโหฬารมาก หัวใจของเพจที่อยากจะบอกก็คือ เราต่างวัย แต่ใจเราไม่ได้ต่างกัน เรายังสามารถที่จะคิดเหมือนกันได้ในหลาย ๆ เรื่องด้วยซ้ำ หรือคิดต่างได้ แต่ก็จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งของวัย 

• ความเข้าใจนี้จำเป็นอย่างไร เมื่อวันหนึ่งมีคนแก่เยอะ ถ้าเราทอดทิ้งหรือตัดเขาออกไปจากกลุ่มประชากร เพราะคิดว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว หรือมองกันด้วยความไม่เข้าใจ มองแบบเหยียด ๆ ว่าเป็นมนุษย์ป้า มันก็จะนำมาสู่ความขัดแย้ง ซึ่งในที่สุด มันก็จะเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ 

• สังคมผู้สูงอายูสำหรับพี่ พี่มองในเชิงของประชากร สังคมผู้สูงอายุก็คือ วันหนึ่งที่ผู้สูงอายุเยอะขึ้นกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ พอมีเด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุก็จะเยอะขึ้น เมื่อมีคนแก่เยอะขึ้น ถ้าในเชิงกายภาพ เราก็ต้องจัดหาสิ่งต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พวกเขา หรือถ้าไม่ใช่ในเชิงกายภาพ ก็อย่างเช่นในเรื่องของการมีชีวิตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะว่าถ้าคนแก่เยอะขึ้น เขาก็ทำงานไม่ได้ ทำงานไม่ได้ก็ไม่มีเงินจ่ายภาษี ซึ่งคำถามคือ เราจะปล่อยเขาอยู่บ้านเฉย ๆ เหรอ มันก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เช่น อาจจะขยายกำหนดอายุเกษียณ ต้องเปิดโอกาสให้คนแก่สามารถที่จะออกมาค้าขายได้ เช่นถ้าธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ให้คนอายุ 60 แต่ถ้าในสังคมผู้สูงอายุที่เขาทำงานไหว ธนาคารก็อาจจะต้องยอมปล่อยกู้ให้ก็ได้ 

• และถ้าถามว่าแล้วมันจะกระทบอะไรกับคนหนุ่มสาว แน่นอนว่ามันต้องกระทบอยู่แล้ว เพราะเราก็ต้องดูแลพ่อแม่ ใช่ไหม ต้องซื้อของให้เพราะว่าไปซื้อเองไม่ไหว เจ็บป่วยก็ต้องพาไปโรงพยาบาล คำถามคือ ลูกเต้าจะเอาเงินที่ไหนใช้ล่ะ หรือลูกเต้าจะเอาเวลาที่ไหนมาดูแลล่ะ เราสามารถขอลาเพื่อพาพ่อแม่ไปฟอกไตอาทิตย์ละสองวันได้มั้ยล่ะ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีบริษัทไหนให้หรอก ฉะนั้น ในภายภาคหน้า มันก็ต้องมีการปรับรูปแบบว่า เมื่อคนแก่เยอะขึ้น คนรอบข้างก็จะได้รับผลกระทบจากการที่สัดส่วนประชากรเปลี่ยนไป

ถ้าคุณอายุ 35 แล้วคุณมีพ่อแม่อายุสัก 65-70 คุณจะเริ่มรู้สีกว่ามันเกี่ยวข้องกับคุณแล้ว 

• ถ้าถามว่าเมืองไทยเราพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุไหม ถ้าตอบในเชิงนโยบาย พี่ไม่คิดว่าพร้อมนะ เพราะสังคมผู้สูงอายุ อย่างที่บอกว่าไม่ได้แปลว่าผู้สูงอายุมากขึ้น แล้วเราต้องดูแลอย่างเดียว แต่ต้องคิดไปถึงว่า คนอายุ 40 – 50 เมื่อก้าวไปสู่การแก่เนี่ย เขาไม่พร้อมนะ เพราะว่าไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินใช้ คนไทยส่วนใหญ่แก่ก่อนรวยทั้งนััน ถูกไหม เอาตัวอย่างง่าย ๆ ช่วงโควิดเนี่ย ไม่ได้ทำงานสองเดือนก็ไม่มีเงินใช้แล้วนะ มันแสดงถึงว่าไม่มีเงินออม เวลาเจ็บป่วยคุณก็ไม่มีเงินไปโรงพยาบาล เอาแค่เรื่องเงินในการดูแลตัวเอง เราก็คิดว่าไม่น่าจะพร้อมนะ 

• ถ้าถามว่าตัวเองแก่ไหม แก่สิครับ (หัวเราะ) มันก็เป็นไปตามวัยน่ะครับ แต่ว่าคนเรานี่นะ ถ้าถามเราตอนอายุ 30 กับคนอายุ 15 ถามว่าเราแก่ไหม เราก็แก่ เรื่องแก่มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ปัญหาของความแก่มันอยู่ที่ว่า แก่แล้ว คุณแก่แบบไหนต่างหาก เราเห็นคนจำนวนหนึ่ง แก่อย่างคนที่มีความทันสมัย มีจิตใจที่เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เราว่าถ้าเป็นแบบนี้ เราว่าเรื่องแก่เป็นเรื่องเล็กมาก ในขณะที่หนุ่มสาวบางคนยังไม่แก่ แต่ไม่ยอมเปิดรับเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เราว่าแบบนี้นี่แหละแก่ (หัวเราะ) 

• เราว่าแก่ในเชิงอายุไม่เท่าไหร่ แต่แก่ในเชิงทัศนคติสิ เป็นเรื่องที่น่ากลัว การมองว่าแก่แล้วทำอะไรไม่ได้หรอก ทำอะไรก็คงล้มเหลว อย่าไปเรียนรู้ใหม่เลย เราเรียนรู้ไม่ไหวหรอก เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้หรอก อันนี้แหละที่เราคิดว่าเป็นความแก่ในเชิงทัศนคติ ซึ่งน่ากลัวกว่าอีก 

• ถ้าวันหนึ่งพี่จะกลายเป็นคนชรา สิ่งหนึ่งที่ต้องมองก็คือเรื่องสุขภาพ แล้วก็การเตรียมความพร้อมที่จะไม่เป็นภาระแก่คนอื่น ๆ ในเรื่องของการทำมาหาเลี้ยงชีพ การดูแลเรื่องเศรษฐกิจของตัวเอง ส่วนเรื่องที่สามคือเรื่องของความคิด ทัศนคติ เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ ถ้าเราคิดว่าเราแก่แล้ว แต่มองว่าคนอื่นแม่งผิดไปหมด ฉันถูกอยู่คนเดียว แก่แล้วอะไร ๆ ก็ไม่กล้าทำ อันนี้อันนั้นไม่กล้าทำแล้วมั้ง กลัวพลาด กลัวล้มเหลว ในกรณีนี้เราก็เตรียมตัวไว้ว่า ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ส่วนเรื่องแก่เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราแก่แล้ว เราคงไม่ไปฉีดโบท็อกซ์น่ะ (หัวเราะ) 

• เพราะพี่คิดว่า คนเราควรที่จะแก่แบบสมวัย 


(อ่านบทสัมภาษณ์ต่อได้ที่หน้า 3)

“Young Happy” กิจการเพื่อสังคมที่อยากทำให้สังคมผู้สูงวัย “ยังแฮปปี้” ได้ ไม่ใช่แค่ในอุดมคติ 





แก๊ป-ธนากร พรหมยศ


• Young Happy เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2017 จริง ๆ แล้วเราเป็น  Social Enterprise หรือว่ากิจการเพื่อสังคม คือตัวผมเองมีความสนใจในประเด็นของธุรกิจเพื่อสังคม ก็รู้สึกว่า เราอยากจะทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม อยากหาประเด็นที่จะทำ ผมเองเคยทำประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาก่อน แต่ตอนนั้นทำคนเดียว แล้วก็อาจจะไม่ค่อยอินมาก ก็เลยไม่เวิร์ก ก็เลยลองเปลี่ยนมาทำเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

• เป้าหมายของเราคือ อยากจะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรามองถึงผลกระทบของค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละครอบครัว เราก็เลยอยากรู้ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตเมืองกำลังเจอกับปัญหาเรื่องนี้ เขาบอกว่าจริง  ๆ แล้วสาเหตุจริง ๆ ที่เราค้นพบคือเรื่องของความเหงา หรือมันก็คือ Mental Health นั่นเอง ซึ่งมันก็จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายต่าง ๆ อีกที ถ้าถามว่าทำไมถึงเจอภาวะนี้ ก็เพราะว่าเขาขาดสังคม ขาดพื้นที่ เราเลยมีหน้าที่สร้างสังคมให้เขา ด้วยการทำให้เขาสนุก ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และทำให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ นี่คือคีย์หลัก ๆ ของเราเลย 

• เป้าหมายของเราคือ เราอยากจะยืดระยะเวลาของ Active Aging ออกไป ยิ่งเขาแอกทีฟมาก ก็ยิ่งแฮปปี้ พอยิ่งเขาแฮปปี้ เขาก็จะมีสุขภาพที่ดี มันก็จะช่วยทำให้สังคมแข็งแรง มีคุณลุงท่านหนึ่ง ทำงานประจำมาตลอดชีวิต พอวันหนึ่งเกษียณ ก็เลยรู้สึกว่าง รู้สึกเหงา และซึมเศร้า แล้วก็ป่วยเป็น Stroke โชคดีที่ภรรยาช่วยไว้ได้ แต่ก็ไม่อยากให้กลับไปว่างเหงาแบบเดิม ๆ ก็เลยหาสังคมให้เขาอยู่ คุณลุงก็เลยมาเข้าสังคมกับเรา มาเจอเพื่อนใหม่ ทุกวันนี้กลายเป็นอาสาสมัครที่สามารถออกไปช่วยเหลือสังคมได้ 

• สาเหตุที่เราถึงเลือกทำธุรกิจนี้เป็น Social Enterprise ต้องเล่าก่อนว่า ตัวเราเองหลัก ๆ เราทำ 3 อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ก็คือหนึ่ง เป็น Event Organizer จัดงานให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่อยากจะจัดงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ทั้ง Marketing และ CSR สอง เราเป็น Media Agency ทำสื่อโฆษณาโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ และสาม เป็นสะพานเชื่อมผู้สูงอายุกับบริการต่าง ๆ เราก็เลยมีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง 

• ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าภาพลักษณ์แบรนด์ของเรา จะชัดมากในเรื่องของความสนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ นี่คือเรื่องของจุดแข็ง ถ้าเห็นแบรนด์ Young Happy ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ หรือกิจกรรมทั้งหมดของเรา จะเป็นเหมือนกับชื่อเลย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกได้ว่า ยังแฮปปี้อยู่ มันเป็นเหมือน Double Meaning ทั้งเรื่องของการที่เราอยากให้ Still Young และการที่เขาแฮปปี้ ยังทำอะไรได้อยู่ และมีความสุขด้วย เราเลยเน้นไปที่เรื่องของกิจกรรมที่สนุก ได้แอกทีฟ เราไม่ค่อยเน้นพวกกิจกรรมทางศาสนาสักเท่าไร 

• คำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” ในมุมมองของผม ถ้าในอุดมคติของผม ผมมองว่า มันอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นคำว่า “สังคมที่อยู่ร่วมกันของคนทุกวัย” มากกว่า

• เพราะว่าเมื่อก่อนเราจำกัดคำว่าสังคมผู้สูงอายุที่ตัวเลข แล้วเมื่อก่อน คนอายุ 60 สภาพร่างกายก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานแล้ว แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป อายุไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าเขาจะทำงานไม่ได้ วันนี้เราเลยต้องสร้างความเข้าใจให้คนทุกวัยอยู่ร่วมกันและเคารพในความแตกต่างให้ได้ด่างหาก อันนี้แหละที่ผมว่าน่าจะเป็นสังคมผู้สูงวัยในอุดมคติที่ดี

• การที่หลายคนสงสัยในพฤติกรรมของผู้สูงวัย ที่มองว่าทำอะไรช้า หรือมีคำว่า “มนุษย์ป้า” “มนุษย์ลุง” เกิดขึ้นมา สิ่งที่เขาขาดก็คือความเข้าใจกันระหว่างวัย ตัวเขาเองก็ต้องได้รับมุมมองเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่มีความคิดยังไง ใช่ชีวิตยังไง เพื่อที่จะจูนให้มันเข้าหากัน 

• เมืองไทยเราพร้อมที่จะไปสู่สังคมผู้สูงอายุไหม ผมมองว่ามันก็มีหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ แต่ถ้าจะให้มองภาพใหญ่เลย มันก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่นะครับ เพราะว่าประเทศไทยเองเรายังไม่ได้มีสวัสดิการที่รองรับสังคมผู้สูงอายุที่ดีพอเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อย่างที่เรารู้กันว่า ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในขณะที่ตัวประเทศเองยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่เลย ในหลาย ๆ ประเทศเช่นญี่ปุ่น อเมริกา เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สวัสดิการต่าง ๆ ก็เลยค่อนข้างจะเตรียมพร้อมกว่า สองคือ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุก็ยังไม่เพียงพอ ผมว่าสองประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง 

• เรื่องที่น่ากลัวที่สุดเมื่อเมืองไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็คงเป็นเรื่องสวัสดิการนี่แหละครับ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ว่าจะมีใครมาช่วยเขา หรือเขาจะหวังพึ่งพาใครได้ ยิ่งสังคมเมืองที่ตอนนี้มันโตขึ้น ลูกหลานในต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง แล้วทิ้งคุณพ่อคุณแม่ไว้ที่โน่น ซึ่งจริง ๆ สังคมชนบทก็มีจุดแข็งเรื่องของการช่วยเหลือกัน สังคมเมืองก็ต้องเจอกับภาวะพึ่งพาตัวเอง สิ่งที่ต้องกังวลอีกอย่างคือผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียว เพราะว่าอาจจะโสด ตอนนี้กราฟกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณหลักล้านคน หรือเกือบสองล้านคนภายในห้าปีข้างหน้า ถ้าไม่มีสวัสดิการมารองรับพวกเขา มันก็ยากที่เขาจะพึ่งพาตัวเอง หรือถ้ามองถึงการจ้างงานผู้สูงอายุ ตอนนี้ก็ยังไม่มีกฏหมายมารองรับ 

• อีกส่วนที่น่ากังวลก็คือผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน แต่มีปัญหาเรื่องของจิตใจ มันก็เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลครับ เพราะว่าสังคมต่างจังหวัดหลาย ๆ ที่ก็กลายเป็นสังคมเมือง พื้นที่ส่วนกลางสำหรับคนกลุ่มนี้ก็ยังมีน้อย Mindset ของการที่ผู้สูงอายุจะต้องไปอยู่บ้านพักคนชราหรือ Day care ก็ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับ อันนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่น่ากลัว 

• ผมคิดว่าตัวผมเองแก่ ถ้าเทียบกับคนอายุ 18 แต่ในเชิงอายุนะครับ แต่ก็ยังเด็กถ้าเทียบกับคนที่อายุ 60 สำหรับผม ผมมองว่าการที่เราแก่ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเทียบกับใคร แต่ถ้าสมมติว่าเราตัดเรื่องมายาคติเกี่ยวกับตัวเลขออกไป ผมว่าผมก็ยังไม่แก่ (หัวเราะ)

• ผมไม่เคยคิดเหมือนกันนะว่าถ้าผมแก่ตัวไป จะเป็นผู้สูงอายุแบบไหน งั้นเดี๋ยวผมคิดตอนนี้เลยก็แล้วกัน ผมคิดว่า ก็คงอยากเป็นผู้สูงอายุเหมือนที่ผมสร้างอุดมคติไว้นี่แหละครับ ก็คือว่าอยากสนุกกับชีวิต มีคุณค่ากับคนอื่น มีคุณค่าต่อสังคม ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ ตื่นเช้ามาทุกวันพร้อมกับเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ อยากจะแก่อย่างสนุก เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมอยากให้สังคมผู้สูงอายุเป็นแบบนี้ และสุดท้ายก็คือ เราก็อยากจะพึ่งพาตัวเอง ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน 

• คือเงินมันอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายก็ได้นะ ถ้าสุดท้ายเราต้องแก่ตัวไปแล้วเผชิญกับความเหงา


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส